ตัวประกันทางการทูต : บริทนีย์ ไกรเนอร์ ทำผิดจริงหรือแค่เครื่องมือทางการเมือง
ย้อนกลับไปยังเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริทนีย์ ไกรเนอร์ นักกีฬาบาสเกตบอลระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกา เดินทางสู่ประเทศรัสเซียเพื่อลงเล่นให้กับสโมสรเยคาเทรินเบิร์ก เหมือนอย่างที่เธอทำมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2014 ในช่วงที่ลีกบ้านเกิดของเธอปิดฤดูกาล
ไม่มีใครรู้เลยว่าการเดินทางครั้งนี้จะพาเธอไปสู่การถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลรัสเซีย หลังไกรเนอร์ถูกจับในข้อหาขนยาเสพติดผิดกฎหมายเข้าประเทศ นำมาสู่การควบคุมตัวนานหลายเดือนโดยไม่มีวี่แววว่าการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้น
Main Stand จะพาคุณไปดูสถานการณ์ของ บริทนีย์ ไกรเนอร์ ว่าเธอทำความผิดจริงตามที่รัฐบาลรัสเซียกล่าวอ้างหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าหรือไม่ กับข้อสรุปที่ยังคลุมเครือจนไม่เห็นว่าเธอจะได้กลับบ้านในเร็ววันนี้
เรื่องราวที่มากกว่าแค่นักกีฬาโดนจับ
ความวุ่นวายที่กลายเป็นปัญหาระดับชาติแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2022 หลัง บริทนีย์ ไกรเนอร์ ที่เพิ่งเดินทางถึงสนามบินเชเรเมเตียโว ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ถูกจับกุมโดยหน่วยความมั่นคงกลางแห่งรัสเซีย หรือ เอฟเอสบี หลังตรวจพบว่าเธอพกพาน้ำมันกัญชาในกระเป๋าเดินทาง ซึ่งเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศรัสเซีย
ความจริงข้อแรกที่ปรากฏชัดจนไม่สามารถถกเถียงได้คือ ไกรเนอร์ มีความผิดจริงในข้อหาข้อหาขนยาเสพติดผิดกฎหมายเข้ารัสเซีย ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะน้ำมันกัญชาที่เธอพกพาถือเป็นสิ่งของถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ไกรเนอร์จึงนำมันติดตัวมาด้วยเมื่อเธอเดินทางมาเล่นบาสเกตบอลในรัสเซีย ก่อนจะถูกตรวจพบเนื่องจากสุนัขดมกลิ่นในสนามบินวิ่งตรงมายังกระเป๋าเดินทางของเธอ
การควบคุมตัวไกรเนอร์ของตำรวจรัสเซียจึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรในเบื้องต้น เพราะเธอมีความผิดจริงตามที่กฎหมายรัสเซียระบุไว้ แต่เรื่องราวที่ตามมาหลังจากนั้นต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะหลังจากเวลาผ่านไปหลายเดือนนับตั้งแต่ที่ไกรเนอร์ถูกจับกุม ไม่มีใครได้เบาะแสของเธออีกเลย ภาพเคลื่อนไหวสุดท้ายที่ยืนยันตัวเธอได้คือวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในสนามบินกับรูปถ่ายผู้ต้องหาที่ถูกเผยแพร่ในช่องโทรทัศน์รัสเซีย
สถานการณ์ของไกรเนอร์ในรัสเซียจึงสร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะจากท่าทีของรัสเซียที่เลือกจะขังลืมไกรเนอร์ไว้ในประเทศของตนแทนที่จะดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมายอย่างชัดเจนและถูกต้อง แสดงให้เห็นว่ารัสเซียมีความต้องการที่จะเก็บตัวไกรเนอร์เอาไว้ในฐานะ "ตัวประกันทางการทูต" ท่ามกลางความขัดแย้งของทั้งสองประเทศที่ดำเนินมาตลอดปี 2022 หลังรัสเซียส่งกำลังทหารเข้ารุกรานประเทศยูเครนไม่กี่วันหลังไกรเนอร์ถูกจับที่สนามบิน
แตกต่างจากตัวประกันที่ถูกซ้อมปางตายแบบที่เราเห็นกันในโลกภาพยนตร์ ตัวประกันทางการทูตถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า "ตัวประกันชั้นสูง" กล่าวคือเป็นวิธีต่อรองทางการทูตอย่างหนึ่งที่จะมีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียงของประเทศคู่ขัดแย้ง เพื่อทำการต่อรองหรือเจรจาหาข้อสรุปที่ประเทศผู้ควบคุมตัวประกันจะได้ผลประโยชน์ ส่วนประเทศคู่ขัดแย้งก็ได้ประชาชนคนดังของตนกลับบ้านไป
สำหรับ บริทนีย์ ไกรเนอร์ ความสำคัญของเธอต่อสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรกันให้ยืดยาว นี่คือหนึ่งในนักกีฬาที่ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดตลอดกาลของวงการบาสเกตบอลหญิง โดยผลงานสำคัญที่สุดของไกรเนอร์คงหนีไม่พ้นการพาทีมชาติสหรัฐอเมริกาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและแชมป์โลกบาสเกตบอลหญิงรายการละ 2 สมัย ส่วนผลงานในระดับสโมสรกับ ฟีนิกซ์ เมอร์คิวรี เธอคว้าแชมป์ WNBA 1 สมัย, ติดทีมออลสตาร์ 8 สมัย และทำคะแนนสูงสุด 2 สมัย นอกจากนี้ยังคว้าแชมป์ลีกรัสเซีย 3 สมัยซ้อน และแชมป์ยูโรลีก 4 สมัยกับ เยคาเทรินเบิร์ก พร้อมกับรางวัลอื่น ๆ ยาวเป็นหางว่าวตั้งแต่สมัยเล่นในระดับไฮสคูล
เมื่อบวกกับความจริงที่ บริทนีย์ ไกรเนอร์ เป็นกลุ่มคน LGBTQ+ ที่สมรสกับภรรยาซึ่งมีเพศสภาพตามกำเนิดเป็นมนุษย์เพศหญิง ส่งผลให้ชาวอเมริกันหลายคนเป็นห่วงสวัสดิภาพของเธอตั้งแต่ต้น เพราะรัสเซียยังเป็นประเทศที่มีอคติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจนำมาสู่การปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขณะถูกกักขัง
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัสเซียที่กำลังตกที่นั่งลำบากเนื่องจากโดนคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกจึงเลือกควบคุมตัวนักกีฬารายนี้โดยฝ่าฝืนหลักสิทธิมนุษยชน นั่นเป็นเพราะรัสเซียรู้ดีว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้นักกีฬาผู้ได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษของชาติและยังเป็นฮีโร่ของกลุ่มหัวก้าวหน้าซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตอันเป็นพรรคที่เป็นรัฐบาลในปี 2022 ต้องถูกจับกุมและอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายเป็นแน่
เมื่อปัญหาลุกลามใหญ่โต
ถึงรัสเซียจะรู้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องยอมทำทุกทางเพื่อพาตัวไกรเนอร์กลับบ้าน และสหรัฐอเมริกาย่อมรู้ดีว่านักกีฬารายนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติเพียงใด แต่การจะพาไกรเนอร์ออกจากรัสเซียไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศนั้นร้าวฉานจนยากจะประสาน แถมทั้งสองประเทศยังถือเป็นมหาอำนาจของโลกที่ไม่มีใครยอมใคร หากฝ่ายไหนรู้สึกว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบย่อมถอนตัวจากการเจรจาในทันที
"ความสัมพันธ์ทางการทูตของเรากับรัสเซียนั้นไม่มีอยู่จริงในขณะนี้ ผมคิดว่าการเจรจาต่อรองหลายครั้งอาจเกิดขึ้น บางทีเธออาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหา ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน" จอห์น การาเมนดี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐแคลิฟอร์เนีย พรรคเดโมแครต กล่าวถึงความคลุมเครือในการเจรจาเพื่อพาตัวไกรเนอร์กลับบ้าน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันโล่งใจได้ตั้งแต่ต้นคือ วาระการพานักบาสเกตบอลหญิงชื่อดังกลับบ้านถือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เธอถูกจับกุมในรัสเซีย โดย เชียล่า แจ็คสัน ลี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส ซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครต ยืนยันว่าสถานการณ์ของไกรเนอร์จะได้รับการจับตาและดูแลอย่างใกล้ชิดจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน
ตลอดเวลาหลายเดือนหลังจากไกรเนอร์ถูกจับกุมสหรัฐอเมริกาจึงมักรายงานสถานการณ์ของเธอเป็นระยะ ซึ่งท่าทีของพญาอินทรีแห่งโลกตะวันตกจะแตกต่างออกไปตามแต่สถานการณ์ โดยในช่วงเดือนมีนาคมสหรัฐอเมริกากล่าวว่าไกรเนอร์อยู่ในสภาพที่ดีแม้ถูกควบคุมตัวโดยรัสเซีย แต่ในเดือนพฤษภาคมสหรัฐอเมริกากลับแจ้งว่าไกรเนอร์ถูกกักตัวโดยไม่ถูกต้อง และเรียกร้องให้รัสเซียปล่อยตัวนักกีฬารายนี้โดยเร็วที่สุด
ท่าทีที่เปลี่ยนไปมาของสหรัฐอเมริกาสะท้อนถึงการเจรจาหลังม่านที่หาจุดลงตัวไม่ได้ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจจากความสัมพันธ์ทางการทูตที่แตกหักของสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย อย่างไรก็ดีอดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เอฟเวอลีน ฟาร์กัส ซึ่งเคยทำงานในหน่วยจับตารัสเซียและยูเครน เคยกล่าวตั้งแต่ไกร์เนอร์ถูกจับตัวใหม่ ๆ ว่า การเจรจาอาจหาข้อสรุปได้หากสหรัฐอเมริกาเลือกตกลงแลกตัวนักโทษกับรัสเซีย ซึ่งเป็นวิธีการต่อรองที่แดนหมีขาวทำมาเสมอ
"หากเราอยากให้เธอออกจากคุก รัสเซียจะเป็นฝ่ายยื่นข้อต่อรองบางอย่างมา มันอาจจะเป็นการแลกตัวนักโทษ พวกเขาอาจจะใช้การข่มขู่หรือแบล็คเมลเพื่อให้เราทำอะไรสักอย่างหรือห้ามเราทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็แล้วแต่มันจะเป็นวิธีการที่พวกเขาได้ประโยชน์" ฟาร์กัส กล่าวกับ Yahoo Sports หลังไกรเนอร์โดนจับไปไม่นาน
การคาดการณ์ของฟาร์กัสไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีรายงานว่าสหรัฐอเมริกากำลังเจรจาต่อรองการแลกตัวนักโทษกับรัสเซีย โดยสหรัฐอเมริกาจะส่งตัว วิกเตอร์ บูต พ่อค้าอาวุธเถื่อนเจ้าของฉายา "พ่อค้าความตาย" กลับไปให้รัสเซีย หลังเจ้าตัวถูกจับกุมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2008 ก่อนถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2010 และรับโทษจำคุก 25 ปีมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งนับตั้งแต่ วิกเตอร์ บูต ขึ้นศาลสหรัฐอเมริกาเมื่อราวสิบปีก่อนรัสเซียได้พยายามล็อบบี้เพื่อให้มีการส่งตัวนักโทษรายนี้กลับสู่ประเทศตลอดมา หลังจากที่ความพยายามในการคัดค้านศาลไทยไม่ให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาไม่ประสบผล
ขณะเดียวกันรัสเซียยังมีการส่งสัญญาณถึงสหรัฐอเมริกาเป็นระยะผ่านการนำเสนอข่าวทางช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล TASS ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการไต่สวนคดีของไกรเนอร์บนชั้นศาล หรือระยะเวลาที่ไกรเนอร์อาจต้องโทษจำคุกในรัสเซีย ซึ่งอาจสูงสุดถึง 10 ปี เพื่อกดดันให้สหรัฐอเมริกาตอบรับข้อเสนอภายในเส้นตายที่รัสเซียกำหนดไว้
ท้ายที่สุดเกมการเมืองของรัสเซียก็ได้ผล เมื่อไกร์เนอร์ต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลโดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังในวันที่ 1 กรกฎาคม แถมรัฐบาลรัสเซียยังขยายเวลาควบคุมเธอต่อไปอีกหกเดือน สหรัฐจึงเข้าตาจนและนำมาสู่การยื่นข้อเสนอแลกตัวนักโทษ โดยสหรัฐอเมริกาจะส่ง วิกเตอร์ บูต แลกกับ ไกรเนอร์ และ พอล วีแลน เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาที่ถูกจับกุมโดยรัฐบาลรัสเซียในข้อหาจารกรรมตั้งแต่ปี 2018 และถูกศาลสั่งจำคุก 16 ปี เมื่อปี 2020
แต่อย่างที่อดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอนกล่าวไว้ว่ารัสเซียจะกุมความได้เปรียบในการเจรจา มหาอำนาจแห่งยุโรปตะวันออกจึงเพิ่มเงื่อนไขให้สหรัฐอเมริกาปล่อยตัว วาดิม คราสิคอฟ มือสังหารของรัสเซียที่ก่อเหตุฆาตกรรม เซลิมคาน คานโกชวีลี อดีตนายทหารประจำกลุ่มกบฏเชเชนและกองทัพจอร์เจียในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2019 และถูกศาลกรุงเบอร์ลินตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2021 เพิ่มอีกราย ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้นำมาสู่ทางตันของการเจรจาพาไกรเนอร์กลับบ้าน เพราะ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจต่อสายตรงไปยังรัสเซียว่าจะไม่ปล่อยคราสิคอฟให้รัสเซียเป็นอันขาด
ความมั่นคงของชาติ หรือ สิทธิพื้นฐานส่วนบุคคล
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเรื่องราวของไกรเนอร์ได้ลุกลามใหญ่โตจากแค่นักกีฬาที่ถูกจับกุมเนื่องจากกระทำผิดกฎหมายไปสู่การเจรจาทางการทูตเพื่อแลกตัวนักโทษอาชญากรรมข้ามประเทศ จึงสามารถสรุปได้ทันทีว่า นักบาสเกตบอลหญิงรายนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัสเซียและสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย
ความจริงตรงนี้ส่งผลให้ เชอเรลล์ ไกรเนอร์ ภรรยาของ บริทนีย์ ไกรเนอร์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการ Good Morning America เพื่อเรียกร้องให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทำทุกทางเพื่อพาคู่สมรสของเธอกลับบ้าน และอย่าใช้งานไกรเนอร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อต่อรองอะไรกับรัสเซียอีก
"ฉันได้ยินผู้คนพูดแบบนี้ตลอดเวลาว่าเขา (ไบเดน) มีอำนาจต่อรอง คุณก็รู้ใช่ไหมที่เขาพูดกันแบบนั้น แต่ความจริงคือตอนนี้เธอกลายเป็นสัตว์เลี้ยงทางการเมืองของรัสเซีย เพราะฉะนั้นถ้าพวกเขากักตัวเธอไว้เพราะอยากให้เขาทำอะไรสักอย่าง ฉันก็อยากให้เขาทำตามนั้นเพื่อพาเธอกลับมา" เชอเรลล์ ไกรเนอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายอมทำทุกอย่างเพื่อพาคู่สมรสของเธอกลับบ้าน
น่าเสียดายที่เกมการเมืองได้เข้ามาเกี่ยวพันกับสถานการณ์ของไกรเนอร์จนแยกไม่ออก การยอมรับทุกข้อเสนอของรัสเซียตามที่ครอบครัวของเธอร้องขอจึงไม่มีวันเกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงยังต้องต่อรองกับรัสเซียต่อไป แม้ทุกฝ่ายจะรู้ความจริงว่านี่คือการยืดเวลาให้ไกรเนอร์อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัสเซียนานขึ้นไปอีก
การส่งจดหมายเปิดผนึกถึง โจ ไบเดน ของไกรเนอร์ขณะที่เธอยังถูกจองจำในรัสเซียยิ่งชัดเจนถึงสถานการณ์ที่สิ้นหวังของนักกีฬาสาวในขณะนี้ เพราะหลังจากนั้นไม่นานเธอยอมรับสารภาพความผิดทั้งหมดบนชั้นศาล แสดงให้เห็นแล้วว่าไกรเนอร์ทำอะไรไม่ได้นอกจากเล่นตามเกมของรัสเซียคือยอมรับว่าเธอผิดจริง ขณะเดียวกันคนที่จะช่วยเธอได้ก็มีเพียงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
"ในขณะที่ฉันถูกจองจำอยู่ในเรือนจำรัสเซียอย่างโดดเดี่ยวลำพัง โดยไม่มีภรรยา ครอบครัว เพื่อนฝูง ยูนิฟอร์มโอลิมปิก หรือความสำเร็จใด ๆ มาช่วยเหลือฉันได้ ฉันกลัวเหลือเกินว่าอาจจะต้องอยู่ในนี้ตลอดไป" เนื้อความส่วนหนึ่งในจดหมายของไกรเนอร์ ระบุ
"ฉันลงคะแนนเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2020 และฉันโหวตให้คุณ (ไบเดน) ฉันเชื่อในตัวคุณ ฉันยังมีเรื่องดี ๆ ที่อยากทำอีกมากมายเมื่อได้รับอิสรภาพ ซึ่งคุณสามารถช่วยฉันได้ ฉันคิดถึงภรรยา คิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อนร่วมทีม ฉันรับไม่ได้ที่รู้ว่าพวกเขากำลังเจ็บปวดกับเรื่องนี้ และนี่คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในตอนนี้เพื่อพาฉันกลับบ้าน"
สถานการณ์ตอนนี้จึงไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากภาวนาให้สหรัฐอเมริกาหาข้อตกลงกับรัสเซียได้เร็วที่สุด ทั้งนี้แม้เราจะต้องยอมรับความจริงว่า บริทนีย์ ไกรเนอร์ จะตกเป็นเครื่องมือทางการทูตระหว่างสองประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเจรจาเพื่อหาผลประโยชน์ของทั้งสองชาติจะมีความสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ
บริทนีย์ ไกรเนอร์ จึงควรจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุดตามที่ภรรยาของเธอกล่าว การตัดสินใจตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดปัจจุบันของ โจ ไบเดน แล้วว่าพวกเขาจะบาลานซ์ผลประโยชน์หรือความมั่นคงของชาติเข้ากับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลหนึ่งได้อย่างไร
นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ไบเดนต้องตอบกับสังคมอเมริกันและสังคมโลกให้ได้ ท่ามกลางชะตากรรมของนักกีฬาคนหนึ่งที่ยังไม่รู้อนาคตของตนในวันนี้