อิเนียสตาก็แบกไม่ไหว : เหตุใด วิสเซิล โกเบ ยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่สตาร์เต็มทีม?

อิเนียสตาก็แบกไม่ไหว : เหตุใด วิสเซิล โกเบ ยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่สตาร์เต็มทีม?

อิเนียสตาก็แบกไม่ไหว : เหตุใด วิสเซิล โกเบ ยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่สตาร์เต็มทีม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความพ่ายแพ้คาบ้านในเกมนัดล่าสุดต่อ คาชิวา เรย์โซล ทำให้ วิสเซิล โกเบ ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอีกครั้ง หลังตกลงมาอยู่ในอันดับรองบ๊วยของตารางเจลีกฤดูกาล 2022

มันคือสิ่งที่แตกต่างจากเป้าหมายที่เคยวาดไว้ หลังจาก Rakuten อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นเข้ามาเทคโอเวอร์ ทั้งการคว้าแชมป์เจลีก และการเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพราะตอนนี้พวกเขาต้องเอาตัวรอดในลีกสูงสุดให้ได้เสียก่อน  

อะไรที่ทำให้ทีมเงินถุงเงินถังแห่งคันไซ ซึ่งอุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์ ยังห่างไกลจากความสำเร็จ ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

เจ้าบุญทุ่มแห่งเจลีก 

แม้ว่า วิสเซิล โกเบ จะเป็นหนึ่งในทีมขาประจำของเจลีก หลังเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดตั้งแต่ปี 1997 แต่พวกเขาก็วนเวียนอยู่ในครึ่งล่างของตารางเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเคยร่วงตกชั้นลงไปในลีกล่างถึง 2 ครั้งในปี 2005 และ 2012 

สิ่งนี้ถือเป็นความเจ็บปวดสำหรับแฟนบอลในเมืองโกเบ หนึ่งในเมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่น ที่ทีมฟุตบอลของพวกเขาต้องเป็นลูกไล่ของ กัมบะ โอซากา อดีตแชมป์เจลีก 2 สมัย และคู่แข่งร่วมภูมิภาคคันไซมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ดีในปี 2014 พวกเขาก็เริ่มมีความหวัง เมื่อราคุเต็ง (Rakuten) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ เข้าซื้อกิจการของสโมสร และมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ วิสเซิล โกเบ

 

จนกระทั่งในปี 2016 แผนการของพวกเขาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หลัง ราคุเต็ง ได้เข้าไปเป็นสปอนเซอร์คาดอกให้กับ บาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่ของสเปน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างทีมจากคันไซและกาตาลุญญ่า 

เพราะหลังจากนั้น โกเบ ก็กลายเป็นทีมที่อิมพอร์ตนักเตะจากบาร์ซ่าเป็นหลัก เริ่มจากซูเปอร์ดีลด้วยการทุ่มค่าเหนื่อยสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 1,086 ล้านบาท) คว้าตัว อันเดรส อิเนียสตา เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติสเปนมาร่วมทีมในปี 2018  

อันที่จริง อิเนียสตา ไม่ใช่นักเตะระดับบิ๊กเนมรายแรกของโกเบ เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2017 พวกเขาเพิ่งจะได้ตัว ลูคัส โพดอลสกี กองหน้าทีมชาติเยอรมันมาร่วมทัพ และทำให้ โกเบ มีนักเตะระดับแชมป์โลกถึง 2 รายในปีดังกล่าว  

หลังจากนั้นพวกยังได้ต้อนรับ ดาบิด บียา อีกหนึ่งศิษย์เก่าจากคัมป์ นู ที่เข้ามาอยู่กับทีมในปี 2019 ตามมาด้วย เซอร์กี แซมเปอร์ และ โทมัส แฟร์มาเลน ที่ย้ายตรงจากบาร์ซ่าในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน 

นอกจากนี้ในปี 2018 วิสเซิล โกเบ ยังได้แต่งตั้ง ฆวน มานูเอล ลิญโญ กุนซือชาวสเปน ที่เป็นที่รู้จักในฐานะที่ปรึกษาของ เป๊บ กวาร์ดิโอลา ขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ และทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่น่าเกรงขามที่สุดในญี่ปุ่นในฐานะ "บาร์ซ่าแห่งเจลีก" 

อย่างไรก็ดีมันกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้

ความฝันที่ยังไปไม่ถึง

การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลของของ ราคุเต็ง นับตั้งแต่เทคโอเวอร์วิสเซิล โกเบ สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอลญี่ปุ่นโดยเฉพาะแฟนโกเบเป็นอย่างมาก ซึ่งวัดได้จากจำนวนยอดขายของที่ระลึกที่ทะลุเพดาน และยอดแฟนบอลเฉลี่ยที่ขึ้นมาแตะสองหมื่นคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรในปี 2018 

 

จากการรายงานของ The Guadian ระบุว่ากระแสตอบรับที่ล้นหลามจากแฟนบอลทำให้ วิสเซิล โกเบ ต้องจ้างพนักงานเข้ามาเพิ่ม รวมถึงยังมีการพูดว่าบางทีพวกเขาอาจจะต้องย้ายไปเล่นในสนามที่ใหญ่กว่านี้ เมื่อ โนเอเวียร์ สเตเดียม ที่มีความจุ 30,132 คนอาจจะเล็กเกินไป 

นอกจากนี้ไม่ใช่แค่นักเตะต่างชาติเท่านั้นที่ วิสเซิล โกเบ ให้ความสนใจ เมื่อพวกเขายังทุ่มทุนดึงตัวนักเตะระดับทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยมีประสบการณ์ในยุโรปมาร่วมทัพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โฮตารุ ยามางูจิ, โกโตคุ ซาไก, ยูยะ โอซาโกะ, โยชิโนริ มูโต หรือรายล่าสุดอย่าง โทโมอากิ มาคิโนะ  

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กระแสความคาดหวังที่มีต่อทีมนั้นสูงปรี๊ด บวกกับความทะเยอทะยานของสโมสรที่มีเป้าหมายในการก้าวขึ้นมาเป็นทีมลุ้นแชมป์เจลีกและเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย จึงทำให้แฟนบอลต่างรอดูว่าพวกเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน 

"ทีมพูดตลอดว่าเราอยากเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย ดังนั้นเป้าหมายใหญ่อันดับแรกของเราคือการคว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก" ลีโอ โอซากิ กองหลังของวิสเซิล โกเบ กล่าวกับ Stats Perform เมื่อปี 2021  

"แน่นอนว่าเราต้องคว้าแชมป์เจลีก เราจึงไม่สามารถโฟกัสแค่แชมเปี้ยนส์ลีก แต่เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของเราในตอนนี้คือการคว้าแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีก"

 

อย่างไรก็ดีความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามจากที่วาดฝันเอาไว้ เพราะแม้ว่า วิสเซิล โกเบ จะสามารถคว้าแชมป์เอ็มเพอร์เรอร์ส คัพ ซึ่งถือเป็นโทรฟีแรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้ในปี 2019 รวมถึงจบอันดับ 3 ในปี 2021 แต่ผลงานโดยรวมของพวกเขาก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ 

โดยเฉพาะในฤดูกาล 2022 ที่ออกสตาร์ทโดยไม่รู้จักกับคำว่าชนะถึง 11 นัดติดต่อกัน แถมล่าสุดก็เพิ่งพ่ายคาบ้านต่อ คาชิวา เรย์โซล 0-1 (เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2022) และทำให้พวกเขาร่วงลงมาอยู่ในอันดับรองสุดท้ายของตาราง 

ทว่านั่นยังไม่เท่ากับเกมรุกทั้งที่อุดมไปด้วยตัวยิงระดับพระกาฬ แต่ วิสเซิล โกเบ กลับเป็นทีมที่ผลิตสกอร์ได้แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของลีก หลังยิงคู่แข่งไปได้เพียง 21 ลูกจาก 23 เกม หรือเฉลี่ย 0.91 ประตูต่อเกม 

แถมฤดูกาลนี้พวกเขายังเปลี่ยนโค้ชมาแล้วถึง 4 คน แต่ผลงานก็ไม่กระเตื้องขึ้น ไล่ตั้งแต่ อัตสึฮิโร มิอุระ ที่โดนตะเพิดหลังไม่ชนะใน 10 นัดแรก ต่อด้วย หลุยส์ พลานากูมา กุนซือรักษาการ, มิเกล อังเคล โลลินา ที่อยู่ได้แค่สองเดือนกว่า และล่าสุด คนใหม่หน้าเก่าอย่าง ทาคายูกิ โยชิดะ

 

อะไรที่ทำให้พวกเขามาสู่จุดนี้ ?

พึ่งซูเปอร์สตาร์มากเกินไป 

"มันเป็นการออกสตาร์ทที่ไม่มีใครคาดคิด" อันเดรส อิเนียสตา อธิบาย 

"ผมคิดว่าในโลกของฟุตบอล (การเปลี่ยนโค้ช) เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ทีมมีผลงานย่ำแย่ และมันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ" 

"อย่างไรก็ตาม เราขาดความมั่นคงในเกมรับเมื่อเทียบกับฤดูกาลที่แล้ว และเรายังขาดการสร้างสรรค์โอกาสและการทำประตูในเกมรุกที่ทำให้ผลการแข่งขันออกมาเช่นนี้" 

สิ่งที่ทำให้ วิสเซิล โกเบ ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังในฤดูกาลนี้นั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือการพึ่งความสามารถของเหล่าซูเปอร์สตาร์มากกว่าระบบโดยรวมของทีมมากเกินไป 

ในฤดูกาลที่พวกเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่นคือปีที่เหล่านักเตะบิ๊กเนมของพวกเขาเฉิดฉายอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นปี 2019 ที่พวกเขาจบในอันดับ 8 พร้อมคว้าถ้วยเอ็มเพอเรอร์ส ก็เป็นซีซั่นที่ดาบิด บียา ซัดไปถึง 13 ประตู

แต่เมื่อขาดนักเตะเหล่านั้นไป จะด้วยฟอร์มตกหรือย้ายออกจากทีม วิสเซิล โกเบ ก็มีผลงานตกลงอย่างฮวบฮาบ และหนึ่งในข้อพิสูจน์ชั้นดีคือการหายไปของ เฮียวโงะ ฟูรูฮาชิ ดาวยิงของทีมที่ย้ายไปเล่นให้กับ กลาสโกว์ เซลติก เมื่อช่วงกลางปี 2021 

อดีตกองหน้า กิฟู เอฟซี ย้ายมาอยู่กับ วิสเซิล โกเบ ตั้งแต่ปี 2018 และสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นยอดดาวยิงของลีก โดยเฉพาะฤดูกาล 2021 ที่เขายิงไปถึง 15 ประตูจาก 21 เกม พร้อมช่วยทำให้ วิสเซิล โกเบ จบในอันดับ 3 ของตารางในฤดูกาลดังกล่าว 

แม้ว่าหลัง ฟูรูฮาชิ ย้ายออกไป วิสเซิล โกเบ จะได้ โยชิโนริ มูโต อดีตกองหน้าของ ไมนซ์ และ นิวคาสเซิล มาเป็นตัวตายตัวแทน แต่เขาก็ทำได้ไม่ดีนักหลังยิงไปได้แค่ 5 ประตูในซีซั่นที่แล้ว และอีก 5 ประตูในฤดูกาลนี้ 

"รูโหว่ของฟูรูฮาชินั้นใหญ่มาก แม้จะเอาโอซาโกะเข้ามา แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำแบบเดียวกันได้ สไตล์มันต่างกัน มูโตอาจจะคล้ายกันมากกว่า แต่บอกตามตรงความสามารถของฟูรูฮาชิอยู่ในระดับที่สูงกว่า" มาร์คุส ทูลิโอ ทานากะ อดีตกองหลังทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวกับ Football Zone

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีคูณเมื่อนักเตะหลายคนของทีมต้องประสบกับปัญหาอาการบาดเจ็บจนต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น แซมเปอร์ และ โนริอากิ ฟูจิโมโต ที่ปิดเทอมไปก่อนใครเพื่อน หรือ มาคิโนะ และ โอซาโกะ ที่มีปัญหาความฟิต 

แต่สิ่งที่เสียหายที่สุดคือการแขวนสตั๊ดของ โธมัส แฟร์มาเลน หัวใจสำคัญในแนวรับของทีมเมื่อซีซั่นก่อน เพราะการมีอยู่ของเขาช่วยให้กองหลังคนอื่นได้เห็นตัวอย่างที่ดีด้วยการยืนตำแหน่งที่ถูกต้อง แถมเขายังสามารถเปิดบอลจากแนวหลังได้อีกด้วย 

และมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แนวรับทีมเปื่อยยุ่ยเป็นทิชชู่ในฤดูกาลนี้ พวกเขาคือทีมที่มีสถิติเสียประตูย่ำแย่ที่สุดใน 10 นัดแรกของปี 2022 ด้วยการเสียไปถึง 16 ประตู

อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือการขาดประสบการณ์ของ อัตสึฮิโร มิอูระ หัวเรือใหญ่ในช่วงต้นฤดูกาล ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคุมทีมไหนมาก่อน หลังถูกดันขึ้นมาจากตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาเมื่อปี 2020 

"อัตสึฮิโร มิอุระ ในแง่ของการทำงานเขาคือผู้อำนวยการกีฬาไม่ใช่ผู้จัดการทีม" แซม ร็อบสัน ให้ความเห็นกับ Optus Sports

"ที่ต้องให้เครดิตเขาคือเขาเลือกที่จะใช้แผน 4-4-2 รูปเพชรที่ทำให้อิเนียสตาเฉิดฉายที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาความมั่นคงในเกมรับที่อยู่ข้างหลัง เขาปลดล็อกตำแหน่งที่ดีที่สุดในแดนหน้าของ เคียวโงะ ฟูรูฮาชิ เขาสร้างสมดุลในเกมรุกและเกมรับด้วย (โทมัส) แฟร์มาเลน ที่ยืนคู่กับ (เรียวโฮ) คิคุจิ ในแดนหลัง"  

"พวกเขายังรับมือกับการจากไปของฟูรูฮาชิด้วยการอัดเงินเอาสองนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นอย่าง (โยชิโนริ) มูโต และ (ยูยะ) โอซาโกะ เข้ามา โดยเฉพาะมูโตที่ทำได้ดีในการเล่นบอลกับพื้น" 

"แต่เป็นโชคร้ายสำหรับมิอุระ ผมคิดว่าการขาดประสบการณ์ของเขาในระบบนี้ที่ทำให้คู่แข่งรู้ว่าจะเล่นแบบไหน บวกกับอาการบาดเจ็บของนักเตะสำคัญที่ทำให้เขาต้องใช้แผน 2 ที่เขาไม่เคยใช้มาก่อน และนั่นทำให้เขาต้องตะบี้ตะบันเล่นแบบเดิมต่อไป"

"ทีมของเขายังอ่อนแอเกินไปในเกมรับ แถมยังไร้พิษสงคุกคามในแดนหน้าเนื่องจากการบาดเจ็บของมูโต และฟอร์มที่ย่ำแย่ของโอซาโกะ" 

แต่อันที่จริงปัญหาของพวกเขาอาจฝังลึกกว่าที่คิดไว้

บาร์ซ่าฟิเคชั่น 

ปกติแล้วหากทีมมีผลงานย่ำแย่ เฮดโค้ชจะเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบตามมาด้วยนักเตะ แต่สำหรับ วิสเซิล โกเบ ต้นตอของปัญหาอาจจะมาจาก ฮิโรชิ มิคิตานิ มหาเศรษฐีเจ้าของสโมสร 

เขาเริ่มเข้ามามีบทบาทในทีมตั้งแต่บริษัทของเขาเข้าเทคโอเวอร์ในปี 2014 และทำให้สโมสรจากภูมิภาคคันไซขึ้นชื่อในฐานะทีมที่ใช้โค้ชเปลือง หลังเปลี่ยนผู้จัดการทีมมาแล้ว 10 คนในระยะเวลาเพียงแค่ 8 ปี 

แน่นอนว่า การเข้า ๆ ออก ๆ ของผู้กุมบังเหียนย่อมทำให้ทีมขาดความต่อเนื่อง เพราะโค้ชแต่ละคนก็มีสไตล์ที่ต่างกัน โดยเฉพาะฤดูกาลนี้โกเบใช้เฮดโค้ชไปแล้วถึง 4 คน หลังล่าสุดเพิ่งแต่งตั้ง โยชิดะ เข้ามารับงานเป็นคำรบที่ 3 แทนที่ โลตินา ที่อยู่กับทีมได้ไม่ถึง 3 เดือน 

"โลตินาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดไว้" ร็อบสัน อธิบาย 

ขณะเดียวกัน มิคิตานิ ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการแต่งตั้ง ฮิเดกิ นางาอิ อดีตผู้จัดการทีม โตเกียว เวอร์ดี ที่ถูกยึดใบอนุญาตคุมทีมจากสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หลังก่อเหตุอื้อฉาวใช้วาจารุนแรงข่มเหงนักเตะในการประชุมทีม จนทำให้เขาถูกแบน 1 ปี ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร 

แต่สิ่งที่ทำร้ายทีมได้มากที่สุดคือนโยบายการพยายามเป็นบาร์เซโลน่า หรือ บาร์ซ่าฟิเคชั่น (Barca-fication) ของมิคิตานิ ที่มากเกินไป จนทำให้ วิสเซิล โกเบ กลายเป็นทีมที่ขาดทิศทางและอัตลักษณ์ของสโมสร  

เพราะการจะเล่นให้ได้แบบบาร์เซโลน่าไม่ใช่เพียงแค่การซื้ออดีตนักเตะของบาร์ซ่าเข้ามา แต่มันต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและสั่งสมจนกลายเป็นปรัชญาหลักที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน ที่ไม่ว่านักเตะจะผ่านไปกี่รุ่นพวกเขาก็จะยังเล่นแบบเดิม 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ภายใต้การคุมทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ที่โดดเด่นในเกมรับจนสามารถคว้าแชมป์เจลีกได้ถึง 3 สมัย หรือ คาวาซากิ ฟรอนทาเล ที่มีเกมรุกดุดันจนประสบความสำเร็จทั้งในยุคของ ยาฮิโร คาซามะ และ โทรุ โอนิกิ

แต่ วิสเซิล โกเบ ไม่เคยมีสิ่งนี้ พวกเขาอาจจะยึดถือบาร์ซ่าเป็นแบบอย่างก็จริงแต่ไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียด แถมการเปลี่ยนโค้ชบ่อยก็ยังทำทิศทางของพวกเขาขาดความชัดเจน ไม่รู้จะไปซ้ายหรือไปขวา จะเดินหน้าหรือถอยหลัง

"โกเบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพยายามจินตนาการถึงการเป็นบาร์เซโลน่าในเวอร์ชั่นเจลีก พวกเขาพยายามเล่นแบบติกิ-ตากาอันโด่งดัง และสรรหาบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับสโมสรแห่งกาตาลันเท่าที่จะหาได้" ร็อบสัน กล่าวกับ Optus Sports 

"แต่เขา (โลตินา - โค้ชคนเก่า) เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับฟุตบอลแบบติกิ-ตากา เขาเน้นรับมาก่อน เคร่งในวินัยที่เป็นระบบ และผู้เล่นทุกคนในทีม (บาร์ซ่า) นั้นก็รู้บทบาทและการทำงานเพื่อทีมอยู่แล้ว" 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ วิสเซิล โกเบ ไม่รู้ว่าจะสรรหาบุคลากรแบบไหนที่เข้ากับปรัชญาหรือแนวทางของทีม และทำให้พวกเขายังสับสนในตัวตนของสโมสรจนมีผลงานที่ไม่แน่ไม่นอนและยังห่างไกลจากความสำเร็จที่ตั้งเอาไว้ 

อนาคตที่ยังมองไม่เห็น 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน วิสเซิล โกเบ มีสถานะเป็นทีมหนีตกชั้นเต็มตัวแล้วหลังตกลงมาอยู่ในโซนตกชั้นที่อันดับที่ 17 ของตาราง และมีแต้มห่างจากอันดับ 15 โซนปลอดภัยอยู่แต้มเดียว ทำให้ล่าสุดมีข่าวลือว่ามิคิตานิเตรียมจะอัดฉีดเงินก้อนใหญ่เพื่อเสริมทีมในตำแหน่งกองหน้า เซ็นเตอร์แบ็ก และฟูลแบ็ก หวังช่วยทีมให้อยู่รอด 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะแม้ผลงานภายใต้การคุมทัพของโยชิดะจะกระเตื้องขึ้น แต่ วิสเซิล โกเบ ก็ยังมีงานหนักรออยู่ โดยเฉพาะใน 5 เกมสุดท้ายที่ต้องโคจรมาเจอกับทีมใหญ่อย่าง กัมบะ โอซากา, ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา และ คาวาซากิ ฟรอนทาเล   

นั่นจึงทำให้พวกเขาอาจจะต้องโฟกัสไปทีละนัดและพยายามเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด รวมถึงลืมเป้าหมายในการเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียไปก่อน เพราะตอนนี้แค่พยายามไม่ให้หล่นลงไปเล่นในเจลีก 2 ก็อาจจะหืดขึ้นคอแล้วสำหรับ วิสเซิล โกเบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook