ใครว่าฟุตบอลเป็นแค่กีฬา ? : เบื้องหลังการต่อสัญญา เอ็มบัปเป้ ที่อาจมีการเมืองมาเอี่ยว

ใครว่าฟุตบอลเป็นแค่กีฬา ? : เบื้องหลังการต่อสัญญา เอ็มบัปเป้ ที่อาจมีการเมืองมาเอี่ยว

ใครว่าฟุตบอลเป็นแค่กีฬา ? : เบื้องหลังการต่อสัญญา เอ็มบัปเป้ ที่อาจมีการเมืองมาเอี่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ใช่ ผมกับมาครงได้คุยกันบ้างแล้ว และบอกได้เลยว่านั่นเป็นคำแนะนำที่ดีมาก ๆ"

ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นจากปากของ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ กองหน้าของ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ที่อยู่ดี ๆ ก็หักปากกาสื่อด้วยการเลือกต่อสัญญากับต้นสังกัดออกไป 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทุกสื่อรายงานตรงกันว่า เรอัล มาดริด จะเป็นสโมสรใหม่ของเขา

การกล่าวถึง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส ทำให้เกิดการวิเคราะห์กันว่า ภายใต้การต่อสัญญาฉบับใหม่ที่เป็นเงินมหาศาล อาจมีเรื่องของการเมืองในประเทศฝรั่งเศสมาเกี่ยวข้องด้วย

เรื่องราวของฟุตบอลไปเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างไร ? ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

การต่อสัญญาแบบหักปากกาเซียน 

ในช่วงฤดูกาล 2020-21 เป็นช่วงเวลาที่ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ นักเตะมูลค่าแพงที่สุดในฝรั่งเศสเหลือสัญญาอีกเพียง 18 เดือนกับปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ต้นสังกัดของเขา และมีการประโคมข่าวจากทุกเจ้าว่าหลังจากที่สัญญาของ เอ็มบัปเป้ หมดลง เขาจะขยับไปข้างหน้าอีกก้าวด้วยการย้ายไปอยู่กับ เรอัล มาดริด ทีมอันดับ 1 ของโลก ณ เวลานี้แบบไร้ค่าตัว 

แต่เมื่อฤดูกาล 2021-22 กำลังจะจบลง อันเป็นช่วงเวลาที่ เอ็มบัปเป้ ใกล้จะหมดสัญญา กลับกลายเป็นว่า เปแอสเช สามารถทำในสิ่งที่หลายคนไม่อยากเชื่อได้ พวกเขาต่อสัญญาเอ็มบัปเป้ ก่อนจะมี "ข่าวลือ" ในส่วนของรายละเอียดตามมามากมายในภายหลัง

 

ไม่ว่าจะเป็นค่าเหนื่อยแพงที่สุดในโลกที่ตก 1 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์, เอ็มบัปเป้สามารถเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจในการซื้อนักเตะหรือการเปลี่ยนแปลงสตาฟโค้ชทั้งฝั่งที่ปฏิบัติการของเรื่องในสนามหรือการเลือกทีมสตาฟสำหรับตลาดซื้อขาย ซึ่งเรื่องดังกล่าว (นอกจากเรื่องเงินค่าจ้าง) เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีข่าวลือแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ  ในกรณีของนักเตะเบอร์ใหญ่ ทั้ง ลิโอเนล เมสซี่ ที่เคยได้รับการกล่าวถึงสมัยที่เขาอยู่ บาร์เซโลน่า ว่าเขาสามารถจัดตัวนักเตะ 11 ตัวจริงด้วยตัวเองได้ หรือแม้กระทั่ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีข่าวว่ามีอิทธิพลเหนือผู้จัดการทีมไม่ว่าจะเป็น โอเล่ กุนนาร์ โซลชา หรือแม้กระทั่งในยุคราล์ฟ รังนิก 

ทั้งหมดคือเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้เลยว่าจริงหรือไม่ ? แต่ในรายของเอ็มบัปเป้ เขาพูดถึงเรื่องนี้หลังจากต่อสัญญาว่า "ผมยังคงเป็นนักฟุตบอล บทบาทของผมไม่ได้มีอะไรมากมายเหมือนกับที่อยู่ในข่าว" จะจริงหรือไม่ไม่สำคัญ แต่การปฏิเสธ เรอัล มาดริด ในฐานะทีมโปรดของตัวเองมาตลอดในช่วงเวลาที่สโมสรจากสเปนพร้อมจ่ายเงินก้อนโตและเพิ่งคว้าดับเบิลแชมป์มาหมาด ๆ ก็ทำให้หลายคนสงสัยต่อไปอีกว่าสิทธิพิเศษอาจจะมีเรื่องจริงเจือปนอยู่ไม่น้อย และมีการคิดไปไกลยิ่งกว่านั้นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองและเรื่องระดับประเทศเลยทีเดียว

การเมือง ความยิ่งใหญ่ และ ฟุตบอล 

การไม่ยอมย้ายออกจาก เปแอสเช ของ เอ็มบัปเป้ ถูกตีความหมายกว้างยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงการพยายามยกระดับฟุตบอลลีกในประเทศของฝรั่งเศสเลยทีเดียว

 

แม้ฟุตบอลลีกสูงสุดของฝรั่งเศสอย่าง ลีกเอิง จะถูกเรียกว่า 1 ใน 5 ลีกดังของยุโรปร่วมกับลีกอังกฤษ, สเปน, เยอรมัน และ อิตาลี ทว่าในเรื่องของความเข้มข้น คุณภาพของทีม และผู้เล่น คงต้องยอมรับว่าลีกเอิงยังคงตามหลังลีกอื่นที่กล่าวมาไม่น้อย แม้จะมี เปแอสเช ก้าวขึ้นมาเป็นทีมใหญ่ในช่วง 10 ปีให้หลัง แต่ความจริงก็คือลีกฝรั่งเศสยังคงถูกเรียกว่า "Farmer League" หรือ "ลีกชาวนา" เพื่อเป็นการเทียบให้เห็นถึงความห่างชั้นและความด้อยคุณภาพของทีมในลีกเอิง 

เอ็มบัปเป้ เองก็อินกับเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะมีคำครหาว่าเขาคือนักเตะที่งานสบายมากที่สุดคนหนึ่ง มีรายได้มหาศาล แถมยังได้ลงแข่งขันกับนักเตะที่ห่างชั้นจากเขาเยอะ ทำให้เขาแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจุดนี้ เอ็มบัปเป้ ก็พยายามต่อต้านวลีลีกชาวนานี้มาโดยตลอด เขาเคยออกมาพูดถึงความแข็งแกร่งและความยากของลีกเอิงที่เขาสัมผัสมาตลอด โดยในปี 2020 ลียง ตัวแทนจากฝรั่งเศส สามารถเอาชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมเต็งจากอังกฤษ ได้ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบก่อนรองชนะเลิศ เอ็มบัปเป้ ก็ได้ทีโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์หลังเกมเพียงสั้น ๆ ว่า "ลีกชาวนา" พร้อมรูปอิโมจิเป็นตัวตลกและรูปปรบมือ เพื่อตอบโต้เสียงวิจารณ์ที่มีคนเคยดูถูกลีกเอิงมาก่อน

การกล่าวอ้างจากหลายฝ่ายทั้งจาก นาสเซอร์ อัล เคไลฟี่ ประธานสโมสรว่า เอ็มบัปเป้ คือเด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในปารีสแท้ 100% เขาเกิดที่ บงดี ย่านชานเมืองที่ห่างจากใจกลางกรุงปารีสไป 11 กิโลเมตร และการต่อสัญญาของเขากับ เปแอสเช เกิดขึ้นจากการที่สโมสรได้เสนอโปรเจ็กต์ที่ เอ็มบัปเป้ ฝันมานาน นั่นคือการเปลี่ยนทั้งโครงสร้างของฟุตบอลลีกในประเทศฝรั่งเศสให้กลายเป็นลีกแถวหน้าของยุโรป ไม่ใช่ลีกที่คอยสร้างนักเตะแล้วปล่อยออกไปค้าแข้งนอกลีกอีกแล้ว แต่ต้องเป็นลีกที่สามารถดึงดูดแข้งระดับแถวหน้าของยุโรปมาให้ได้ 

 

"โครงสร้างที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงคือส่วนสำคัญ สโมสรแห่งนี้กำลังจะมีอะไรมากมายที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะสร้างยุคใหม่ของ ปารีส โปรเจ็กต์นี้สดใหม่และทำให้ทุกคนกลับมามีแพชชั่นและแรงบันดาลใจอีกครั้ง" เคไลฟี่ กล่าว

ขณะที่ตัว เอ็มบัปเป้ ก็ออกมารับลูกว่า "ถ้าผมอยากจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งรอบตัวผม ผมควรเริ่มจากการเปลี่ยนสโมสรแห่งนี้ สโมสรจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับผม และถ้าผมจะเขียนประวัติศาสตร์ให้สโมสรจากฝรั่งเศสทีมนี้เป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สักครั้ง มันต้องเริ่มจากการชูถ้วยแชมป์ในยุคของผมนี่แหละ ... สโมสรแสดงโปรเจ็กต์บางอย่างให้ผมเห็น และผมก็ตอบตกลง มันน่าสนใจ มันน่าลอง และผมอยากจะลองอีกสักคร้ัง" 

หากเราจะสรุปจากที่ เอ็มบัปเป้ พูดก็คือหาก เปแอสเช ไม่มีเขา ทีม ๆ นี้ยากจะเข้าใกล้ตำแหน่งที่สโมสรปรารถนา และการจะทำให้ลีกฝรั่งเศสหรือทีมจากฝรั่งเศสได้รับการยอมรับ มันก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นแชมเปี้ยน หาก เอ็มบัปเป้ ที่เป็นนักเตะที่ดีที่สุดในประเทศและในลีกนี้ยังย้ายหนี นั่นเป็นการตอกย้ำว่าลีกฝรั่งเศสยังคงเป็นได้แค่ลีกที่คอยปั้นนักเตะส่งต่อลีกใหญ่ในยุโรปลีกอื่น ๆ เท่านั้น ... เขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง 

แต่บังเอิญว่าคนที่เขาไปขอคำปรึกษาคือ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนั่นทำให้มีข่าวว่าการต่อสัญญาของ เอ็มบัปเป้ เป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่ฟุตบอล แต่มันยังรวมเรื่องการเมืองเข้าไปด้วย

อยู่ต่อเพื่อทั้งประเทศ 

รายงานจาก Goal สื่อระดับโลกภาคภาษาสเปนเริ่มอธิบายว่า รัฐบาลฝรั่งเศส ที่นำโดยประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ได้พยายามจะช่วยเหลือ เปแอสเช ในการรั้งสตาร์ฟุตบอลเบอร์ 1 ของประเทศให้ค้าแข้งในฝรั่งเศสต่อไป เพื่อความหวังอยากให้ เอ็มบัปเป้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 

โปรดอย่าลืมว่าหลัง มาครง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสสมัยแรกเมื่อปี 2017 (ก่อนชนะการเลือกตั้งอีกสมัยในปี 2022) นโยบายด้านกีฬาที่เขาประกาศเดินหน้าเต็มที่คือการสนับสนุนให้กรุงปารีสรับบทบาทเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 โดยช่วงเวลาเดียวกันนี้ ฝรั่งเศสจะรับบทบาทเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2023 ซึ่งมาครงเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อทำให้อีเวนต์เหล่านี้ออกมาอย่างยอดเยี่ยมที่สุด

"การแข่งขันกีฬาเหล่านี้คืองานสุดพิเศษ คุณสามารถเปลี่ยนหน้าตาของประเทศได้ในทันที เพราะคุณสามารถสร้างพื้นฐานที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง และยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานเหล่านี้เพื่อผลักดันศักยภาพตัวคุณไปอีกขั้น"

 

"เราจำเป็นต้องผลักดันให้ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพอีเวนต์กีฬาขนาดใหญ่อย่าง รักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2023 และโอลิมปิก เกมส์ 2024 เพราะพวกเรารู้ว่าต้องจัดงานเหล่านี้อย่างไร เรามีทีมงานที่ยอดเยี่ยม นักกีฬาความสามารถสูง และความภูมิใจในชาติอย่างเต็มเปี่ยม"

สิ่งที่ มาครง กล่าวมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาโครงสร้างกีฬาของฝรั่งเศสทั้งระบบ เขาต้องการทำให้กีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นการเมืองเพื่อซื้อใจคนฝรั่งเศส และเชื่อว่ากีฬาจะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวฝรั่งเศสดีขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากมีการสำรวจว่าชาวฝรั่งเศสราว 42 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยเล่นกีฬาใดเลยในชีวิต เนื่องจากขาดการสนับสนุนในระดับชุมชน และไม่มีการปลูกฝังให้เด็กเล่นกีฬาในโรงเรียน 

สิ่งที่เอ่ยมาในข้างต้นเกี่ยวกับการเมืองของฝรั่งเศสในแบบของ มาครง สอดคล้องกับข่าวลือว่าเขาเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เอ็มบัปเป้ ต่อสัญญากับ เปแอสเช ออกไป ด้วยการตกลงกับ DNCG (Direction Nationale du Controle de Gestion) หรือ คณะกรรมการควบคุมการจัดการแห่งชาติ องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการเงินของสโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศฝรั่งเศส ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายทางการเงินของฟุตบอลในประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ซึ่งเป็นกฎที่ทาง ยูฟ่า กำหนดขึ้นมาเพื่อจำกัดการใช้เงินของสโมสรในยุโรปให้ไม่เกินรายรับที่แต่ละสโมสรได้รับ 

ซึ่งการต่อสัญญาให้นักเตะคนหนึ่งรับค่าเหนื่อยระดับ 1 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่มีนักเตะค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 960,000 ปอนด์ (ตัวเลขที่เห็นยังไม่ได้หักภาษีสุดโหดประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ โดยสโมสรจะรับผิดชอบการเสียภาษีให้นักเตะตัวท็อปของทีม นักเตะจะรับเงินค่าเหนื่อยเต็มหลังหักภาษี) อย่าง ลิโอเนล เมสซี่ อยู่แล้ว ทำให้พวกเขาต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาลและเสี่ยงที่จะผิดกฎทางการเงินแบบสุด ๆ ชนิดที่ ฆาเบียร์ เตบาส ประธาน ลา ลีกา ยังต้องยื่นให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน เพราะลีกสเปนในวันที่เสีย เมสซี่ และไม่ได้ตัวดาราระดับแม่เหล็กอย่าง เอ็มบัปเป้ เข้ามาย่อมส่งผลต่อเรื่องของความนิยมและรายรับอย่างแน่นอน 

"มันน่าสงสัยว่าสโมสรอย่าง เปแอสเช สามารถปิดการเจรจาด้วยสัญญามูลค่ามหาศาลเช่นนี้ได้อย่างไร ขณะที่สโมสรอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะว่าจ้างนักเตะโดยไม่มีผลกระทบด้านการเงินกลับไม่สามารถเซ็นสัญญาเขาได้"

"เปแอสเช ลงทุนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเห็นได้ชัดว่าสโมสรมีภาระค่าจ้างสูงจนยอมรับไม่ได้ และพวกเขาก็ขาดทุนมหาศาลเมื่อซีซั่นก่อน มันผิดกฎการเงินของ ยูฟ่า และ ฝรั่งเศส" เตบาส กล่าว ซึ่งก็สอดคล้องกับข่าวลือที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับการช่วยเคลียร์และอะลุ่มอล่วยเกี่ยวกับการใช้เงินของเปแอสเช ส่วนจะเคลียร์ด้วยวิธีไหนคนนอกอย่างเราไม่อาจรู้ได้เลย

ขณะที่ทาง ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานของเรอัล มาดริด ก็ได้เปิดใจหลังจากที่ทีมของเขาพลาดการคว้าตัว เอ็มบัปเป้ แบบไร้ค่าตัว ตามที่คาดกันไว้ว่าของแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เพราะ เรอัล มาดริด ก็สามารถมอบเงินก้อนโตให้นักเตะได้ในระดับที่ไม่หนีกันมากนัก แต่การที่ เอ็มบัปเป้ ถูกหว่านล้อมและเกลี้ยกล่อมโดยรัฐบาลฝรั่งเศส และ เอ็มมานูเอล มาครง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเตะเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย 

"ความฝันของเอ็มบัปเป้คือการมาเล่นที่ เรอัล มาดริด แน่นอน เราตามล่าตัวเขามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว แต่เปแอสเชก็ไม่ยอมปล่อยเขา เชื่อไหม ก่อนที่เอ็มบัปเป้จะต่อสัญญาแค่ 15 วัน เขายังพูดอยู่เลยว่าเขาต้องการมาเล่นที่มาดริด" ฟลอเรนติโน่ เปเรซ กล่าว

"มาครงเรียกเอ็มบัปเป้เข้ามาคุยเป็นกรณีพิเศษ และนั่นมันไม่สมเหตุสมผลเลย ขณะที่เปแอสเชก็โหมแรงด้วยการนำเสนอให้เขาเป็นผู้นำโปรเจ็กต์ที่ยิ่งใหญ่ นี่คือ 2 ตัวแปรสำคัญมาก ๆ ไม่มีทางที่เอ็มบัปเป้จะรับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งแล้วบอกว่า 'ใช่แล้วครับ ผมอยากย้ายไปสเปน'" 

"เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจึงไปที่กาตาร์และรับข้อเสนอมากมายที่ทำให้เขาแทบคลั่ง ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาคือสิ่งที่ทำให้เอ็มบัปเป้เปลี่ยนใจ" เปเรซ ทิ้งท้าย 

เรื่องทั้งหมดที่เรากล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดที่ว่าการต่อสัญญาระดับประวัติศาสตร์โลกฟุตบอลครั้งนี้มีเหตุผลอื่นมากกว่าแค่ของเรื่องของฟุตบอล ... ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศส หรือ มาครง จะอยู่เบื้องหลังการต่อสัญญาครั้งนี้จริงหรือไม่ ... ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความและวิจารณญาณของแต่ละคนแล้ว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook