กาตาร์ 2022 : ฟุตบอลโลกฤดูหนาวส่งผลกระทบต่อตลาดนักเตะในยุโรปอย่างไร ?

กาตาร์ 2022 : ฟุตบอลโลกฤดูหนาวส่งผลกระทบต่อตลาดนักเตะในยุโรปอย่างไร ?

กาตาร์ 2022 : ฟุตบอลโลกฤดูหนาวส่งผลกระทบต่อตลาดนักเตะในยุโรปอย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่วงการฟุตบอลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทว่าในปีนี้พวกเขาอาจต้องรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่ หลังฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของยุโรปเป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าการจัดการแข่งขันในช่วงนี้ย่อมส่งผลต่อลีกใหญ่ในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่แต่ละลีกจะมีช่องว่าง 6 สัปดาห์ระหว่างฤดูกาล หรือหลายลีกต้องเริ่มฤดูกาลเร็วขึ้นอย่างน้อย 1 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ในสนามเท่านั้น เมื่อมันยังทำให้ตลาดซื้อขายนักเตะของยุโรปต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ติดตามเรื่องราวได้กับ Main Stand

ฟุตบอลโลกฤดูหนาว 

อันที่จริงตอนที่กาตาร์ถูกรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 เมื่อปี 2010 พวกเขาได้กล่าวอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเบื้องต้น เวิลด์คัพ หนที่ 2 บนผืนแผ่นดินเอเชียจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีด้วยความที่อุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนของตะวันออกกลางที่สูงมาก หรือเฉลี่ย 41.2 องศาเซลเซียส ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน ตัดสินใจว่า กาตาร์ 2022 จะถูกย้ายมาเตะในช่วงหน้าหนาว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก 

 

"วันสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก (ในกาตาร์) จะไม่ใช่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม บอกตามตรงผมคิดว่ามันน่าจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน และ 15 มกราคมเป็นอย่างน้อย" เฌอโรม วัลค์เก้ อดีตเลขาธิการทั่วไปของฟีฟ่า กล่าวเมื่อปี 2014 

"ถ้าเราเล่นในวันที่ 15 พฤศจิกายนไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม มันจะเป็นเวลาที่สภาพอากาศดีที่สุด คุณสามารถเล่นในอุณหภูมิที่เท่ากับฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่นของยุโรปที่เฉลี่ย 25 องศา นั่นเป็นสภาพอากาศที่เหมาะสำหรับการเล่นฟุตบอล" 

แม้ว่าหลังจากนั้น วัลค์เก จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังมีส่วนส่วนในการทุจริตเงินของฟีฟ่า แต่ไอเดียเวิลด์คัพ ฤดูหนาว ก็ยังดำเนินต่อไป ก่อนจะมีมติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2020 ว่าการแข่งขันที่กาตาร์จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2022 

และทันทีที่โปรแกรมการแข่งขันถูกประกาศออกมา ก็ได้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง เมื่อมันย่อมส่งผลกระทบกับการแข่งขันของลีกใหญ่ในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อย่างแรกก็คือแต่ละลีกจะต้องหยุดพักอย่างน้อย 6 สัปดาห์ในระหว่างฤดูกาล โดยแบ่งเป็น 4 สัปดาห์สำหรับการแข่งขัน และอย่างละสัปดาห์สำหรับการเตรียมตัวและฟื้นฟูร่างกายก่อนและหลังทัวร์นาเมนต์

 

นอกจากนี้การพักเบรกระหว่างฤดูกาลยังทำให้ให้หลายลีกต้องเลื่อนเปิดฤดูกาลให้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พรีเมียร์ลีก และบุนเดสลีกา ที่ฤดูกาล 2021-2022 เริ่มเตะในวันที่ 13 สิงหาคม ก็ต้องขยับมาเป็น 5 สิงหาคมในปีนี้ หรือเร็วกว่าเดิม 1 สัปดาห์ 

ขณะเดียวกันมันยังทำให้ผู้เล่นมีเวลาพักน้อยลง 1 สัปดาห์ แถมหลังจบฤดูกาลบางคนยังต้องไปรับใช้ชาติและลงเล่นในศึกยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ต่ออีกราว 2 สัปดาห์ จนเรียกได้ว่าแทบไม่ได้หยุดพัก 

ทว่าผลกระทบของฟุตบอลโลกฤดูหนาวไม่ได้มีแค่ในสนามเท่านั้น

ตลาดซื้อขายปั่นป่วน

โดยทั่วไปแล้วในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกมักจะเป็นปีที่ผู้เล่นมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษ เช่นกันกับในปี 2022 นี้ที่พวกเขาจะพยายามเค้นฟอร์มออกมาเพื่อให้มีชื่อเป็นหนึ่งใน 23 คนสุดท้ายไปโชว์ฝีเท้าในทัวร์นาเมนต์ที่ตะวันออกกลาง 

 

อย่างไรก็ดีนั่นคือกรณีของผู้เล่นที่เป็นตัวหลักของสโมสร เพราะสำหรับผู้เล่นที่มีสถานะไม่มั่นคงนี่จะเป็นฤดูกาลที่กดดันที่สุด พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะอยู่สู้ต่อหรือย้ายออกจากทีมเพื่อหาโอกาสลงเล่น 

และการแข่งขันฟุตบอลโลกฤดูหนาวยิ่งจะทำให้การตัดสินใจของนักเตะกลุ่มนี้ยากขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาจะมีเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ในการประเมินสถานการณ์ ก่อนตลาดซื้อขายนักเตะจะสิ้นสุดในวันที่ 1 กันยายน 

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในระหว่างฤดูกาลยังทำให้พวกเขามีเวลาไม่ถึง 4 เดือนในการรีดฟอร์ม ซึ่งต่างจากฟุตบอลปกติที่จะอิงผลงานจากฤดูกาลที่ผ่านมาเป็นตัวตัดสิน และจะมีเวลามากกว่าถึง 2 เท่า  

"มัน (การย้ายทีม) จะกลายเป็นความคิดลำดับแรกของผู้เล่น" มาร์ลอน เฟลสช์แมน เอเยนต์จาก Sports Group ที่ดูแลนักเตะไปทั่วโลกกล่าวกับ The Athletic

 

"การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในลิสต์สูงสุดสำหรับความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ เหนือกว่าการคว้าแชมป์ลีก และแชมเปี้ยนส์ลีก การได้เป็นตัวแทนทีมชาติในฟุตบอลโลกคือจุดสุดยอด ผู้เล่นต่างหวังที่จะได้เล่นในรอบสุดท้ายอย่างเต็มที่ และมีไม่กี่คนที่ทำได้สำเร็จ" 

ตัวอย่างนี้เห็นได้จากกรณีของ ทาคุมิ มินามิโนะ ปีกชาวญี่ปุ่นของลิเวอร์พูล เขาคือผู้เล่นตัวหลักของทัพซามูไรบลู ด้วยผลงาน 17 ประตูจาก 42 นัด แต่กลับได้ลงเล่นในการออกสตาร์ทเป็นตัวจริงให้กับหงส์แดงเพียงนัดเดียวเมื่อฤดูกาลที่แล้ว 

ทำให้ล่าสุด มินามิโนะ ตัดสินใจย้ายไปร่วมทีม โมนาโก ในลีกเอิง ของฝรั่งเศส เป็นการถาวร ซึ่งเป็นที่ที่เขามองว่าน่าจะการันตีตำแหน่งตัวจริงให้เขาแน่นอน และจะทำให้เขาติดทีมไปกาตาร์ในช่วงปลายปี 

"ถ้าพวกเขารู้สึกว่าพวกเขากำลังได้รับเลือกสำหรับทัวร์นาเมนต์แต่บางทีพวกเขาไม่ได้มีสถานะที่มั่นคงที่สโมสรในแง่ของการได้เป็นตัวจริง พวกเขาจะตระหนักมาก ๆ ว่าพวกเขาต้องได้ลงเล่น เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้ไปเล่นในฟุตบอลโลก" เฟลสช์แมน อธิบาย

นอกจากนี้ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นนี้ จึงอาจทำให้เราจะได้เห็นการย้ายทีมที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการที่นักเตะดังย้ายจากทีมใหญ่ไปทีมเล็กหรือกลับไปเล่นในลีกบ้านเกิดเพื่อท้าชิงตำแหน่งในทีมชาติ

ไม่ว่าจะเป็น คอนเนอร์ กัลลาเกอร์ แข้งดาวโรจน์ที่ไม่มีตำแหน่งในเชลซีที่กำลังพิจารณาย้ายออกไปด้วยสัญญายืมตัว โดยมี แอสตัน วิลลา และ เอฟเวอร์ตัน กำลังจับตามอง หรือ สตีเว่น เบิร์กไวน์ ปีกชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ลงเป็นตัวจริงเป็นครั้งสุดท้ายให้ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ และกำลังเตรียมเก็บข้าวของย้ายไปเล่นให้ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม 

"มันคือการผลักดันที่มากกว่าปกติ หรือบางกรณีพวกเขาอาจตัดสินใจไปอยู่กับสโมสรที่มีลุ้นแชมป์น้อยกว่าแต่สามารถการันตีตัวจริงให้ได้ แม้ว่าปกติแล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้ย้ายไปที่นั้นในปีปกติ สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในความคิดของพวกเขา" 

"มันดูกับว่าพวกเขากำลังก้าวถอยหลังในระดับสโมสร แต่ถ้ามันสามารถการันตีให้พวกเขาได้ในการมีโอกาสจะได้โชว์ฝีเท้าและทำให้พวกเขาติดทีมชาติ พวกเขาก็จะทำ" 

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม คริส ริชาร์ดส์ กองหลังทีมชาติสหรัฐอเมริกา ของ บาเยิร์น มิวนิค พยายามที่จะย้ายออกจากทีมในช่วงซัมเมอร์นี้ หรือ ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูมือสองของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงอยากไปอยู่กับทีมน้องใหม่อย่าง น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ด้วยสัญญายืมตัว 

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่โค้ชทุกคนที่เห็นด้วยกับการย้ายทีมนี้

อย่าเสี่ยงเลยน้อง 

มองจากภายนอก การย้ายทีมเพื่อหาโอกาสลงเล่นในตลาดหน้าร้อนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด แต่สำหรับ โรแบร์โต มาร์ติเนซ กุนซือทีมชาติเบลเยียม กลับเห็นตรงกันข้าม 

อดีตกุนซือเอฟเวอร์ตันพยายามบอกให้นักเตะในทีมชาติของเขาหลีกเลี่ยงการย้ายทีมให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงในแง่สภาพแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อวิธีการเล่นของนักเตะไปจนถึงสภาพจิตใจ 

"ผมบอกกับพวกเขาว่าให้ระวัง ในช่วงเวลานี้คุณต้องไม่ย้ายไปทีมที่จะทำให้คุณถอยหลัง" มาร์ติเนซ กล่าวกับ The Athletic 

"นี่เป็นสถานการณ์ที่พิเศษ เรากำลังจะเล่นฟุตบอลโลกในช่วงหน้าหนาว (ของยุโรป) เป็นครั้งแรก ดังนั้นเราไม่อยากให้มีข้อมูลว่าเรื่องในอดีตส่งผลต่อผู้เล่นอย่างไร และฤดูร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเลือกผู้เล่นสู่ทีมชาติอย่างไร" 

นายใหญ่วัย 48 ปีบอกว่าแม้แต่นักเตะระดับสตาร์หรือพวกประสบการณ์สูงก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวเข้ากับทีมใหม่ บวกกับฟุตบอลโลกเหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือน และนั่นอาจจะทำให้นักฟุตบอลเรียกฟอร์มไม่ทัน 

"เมื่อคุณเปลี่ยนสโมสรคุณมักจะเจอกับความไม่แน่นอน คุณต้องใช้เวลาสักพักเพื่อปรับตัวเข้ากับภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ๆ และแนวทางการเล่นฟุตบอลแบบใหม่ที่ต้องใช้เวลากว่าจะคุ้นชิน แต่ฟุตบอลโลกเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือน ดังนั้นคุณจะลองเสี่ยงดวงก่อนรอบสุดท้ายอย่างนั้นหรือ ?" กุนซือชาวสเปน กล่าวต่อ 

"สิ่งเหล่านั้นรบกวนจิตใจผม คุณคงไม่อยากที่จะทำให้ตำแหน่งของคุณอยู่ในความเสี่ยงสำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ขนาดนี้ และคุณก็ยังสามารถไปเล่นในต่างประเทศได้หลังจากจบฟุตบอลโลก"  

"บางทีตลาดซื้อขายที่เหมาะสมที่สุดอาจจะเป็นตลาดครั้งหน้าในเดือนมกราคม ผมหวังอย่างยิ่งว่าผู้เล่นของผมจะไม่ย้ายทีมมากเกินไปในช่วงซัมเมอร์นี้" 

คนที่มาร์ติเนซดูจะเป็นห่วงน่าจะเป็น ยูริ ติเลอม็องส์ ที่เหลือสัญญากับเลสเตอร์อีกแค่ปีเดียวและจะไม่ต่อสัญญา ก็ต้องมาดูว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร จะย้ายออกในช่วงซัมเมอร์นี้หรือย้ายอีกทีหลังจบฟุตบอลโลก 

แล้วในส่วนของสโมสร ฟุตบอลโลกหน้าหนาว ส่งผลกระทบขนาดไหน

ได้นักเตะฝีเท้าดีราคาถูก 

แม้ว่าฟุตบอลโลกแบบไม่ปกติที่กาตาร์อาจจะทำให้เวลาทุกอย่างดูกระชั้นชิดไปหมด แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้สโมสรต่าง ๆ มีโอกาสได้ตัวนักเตะฝีเท้าดีราคาถูกที่อยากย้ายทีมเพื่อหาโอกาสลงเล่น 

นอกจากนี้ด้วยความที่การแข่งขันจะเริ่มเตะในช่วงฤดูหนาว ทำให้นักเตะมีเวลาเพียงแค่ครึ่งฤดูกาลก่อนที่ทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น จึงทำให้ทีมระดับล่าง ๆ มีโอกาสได้ตัวนักเตะที่ก่อนหน้านี้ดูจะไกลเกินเอื้อมมาร่วมทัพด้วยสัญญายืมตัว ที่อาจจะมีเงื่อนไขซื้อขาดในอนาคต 

เนื่องจากการยืมตัวยังเป็นวิธีที่ยังได้รับความนิยมหลังการระบาดของ COVID-19 เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในยุคที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ แต่ยังถือเป็นการทดลองใช้ก่อนจะดึงมาร่วมทีมเป็นการถาวรอีกด้วย 

จากรายงานระบุว่า พรีเมียร์ลีก ใช้เงินในช่วงตลาดซื้อขาย 2021-2022 ไปเพียง 1.1 พันล้านปอนด์ หรือลดลง 11 เปอร์เซ็นจากฤดูกาลก่อน และทีมใหญ่ก็มีอัตราการใช้เงินที่น้อยลงกว่าทุกปี 

"ผมรู้ว่าทุกคนคิดว่าเราผ่านโควิด-19 มาแล้ว แต่มันก็ยังคงค้างคาและสร้างผลกระทบอย่างมากต่อเกมการแข่งขันและการสรรหานักเตะทั้งในตลาดยุโรปและตลาดในประเทศ" เฟลสช์แมน อธิบาย 

"ผู้เล่นรู้สึกว่าปีนี้สถานการณ์จะคลี่คลายลงและอาจจะได้เห็นการย้ายทีมถาวรมากขึ้น แต่วิธีที่เรากำลังมองอยู่ในตอนนี้คือเรากำลังอยู่ในจุดที่ใช้การยืมตัวเพื่อสร้างโอกาสให้สโมสร" 

"มีความเข้าใจว่าสโมสรจำนวนมากไม่ค่อยมีเงินเท่าก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อพวกเขาเข้าสู่การเจรจา พวกเขาจะชี้ให้เห็นว่า โอเค พวกเขาอาจจะไม่สามารถซื้อผู้เล่นได้ในทันที แต่พวกเขาสามารถหาวิธีแก้ไขได้" 

"มันเหมือนกับว่าเราอยู่ในจุดที่มีการยืมตัวด้วยภาระผูกพัน (ในการซื้อขาด) อยู่เต็มไปหมด หรือเป็นการยืมตัวในเงื่อนไขที่สามารถเปลี่ยนเป็นการย้ายทีมถาวรได้โดยอิงจากความสำเร็จ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด" 

แต่บางครั้ง ฟุตบอลโลกหน้าหนาว กลับปิดโอกาสในการย้ายทีมถาวรหลังถูกปล่อยยืม เมื่อบางทีมไม่อยากใส่เงื่อนไขนี้ลงไป เพราะเกรงว่านักเตะของพวกเขาจะติดทีมชาติไปเล่นในฟุตบอลโลกและทำผลงานได้ดีที่กาตาร์ 

พวกเขาเกรงว่าราคาที่ตกลงเอาไว้ในตอนแรกจะต่ำเกินไปสำหรับผลงานในฟุตบอลโลก หลายทีมจึงเลือกที่จะเอาเงื่อนไขในส่วนนี้ออกจากการเจรจา 

ทั้งนี้ผลพลอยได้ที่สโมสรจะได้จาก กาตาร์ 2022 ไม่ใช่แค่นักเตะตัวยืมเท่านั้น แต่ยังไปรวมถึงนักเตะชื่อดังที่เพิ่งหมดสัญญา ยกตัวอย่างเช่น แกเรธ เบล คีย์แมนของทีมชาติเวลส์ ที่เพิ่งพาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย หรือ ดานี อัลเวส กองหลังบราซิล ที่ขอลุ้นไปเล่นทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต 

พวกเขาเหล่านี้ยินดีจะเซ็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือนเพื่อแลกกับโอกาสลงเล่น ซึ่งจะทำให้นักเตะและสโมสรเสี่ยงน้อยลง นักเตะก็จะได้ทีมเล่นเพื่อโอกาสในการได้ไปเล่นฟุตบอลโลก สโมสรก็จะได้นักเตะจอมเก๋ามาเสริม จนกลายเป็นการวิน-วิน กันทั้งสองฝ่าย  

อย่างไรดีนั่นเป็นเพียงเหรียญด้านหนึ่งเท่านั้น

ฤดูกาลที่น่าปวดหัว 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่สโมสรต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากโปรแกรมการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นคือภาวะอ่อนล้าของนักเตะจากการลงเล่นมากเกินไป โดยเฉพาะนักเตะจากชาติใหญ่ที่ทีมได้เข้าไปถึงรอบลึก ๆ ในฟุตบอลโลกที่กำลังมาถึง 

เพราะตามปกติแล้วนักเตะบางคนในสโมสรใหญ่อาจจะต้องลงเล่นในระดับ 55-60 นัดต่อฤดูกาล ซึ่งเมื่อบวกอีก 10 นัดในกรณีที่สามารถเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก จะทำให้พวกเขาลงเล่นแตะหลัก 65-70 นัดภายในฤดูกาลเดียว 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ กัปตันทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยในฤดูกาล 2019-2020 เขาคือนักเตะที่ลงเล่นมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 5,509 นาทีจากการลงเล่นให้สโมสรและทีมชาติรวมกัน 71 นัด      

แถมหลังฟุตบอลโลก พวกเขาต้องกลับมาเจอกับโปรแกรมการแข่งขันที่ค่อนข้างชุก ยังไม่รวมถึงการที่บางทีมต้องเตะทั้งสโมสรยุโรปและฟุตบอลถ้วย จนน่าจะเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่รากเลือดสำหรับพวกเขา

"สโมสรต้องวิเคราะห์และเตรียมกลยุทธ์ตลอดทั้งฤดูกาล" เฟลสช์แมน กล่าว

"สภาพของนักเตะที่เล่นให้กับประเทศของพวกเขาจะเป็นอย่างไรในท้ายฤดูกาล หากมองด้วยความเป็นจริงทุกอย่างสามารถตัดสินแพ้ชนะได้หมด"  

"ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอยู่ในช่วงกลางเดือนธันวาคม และพรีเมียร์ลีกจะกลับมาเล่นต่อทันทีหลังคริสต์มาส นั่นไม่ใช่การหยุดยาว ดังนั้นผู้เล่นที่ไปกาตาร์อาจจะเหนื่อยและต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นร่างกาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงแก่สโมสรที่จะต้องลงเล่นไปอีกนานโดยสมาชิกในทีมพร่องไป ในอีกทางหนึ่งผู้เล่นอาจจะขอร้องให้ลงเล่นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง" 

"สิ่งเหล่านี้จะทำให้สโมสรครุ่นคิดในเดือนมกราคม 'สภาพทีมของเราจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงวันปีใหม่ ? เราจำเป็นต้องยืมตัวสำหรับครึ่งฤดูกาลหลังเพื่อเข้ามาอุดทีมหรือไม่ ? หรือเราต้องเหลือโควตาในการยืมตัวเอาไว้หรือไม่ ? เราจำเป็นต้องมีทีมที่ใหญ่กว่าเดิมในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาลหรือเปล่า ?'" 

"ถ้าพวกเขาตัดสินใจว่าจะทำ ตลาดเดือนมกราคมจะเป็นช่วงที่วุ่นวายที่สุด เพราะมันต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว" 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือสภาพจิตใจ เนื่องจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน ๆ ที่เตะกันหลังจบฤดูกาล เมื่อจบทัวร์นาเมนต์ก็สามารถปรับอารมณ์ รีเฟรชตัวเอง แล้วกลับมาลุยต่อในฤดูกาลใหม่ได้ 

"อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของอารมณ์ ในสถานการณ์ปกติผู้เล่นจะมีเวลาหลังจบทัวร์นาเมนต์เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะผ่านพ้นความผิดหวังที่ทุกคนต้องเจอในรอบสุดท้าย หลังจบทัวร์นาเมนต์พวกเขามักจะออกไปข้างนอก เคลียร์สมอง แล้วค่อยกลับมาลุยอีกครั้ง แต่มันจะไม่มีโอกาสได้ทำแบบนั้นหลังฟุตบอลโลกครั้งนี้" เฟลสช์แมน กล่าวต่อ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในครึ่งฤดูกาลแรกด้วยการยิงไปถึง 16 ประตูจาก 21 นัดให้ลิเวอร์พูล ก่อนจะไปรับใช้ทีมชาติอียิปต์ ในศึก แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในระหว่างฤดูกาล 

ทว่าในรายการดังกล่าวกลับเป็นทัวร์นาเมนต์ที่สร้างความชอกช้ำให้เขา หลังต้องพ่ายต่อ เซเนกัล ในนัดชิงชนะเลิศ ที่ทำให้แม้ว่าจะยังผลิตสกอร์ให้ทีมได้แต่อัตราการยิงประตูก็ลดลงอย่างน่าใจหาย 

"คุณไม่สามารถประมาทผลกระทบทางอารมณ์จากฟุตบอลโลกได้ ไม่ว่าคุณจะทำผลงานได้ไม่ดีจนมีความมั่นใจต่ำ หรือทำได้ดีมากและกลับมาพร้อมกับความมั่นใจที่สูง มันจะเป็นอารมณ์ที่ค้างคาอยู่เสมอ" เฟลสช์แมน อธิบาย

จึงทำให้ฤดูกาลนี้จะเป็นฤดูกาลที่น่าปวดหัวสำหรับสโมสรต่าง ๆ ที่ต้องวางแผนอย่างละเอียด โดยเฉพาะในแง่ขนาดของทีม พวกเขาต้องบริหารจัดการให้ดีภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ 

แต่ถ้าหากผ่านพ้นไปได้โดยไม่เสียหายมากนัก นี่อาจจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในกรณีที่มีทัวร์นาเมนต์ระดับโลกมากั้นกลาง และขยายขอบเขตในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับเมเจอร์ออกไปให้กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook