จากผู้แพ้สงครามสู่เบอร์ 1 โลก : เยอรมันทำอย่างไรให้กลายเป็นแชมป์โลกในเวลาไม่ถึง 10 ปี
"มันคือช่วงเวลาสำคัญของทั้งประเทศ ใช่ มันคือช่วงเวลาสำคัญสำหรับการแข่งขันกีฬา แต่นี่มันเป็นมากกว่าแค่ฟุตบอล" อูลี เฮสเซ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน กล่าว
สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เมื่อมันคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 70 ล้านคน รวมถึงทำให้หลายประเทศต้องอยู่ในภาวะชะงักงันมานานหลายปี
หนึ่งในนั้นคือเยอรมัน แกนนำฝ่ายอักษะ เมื่อสถานะผู้แพ้สงครามทำให้พวกเขาต้องวุ่นวายอย่างหนัก ทั้งการที่ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เศรษฐกิจฝืดเคืองจากการคว่ำบาตร ไปจนถึงขวัญกำลังใจที่ตกต่ำจากการถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สนับสนุนนาซี
ทว่าในอีก 9 ต่อมา ชาติที่ย่อยยับแห่งนี้กลับสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ด้วยการปราบ ฮังการี ยอดทีมในยุคนั้น และก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกชนิดหักปากกาเซียน
พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ชาติที่แตกสลาย
ทีมชาติเยอรมันอาจจะล้มลุกคลุกคลานในช่วงตั้งต้น แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาถือเป็นทีมที่น่าจับตา เมื่อสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิก 1928 และคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 1934
3 ปีต่อมาภายใต้การนำของ เซปป์ เฮอเบอร์เกอร์ ทัพอินทรีเหล็กก็สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป หลังไล่ถล่มเดนมาร์ก ไปอย่างขาดลอย 8-0 จนได้รับฉายาว่า Breslau-Elf (Breslau Eleven ในภาษาอังกฤษ) ก่อนที่หลังจากนั้นสมาชิกพรรคนาซีคนนี้จะพาเยอรมันไร้พ่ายถึง 11 นัด (ชนะ 10 นัด)
อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามอุบัติขึ้น ฟุตบอลก็ถูกพรรคนาซีใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะเกมลีกที่เตะกันแบบนอนสต็อปในฐานะ "เครื่องพิสูจน์ขวัญกำลังใจ"
ในที่สุดเกมลีกก็ต้องพักเบรกในปี 1944 ภายใต้คำสั่งของ โจเซฟ เกิบเบิล รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ ที่ประกาศว่าเยอรมันกำลังเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ ส่วนเกมทีมชาตินั้นหยุดไปตั้งแต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น
และอย่างที่รู้กัน ท้ายที่สุดเยอรมันก็กลายเป็นผู้แพ้สงคราม และทำให้ประเทศของพวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน รวมถึงโดนฝ่ายผู้ชนะอย่างสัมพันธมิตรคว่ำบาตรจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก
ขณะที่สภาพจิตใจของคนในชาติก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน หลายคนรู้สึกผิดบาปที่เคยสนับสนุนพรรคนาซี เด็กหลายคนถูกบังคับให้ระลึกถึงสิ่งที่น่าอับอายที่พ่อแม่ของพวกเขาได้ทำไว้ มันคือช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังอย่างแท้จริง
วงการฟุตบอลก็ไม่ต่างกัน สงครามได้พรากชีวิตนักเตะฝีเท้าดีของเยอรมันไปไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ อดอล์ฟ เออร์เบิน กองหน้าตัวเก่งของ ชาลเก้ 04 เจ้าของสถิติ 11 ประตูจาก 21 ของอินทรีเหล็ก ที่ไม่ได้กลับบ้านอีกเลยหลังถูกส่งไปรบที่สตาลินกราดในปี 1943
ส่วนเกมลีกนั้นกว่าจะกลับมาเดินหน้าต่อก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี เนื่องจากกีฬาถูกลดความสำคัญลงไป ซึ่งไม่ต่างจากทีมชาติ เพราะกว่าที่สมาคมฟุตบอลเยอรมันจะตั้งตัวนับหนึ่งได้ก็ต้องรอจนถึงเดือนกรกฎาคม 1949
มีเพียงปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะผลักชาติที่แหลกสลายนี้ให้ลุกขึ้นยืนได้ใหม่อีกครั้ง
กำเนิดเยอรมันตะวันตก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการฟุตบอลเยอรมันเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต เมื่อสโมสรเก่าแก่หลายทีมต้องถูกแบนด้วยเหตุจากการข้องเกี่ยวกับพรรคนาซี ขณะที่หลายสโมสรพยายามสร้างทีมขึ้นมาใหม่ แต่ก็เหลือรอดเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้น
ในช่วงเวลานั้นแต่ละสโมสรต้องเอาตัวรอดด้วยการตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อลงแข่งกับทีมท้องถิ่น โดยมีอาหารและเชื้อเพลิงเป็นข้อแลกเปลี่ยน ขณะที่นักเตะหลายคนต้องทำงานอื่นไปด้วยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและข้าวยากหมากแพง
แต่ภายใต้ความหดหู่พวกเขาก็มามีความหวัง เมื่อในปี 1950 เยอรมันตะวันตกสามารถก่อตั้งทีมชาติขึ้นมาได้สำเร็จ จากการผลักดันของ เซปป์ เฮอร์เบอร์เกอร์ อดีตกุนซือทีมชาติ ที่รอดชีวิตจากกระบวนการล้มล้างความเป็นนาซีมาได้
อันที่จริง เฮอร์เบอร์เกอร์ มีบทบาทสำคัญต่อทีมชาติเยอรมันมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น เพราะนอกจากจะเป็นโค้ชทีมชาติแล้วเขายังช่วยปลอมแปลงเอกสารไม่ให้นักเตะฝีเท้าดีถูกส่งไปยังแนวหน้าในช่วงสงคราม
แต่ถึงอย่างนั้นทีมของพวกเขาก็ยังเป็นทีมที่เกิดใหม่และไร้ดาวเด่น ทำให้ เฮอร์เบอร์เกอร์ ต้องหาวิธีสร้างทีมในรูปแบบที่ต่างออกไป และการหล่อหลอมให้ทีมมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นก็เป็นวิธีที่เขาเลือกใช้
"เฮอร์เบอร์เกอร์เป็นแบบอย่างว่าโค้ชทีมชาติเยอรมันต้องประพฤติตัวอย่างไรมาโดยตลอด" อูลี เฮสเซ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน กล่าวกับ DW
"งานของพวกเขาไม่ต้องมีนักเตะที่เก่งที่สุดแต่ต้องมีทีมที่ดีที่สุด และมันก็เริ่มมาจากเฮอร์เบอร์เกอร์"
เฮอร์เบอร์เกอร์ ใช้นักเตะจาก ไกเซอร์สเลาเทิร์น ที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกเยอรมันฤดูกาล 1950-1951 เป็นแกนกลาง รวมถึง ฟริตซ์ วอลเตอร์ เพลย์เมกเกอร์อัจฉริยะ ที่รอดจากการถูกส่งไปใช้แรงงานที่ไซบีเรียอย่างหวุดหวิด หลังผู้คุมจำเขาได้
นอกจากนี้เขายังพยายามหานักเตะที่จะมาช่วยเพิ่มสปิริตให้กับทีม ก่อนจะมาโดนใจกับ เฮลมุต ราห์น อดีตคนงานเหมือง ที่เข้ากับคนอื่นได้ง่ายแต่ก็มีความเป็นมืออาชีพ และทำให้ทีมของพวกเขาดูสดใสขึ้นมาทันตา
แต่เส้นทางของพวกเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ล้มลุกคลุกคลาน
แม้จะก่อตั้งทีมชาติได้สำเร็จ แต่เยอรมันตะวันตกก็ยังเผชิญกับปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาทางการเงิน ที่ทำให้ชาติของพวกเขามีโอกาสลงเล่นเกมกระชับมิตรแค่เพียงหยิบมือ แถมชาติที่มาเตะกับพวกเขาก็วนเวียนอยู่แค่ไม่กี่ทีม และส่วนใหญ่ก็เป็นชาติบ้านใกล้เรือนเคียง
นอกจากนี้ เฮอร์เบอร์เกอร์ ยังต้องเผชิญกับความกดดัน เมื่อความพ่ายแพ้ 3 เกมใน 18 เดือนแรกต่อตุรกี, ไอร์แลนด์ และ ฝรั่งเศส ได้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ไปทั่วประเทศ แต่เขาก็รักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ได้ด้วยการเสมอกับ สเปน และการเสมอกับ นอร์เวย์ ในฟุตบอลโลก 1954 รอบคัดเลือก
และหลังจากนั้นเยอรมันตะวันตกก็เหมือนตั้งตัวได้ เมื่อสามารถปราบทั้ง ซาร์แลนด์ ทั้งไปและกลับ รวมไปถึง นอร์เวย์ คว้าตั๋วผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่สวิตเซอร์แลนด์ได้สำเร็จ
พวกเขายังโชว์ฟอร์มโหดในรอบสุดท้าย เมื่อการได้เตะนัดกระชับมิตรน้อยกลายเป็นข้อดี เพราะมันทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้ข้อมูลของพวกเขามากนัก ก่อนจะสร้างเซอร์ไพรส์ทะลุเข้าถึงรอบน็อกเอาต์ได้สำเร็จ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับทีมแกร่งในยุคนั้นอย่างฮังการี
ก่อนที่หลังจากนั้นจะเป็นการโชว์ของของพวกเขาอย่างแท้จริง เมื่อเยอรมันตะวันตกไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ไล่ปราบทีมแกร่งของยุโรปเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น ยูโกสลาเวีย เจ้าของตำแหน่ง 2 เหรียญเงินโอลิมปิก และ ออสเตรีย อดีตทีมอันดับ 4 ฟุตบอลโลก
อย่างไรก็ดีคู่แข่งในนัดชิงของพวกเขาเรียกได้ว่าเจอตอ เมื่อพวกเขาต้องโคจรมาพบกับ ฮังการี ยอดทีมของโลกที่นำโดย 3 ประสานอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส, ซานดอร์ ค็อกซิส และ โซลตาน ซิบอร์ แถมฮังการีเพิ่งจะเอาชนะพวกเขาอย่างขาดลอย 8-3 ในรอบแรกมา
ซึ่งมันแตกต่างกับทีมชาติเยอรมันตะวันตกคนละขั้ว เมื่อในทีมเต็มไปด้วยนักเตะสมัครเล่นที่ทำงานเสริมไปพร้อมกับการเล่นฟุตบอล ตั้งแต่นายธนาคารไปจนถึงร้านซักรีด และทำให้ผู้คนมองว่าเกมนี้คงจะซ้ำรอยผลการแข่งขันในรอบแรกอย่างแน่นอน ... ยกเว้นเพียงแค่นักเตะในทีมชุดนั้น
"เรารู้ว่าถ้าเราเล่นอย่างเต็มร้อยเราก็จะสามารถเอาชนะฮังการีได้" ฮอร์สต์ เอคเคล หนึ่งในสมาชิกทีมชุดนั้น กล่าว
"เฮอร์เบอร์เกอร์เตรียมตัวให้และจัดการให้เรา ดังนั้นเราจึงสามารถเอาชนะพวกเขาได้"
และนัดชิงชนะเลิศนัดนั้นก็เปลี่ยนพวกเขาไปตลอดกาล
Miracle Of Bern
มันคือวันที่ 4 กรกฎาคม 1954 ที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ที่ไม่เพียงสร้างความชุ่มชื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อ ฟริตซ์ วอลเตอร์ เพลย์เมกเกอร์ของเยอรมันตะวันตก ที่จะเล่นได้อย่างโดดเด่นในวันที่ฝนโปรยปราย
เนื่องจากในช่วงสงคราม ฟริตซ์ เคยป่วยเป็นไข้มาเลเรียและมันทำให้เขามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหากอยู่ภายใต้สภาพอากาศร้อน และยังคงส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงตอนนั้น
ทว่าในตอนแรกสายฝนก็ไม่ได้ช่วยพวกเขา เมื่อเริ่มเขี่ยลูกได้เพียง 6 นาที ฮังการีก็เป็นฝ่ายออกนำไปอย่างรวดเร็วจาก ปุสกัส ดาวยิงตัวเก่ง ก่อนที่อีก 2 นาทีหลังจากนั้น ค็อกซิส จะมาบวกประตูที่สองให้เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1952 นำห่าง 2-0 ในเวลาไม่ถึงนาที
แต่แทนที่จะทำให้ผู้เล่นเยอรมันตะวันตกมึนงง มันกลับเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาลุกขึ้นมาจากหลุม และในนาทีที่ 8 พวกเขาก็มาได้ประตูตีตื้นหลัง ราห์น เปิดบอลจากฝั่งซ้ายทะลุแนวรับมาถึง แม็กซ์ มอร์ล็อค สไลด์ผ่านมือผู้รักษาประตูของฮังการีเข้าไป
"ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้พวกเขาได้เห็น เกมตัดสินกันหลังจบ 90 นาที ไม่ใช่ตอนนี้" แม็กซ์ มอร์ล็อค แข้งเยอรมันตะวันตก ตะโกนดังลั่นไปทั่วสนามหลังทีมเสียประตูที่สอง
และในนาทีที่ 18 เกมก็กลับมาเท่ากันจากจังหวะลูกเตะมุม บอลลอยผ่านมือนายด่านของฮังการีไปทางเสาสอง เฮลมุต ราห์น ที่อยู่ตรงนั้นพอดีจึงจัดการฮาล์ฟวอลเลย์เข้าไปตุงตาข่าย
จากนั้นฮังการีก็พยายามโหมบุกหนักแต่ก็ไม่สามารถผ่านแนวรับของเยอรมันตะวันตกไปได้ แถมฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยังทำให้พวกเขาที่นัดก่อนหน้านี้ต้องเล่นถึง 120 นาทีต้องใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ
ต่างจากฝั่งเยอรมันตะวันตกที่นอกจากพวกเขาจะเล่นเพียงแค่ 90 นาทีในรอบที่แล้ว พวกเขายังได้รับสตั๊ดรุ่นใหม่ล่าสุดที่สามารถถอดปุ่มได้ ซึ่งได้รับการออกแบบจาก อาดิ ดาสเลอร์ ผู้ก่อตั้ง Adidas และเพื่อนสนิทของเฮอร์เบอร์เกอร์ ที่ช่วยให้พวกเขาใช้พลังงานน้อยลงกว่าเดิม
และเมื่อเข็มนาฬิกาเลื่อนผ่านไปก็ยิ่งทำให้เห็นข้อแตกต่างมากขึ้น ฮังการีเริ่มมีอาการล้าอย่างชัดเจน จนกระทั่งในนาทีที่ 84 ราห์น ที่เล่นได้โดดเด่นในเกมนี้ก็ชิงจังหวะล็อกบอลหน้าเขตโทษก่อนซัดเรียดด้วยซ้ายเข้าไป ช่วยให้เยอรมันตะวันตกเป็นฝ่ายออกนำเป็นครั้งแรกในเกมนี้
"โกล โกล โกล โกล โกล สำหรับเยอรมัน เยอรมันออกนำ 3-2 ผมบ้าไปแล้ว" เฮอร์เบิร์ต ซิมเมอร์แมน ผู้บรรยายในเกมนั้น กล่าว
แม้หลังจากนั้น ขุนพลแม็กยาร์ พยายามเปิดเกมรุกหวังตีคืนแต่ก็ไม่ผ่านแนวรับของคู่แข่ง สุดท้ายกลายเป็นเยอรมันตะวันตก พลิกเอาชนะไปได้แบบหักปากกาเซียน คว้าแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำให้เกมนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "Miracle Of Bern"
อย่างไรก็ดีสำหรับชาวเยอรมัน นี่ไม่ใช่แค่การคว้าแชมป์โลกเท่านั้น
การเกิดใหม่ที่แท้จริง
"มันคือช่วงเวลาสำคัญของทั้งประเทศ ใช่ มันคือช่วงเวลาสำคัญสำหรับการแข่งขันกีฬา แต่นี่มันเป็นมากกว่าแค่ฟุตบอล" อูลี เฮสเซ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน กล่าว
ทีมชาติเยอรมันตะวันตกเดินทางกลับประเทศด้วยความชื่นมื่น รถไฟของพวกเขาจำเป็นต้องหยุดไปเกือบตลอดทางเพราะมีคนมากมายพากันออกมาต้อนรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแชมป์ครั้งนี้มีความหมายต่อประชาชนชาวเยอรมันตะวันตกมากแค่ไหน
"ทั่วโลกไม่ได้ยอมรับเรา ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และกีฬา" เอคเคิล กล่าวกับนิตยสาร 11 Freunde เมื่อปี 2011
"หลังชัยชนะนัดนี้เราก็กลายเป็นใครบางคนอีกครั้งในทันที ผู้คนในเยอรมันไม่ได้พูดว่าทีมของเฮอร์เบอร์เกอร์คว้าแชมป์โลก แต่เป็น 'เรา' ที่ทำได้"
ขณะเดียวกัน แชมป์โลก 1954 ยังกลายเป็นรากฐานให้แก่ทีมชาติเยอรมันตะวันตกหลังจากนั้น เมื่อมันทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกได้อีก 2 สมัยในปี 1974 และ 1990 รวมถึงแชมป์ยูโรอีก 2 ครั้งในปี 1972 และ 1980 ก่อนจะรวมชาติในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s
แต่อันที่จริงมันยังพาชาวเยอรมันตะวันตกไปไกลกว่านั้น เพราะมันทำให้พวกเขาได้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติหลังจากมันสูญหายไปเนื่องจากการกระทำอันโหดร้ายของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
"มันทำให้เกิดความสามัคคี และทำให้ชาวเยอรมันตะวันตกรู้สึกได้ถึงอัตลักษณ์ของตน" เฮสเซ กล่าวกับ DW "เพื่อแสดงให้คนเห็นว่าประเทศนี้เป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างไรเมื่อออกไปยังโลกภายนอก"
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนเยอรมันตะวันตกมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นยืน ซึ่งบวกกับ "ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ" ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จนทำให้เยอรมันตะวันตกกลับมายืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของเวทีโลกได้อีกครั้ง
"มันคือหมุดหมายสำคัญที่ทำให้สหพันธรัฐเยอรมนีถือกำเนิดขึ้นมาอย่างแท้จริง" โยอาคิม เฟสต์ นักประวัติศาสตร์ กล่าวกับ France News Agency
นั่นจึงทำให้ "ความมหัศจรรย์ที่เบิร์น" จึงไม่ใช่แค่การแข่งขันฟุตบอลเกมหนึ่ง แต่มันเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชาวเยอรมันอย่างมหาศาล และยังคงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเสมอมา
"สำหรับใครที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความทุกข์ยากหลังสงคราม เบิร์นคือแรงบันดาลใจพิเศษที่ทำให้คนทั้งประเทศนับถือตัวเองอีกครั้ง" ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ อธิบาย