เสียสละหรือเอาเปรียบ ? : "บาร์ซ่ายุควายร้าย" กับการเล่นไม่ซื่อเพื่อรอดพ้นวิกฤตการเงิน
หากจะหาสักสโมสรฟุตบอลที่ในตอนนี้กำลังรับบทเป็น "เจ้านายใจร้าย" ผู้ไม่เห็นหัวนักฟุตบอลในทีม ทั้งที่ผู้เล่นเหล่านั้นยอมเสียสละมหาศาลทั้งในและนอกสนาม ไม่มีทีมไหนจะเหมาะสมไปกว่า บาร์เซโลน่า สโมสรฟุตบอลชื่อดังจากสเปน
ในขณะที่บาร์เซโลน่ามีปัญหาด้านการเงินมาหลายปี ทีมยังคงเดินหน้าล่าสตาร์ดัง ๆ พร้อมมอบความรักหวานชื่นให้แบบท่วมอก แต่กับนักเตะที่มีสัญญากับทีมอยู่แล้วกลับแทบไม่เห็นหัวและพร้อมเอาเปรียบทุกทางที่ทำได้
จากหนึ่งในสโมสรที่ได้รับความเคารพมากที่สุดในโลกกลายเป็นวายร้ายของวงการลูกหนังไปได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
บริหารผิด พังกันทั้งระบบ
หากจะพูดถึงปัญหาทั้งหมดทั้งมวลของบาร์เซโลน่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกอย่างวนย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเดียว นั่นคือการใช้เงินเกินตัวของสโมสรแห่งนี้
หลังจากบาร์เซโลน่าสร้างชื่อในฐานะสุดยอดทีมฟุตบอล ภายใต้ยุคสมัยของ ลิโอเนล เมสซี่ สโมสรแห่งนี้คือความฝันของนักฟุตบอลทั่วโลก ใคร ๆ ก็อยากสวมเสื้อสีน้ำเงิน-เลือดหมูของบาร์ซ่า และบาร์ซ่าก็พร้อมทุ่มเงินก้อนโตล่าตัวนักเตะพวกนั้นมา
ชื่อเสียงที่โด่งดังทำให้บาร์เซโลน่ากระชากนักเตะชื่อดังมาได้มากมาย ทั้ง เนย์มาร์, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่, หลุยส์ ซัวเรซ, อิวาน ราคิติช, อุสมาน เด็มเบเล่, อองตวน กรีซมันน์ หรือ เฟรงกี้ เดอ ยอง
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาบาร์เซโลน่าใช้เงินในตลาดซื้อขายบวกลบคูณหารแล้วขาดทุนสูงถึง 650 ล้านยูโร ซึ่งมีเพียงแค่ 3 ทีมฟุตบอลบนโลกเท่านั้นที่ขาดทุนในตลาดซื้อขายผู้เล่นมากกว่าบาร์เซโลน่าคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง
อย่างไรก็ตาม ทั้งสามทีมข้างต้นมีเงินทุนมหาศาลหนุนหลัง เพราะมีกลุ่มทุนร่ำรวยเป็นเจ้าของทีม แต่ไม่ใช่กับบาร์เซโลน่าที่เจ้าของทีมเป็นแฟนบอลผ่านระบบการถือหุ้นโดยไม่มีเจ้าสัวพันล้านมาอัดฉีดเงินให้ซื้อขายได้แบบสบาย ๆ
บาร์เซโลน่าใช้เงินซื้อนักเตะแบบมือเติบเพียงเพราะโดนภาพลวงตาของความสำเร็จที่ทำให้อยากจะรักษาความยิ่งใหญ่ของทีมเอาไว้ ซึ่งถึงจะสามารถคว้าถ้วยแชมป์เข้าสู่สโมสรได้อย่างต่อเนื่องก็จริง แต่หนี้สะสมของทีมก็พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ทีมฟุตบอลทั่วโลกเสียรายได้ สถานการณ์ของบาร์เซโลน่ายิ่งแย่ลงไปอีก จนกลายเป็นทีมฟุตบอลที่มีหนี้สะสมมากกว่าพันล้านยูโร และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลายหากทีมไม่สามารถหมุนเงินให้เดินหน้าไปต่อได้
หายนะทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับบาร์เซโลน่าไม่ต้องสงสัยเลยว่ามาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดในยุคของประธานสโมสรคนเก่าอย่าง โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว และเมื่อเกิดวิกฤตเขาก็กระเด็นออกจากตำแหน่งไป เปิดทางให้ โจน ลาปอร์ต้า อดีตประธานสโมสรเข้ามากู้วิกฤตครั้งนี้แทน
ใคร ๆ ก็คิดว่าการได้ลาปอร์ต้าเข้ามาจะช่วยฟื้นความยิ่งใหญ่ให้บาร์เซโลน่า แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างดูวุ่นวายสุดขีด เพราะเขาเลือกใช้วิธีการที่มืดดำเข้ามาจัดการปัญหาของสโมสร
ปฏิบัติการกำจัดพระเจ้า ?
ไม่ว่าจะเป็นใครที่เข้ามาหวังทำให้บาร์ซ่าเดินหน้าได้ต่อก็ต้องปวดหัวจนอยากซัดยาพาราหมดกระปุกแน่นอน เพราะนอกจากทีมจะมีหนี้สะสมระดับพันล้าน ทีมยังต้องแบกค่าใช้จ่ายในอนาคตอีกมาก เพราะแบกค่าเหนื่อยของผู้เล่นที่ต้องจ่ายระดับแสนยูโรต่อสัปดาห์ไว้เพียบ
ยิ่งประกอบกับกฎ Financial Fair Play ของลีกลาลีกา สเปน ซึ่งจะกำหนดเพดานการใช้จ่ายของแต่ละสโมสรเอาไว้ โดยคิดคำนวณจากองค์ประกอบหลายอย่าง และในฤดูกาล 2021-22 บาร์เซโลน่าก็มีค่าใช้จ่ายเกินเพดานที่กำหนดไว้อยู่ 617 ล้านยูโร
ตามกฎของลาลีกา หากมีเงินค่าใช้จ่ายเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ทีมจะไม่สามารถส่งชื่อนักเตะเพิ่มในการแข่งขันรายการลา ลีกา ได้ (ซื้อเข้าทีมได้แต่เล่นในลีกไม่ได้) ดังนั้นหมายความว่าถ้าแก้ปัญหาไม่ได้บาร์เซโลน่าจะเข้าสู่สภาวะแช่แข็งและรอวันล่มสลายในทันที
ซึ่งในช่วงเวลาที่บาร์เซโลน่าเจอวิกฤตสุดขีดแบบนี้ พวกเขาก็มีปัญหาที่ต้องแก้ไข นั่นคือสัญญาของนักเตะเบอร์หนึ่งของทีมอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ดันมาหมดลงช่วงกลางปี 2021 พอดี และด้วยสถานะระดับพระเจ้าของเมสซี่ทำให้บาร์ซ่าต้องต่อสัญญาแข้งรายนี้ให้สำเร็จ
ถ้าเป็นบาร์เซโลน่าในอดีตพวกเขาจะทำทุกทางเพื่อเก็บเมสซี่เอาไว้ แต่ไม่ใช่กับในยุคใหม่ของ โจน ลาปอร์ต้า สิ่งเดียวที่เขาคิดคือบาร์ซ่าต้องเดินต่อไปได้และต้องก้าวต่อไปอย่างยิ่งใหญ่ด้วย ดังนั้นบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทัพอาซูลกราน่าจึงทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด
บาร์เซโลน่ายื่นสัญญาใหม่ให้กับเมสซี่ด้วยค่าเหนื่อยที่ลดลงจากสัญญาฉบับเก่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ พูดง่าย ๆ คือเงินเดือนของเมสซี่จะต้องลดลงครึ่งหนึ่งหากเขาจะอยู่บาร์เซโลน่าต่อไป
ด้วยความรักที่มีให้กับสโมสรเมสซี่ยอมต่อสัญญากับทีมแต่ทุกอย่างเกินเยียวยา เพราะต่อให้ลดค่าเหนื่อยครึ่งหนึ่งบาร์เซโลน่าก็ยังมีค่าเหนื่อยเกินเพดานที่ลา ลีกา กำหนดอยู่ดี และไม่มีทางที่ทีมจะเดินหน้าได้เลยยกเว้นแต่ต้องปล่อยเมสซี่ออกจากทีม
ท้ายที่สุดเมสซี่ต้องแยกทางกับทีมและย้ายไปเล่นกับปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง พร้อมการอำลาด้วยน้ำตาที่โด่งดังไปทั่วโลก นี่คือเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดสำหรับนักเตะรายนี้
แต่สำหรับบาร์ซ่าถึงจะเสียเมสซี่ไปแต่นี่ไม่ใช่เรื่องแย่เลย เพราะมันช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับบาร์เซโลน่าได้อย่างน้อย 85 ล้านยูโรต่อปีในกรณีที่เมสซี่ต่อสัญญากับทีมด้วยสัญญาฉบับใหม่ที่ลดเงินเดือนลงมาครึ่งหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้หากมองถึงการเสียเมสซี่ก็เท่ากับว่าบาร์เซโลน่าไม่ต้องจ่ายเงินค่าเหนื่อย 170 ล้านยูโรต่อปีให้เมสซี่อีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้บาร์ซ่าได้เงินกลับมาและช่วยให้ทีมเดินหน้าได้ดีขึ้น
มองในแง่ธุรกิจการไม่ต่อสัญญากับเมสซี่คือชัยชนะของบาร์เซโลน่า แต่ถ้ามองในแง่วัฒนธรรมสโมสรนี่คือสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นกับสโมสรแห่งนี้ บาร์เซโลน่าคือทีมมีวัฒนธรรมอันแน่นแฟ้นระหว่างสโมสรกับนักเตะในทีม และสโลแกนของทีมอย่าง Més que un club หรือ "เป็นมากกว่าสโมสร" เป็นเรื่องจริง เพราะที่นี่คือบ้านและครอบครัวสำหรับทุกคน
แต่กับบาร์ซ่ายุคใหม่ ไม่มีคำว่าครอบครัวอีกต่อไป มีแต่เรื่องของผลประโยชน์ที่ต้องเดินหน้าเท่านั้น แม้ว่าจะต้องยอมกำจัดนักเตะที่ดีที่สุดออกไปจากทีมก็ตาม
เพราะในขณะที่บาร์เซโลน่าปล่อยเมสซี่ บาร์เซโลน่ากลับใช้ช่องว่างที่ได้เงินก้อนหนึ่งไปเซ็นสัญญานักเตะอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่, เอริค การ์เซีย, เมมฟิส เดปาย, เฟร์ราน ตอร์เรส และ ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง เข้าสู่ทีมในฤดูกาลเดียวกัน
สิ่งที่น่าสงสัยคือ หากบาร์เซโลน่ายอมทำทุกทางเพื่อเก็บเมสซี่เอาไว้พวกเขาก็สามารถทำได้แน่ ๆ แต่บอร์ดบริหารของทีมเลือกแล้วว่าการปล่อยเมสซี่ออกจากทีมจะทำให้บาร์ซ่าเดินหน้าต่อด้วยการได้นักเตะฝีเท้าดีอีกหลายคนเข้าสู่ทีม แม้ว่านัยหนึ่งมันคือการสร้างความเจ็บปวดให้กับแฟนบาร์เซโลน่าทั่วโลกก็ตาม
"สโมสรอยู่เหนือทุกสิ่ง แม้แต่นักเตะที่ดีที่สุดในโลก" คำกล่าวของ โจน ลาปอร์ต้า แสดงออกอย่างชัดเจนว่า บาร์เซโลน่าพร้อมที่จะเป็นศัตรูกับนักฟุตบอลทุกคนตราบใดที่มันช่วยให้สโมสรแห่งนี้เดินหน้าต่อไปได้
เสียสละหรือเอาเปรียบ ?
ขนาดเมสซี่ยังตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่บาร์เซโลน่า ไม่ต้องถามถึงนักเตะคนอื่นที่ต้องโดนผลกระทบกันอย่างทั่วถึงในการกู้วิกฤตของสโมสรครั้งนี้
บาร์เซโลน่าขอให้นักเตะที่รับค่าเหนื่อยสูงอยู่กับทีมยอมลดค่าเหนื่อยลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ทีมไปเซ็นสัญญานักเตะคนอื่นเข้าสู่ทีมได้ พูดง่าย ๆ คือยอมให้เสียสละเพื่อส่วนรวม ทุกอย่างจะได้เดินหน้าต่อ
นักเตะหลายคน เช่น เคราร์ด ปิเก้, ซามูเอล อุมติตี้, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่, เซร์คิโอ บุสเกตส์, จอร์ดี้ อัลบา, เซร์กี้ โรแบร์โต้ ต่างยอมลดค่าเหนื่อยประมาณ 25-50 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้ทีมได้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกของบาร์เซโลน่าอย่างแช่มชื่น
ในแง่หนึ่งบาร์เซโลน่าเดินหน้าต่อได้จริง แต่สำหรับนักเตะที่เสียสละให้กับทีมไม่ได้เป็นเรื่องสวยหรู เพราะในความเป็นจริงพวกเขาเสียรายได้ที่ทำกันไว้ตามสัญญา ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนผิดอะไรหรือบริหารทีมจนพังพินาศ
แม้เวลาผ่านไปนักเตะเหล่านี้ก็ไม่ได้เจอสถานการณ์ที่ดีขึ้น เพราะทุกคนต้องยอมลดค่าเหนื่อยต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเข้าใจได้ ถ้ามองจากการกระทำของสโมสร
เพราะในขณะที่บาร์ซ่าต้องการการเสียสละของผู้เล่นคนเก่าในทีมโดยให้ช่วยลดค่าเหนื่อยลงเป็นจำนวนมาก ทีมกลับใช้เงินมากกว่า 100 ล้านยูโรในการเซ็นสัญญานักเตะหน้าใหม่อย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, ราฟินญ่า, ฟรองค์ เคสซิเย่ และ อันเดรียส คริสเตนเซ่น เข้าสู่ทีม และผู้เล่นหน้าใหม่เหล่านี้รับค่าเหนื่อยหลักแสนยูโรต่อสัปดาห์กันแทบทุกคน
แม้บาร์เซโลน่าจะอ้างเรื่องการเสียสละของผู้เล่นหน้าเก่าเพื่อให้ทีมได้เดินหน้าต่อ แต่ก็มีกรณีของ เฟรงกี้ เดอ ยอง กองกลางเลือดดัตช์ของทีมที่บาร์เซโลน่าใช้วิธีไม่ใสสะอาดกับเขานัก
ย้อนไปในปี 2020 เฟรงกี้ เดอ ยอง ตัดสินใจปรับสัญญาของตัวเองให้รับค่าเหนื่อยเพียง 20 ล้านยูโรต่อปีเพื่อให้ทีมเดินหน้าต่อได้ อย่างไรก็ตามในฤดูกาล 2020-21 บาร์ซ่าตัดสินใจขอจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้นักเตะรายนี้เพียง 9 ล้านยูโร โดยอ้างว่าเมื่อสถานการณ์การเงินของทีมดีขึ้นจะจ่ายคืนให้ในภายหลัง
เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล 2021-22 บาร์เซโลน่าขอจ่ายค่าเหนื่อยเฟรงกี้เพียง 15 ล้านยูโรเท่านั้น นั่นหมายความว่าบาร์เซโลน่าติดหนี้เฟรงกี้ เดอ ยอง สูงถึง 16 ล้านยูโรในตอนนี้จากการค้างค่าเหนื่อยในสัญญาที่ทำกันไว้ ไม่รวมกับเงินโบนัสอีก 4 ล้านยูโรที่บาร์ซ่าไม่ได้จ่ายให้นักเตะรายนี้ตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่บาร์เซโลน่าทำคือการบีบขายเฟรงกี้ เดอ ยอง ออกจากทีมในตลาดซื้อขายฤดูร้อนปี 2022 แม้เจ้าตัวรักสโมสรแห่งนี้มากจนไม่อยากย้ายไปไหน เพราะนอกจากจะได้เงินค่าตัวก้อนโตกลับมาแล้ว (ซึ่งสื่อหลายสำนักเผยว่า เงินส่วนนี้สโมสรจะเอาไปเป็นทุนล่าตัว แบร์นาโด้ ซิลวา จาก แมนฯ ซิตี้ ต่อ) หากเฟรงกี้ย้ายออกไปจากทีมบาร์ซ่าก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างกันไว้รวม 20 ล้านยูโร เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
ซึ่ง เฟรงกี้ เดอ ยอง ยืนยันว่าจะไม่ย้ายทีมถ้าเขาไม่ได้เงินที่บาร์ซ่าค้างเอาไว้คืนมา แต่บาร์ซ่ากลับยื่นข้อเสนอจ่ายค่าเหนื่อยที่ค้างอยู่ให้นักเตะรายนี้เพียง 4 ล้านยูโรเท่านั้น
สิ่งที่บาร์เซโลน่าทำคือการเอาเปรียบอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสโมสรแห่งนี้ไม่ได้ไร้เงินในเมื่อสามารถจ่ายเงินค่าตัวนักเตะมากกว่า 100 ล้านยูโรได้สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ แถมจ่ายค่าเหนื่อยกันแบบเต็ม ๆ ทว่านักเตะที่มีสัญญาอยู่กับทีมอยู่ก่อนผู้บริหารกลับไม่เห็นค่าและพร้อมจะทำทุกทางเพื่อเสียเงินให้น้อยที่สุด
สาเหตุเพราะ ณ ปัจจุบัน บาร์เซโลน่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมากจาก "คันโยกทางเศรษฐกิจ" หลังขายลิขสิทธิ์โทรทัศน์ถ่ายทอดสดให้กับ Sixth Street ด้วยมูลค่าประมาณ 320-330 ล้านยูโร นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า บาร์เซโลน่าจะสามารถหารายได้เข้าสู่สโมสรถึง 700 ล้านยูโร ในช่วงเวลาไม่เกินปี 2023 ในแง่หนึ่ง โจน ลาปอร์ต้า และทีมงานบริหารบาร์เซโลน่าชุดใหม่ สมควรได้รับเครดิตการบริหารทีมอันยอดเยี่ยม กับการหารายได้เข้าสู่สโมสร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบาร์ซ่าก็ไม่ได้นำรายได้ก้อนใหม่ที่เข้ามา มาตอบแทนนักฟุตบอลที่เคยเสียสละยามที่มีเกิดปัญหา ทั้งที่สามารถทำได้
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายของลาปอร์ต้าเอง ก็ต้องการล้างไพ่สิ่งต่าง ๆ รวมถึงความผิดพลาดจากการบริหารงานของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว เพราะนับแต่นี้ บาร์ซ่าจะไม่มีวันจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะระดับเวอร์วังอลังการเหมือนในอดีตอีกต่อไป (ลาปอร์ต้าเคยกล่าวว่า ต้องการกำหนดเพดานค่าเหนื่อยไว้ที่ไม่เกินคนละ 10 ล้านยูโรต่อปี) เพื่อไม่ให้เรื่องราวเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่และกำลังพยายามอุดรูรั่วนี้หวนคืนกลับมาอีก
ตลอดระยะเวลา 2 ฤดูกาลที่ผ่านมาบาร์เซโลน่าเปลี่ยนไปมาก จากกรณีของ เมสซี่ สู่ เฟรงกี้ เดอ ยอง หนึ่งในสโมสรที่เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวของนักฟุตบอลสู่การเป็นสโมสรที่พร้อมเอาเปรียบนักเตะทุกคนอย่างไม่ไว้หน้า
ถึงจะพูดได้ว่าที่บาร์เซโลน่าทำก็เพื่อให้ทีมได้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและเอาตัวให้รอดจากวิกฤตทางการเงิน แต่สุดท้ายคนที่รับกรรมคือนักฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นคนสร้างปัญหาขึ้นมา พวกเขามีแต่เสียพร้อมทั้งยังถูกเอาเปรียบ และถึงพวกเขาจะรับค่าเหนื่อยมหาศาลอยู่แล้ว แต่มนุษย์ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างอย่างยุติธรรมกับงานที่ทำตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้
ถึงจะมีการเสริมทีมอย่างแข็งแกร่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายในองค์กรแห่งนี้มีแต่รอยร้าวที่ยากจะประสานและมีโอกาสที่จะพังทลายลงมา ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงเราคงบอกได้ว่าสโมสรแห่งนี้ไม่สามารถหนีความผิดพลาดที่ทีมก่อขึ้นมาแล้วได้ และยิ่งยื้อก็มีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปกว่าเดิมเท่านั้น