ยิ่งโตยิ่งโดนฉีก : เหตุใดนักวิ่งเอเชียเก่งฟอร์มตอนเด็กแต่มาดรอปตอนโต ?

ยิ่งโตยิ่งโดนฉีก : เหตุใดนักวิ่งเอเชียเก่งฟอร์มตอนเด็กแต่มาดรอปตอนโต ?

ยิ่งโตยิ่งโดนฉีก : เหตุใดนักวิ่งเอเชียเก่งฟอร์มตอนเด็กแต่มาดรอปตอนโต ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่ากีฬาวิ่งทั้งระยะสั้นและระยะไกลอาจจะไม่ใช่กีฬาที่ชาวเอเชียผิวเหลืองประสบความสำเร็จมากมายนัก

เรื่องนี้คล้าย ๆ กับวงการกีฬาอื่น ๆ ที่ชาติในทวีปเอเชียแม้จะพยายามและเริ่มต้นได้ดีในระดับเยาวชน แต่พอถึงการแข่งขันในระดับโลกพวกเขายังมีช่องว่างกับนักกีฬาระดับหัวแถวของโลกอยู่ไม่น้อย

ทั้ง ๆ ที่ตอนเด็กหนีกันไม่มาก ทำไมยิ่งโตกลับยิ่งโดนฉีก … ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

ความสำเร็จของนักวิ่งเอเชียในระดับเยาวชน 

ภูริพล บุญสอน กลายเป็นนักวิ่งขวัญใจชาวไทยคนใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าของฉายา "เทพบิว" คือเจ้าของสถิตินักวิ่งระยะ 200 เมตรระดับเยาวชนที่เร็วที่สุดในทวีปเอเชีย ด้วยเวลา 20.19 วินาที และเส้นทางในการแข่งขันระดับโลกยังคงอีกยาวไกล เนื่องจากในขณะนี้เขาอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น แต่สามารถคว้าอันดับ 4 ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร กรีฑาเยาวชนโลก 2022 โดยชวดเหรียญทองแดงไปเพียงหลักเสี้ยววินาที นั่นทำให้ใครหลายคนคาดหวังว่า ไทยอาจจะมีนักวิ่งระยะสั้นระดับเหรียญโอลิมปิกในช่วงเวลาต่อจากนี้ 

ไม่ใช่แค่ของชาวไทยเท่านั้น ในอดีตยังมีนักวิ่งจากอินโดนีเซียอย่าง มูฮัมหมัด โซรี ที่คว้าเหรียญทอง วิ่ง 100 เมตร ในกรีฑาเยาวชนโลก เมื่อปี 2018

วงการกรีฑาของทวีปเอเชียพัฒนาไปมากในปัจจุบัน ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีน ยกระดับขึ้นมาเป็นชาติที่มีนักวิ่งความเร็วสูงขึ้นมาลุ้นเหรียญมากอย่างเห็นได้ชัดในการแข่งขันระดับโลก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันวิ่งระยะ 100 เมตรในรายการโอลิมปิกเลย แต่ในช่วง 20 ปีหลังสุด ทีมวิ่งของจีนมีการพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเรื่องของเทคนิค จนทำให้พวกเขาเกิดเทพนักวิ่งระยะสั้นขึ้นมากมาย โดยในรายของ ซู ปิงเทียน ได้กลายเป็นนักกีฬาจีนคนแรกที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายการแข่งขันชิงแชมป์โลก วิ่ง 100 เมตร ซึ่งถือเป็นเด็กเทพแห่งวงการวิ่งเอเชียเลยก็ว่าได้

 

ทั้ง ๆ ที่ตอนแข่งขันในรุ่นเยาวชนนักวิ่งจากเอเชียสามารถสู้กับคู่แข่งชาติอื่น ๆ ได้ดีในระดับที่เฉือนกันเพียงเสี้ยววินาที แต่ทำไมเมื่อกลายเป็นการแข่งขันในระดับโอลิมปิกหรือในระดับชิงแชมป์โลกจึงไม่มีนักวิ่งเอเชียที่คว้าเหรียญได้เลย ?

พันธุกรรม 

นี่คือเรื่องที่ง่ายที่สุดที่เราจะยกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการวิ่งคือการกีฬาที่อาศัยสมรรถภาพร่างกายล้วน ๆ ที่อุปกรณ์หรือเครื่องสวมใส่มีผลเพียงน้อยนิดเท่านั้น และร่างกายที่แข็งแรง ช่วงขาที่ยาว และกล้ามเนื้อที่เหมาะสำหรับกับการวิ่งแสดงให้เห็นว่าคนเอเชียไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าจะทั้งในระยะสั้นและระยะไกล ... ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองแต่เป็นข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์มาแล้ว 

ในส่วนของการวิ่งระยะสั้นเคยมีการเคยทำการวิจัยเกี่ยวกับนักวิ่งชาวจาเมกา โดย เอร์รอล มอร์ริสัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน ที่ใช้สารตั้งต้นจากเจ้าของสถิติโลกอย่าง ยูเซน โบลท์ และพบว่าในกล้ามเนื้อของนักกีฬาจากจาเมกา 70% มี Actinen A สารที่มีหน้าที่ในกระบวนการระดับเซลล์ที่สำคัญหลายประการ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนที่ของเซลล์ โดยสารนี้มีอีกชื่อว่า "ยีนสำหรับความเร็ว" ซึ่งสำคัญต่อการสับขาเร่งสปีดเป็นอย่างมาก 

 

และข้อมูลที่พบของนักกีฬาจาเมกาที่มี Actinen A นั้นถือว่ามากกว่านักวิ่งจากประเทศออสเตรเลียที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ถึง 30%

นอกจากยีนแห่งความเร็วแล้ว ยังมีเรื่องของความยาวของขาที่ชาวเอเชียเสียเปรียบนักวิ่งจากจาเมกาหรือชาตินักวิ่งแถวหน้าของโลกที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายแอฟริกันเป็นอย่างมาก เพราะสำหรับการวิ่งแค่พรสวรรค์นั้นไม่เพียงพอ 

เดวิด เอปสไตน์ ผู้เขียนบทความเรื่อง The Sports Gene อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า เมื่อถึงวัยที่เติบโตถึงขีดสุด ชาวแอฟริกัน หรือแอฟริกัน-อเมริกัน จะมีความสูงมากที่สุดในโลก ไม่ใช่เพราะพวกเขาสูงที่สุดอย่างเดียว แต่ขาและแขนของพวกเขาก็ยาวกว่าความยาวเฉลี่ยของเชื้อชาติกลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย

"สิ่งสำคัญไม่ใช่ความสูงตอนยืนแต่เป็นความสูงตอนนั่ง เราจะได้รู้ว่าใครขายาวก็ตอนที่เขานั่งบนเก้าอี้" เดวิด เอปสไตน์ กล่าว

 

"ชาวแอฟริกัน หรือ แอฟริกัน-อเมริกัน มีขาที่ยาวกว่าชาวยุโรป สำหรับความสูงขณะนั่ง 2 ฟุต เด็กชายแอฟริกัน-อเมริกันมักจะมีขาที่ยาวกว่าเด็กชายชาวยุโรป 2.4 นิ้ว ขาประกอบขึ้นเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นของร่างกายในแต่ละบุคคลที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา และสิ่งนี้มีไว้สำหรับนักกีฬาชั้นยอด" 

ชาวแอฟริกันมีแขนและขาที่ยาวกว่าชาวเอเชีย ไม่ใช่แค่ในวงการวิ่งเท่านั้นที่จะส่งผล เพราะแม้กระทั่งเอาคนเอเชียที่ตัวสูงที่สุดในบาสเกตบอล NBA อย่าง เหยา หมิง ที่สูง 229 เซนติเมตรมาเทียบกับ แชคีล โอนีล ที่สูง 216 เซนติเมตรดูแล้ว ระยะ Wingspan (ความยาวระหว่างแขนเมื่อกางออกจากแขนซ้ายไปขวา) ของแชคกลับยาวกว่าหมิงถึง 8 เซนติเมตร ทั้ง ๆ ที่แชคสูงน้อยกว่า

จริงอยู่ที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงเรื่อง "ยีนสำหรับความเร็ว" และ "ความยาวของขา" ในส่วนของชาวเอเชีย แต่สิ่งที่เราพอจะคาดเดาได้ว่ามันไม่น่าจะมากกว่านักกีฬาชาติอื่น ๆ ก็คือเรื่องของความสำเร็จในระดับสากลที่นักวิ่งเอเชียได้รับนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ มีนักวิ่งเอเชียคนเดียว (ไม่นับ เฟมี โอกูโนเด นักวิ่งจากกาตาร์ซึ่งโอนสัญชาติมาจากไนจีเรีย ทำสถิติไว้ 9.91 วินาที) ที่ทำลายกำแพงความเร็ว 10 วินาทีได้คือ ซู ปิงเทียน นักวิ่งจากจีน ที่ทำไว้ 9.83 วินาทีในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ วิ่ง 100 เมตร โอลิมปิก โตเกียว 2020 (รอบชิงชนะเลิศทำได้ 9.98 วินาที คว้าอันดับ 6)

ยีนและพันธุกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากไลฟ์สไตล์และชีวิตความเป็นอยู่ด้วยเพียงแต่ต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นแม้จะมีงานวิจัยที่บอกว่าชาวเอเชียแพ้เรื่องพันธุกรรมก็ไม่ใช่เรื่องที่จะ "คงอยู่ตลอดไป" และเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเอเชียหยุดวิ่งได้ เพราะทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า "วิวัฒนาการ" เพียงแต่มันอาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย

แพ้ครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงแพ้ตลอดไป 

ปัจจุบันชาวเอเชียเริ่มมีค่าเฉลี่ยความสูงที่มากขึ้น งานเขียนของ เอปสไตน์ ระบุไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 1957 ถึงปี 1977 เป็นต้นมาค่าความสูงเฉลี่ยของชายชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 1.7 นิ้วหรือราว 4.3 เซนติเมตร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสัมพันธ์กันกับเรื่องของอาหารการกินและไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศระดับแนวหน้าของเอเชียทั้ง จีน และ ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีนักกีฬาที่มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีเพิ่มขึ้นและประสบความสำเร็จในรายการระดับโลกมากขึ้น 

โดยวงการวิ่งนั้น มิซึกิ โนกุจิ นักวิ่งมาราธอนหญิงชาวญี่ปุ่นก็สามารถคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขันโอลิมปิกที่เอเธนส์เมื่อปี 2004 แต่สำหรับวงการวิ่งระยะสั้นนั้น จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีนักกีฬาเอเชียคนใดประสบความสำเร็จในระดับโลกเลยแม้แต่รายเดียว

อย่างไรก็ตามการจะบอกว่าชาวเอเชียช้าที่สุดในบรรดาทุกทวีปสำหรับการวิ่งระยะสั้นก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะสถิติของ ซู ปิงเทียน ชนะสถิติของนักวิ่งจากทวีปโอเชียเนีย (แพทริก จอห์นสัน) และอเมริกาใต้ (ร็อบสัน ดา ซิลวา) โดยฝั่งเอเชียนั้นแพ้แค่สถิติของนักวิ่งจากทวีปแอฟริกา (เฟอร์ดินานด์ โอมันยาลา), อเมริกาเหนือ (ยูเซน โบลท์) และยุโรป (มาร์แซล จาคอบส์) เท่านั้น

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการพัฒนาขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการพยายามเอาชนะความจำกัดด้านพันธุกรรม และการพัฒนาด้านเทคนิค ความเร็วของนักวิ่งชาวเอเชียก็เพิ่มขึ้นด้วย 

ในแง่ของพันธุกรรมอาจจะยากหน่อยเพราะต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนในการเปลี่ยนแปลงสรีระที่จะทำให้ชาวเอเชียมีสภาพร่างกายเหมาะสมกับการเป็นนักกีฬาเหมือนกับชาวแอฟริกัน ทว่าสิ่งที่ไม่ต้องรอคือในเรื่องของการพัฒนาด้านเทคนิคและการเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งในส่วนนี้สามารถพัฒนาได้จริงและทำให้นักกีฬาจากชาติใหญ่ ๆ อย่าง จีน หรือ ญี่ปุ่น พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วใน 20 ปีหลังสุด 

ประเทศญี่ปุ่นที่ใช้เวลา 2 ทศวรรษในการนำเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยให้นักวิ่งของพวกเขาเร็วขึ้นและทำลายกำแพง 10 วินาที ในการวิ่งระยะ 100 เมตรได้สำเร็จ โดยสถิติที่ใกล้เคียงกับกำแพง 10 วินาทีที่ดีที่สุดคือ โคจิ อิโตะ ที่ทำเวลาไว้ 10.00 วินาทีในปี 1998 กระทั่งความพยายามมาสำเร็จในอีก 20 ปีต่อมาโดย โยชิฮิเดะ คิริว ที่ทำสถิติเอาไว้ที่ 9.95 วินาที 

ทีมพัฒนานักวิ่งของญี่ปุ่นเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจากการคิดค้นวิธีทำลายกำแพง 10 วินาที โดย ศาสตราจารย์ อากิฟูมิ มัตสึโอะ ที่เป็นแนวหน้าในสถาบันฟิตเนสและกีฬาแห่งชาติ 

จุดเริ่มต้นคือการเอาต้นแบบการวิ่งของ คาร์ล ลูอิส ตำนานนักวิ่งระยะสั้นชาวอเมริกันที่สร้างสถิติโลกในการชิงแชมป์โลกปี 1991 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพมาใช้ พวกเขาใช้วิธีการวิ่งของลูอิส ตั้งแต่การออกตัว การสับเท้า การเหยียดขา และการเร่งความเร็วสูงสุดมาวิเคราะห์ และมีการใช้วิธีการฝึกแบบที่เหมาะกับนักวิ่งของตัวเองที่สุด จนพวกเขาทำลายกำแพง 10 วินาทีได้สำเร็จ 

จีน และ ญี่ปุ่น เอาจริงเอาจังกันตั้งแต่เรื่องการคัดเลือกและเติมศักยภาพนักกีฬาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้พวกเขาได้นักกีฬาที่เชี่ยวชาญและถูกปรับสรีระรวมถึงวิธีการวิ่งสำหรับการวิ่งระยะสั้นโดยเฉพาะ แม้ตอนนี้พวกเขาจะยังไม่ไปถึงในระดับแชมป์โลก แต่พวกเขาก็ขยับเข้าใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว   

ดังนั้นชัยชนะในรุ่นเยาวชนของนักวิ่งเอเชียไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด พวกเขาอาจจะแพ้ในกับเจ้าแห่งการวิ่งอย่างแอฟริกันในวันที่ร่างกายเจริญเติบโตถึงขีดสุด อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าชาวเอเชียควรจะถอดใจและหยุดวิ่งเพียงเท่านี้ เพราะการไปสู่ชัยชนะไม่ได้พึ่งเพียงสรีระเพียงอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงวินัย การฝึกซ้อมที่ถูกวิธี และการใช้ชีวิตนอกสนามที่ถูกต้องเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปในด้านของพันธุกรรม 

นั่งวิ่งแอฟริกันยังคงเป็นกำแพงอุปสรรคครั้งใหญ่ที่เอาชนะยากยิ่งกว่ากำแพง 10 วินาที ... และในเมื่อชาวเอเชียสามารถพังกำแพง 10 วินาทีลงได้แล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตนักวิ่งเอเชียอาจจะเอาชนะนักวิ่งแอฟริกันได้ในสักวันก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook