วีระเทพ ป้อมพันธุ์ : กฎ 3 ข้อกับชีวิตลูกหนังที่ตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุผลก่อนความชอบเสมอ
“หลายครั้งในชีวิต ผมมักตั้งคำถามกับตัวเองว่าระหว่างสิ่งที่ตัวเองชอบกับความเป็นจริง ผมควรเลือกอะไร ?”
“ผมเล่นฟุตซอลมาตลอด เพิ่งเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอลตอนอายุ 19 ถ้าผมเลือกสิ่งที่ชอบก็คงเซ็นสัญญากับ ชลบุรี บลูเวฟ ตั้งแต่ ม.5 และเลือกเล่นกีฬาที่ผมถนัดมากกว่าอย่างฟุตซอล ”
“พอเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอลก็เหมือนกัน ผมไม่ได้เลือกสิ่งที่ชอบแต่เลือกจากความเป็นจริง พี่เคยเห็น พี่โดม บดินทร์ ผาลา เล่นฟุตบอลไหม ? นั่นแหละสไตล์ถนัดของผม”
“ผมชอบเลี้ยงบอล ชอบลากเอาชนะคู่แข่งตัวต่อตัว ชอบเล่นกองกลางตัวรุก ถามว่าโค้ชมอบหมายหน้าที่ให้ผมเล่นกองกลางตัวรับหรืออย่างในทีมชาติผมถูกจับไปเล่นเซ็นเตอร์บางนัด มันคือสิ่งที่ผมชอบไหม ? ก็ไม่ได้ชอบหรอก แต่มันคุ้มค่ากว่าไหมถ้าสุดท้ายทีมได้แชมป์”
“ฉะนั้นไม่ว่าเล่นตำแหน่งอะไร หากทีมขาดและต้องการผมก็พร้อมเล่นได้ทั้งหมด เพราะผมเลือกความเป็นจริงก่อนสิ่งที่ตัวเองชอบเสมอ ”
เตอร์-วีระเทพ ป้อมพันธุ์ คือเจ้าของสถิติจ่ายบอลแม่นยำสุดในศึกไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก ฤดูกาลล่าสุด และกลายมาเป็นนักเตะแกนหลักที่ไว้วางใจได้ของ ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ในปัจจุบัน
วีระเทพ อาจไม่ใช่กองกลางตัวรับประเภทเข้าบอลหนัก บู๊ดุดัน กล้าแลกกล้าปะทะ ทว่าเขากลับทดแทนสิ่งเหล่านั้นด้วยการเล่นที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ทั้งการแย่งบอล จ่ายบอล และครอบครองบอล
ยามอยู่ในสนาม วีระเทพ ดูตัดสินใจถูกไปเสียหมด แทบจะเห็นความผิดพลาดได้น้อยครั้งมากที่เกิดจากการเล่นของเขา
พอได้มีโอกาสมาสนทนากัน เราจึงได้เข้าใจมุมมองความคิดและตัวตนของ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ มากยิ่งขึ้น
เพราะหลายครั้งชีวิตจริงนอกสนามก็ไม่ได้ต่างกับเกมลูกหนังที่เขาลงเล่นบนพื้นหญ้า เมื่อถึงช็อตที่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง “เขา” ก็มักเลือกทุกอย่างด้วยเหตุและผลก่อนความชอบเสมอ
และมันก็เป็นเช่นนั้นตลอดมาตั้งแต่แรก … จนถึงวันนี้
Dribble More
สัญญานักกีฬาอาชีพฉบับแรกจากสโมสรฟุตซอลที่ดีสุดในเมืองไทย “ชลบุรี บลูเวฟ” ถูกเตรียมพร้อมรอไว้แล้วสำหรับ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ ในวัย 17 ปี
เขาเดินทางจากย่านชานเมืองนนทบุรีมาฝึกซ้อมร่วมกับ ชลบุรี บลูเวฟ ได้หลายสัปดาห์แล้ว นี่คือโอกาสที่เปรียบเสมือนฝันเป็นจริงของเด็ก ม.ปลาย ผู้รักและชอบฟุตซอลเป็นชีวิตจิตใจเช่นเขา ที่จะได้มีทั้งเงินเดือน ชื่อเสียง และได้อยู่กับสโมสรโต๊ะเล็กแถวหน้าของเอเชีย
หากวันนั้น วีระเทพ เลือกลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรบนกระดาษสัญญาจ้าง … เรื่องราวของเขาก็คงเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเห็นและรู้จักชื่อของเขาอย่างในปัจจุบัน
“ผมเป็นคนที่ตัดสินใจอะไรด้วยความคิดตัวเองเป็นหลักนะ แต่ก็รับฟังความเห็นด้านอื่นเอามาประกอบการตัดสินใจด้วย ตอนนั้นเรียน ม.5 ที่ปทุมคงคา ทางชลบุรี บลูเวฟ ก็ชวนให้ไปซ้อมกับทีมประมาณ 2 เดือน และกำลังจะได้เซ็นสัญญา”
“แต่ติดตรงที่ถ้าหากผมเซ็นสัญญากับ ชลบุรี บลูเวฟ ผมก็จะไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เพราะโควตามหา’ลัย ไม่รับคนที่มีสังกัดสโมสรอยู่แล้ว เขาคงกลัวว่าถ้านักฟุตซอลอาชีพเข้าไปแล้วอาจจะเรียนไม่จบ”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “วีระเทพ” ต้องเลือกโดยใช้เหตุและผลผ่านการคิดทบทวนไตร่ตรองเป็นอย่างดี แม้ทางเลือกอาจไม่ใช่ชอยส์ที่ตรงใจสุด
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหนึ่งปี วีระเทพ ได้รับความสนใจจากโรงเรียนปทุมคงคา ให้เข้ามากินอยู่ประจำในโควตานักกีฬาฟุตซอล เท่ากับว่าเขาต้องจากบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด รวมถึงสังคมเพื่อนฝูงที่โตมาด้วยตลอดที่โรงเรียนเดิม (ศรีบุณยานนท์)
“ใจจริงผมไม่ได้อยากย้ายออกจากโรงเรียนเดิมนะ เพราะเราไม่เคยห่างบ้าน และอีกอย่างเพื่อนที่เล่นฟุตซอลมาด้วยกันตอน ม.ต้น ก็เลือกต่อ ม.ปลาย ที่เดิมกันหมด”
“แต่พอคุยกับคุณพ่อท่านก็แนะนำว่ามันเป็นโอกาสที่เปิดกว้างกว่า เพราะปทุมคงคามีชื่อเสียงด้านฟุตซอล หลายคนต่อยอดไปเป็นนักกีฬาอาชีพได้ พอมาคิดดูแล้วว่านี่เป็นทางที่ดีกว่าก็เลยเลือกเข้ามาเรียน ม.ปลาย ที่ ปทุมคงคา และทำผลงานได้โอเค ชลบุรีฯ จึงชวนเข้าไปซ้อม”
แม้ครอบครัวจะสนับสนุนการเลือกเรียนต่อที่โรงเรียนปทุมคงคา เพราะเป็นสถานศึกษาที่ดังด้านฟุตซอล แต่พอวันที่ วีระเทพ ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งกับ “โอกาสที่อาจผ่านเข้ามาแค่ครั้งเดียวในชีวิต” อย่างการได้ร่วมงานกับสโมสรชลบุรี บลูเวฟ
วีระเทพ ถามตัวเองด้วยคำถามหลายข้อเพื่อชั่งน้ำหนักถึงข้อดีข้อเสีย ก่อนตกตะก้อนทางความคิดว่า “นี่ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนักที่เขาจะไปเป็นนักฟุตซอลอาชีพ”
ท้ายที่สุด วีระเทพ จึงเลือกไม่เซ็นสัญญากับชลบุรี ฯ เพราะเจ้าตัวยังมองเห็นความเสี่ยงหลายอย่าง หากตัดสินใจเลือกตามสิ่งที่ตัวเองชอบนั่นคือฟุตซอล เขากลับเลือกหนทางที่สองนั่นคือเอาการศึกษาเป็นหลักก่อน
“ผมปรึกษาครอบครัว คุณพ่อก็แนะนำว่าอยากให้เลือกเรียนที่จุฬาฯ ก่อน เพราะตอนนี้มันอาจเร็วเกินไป ถ้าเรียนไปอีก 4-5 ปีจบแล้วให้มีวุฒิ ป.ตรี ติดตัว พอเรียนจบแล้วจะกลับมาเล่นก็คงไม่สายเกินไป หากไม่ได้เป็นนักฟุตซอลอาชีพก็ยังมีอาชีพอื่นรองรับ”
“ถ้าถามว่าผมอยากเล่นลีกไหม มันก็อยากเล่นแหละ แต่พอมานั่งทบทวนกับตัวเองคิดว่าเราเลือกการเรียนก่อนดีกว่าก็เลยปฏิเสธโอกาสนั้นไป”
Dribble Less
สายตาของเขาพยายามกวาดมองไปรอบตัว ขณะที่ปุ่มเหล็กใต้รองเท้าเหยียบย่ำอยู่บนพื้นหญ้ากลางสนาม โดยมีผู้เล่นคู่แข่งกว่า 10 คนอยู่รอบตัวพร้อมวิ่งเข้าหาทุกทิศทางจากจุดที่เขายืนอยู่
“วีระเทพ” อาจเอาตัวรอดได้ดียามเล่นฟุตซอลในคอร์ตขนาดเล็กที่มีคู่แข่งเอาต์ฟิลด์แค่ฝั่งละ 4 คน แต่กับฟุตบอลนั้นเป็นอะไรที่ยากเสมอสำหรับนักฟุตซอลที่เปลี่ยนมาเล่นสนามใหญ่ แม้กติกาและรูปแบบจะใกล้เคียงกันนั่นคือยิงบอลให้เข้าสู่ตาข่ายคู่แข่งเพื่อทำสกอร์
“ผมมาสอบเข้าโควตานักฟุตซอลของจุฬาฯ แต่เข้าด้วยโควตานักฟุตซอลไม่ได้เพราะคะแนน GAT-PAT ไม่ถึง นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมต้องเลือกมาสอบโควตาของฟุตบอล และอีกอย่างผมมองว่าฟุตบอลมีโอกาสที่กว้างกว่าฟุตซอลก็เลยลองมาคัดดู”
ทักษะด้านฟุตซอลที่ติดตัวสร้างความแตกต่างและดีพอให้ “วีระเทพ” ผ่านการเทสต์ จนได้มาเป็นนิสิตใหม่ในรั้วจามจุรีสมความตั้งใจ
หลังจากนั้นไม่มีใครรู้ว่านี่คือตัดสินใจที่ถูกหรือผิด เพราะการเลือกเข้าเรียนต่อที่จุฬาฯ นอกจากจะทำให้ต้องชวดโอกาสเล่นกีฬาที่ถนัดและต้องมาปรับตัวกับกีฬาที่ไม่ถนัด
ซ้ำร้ายเขายังได้รับบาดเจ็บกระดูกร้าวจากการเล่นฟุตบอลจนต้องพักไปร่วมปี … เมื่อหายเจ็บกลับมา “วีระเทพ ป้อมพันธุ์” ก็ต้องกลับมาสู้ต่อในวิถีทางฟุตบอลอาชีพในลีกระดับ 3 กับสโมสรจามจุรี ยูไนเต็ด ทีมลูกหนังของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้หลายอย่างจากที่นี่
“หลังหายเจ็บกลับมาผมใช้เวลาอยู่ 5-6 เดือนเลยกว่าจะเล่นร่วมกับทีมได้ เพราะผมก็ต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างเหมือนกันจากฟุตซอลมาเป็นฟุตบอล”
“เมื่อก่อนผมเล่นฟุตบอลตำแหน่งกองกลางตัวรุก เวลาได้บอลผมก็มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราเลี้ยงได้ จังหวะเจอคู่แข่ง 1-1 ผมก็พยายามจะเลี้ยงผ่านให้ได้ ติดการเลี้ยงบอลมาจากฟุตซอล”
“ทำให้บางครั้งจังหวะที่เราได้บอลมันช้าและไม่เข้ากับเพื่อน เพราะเวลาเราได้บอลเราต้องจับก่อนแบบฟุตซอล บางทีเพื่อนวิ่งอยู่ไกล ๆ มีช่องว่างเราก็ไม่เปิด เราดันมองตัวใกล้จ่ายสั้น”
“ซึ่งโค้ชเขาก็บอกและสอนให้เราลองปรับเปลี่ยน เวลาได้บอลไม่จำเป็นต้องเลี้ยงกินตัวอย่างเดียวถ้ามีช่องก็แทง ใช้บอลเดินทางเอา พอผมลองทำดู เออ มันดีว่ะ บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยพยายามเลี้ยงไปแล้วเสี่ยงจะโดนแย่งเอาได้”
วีระเทพ ถามผู้เขียนว่า “พี่เคยเห็น พี่โดม บดินทร์ ผาลา เล่นฟุตบอลไหม ?” หลังสิ้นเสียงคำตอบว่าเคย เขาอธิบายต่อว่า “นั่นแหละสไตล์ถนัดของผม แต่ทุกวันนี้ผมแทบจะไม่ได้เลี้ยงกินตัวแล้ว เปลี่ยนมาเป็นเน้นจ่ายบอลและขยับเคลื่อนที่มากกว่า มันไม่เหนื่อยแล้วก็ดูสวยงามด้วย”
“ผมเข้าใจแล้วว่าฟุตบอลเก่งคนเดียวมันไม่มีทางชนะหรอก ถ้าอยากชนะทั้ง 11 คนต้องช่วยกันเล่น ต่อให้วันนั้นเล่นไม่ดี 5 คน แต่อีก 6 คนเล่นดี ถ้าช่วยกัน ๆ ต่อให้มันเกิดความผิดพลาดบ้างมันก็ยังมีโอกาสชนะได้มากกว่าทีมที่เล่นดีแค่คนเดียว”
สารภาพตามตรงว่าผมจินตนาการภาพของ วีระเทพ สมัยที่เป็นจอมลากเลื้อยไม่ออกจริง ๆ และไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าเขาจะปรับเปลี่ยนสไตล์จนกลายมาเป็น มิดฟิลด์จอมจ่ายบอล ได้เนียนขนาดนี้
แต่พอได้รับรู้ถึงวิธีคิดและทัศนคติของเขาก็พลอยหมดความสงสัยไปเลยว่า ทำไมอดีตนักเตะตัวสำรองในลีกล่างถึงพัฒนาตัวเองมาได้ไกลจนไปเข้าตาสโมสรบิ๊กเนมอย่าง “เมืองทอง ยูไนเต็ด” ที่ดึงตัวเขามาเล่นบนลีกสูงสุด
Art of Survival
โคมไฟดวงเล็กในห้องนอนส่องแสงสว่างไปที่ตัวหนังสือบนกระดาษที่วางกองอยู่บนโต๊ะ “วีระเทพ” พยายามเพ่งสายตามองไปยังเอกสารมากมายที่เขาต้องจัด กับความรับผิดชอบในฐานะ “ครูฝึกสอน”
แม้ร่างกายเหนื่อยล้าเต็มที่จากการเดินทางออกจากบ้านพักย่านบางใหญ่ นนทบุรี ตั้งแต่เช้ามืดเพื่อให้ไปถึงโรงเรียนหอวัง ก่อนชั่วโมงเร่งด่วนที่การจราจรติดขัดบนถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
จากนั้นเขาต้องรีบขับต่อไปยังสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ในตัวเมืองนนทบุรี เพื่อซ้อมฟุตบอลตั้งแต่เย็นถึงหัวค่ำ แล้วจึงกลับบ้านพร้อมกับภาระงานที่หอบจากโรงเรียนมาทำต่อที่บ้านจนดึกดื่น
“ผมมีสัญญากับเมืองทอง 4 ปี ฤดูกาลแรก (2019) เป็นปีเดียวกันกับที่ผมต้องออกไปฝึกสอนด้วย ไหนจะต้องปรับตัวให้ทันกับสปีดบอลและแทคติกของทีม เอาแค่หญ้าในสนามก็แตกต่างกันแล้ว ที่จุฬาใช้หญ้าเทียมส่วนเมืองทองเป็นหญ้าจริง ผู้เล่นของทีมเมืองทองก็มีคุณภาพมากกว่า”
“ซีซั่นแรก ผมได้ลงเล่น 6 นัดนัดละประมาณ 10-15 นาที ทุกครั้งก่อนแข่งจะมีการประกาศรายชื่อนักเตะที่จะได้แข่งในนัดต่อไป ใครมีชื่อก็ต้องไปเก็บตัวที่โรงแรม ใครไม่มีชื่อก็กลับบ้าน หลายเกมผมไม่มีชื่อแม้กระทั่งตัวสำรอง ต้องขับรถกลับบ้านไปแบบนอยด์ ๆ ไม่ได้เดินทางไปกับทีม”
“ผมเคยถามตัวเองนะว่า ‘มึงจะเอาอย่างนี้จริง ๆ เหรอ ทำไมมึงมาแล้วไม่ได้เล่น มึงมีสัญญาแค่ 4 ปีนะ ถ้าหมด 4 ปีแล้วมึงยังไม่มีโอกาสลงสนามทีมเดิมเขาจะต่อสัญญามึงเหรอ ทีมไหนเขาจะเอามึงต่อ ถ้ากลับไปเล่น T2-T3 แล้วเงินเดือนลดลง มึงโอเคเหรอ’”
“ตอนนั้นเป็นช่วงที่ฝึกสอนไปด้วยเล่นฟุตบอลไปด้วย มันเหนื่อยมากจริง ๆ แต่เราจะเอาตรงนั้นมาเป็นข้ออ้างไม่ได้ ในเมื่อเราเลือกแล้วก็ต้องฮึดผ่านมันไปให้ได้”
“ไม่ใช่ว่ากูเหนื่อยจากการซ้อมว่ะ เลยสอนไม่เต็มที่ หรือกูไม่อยากซ้อมแล้ว เพราะเหนื่อยกับการสอน ผมก็เลยเอาวะแค่ปีเดียว ก็พยายามฮึดทำให้เต็มที่สุดกับทุกงานที่ตัวเองได้รับมอบหมาย”
“พอมองย้อนกลับไปมันอยู่ที่ว่าเราจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เราจะลุกขึ้นสู้หรือยอมแพ้ ไม่เอาแล้ว กูขอใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ เหมือนที่เคยเป็นมา ไม่ต้องไปลำบากมาเมืองทองก็ได้ พอเราผ่านมาได้เราก็ดีใจที่ตัวเองคิดถูกที่สู้มา”
ปีแรกที่ยากลำบากผ่านพ้นไปด้วยดี เขาเรียนจบได้อย่างที่ตัวเองตั้งใจ และสามารถมาโฟกัสทุ่มเทกับฟุตบอลได้อย่างเต็มร้อย
ผลที่ได้ก็คือ นับตั้งแต่ฤดูกาล 2020 เป็นต้นมา “วีระเทพ ป้อมพันธุ์” ได้รับโอกาสลงสนามมากขึ้น ก่อนกลายมาเป็นตัวหลักที่ขาดไม่ได้ของสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมา ภายใต้การคุมทีมของโค้ช มาริโอ ยูรอฟสกี
บางทีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่คับขันอาจเป็นทักษะที่ วีระเทพ มีติดตัวมาด้วย เพราะเขามักแสดงให้เห็นยามลงเล่นบนสนาม
ไม่ว่าจะถูกคู่แข่งรุมกินโต๊ะพยายามเข้าปะทะหนักเล่นนอกเกม เขาก็ดูมีความนิ่งทางจิตใจ ไม่หวั่นไหว มีสมาธิกับเกม จนทำให้แฟนบอลหลายคนชอบในฝีเท้าและการควบคุมอารมณ์ของเขา
“ก็มีคนเคยถามเหมือนกันว่าทำไมผมนิ่งเวลาเล่นฟุตบอล มันอาจเป็นเพราะว่าผมเล่นฟุตซอลเดินสายมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งผมออกไปแข่งเจอผู้ใหญ่ เขาเห็นเราเป็นเด็กก็พยายามเล่นแรงกับเรา ซึ่งผมไม่ได้กลัวไง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าต้องไปเอาคืนหรือมีเรื่องกับเขา ผมก็เล่นไปตามเกมของผม”
“ผมเคยเจอเจ้าถิ่นตะโกนว่า ‘เตะเลย เตะเลย แล้วเขาวิ่งมาเตะขาผมก็มี’ แมตช์นั้นก็เลยปล่อยเลยให้เขาชนะไป พอเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอลผมก็รู้สึกว่าเกมมันไม่ได้เดือดขนาดนั้น เราก็เลยไม่กลัวอะไร”
“เพราะฟุตซอลเดินสายมันเดือดกว่านี้เรายังผ่านมาได้ ทำไมตรงนี้เราจะผ่านไม่ได้ ทำให้นิ่งพอที่จะหาทางเอาตัวรอด และไม่ต้องกลัวเวลาจะมีใครวิ่งมาเตะหรือพยายามเล่นนอกเกมกับเรา”
3 Rules
จากนักเตะที่ย้ายมาร่วมทีมแบบไม่ได้มีการชูเสื้อเปิดตัว และเคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าเขาเป็นใคร ทำไมถึงมาใส่เสื้อหมายเลข 18 ของเมืองทอง ยูไนเต็ด แทนที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์
มาถึงวันนี้คงไม่มีใครสงสัยในความสามารถของ วีระเทพ อีกแล้ว เพราะเขาก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของสโมสรเดียวกับที่เขาไม่ได้มีพิธีแถลงข่าวเปิดตัวนั่นแหละ
รวมถึงยังเป็นขุนพลคู่ใจของ มาโน่ โพลกิ้ง หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยคนใหม่ และได้ลงสนามเล่นในทัพช้างศึกเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าของเสื้อหมายเลข 18 อย่างชนาธิป
“เวลาลงแข่งทุกครั้งผมจะตั้งกฎกับตัวเอง 3 ข้อ” วีระเทพ จั่วหัวมาด้วยคำพูดที่น่าสนใจ เมื่อเราถามว่าคุณมีหลักคิดในการเล่นฟุตบอลไหม ?
“ 1. เล่นง่าย ๆ 2. ออกบอลง่าย ๆ และ 3.ไม่เสียบอล ผมคิดเสมอว่าตัวเองต้องเล่นง่าย ๆ เข้าไว้ ยกเว้นถูกเพรสซิ่งกดดัน ก็ต้องมีพลิกแพลงเอาตัวรอดบ้าง”
“แต่หลัก ๆ คือผมจะเล่นง่ายไว้ก่อนเพื่อจะได้จ่ายบอลให้เพื่อนเล่นต่อไม่ยาก และอีกอย่างคือต้องไม่เสียบอล เพราะว่าผมรู้สึกว่าเวลาเราเสียบอลจะทำให้เรารู้สึกเสียความมั่นใจไป”
“ผมเป็นคนที่รับไม่ได้ถ้าเสียบอลแล้วเสียประตู แม้แต่ตอนซ้อมก็รับไม่ได้ เสียบอลเสียได้แต่ต้องไม่ถึงขั้นเสียประตู มีแมตช์นึงที่เจออุทัยธานี เอฟซี ผมจ่ายบอลพลาด โดนกองกลางเค้าตัดบอลไปให้กองหน้าเขายิง”
“กลับไปวันนั้นผมนอนไม่หลับเลย เพราะจุดเริ่มต้นของการเสียประตูมาจากผมไง ผมเลยคิดว่านั่นคือความเสี่ยงที่เรารับไม่ได้ ได้แต่เสียดาย ไม่น่าเลย นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเลยที่ผมเสียบอลและทำให้ทีมเสียประตู”
“ต่อให้เราเล่นไม่ดีแต่บอลชนะมันก็โอเคแหละ แต่แมตช์ไหนที่เราเล่นดีแต่ผลงานทีมไม่ดีเราก็ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าต้องเล่นง่าย ๆ จ่ายบอลง่าย ๆ และไม่เสียบอล”
“ผมตั้งเป้าหนึ่งนัดต้องเสียบอลไม่เกิน 4-5 ลูก พอแข่งเสร็จเราก็มาดูตัวเอง และให้คะแนนประเมินว่าพอใจกี่เปอร์เซ็นต์จาก 100 บางนัดผมให้ตัวเองสัก 80-85% ถ้าวันไหน 90-95% ก็แสดงว่าเล่นดี แต่ถ้าน้อยกว่านั้นแสดงว่าเราเล่นไม่ดีต้องปรับปรุง”
กฎ 3 ข้อที่ดูไม่สลับซับซ้อนแต่ก็ยากที่จะปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่าได้ดีว่า วีระเทพ เป็นคนที่คิดก่อนทำเสมอ และเขาก็ใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท ประเมินความเสี่ยงในทุกการตัดสินใจของตัวเองเสมอ
Risk Assessment
“ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนละเอียดและชอบตั้งคำถามกับตัวเองทุกเรื่อง บางทีก็แอบรำคาญตัวเองนะ (หัวเราะ) ทำไมต้องขนาดนั้น”
“ไม่ว่าจะเรื่องฟุตบอลหรือการใช้ชีวิต เช่น ใช้จ่ายผมจะคำนวณเองทุกอย่าง จะจดไว้ทุกอย่างว่าวันนี้กินอะไรบ้าง ใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ ผมจะบังคับตัวเองว่าเดือนนี้มึงต้องใช้เท่านี้นะ” วีระเทพ พูดไปพลางหยิบมือถือขึ้นโชว์ Note ที่เขาจดไว้ว่าวันนี้ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง
“ฟุตบอลก็เหมือนกัน ผมเคยเจ็บหนักมา 6-7 เดือน ต้องใช้ไม้เท้าพยุงเดิน มันไม่ได้ลำบากแค่ตัวเองแต่คนรอบข้างเราก็ต้องเสียเวลามาดูแลเราอีก ผมก็เลยไม่อยากเจ็บอีกแล้ว เมื่อก่อนผมชอบขี่มอเตอร์ไซด์มาก ผมเลิกขี่เลย เพราะลองมานึกถึงความเสี่ยงว่าถ้าล้มแล้วขาเป็นอะไรไปผมจะเล่นต่อไปอย่างไร”
“เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ ? ดังนั้นถ้าต้องเสี่ยงกับตรงนี้ผมเลือกที่จะไม่เสี่ยง หรือเลือกทางที่เสี่ยงน้อยกว่าดีกว่า อย่างที่บอกผมเป็นชอบตั้งคำถามกับตัวเอง และเวลาทำอะไรก็คิดถึงข้อเสียด้วยว่ามันคุ้มค่าไหมที่จะเสี่ยง”
ทัศนคติในการใช้ชีวิตของ วีระเทพ สะท้อนออกมาเป็นสไตล์การเล่นฟุตบอล ที่ถึงแม้จะเป็น กองกลางตัวรับ แต่ก็ไม่ได้เข้าบอลโฉ่งฉ่าง เน้นความแน่นอนมากกว่า และไม่เสี่ยงเกินความจำเป็น
เขายอมรับว่าสไตล์แบบนี้อาจไม่ถูกใจบางคนที่อาจชอบกองกลางตัวรับที่ดุดันถึงลูกถึงคน มีบุคลิกที่แข็งกร้าวกว่าที่เขาเป็น
แต่เขาก็เลือกที่จะเป็นตัวเองในแบบที่สามารถช่วยให้ทีมได้ประโยชน์ มากกว่าต้องเอนไหวเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้คนภายนอกพึงพอใจ
“ผมเข้าใจว่าบางคนอยากเห็นผมปะทะคู่แข่งมากขึ้น อาจเห็นว่าผมไม่ค่อยปะทะ ส่วนหนึ่งมาจากที่ผมเคยเล่นฟุตซอลมาก่อน ในเกมฟุตซอลแค่ชนล้มก็ฟาวล์ ผมก็เลยเรียนรู้วิธีการแย่งบอลตัดบอลโดยที่ไม่ต้องปะทะ จิ้มออกข้างได้ไหม ? ลองขาอ้อมเกี่ยวแย่งบอลมาได้ไหม อะไรแบบนี้”
“พอมาลองมาปรับใช้กับฟุตบอล บางจังหวะเราก็ไม่จำเป็นต้องปะทะก็ได้ ผมเล่นไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่โค้ชมอบหมาย เพราะถ้าโค้ชอยากให้เปลี่ยนเขาก็ต้องเป็นคนที่มาบอกแล้ว”
หากจะบอกว่า วีระเทพ เล่นฟุตบอลและใช้ชีวิตแบบเพลย์เซฟปราศจากความเสี่ยงใด ๆ ก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่จริงเสมอไป เพราะถ้าสำรวจเส้นทางของเขากว่ามาถึงจุดนี้
เราจะพบว่ามันก็มีหลายครั้งที่ “วีระเทพ” ต้องเสี่ยง ทั้งการเปลี่ยนจากนักฟุตซอลมาเป็นนักฟุตซอล, การปรับตัวจากมิดฟิลด์ตัวรุกมาเล่นตำแหน่งตัวรับ ตลอดจนการเปลี่ยนสถานะจากผู้เล่นโนเนมมาเป็นนักเตะที่แบกรับความคาดหวังของทีมและแฟนบอล
จะว่าไปแล้วทุกครั้งที่เขาเลือกเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง “มันง่ายมากที่จะล้มเหลว และยากมากที่จะสำเร็จ”
ทว่าถ้าถึงวันที่เขาต้องเสี่ยง สิ่งที่ชัดเจนก็คือ วีระเทพ เลือกความเสี่ยงที่เขาคิดตกผลึกแล้วว่าเขาจะสามารถรับมือกับมันได้ และดูแล้วเป็นทางที่ดีกว่า ต่อให้ความเสี่ยงจะไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบก็ตาม
“ฟุตบอลกับชีวิตของผมก็เหมือนกัน ผมใช้ชีวิตโดยที่ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าระหว่างสิ่งที่ชอบกับความเป็นจริงผมจะเลือกอะไร ? เราก็เลือกความเป็นจริงมาตลอด เพราะถ้าผมเลือกสิ่งที่ชอบผมก็คงเซ็นสัญญากับ ชลบุรี บลูเวฟ ตั้งแต่ ม.5”
“อย่างฟุตบอลก็เหมือนกัน ชอบกลางรุกแต่ความเป็นจริงได้เล่นกลางรับ แล้วถามว่าผลที่มันออกมามันดีกว่าสิ่งที่ตัวเองชอบไหม ? ก็อย่างที่เห็น มันดีกว่า”
“มันทำให้ใช้ชีวิตโดยนึกถึงความเป็นจริงก่อนเสมอ ถ้ามีสิ่งที่ชอบก็จะต้องมองหาข้อเสียของมันให้เจอแล้วชั่งน้ำหนักดูว่าคุ้มหรือเปล่า ?”
“ผมอาจจะถูกจับมาเล่นในตำแหน่งที่ไม่ได้หวือหวาเหมือนนักเตะเกมรุก เพราะหน้าที่ผมต้องเก็บบอล คอยโฮลดิ้งบอล โค้ชมอบหมายให้เราเล่นแบบนี้เราก็ต้องรักษามาตรฐานการเล่นให้ดี”
“นักบอลมันก็มีทั้งวันที่เล่นดีและเล่นไม่ดี เพราะฟุตบอลมันไม่ได้เล่นเหมือนกันทุกนัด ไม่ได้เจอคู่ต่อสู้เหมือนเดิม ต่อให้เราเองจะเล่นเหมือนเดิมทุกแมตช์ยังทำไม่ได้เลย เราทำได้แค่ศึกษา เรียนรู้ ปรับตัว และเล่นให้ได้อย่างที่โค้ชต้องการใช้งานเรา”
“เพราะในมุมของโค้ช คงไม่มีโค้ชคนไหนต้องการนักเตะที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ อย่างน้อยเราควรมีสแตนดาร์ดการเล่นของเราไว้ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนเราก็ทำเต็มที่กับทุกบทบาทที่ได้รับมอบหมาย
“ผมคิดว่าการรักษามาตรฐาน มันน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญของนักฟุตบอล” วีระเทพ ทิ้งท้ายก่อนร่ำลาเพื่อขอตัวไปซ้อมฟุตบอล กิจวัตรที่เขาทำมันมาตลอดช่วงหลายปีหลัง