DRS : นวัตกรรมช่วยแซงของฟอร์มูล่าวัน ที่อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว?

DRS : นวัตกรรมช่วยแซงของฟอร์มูล่าวัน ที่อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว?

DRS : นวัตกรรมช่วยแซงของฟอร์มูล่าวัน ที่อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กาลครั้งหนึ่ง การแซงในระหว่างการแข่งรถ Formula 1 เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้ตามไม่สามารถหาจังหวะไล่ตามคันนำหน้าได้ จากข้อจำกัดของเครื่องยนต์กับหลักพลศาสตร์ที่ผลักนำเอา Dirty Air มาสู่รถคันตามหลังในระยะใกล้อย่างจัง

นั่นจึงเป็นบ่อเกิดของระบบ DRS ที่ถูกนำเข้ามาแก้ปัญหาความน่าเบื่อในการแข่งขัน ด้วยการเข้ามาบูสต์เพิ่มความเร็วให้รถแข่งสามารถมีโอกาส "แข่งขัน" กันได้มากกว่าเดิม จนกลายมาเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คุ้นหูของชาวมอเตอร์สปอร์ตในปัจจุบัน

แต่ระบบลดแรงต้าน หรือ DRS นั้นคืออะไร มีต้นกำเนิดมาได้อย่างไร แล้วจริงหรือไม่ที่มันอาจจะหายไปจากการแข่งขันฟอร์มูล่าวันในอนาคตอันใกล้นี้ มาร่วมไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

นวัตกรรมแหกกฎ

อันที่จริงแล้วรถแข่งฟอร์มูล่าวันไม่ได้มีปีกบนตัวรถมาตั้งแต่แรก ทว่าด้วยไอเดียสุดแหวกแนวของ ไมเคิล เมย์ วิศวกรชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากปีกเครื่องบินที่สร้างแรงยก เขาจึงได้ลองนำปีกดังกล่าวมากลับด้านเพื่อสร้างแรงกดให้รถแข่งเกาะพื้นถนนได้ดียิ่งขึ้น โดยเจ้าตัวเริ่มนำนวัตกรรมดังกล่าวมาประเดิมกับการแข่งขันในปี 1956 ก่อนจะถูกทีมคู่แข่งเรียกร้องให้นำออก เพราะไปบดบังทัศนวิสัยของนักขับคันตามหลัง

แม้จะผ่านช่วงลองผิดลองถูกมาตลอดครึ่งศตวรรษของวงการมอเตอร์สปอร์ต แต่ท้ายที่สุดปีกก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรถแข่งอย่างที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน ทว่าในครั้งหนึ่งความก้าวหน้าในองค์ความรู้ด้านหลักพลศาสตร์ของทีมผู้ผลิตต่าง ๆ ก็สร้างความปวดหัวให้กับคู่แข่งร่วมสนามไม่น้อย

เนื่องจากในยุค 2010s ส่วนปีกของรถแข่งเหล่านี้ที่นำพาอากาศให้ไหลตามลำตัวรถเพื่อสร้างแรงกดนั้น มีส่วนทำให้เกิดสองปรากฏการณ์กับรถคันที่ตามหลัง นั่นคือ Slipstream หรือการแหวกอากาศที่จะช่วยลดแรงต้านที่คันหลังจะต้องเผชิญ กับ Dirty Air หรือการทำให้อากาศเกิดการปั่นป่วน จนนักขับคันตามหลังไม่สามารถไล่เข้ามาใกล้ หรืออาจถึงขั้นสูญเสียการควบคุมรถไปได้บ้าง ซึ่งไม่ดีกับกีฬาที่ต้องทำเวลากับความเร็วให้ได้ดีที่สุดเช่นนี้

 

และเมื่อรถแข่งไม่สามารถแข่งกันได้ก็ไม่มีความสนุกอะไรหลงเหลืออยู่เป็นแน่แท้ จึงทำให้ทีม แมคลาเรน ตัดสินใจนำนวัตกรรมใหม่อย่างโปรเจ็กต์ RW80 หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า F-duct ออกมาประเดิมใช้ในการแข่งขันปี 2010 เสียเลย

เกริ่นก่อนว่าเหล่าทีมผู้ผลิตในฟอร์มูล่าวันต่างพยายามหาทางเอาชนะกฎที่สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติหรือ FIA เขียนขึ้นในแต่ละปีเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว โดยมักเป็นการซ่อนไว้อย่างแนบเนียนในตัวรถ เพื่อปิดไม่ให้ทีมอื่นได้รับรู้ และนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการปรับใช้กับรถแข่งของตัวเองได้ ซึ่งก็ต้องแข่งกับสายตาของวิศวกรหรือแม้แต่ผู้ติดตามกีฬาชนิดนี้ จนเรียกได้ว่าตามจับผิดแทบทุกรายละเอียดกันเลยทีเดียว

สำหรับนวัตกรรม F-duct ดังกล่าว แมคลาเรน อาศัยช่องว่างของกฎในขณะนั้นที่ระบุว่าห้ามมีชิ้นส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับหลักพลศาสตร์ของตัวรถ เช่น ปีกหน้า กับ ปีกหลัง เคลื่อนไหวได้ โดยการนำท่อรับลมมาติดไว้หน้ารถ แล้วเรียงร้อยผ่านลำตัวของรถแข่งตามปกติที่มีไว้สำหรับการนำลมมาช่วยลดความร้อนภายในเครื่องยนต์อยู่แล้ว


ทีนี้สิ่งที่ไม่ปกติของเจ้า F-duct คือนักขับสามารถเอาหัวเข่าซ้ายหรือฝ่ามือไปอุดช่องว่างขนาดเล็กในตัวรถเพื่อส่งลมดังกล่าวให้นำทางไปยังบริเวณปีกท้ายของรถแข่งที่จะช่วยลดแรงต้านหรือ Drag ในระหว่างขับอยู่บริเวณทางตรงได้ ซึ่งนักขับต้องยอมแลกการสูญเสียแรงกดหรือ Downforce ไปบ้างเล็กน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งความเร็วเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วยกัน

 

แน่นอนว่านี่เป็นอะไรที่ล้ำมาก ๆ ซึ่งน่าสนใจตรงที่ FIA ไม่สามารถเอาผิดทีมแมคลาเรนได้เลย เนื่องจากทีมทำทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎที่วางไว้ จึงต้องยอมปล่อยให้พวกเขา (และทีมอื่น) ใช้ได้ตลอดทั้งฤดูกาลปี 2010 ไปโดยปริยาย

ก่อนที่มันจะถูกแบนหลังจากนั้น และถูกแทนที่ด้วยระบบ DRS อย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน

จากธีสิสจบสู่ของจริงในสนาม

ระบบลดแรงต้าน หรือ DRS เป็นนวัตกรรมที่แทบจะต่อยอดมาจาก F-duct เลย คือมันอาศัยการไหลของอากาศผ่านปีกในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ต่างแค่ DRS สามารถทำงานได้ด้วยการกดปุ่ม ในขณะที่ F-duct ยังเป็นการใช้ร่างกายนักขับมาช่วยปิดวงจรการไหลของอากาศอยู่

 

ความน่าสนใจของ DRS คือมันมาจากธีสิส หรือวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาของ รูธ บัสโคม (Ruth Buscombe) นักศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมอากาศยาน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ศึกษาผลกระทบของระบบลดแรงต้านร่วมกับ FIA ก่อนที่โปรเจ็กต์จบของเธอจะถูกนำมาปรับใช้ในการแข่งขันจริงตั้งแต่ฤดูกาล 2011 เป็นต้นมา

จากเด็กผู้ใฝ่ฝันอยากเป็น "เจ้าหญิง, นักบินอวกาศ, ไม่ก็อยู่ในวงการ F1" เธอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมแห่งยุคของวงการมอเตอร์สปอร์ต ก่อนที่ทุกวันนี้ บัสโคม จะดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้านักวางกลยุทธ์ให้กับทีม อัลฟ่า โรเมโอ 

การทำงานของ DRS นั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ให้ลองนึกภาพว่าปีกหลังของรถ F1 นั้นเป็นเหมือนปีกเครื่องบินกลับหัว ที่เมื่ออากาศมาปะทะแล้วมันจะเกิดแรงต้านกับแรงกดให้รถเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นนักเมื่อรถแข่งเหล่านี้ไม่ได้วิ่งอยู่ในทางตรง

นั่นคือตอนที่ DRS จะเข้ามามีบทบาท โดยอาศัยการเปิดปีกท้ายส่วนบนขึ้นเพื่ออนุญาตให้อากาศสามารถไหลผ่านไปได้โดยตรงเพื่อลดแรงต้านกับแรงกดที่มีอยู่ ซึ่งมีผลทำให้รถแข่งเหล่านี้ทำความเร็วได้มากขึ้นราว 10-15 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมกับเพิ่มโอกาสประกบติดหรือแซงนักขับที่อยู่ด้านหน้าได้

นอกจากระบบลดแรงต้านด้วยการเปิดปีกท้ายแล้ว นักขับสามารถใช้พลังงานจากประจุที่สะสมในแบตเตอรี่ ซึ่งจะถูกกู้คืนจากการใช้เบรกในส่วนต่าง ๆ ของแทร็กมาช่วยเร่งความเร็วในการแซงได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าพอมี DRS แล้วนักขับจะไปเปิดใช้งานที่จุดไหนก็ได้ เพราะแต่ละสนามแข่งขันจะมีจุดที่กำหนดไว้เลยว่าสามารถเปิดใช้ตรงไหนได้บ้าง ซึ่งมักเป็นพื้นที่ทางตรงที่ยาวที่สุดของแทร็ก และบางแห่งอาจอนุญาตให้ใช้ระบบลดแรงต้าน 2-3 จุดได้ตามความเหมาะสม

นอกจากบริเวณที่ใช้ได้แล้วนักขับยังต้องรอการอนุญาตให้เปิดใช้ DRS จากศูนย์ควบคุมการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งมักอนุญาตให้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อการแข่งขันผ่านไปแล้ว 3 รอบโดยไม่มีอุบัติเหตุ สภาพสนามลื่น หรือเหตุที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของนักขับได้ แถมรถคันตามหลังจะต้องอยู่ในระยะห่างไม่เกิน 1 วินาทีจากรถแข่งคันนำหน้า นับจากบริเวณ Detection Zone หรือจุดที่ตรวจจับระยะห่างของรถ ซึ่งจะอยู่ก่อนถึงบริเวณที่อนุญาตให้ใช้ DRS โซนต่าง ๆ อยู่เสมอ

ทว่าด้วยการปรับเปลี่ยนกฎแบบใหม่หมดในฤดูกาล 2022 อนาคตของ DRS ก็ได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งกับยุคสมัยที่รถแข่งเริ่มกลับไปแข่งขันกันได้จริง ๆ อีกที

DRS ยังจำเป็นไหม ?

อย่างที่ทราบกันดีว่า DRS ถูกนำเสนอเข้ามาอยู่ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวันด้วยเหตุผลของการทำให้รถแข่งสามารถ "แข่งขัน" กันได้ในแบบที่ควรจะเป็นโดยไม่ต้องผะวงถึงผลกระทบจาก Dirty Air หรือความปั่นป่วนของอากาศจากการพยายามแซงกัน

และเมื่อการปรับกฎของ F1 ในฤดูกาล 2022 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนดีไซน์รถแข่งใหม่หมดจนทำให้ผลกระทบจาก Dirty Air นั้นลดลงไปมากกว่า 47% เมื่อพยายามขับตามรถคันนำหน้าด้วยระยะห่างประมาณ 10 เมตร กอปรกับการแซงกันในฤดูกาลนี้หลายครั้งที่เห็นได้ชัดว่ารถแข่งทั้งหลายสามารถทำระยะเข้ามาใกล้กันได้มากขึ้นกว่าเดิม ความสำคัญของเจ้า DRS จึงถูกนำมาตั้งคำถามอีกครั้งทั้งในแง่ที่ว่ามันยังจำเป็นหรือไม่ และระบบลดแรงต้านได้กลายเป็นตัวช่วยที่บ่อนทำลายความสนุกของรถแข่งหรือเปล่า

เฟร์นานโด อลอนโซ่ นักขับรุ่นเก๋าของทีมอัลไพน์และเจ้าของแชมป์โลกสองสมัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ผมคิดว่า DRS จะอยู่ในฟอร์มูล่าวันไปตลอดเลย จริงแหละที่มันมาเป็นตัวช่วยแซงในบางสนาม แต่คุณลองนึกภาพถึงช่วงที่เราไม่มีระบบลดแรงต้านใช้ การแข่งขันมันน่าเบื่อกว่าตอนนี้มากขนาดไหน และการแซงกันในยุคนั้นมันยากเพียงใดกัน"

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับของ ชาร์ลส เลอแคลร์ นักขับของทีมเฟอร์รารี่ ที่เปิดประเดิมฤดูกาลนี้ด้วยการใช้ DRS สลับกันแซงแย่งอันดับหนึ่งกับ มักซ์ เวอร์สแตพเพ่น แชมป์โลกคนปัจจุบัน โดยเจ้าตัวระบุว่า "ผมคิดว่า DRS จะยังอยู่ต่อไปนะ แม้การขับตามกันในฤดูกาลนี้จะง่ายกว่าปีก่อน ๆ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอให้เราทิ้งระบบลดแรงต้านนี้ไปเสียทันที ผมชอบใช้มันและมันก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของนักขับแต่ละคน มันเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันไปแล้ว"


ความเห็นโดยรวมของนักขับในฤดูกาลปัจจุบันยังค่อนข้างไปในทางที่อยากให้เก็บ DRS ไว้ต่อไป ทั้งในแง่การช่วยให้รถสามารถแข่งขันกันได้ และในฐานะที่สิ่งนี้สามารถเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของการวางกลยุทธ์ของแต่ละทีมไปแล้ว นี่จึงอาจพูดได้ว่า DRS ยังคงอยู่ไปอีกสักพักใหญ่เลย

เพราะแม้การเปิดปีกท้ายเพื่อใช้ DRS จะเป็นตัวช่วยให้รถทำความเร็วทางตรงได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายร้อยจุดบนสนามแข่งขันที่สามารถพลิกสถานการณ์จากชัยชนะอันหอมหวานให้กลายเป็นฝันร้ายบนดินของนักขับคนนั้น ๆ ไปได้เลย ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็เป็นเสน่ห์รูปแบบหนึ่งของรถแข่งฟอร์มูล่าวันที่เป็นแบบนี้ ที่มีทั้งส่วนผสมของงานวิศวกรรมสุดล้ำ และทักษะของนักขับมารวมกันไว้ได้อย่างลงตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook