ย้อนรอยความผิดพลาด : ครั้งหนึ่งที่ดอร์ทมุนด์หนีตกชั้น แม้ เยอร์เกน คล็อปป์ กุมบังเหียน

ย้อนรอยความผิดพลาด : ครั้งหนึ่งที่ดอร์ทมุนด์หนีตกชั้น แม้ เยอร์เกน คล็อปป์ กุมบังเหียน

ย้อนรอยความผิดพลาด : ครั้งหนึ่งที่ดอร์ทมุนด์หนีตกชั้น แม้ เยอร์เกน คล็อปป์ กุมบังเหียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีทีมไหนในพรีเมียร์ลีกที่โชว์ฟอร์มผิดคาดมากไปกว่า ลิเวอร์พูล รองแชมป์ลีกเมื่อปีก่อนที่ออกสตาร์ทอย่างไม่น่าประทับใจด้วยการเก็บได้เพียง 2 คะแนนจาก 3 นัดแรกของฤดูกาล 2022-23

ผลงานที่ย่ำแย่ของทัพหงส์แดงในเวลานี้ชวนให้หลายคนนึกถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อดีตต้นสังกัดของ เยอร์เกน คล็อปป์ ในฤดูกาล 2014-15 ที่พวกเขาไม่เพียงจะเริ่มซีซั่นได้ย่ำแย่ แต่ผลงานของพวกเขายังพังหนักถึงครึ่งฤดูกาล จนทัพเสือเหลืองต้องกองอยู่อันดับสุดท้ายของตารางอย่างไม่น่าเชื่อ

Main Stand จะพาคุณย้อนรอยความผิดพลาดถึงทุกปัจจัยและความโชคร้ายที่ทำให้ดอร์ทมุนด์ต้องไปหนีตกชั้น แม้จะมีกุนซืออย่าง เยอร์เกน คล็อปป์ คุมทัพ 

เดินผิดทางตั้งแต่ก้าวแรก

หากจะหาสักเหตุผลที่เป็นจุดเริ่มต้นให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ผลงานร่วงจนเกือบเอาตัวไม่รอด "การวางแผนที่ผิดพลาด" ดูจะเป็นคำตอบที่สามารถอธิบายถึงหายนะที่เคยเกิดขึ้นกับทัพเสือเหลืองได้ดีที่สุด เพราะมีหลายสัญญาณที่แสดงถึงสถานการณ์อันย่ำแย่ที่อาจเกิดขึ้นกับดอร์ทมุนด์ในฤดูกาล 2014-15 แต่เส้นทางที่ เยอร์เกน คล็อปป์ รวมถึงผู้บริหารทีมเลือกเดินในฤดูกาลดังกล่าวกลับเป็นเส้นทางที่ผิดพลาดจนยากจะแก้ไข

ย้อนกลับไปยังฤดูกาล 2012-13 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ถือเป็นทีมฟุตบอลที่น่าจับตามากที่สุดในโลก เพราะไม่เพียงพวกเขาจะเพิ่งคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยซ้อน แต่ทัพเสือเหลืองยังสร้างทีมจากการดึงนักเตะคุณภาพดีราคาถูกเข้ามาเป็นกำลังหลักของทีม ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, ชินจิ คางาวะ, อิลคาย กุนโดกัน หรือ มาริโอ เกิทเซ่ ทั้งหมดเป็นนักเตะที่ย้ายเข้ามาสู่ทีมแบบฟรี ๆ หรือมีค่าตัวราว 5 ล้านยูโร

การรวมของดีราคาถูกเข้ามาสู่ทีมส่งผลให้ทัพเสือเหลืองก้าวขึ้นมาสู่การเป็นแถวหน้าของทีมฟุตบอลยุโรปได้อย่างรวดเร็ว แต่ความท้าทายที่พวกเขาต้องเจอคือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยังคงเป็นทีมที่ทำฟุตบอลภายใต้การจำกัดงบประมาณและคิดถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาจึงหนีไม่พ้นการปล่อยตัวหลักออกจากทีมเพื่อนำเงินเข้ามาจุนเจือสโมสรแล้วเดินหน้าต่อไปกับนักเตะรายใหม่ที่จะเข้ามา

 

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เอาตัวรอดได้อย่างดีกับการเสียตัวหลักที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาเสีย ชินจิ คางาวะ ให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่ทีมยังเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2012-13 ส่วนฤดูกาล 2013-14 ที่พวกเขาเสีย มาริโอ เกิทเซ่ ให้ บาเยิร์น มิวนิค ทัพเสือเหลืองก็ยังคงจบอันดับสองของตารางบุนเดสลีกาแบบสบาย ๆ

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงยังคงไม่คิดมากกับการเสียตัวหลักในฤดูกาล 2014-15 เพราะเชื่อว่าพวกเขาน่าจะประคองทีมไว้ได้เหมือนสองฤดูกาลก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารทีมอาจจินตนาการไม่ถึงคือผลกระทบของการสูญเสียนักเตะไปในตลาดรอบนี้ที่ไม่อาจเทียบได้กับในกรณีของคางาวะหรือเกิทเซ่ เพราะนักเตะที่ทัพเสือเหลืองเสียออกไปจากทีมในฤดูกาลดังกล่าวคือ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี กองหน้าตัวเก่งที่เลือกจะไม่ต่อสัญญากับทีม เพื่อย้ายไปเล่นให้กับคู่ปรับร่วมลีก บาเยิร์น มิวนิค แทน

การสูญเสียกองหน้าตัวหลักของทีมให้กับคู่แข่งตัวฉกาจถือเป็นสถานการณ์ที่แย่มากพออยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้การย้ายตัวครั้งนี้แย่กว่าเดิมหลายเท่าคือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่ได้ค่าตอบแทนกลับคืนมาจากการย้ายทีมครั้งนี้แม้แต่ยูโรเดียว ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงนี้ถือเป็นผลลัพธ์ที่สโมสรต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะดอร์ทมุนด์มีโอกาสขาย เลวานดอฟสกี ให้ บาเยิร์น มิวนิค ตั้งแต่ปีก่อนหน้า แต่พวกเขาก็เลือกจะปฏิเสธโอกาสนั้น

เมื่อเลวานดอฟสกีย้ายออกจากทีมจริงในฤดูกาล 2014-15 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อกองหน้าที่สามารถเข้ามาทดแทนเลวานดอฟสกีได้โดยตรง เมื่อบวกกับประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสโมสรแห่งนี้เกือบล้มละลายมาแล้วหลายครั้ง การควบคุมงบประมาณจึงต้องมาก่อนการซื้อตัวอย่างบ้าคลั่งเพื่อทดแทนผู้เล่นที่เสียไป

 

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการยอมควักเงิน 60 ล้านยูโรเพื่อซื้อนักเตะหลายรายเข้ามาเสริมภาพรวมของทีมให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เควิน คัมเพิล, มัทธีอัส กินเทอร์, อาเดรียน รามอส, ชินจิ คางาวะ, นูริ ซาฮิน รวมถึง ชิโร่ อิมโมบิเล่ กองหน้าตัวเก่งของโตริโน่ที่เข้ามาในฐานะตัวแทนของเลวานดอฟสกีโดยตรง

การกระจายเงินก้อนใหญ่ที่เป็นการคว้าตัวผู้เล่นหลายตำแหน่งของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อาจดูดีบนหน้ากระดาษ แต่ในความเป็นจริงมันคือการวางแผนที่ผิดพลาดอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะสิ่งเดียวที่ทัพเสือเหลืองต้องการคือกองหน้าเกรดเอราคา 60 ล้านยูโรที่จะทดแทนเลวานดอฟสกีได้ทันที แต่เนื่องจากความสำเร็จในอดีตดอร์ทมุนด์จึงยังคงติดอยู่ในภาพลวงตาว่าการสร้างทีมด้วยนักเตะราคาคุ้มค่าจะสามารถพาทีมกลับมาประสบความสำเร็จได้

สิ่งที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้มาเสริมจึงเป็นนักเตะราคาถูกหลายรายที่ไม่สามารถช่วยอะไรทีมได้เลย คัมเพิล และ กินเทอร์ ไม่เคยพิสูจน์ว่าตัวเองดีพอกับ ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค จนถูกขายให้กับทีมระดับต่ำกว่าในบุนเดสลีกา, คางาวะ และ ซาฮิน คือสองนักเตะเก่าที่ถูกซื้อกลับเข้ามาโดยไม่ได้ดูความจริงว่าทั้งสองไม่สามารถร่ายเวทมนตร์ได้เหมือนก่อนอีกแล้ว ขณะที่ รามอส และ อิมโมบิเล่ คือสองกองหน้าที่ยิงรวมกันได้เพียง 5 ประตูในบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2014-15

แค่เพียงเท่านี้ก็คงเห็นได้ชัดแล้วว่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีทีมที่แข็งแกร่งน้อยลงจากหลายฤดูกาลก่อนหน้า เพราะการวางแผนซื้อตัวของพวกเขาผิดพลาดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สถานการณ์ของทัพเสือเหลืองยังแย่ได้มากกว่านี้เมื่อวิกฤตนักเตะบาดเจ็บและแทคติกที่ไม่ได้ผลของคล็อปป์เริ่มออกอาการ พวกเขาจึงต้องร่วงลงไปจมอันดับสุดท้ายของตาราง และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้นอยู่นานหลายเดือน

เผชิญปัญหาวิกฤตนักเตะเจ็บ

ปัญหานักเตะบาดเจ็บของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาล 2014-15 ได้เริ่มเข้ามารุมเร้าทีมตั้งแต่การแข่งขันนัดแรกยังไม่เริ่มขึ้น ไล่ตั้งแต่ มัตส์ ฮุมเมิลส์ กองหลังตัวเก่งที่จะพลาดการแข่งขัน 4 เกมแรกของฤดูกาล, ยาคุบ บลาสซีคอฟสกี ปีกขวาตัวหลักที่เจ็บยาวนานหลายเดือน รวมถึงสองกองกลางตัวหลักอย่าง อิลคาย กุนโดกัน และ นูริ ซาฮิน ที่ไม่สามารถลงสนามช่วงต้นฤดูกาลพร้อมกันทั้งคู่

เพียงเท่านี้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก็ปราศจากกำลังหลักทั้งแดนหน้า แดนกลาง และแดนหลัง แต่สถานการณ์ของพวกเขายังแย่ได้กว่านั้น เพราะหลังจากเตะไปได้เพียงสองนัด มาร์โก รอยส์ ปีกตัวเก่งก็เกิดบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีกคน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บซึ่งทำให้เขาพลาดโอกาสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 กับทีมชาติเยอรมันได้ไม่นาน ขณะที่ เฮนริค มคิทาร์ยาน เพลย์เมกเกอร์ตัวหลักก็ยังมีปัญหาเจ็บออด ๆ แอด ๆ อยู่ตลอด จึงทำให้แนวรุกของทีมขาดความต่อเนื่องเพราะมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นตลอดเวลา

แผงกองกลางของดอร์ทมุนด์ยิ่งเจอปัญหาหนักกว่านั้น เพราะยังไม่ทันที่ ซาฮิน กับ กุนโดกัน จะกลับมา เซบาสเตียน เคห์ล มิดฟิลด์ประสบการณ์สูงที่เข้ามาทดแทนกลับบาดเจ็บเพิ่มไปอีกคน แถมกองกลางตัวรับที่คอยสำรองผู้เล่นตัวอื่นอย่าง โอลิเวอร์ เคิร์ช ก็เจ็บยาวไปเกือบทั้งฤดูกาล จึงทำให้ในบางแมตช์ดอร์ทมุนด์แทบจะไม่มีกองกลางที่ไว้ใจได้ลงสนามเลย

 

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลงานช่วงออกสตาร์ทของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาลดังกล่าวจะย่ำแย่เกินทน เพราะกว่าที่ตัวรุกอย่าง ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง, อิมโมบิเล่, คางาวะ, มคิทาร์ยาน และ รอยส์ จะได้ลงสนามพร้อมกันแบบต่อเนื่องหลายแมตช์ ทัพเสือเหลืองก็ต้องรอถึงแมตช์ที่ 8 ของบุนเดสลีกา ซึ่งขณะนั้นผลงานของทีมก็ย่ำแย่จนร่วงไปอันดับ 12 ของตาราง และยังไม่รวมความจริงที่แผงกองกลางของทีมไม่ได้มีความพร้อมแม้แต่น้อย

ปัญหานักเตะบาดเจ็บของทีมยังโจมตีดอร์ทมุนด์อย่างหนักในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง เพราะถึงแม้จะมีการควักเงินซื้อ เควิน คัมเพิล เข้ามา (ซึ่งกล่าวไปแล้วว่าไม่ได้ทดแทนได้ดีขนาดนั้น) ทีมยังต้องเสีย นูริ ซาฮิน ที่เจ็บยาวอีกรอบ และ สเวน เบนเดอร์ กับ เซบาสเตียน เคห์ล ที่เจ็บพร้อมกัน ทำให้ช่วงเวลานั้นทัพเสือเหลืองแทบจะไม่มีกองกลางตัวรับที่ใช้งานได้เลย

แต่ที่หนักยิ่งกว่าคือตำแหน่งแบ็กขวาที่ในช่วงครึ่งฤดูกาลหลังเจ็บครบหมดทุกคนทั้ง เอริค ดวร์ม, ลูคัส พิสเช็ค และ เควิน โกรสคร็อยทซ์ ส่งผลให้ช่วงเกมที่ 23-26 ดอร์ทมุนด์ไม่มีแบ็กขวาอาชีพลงสนามเลย เพราะฉะนั้นแค่ประคองทีมให้ไม่ตกชั้นตามสถานการณ์ของทีมในเวลานั้นก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากแล้ว

เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าผลงานที่ตกลงไปในฤดูกาลดังกล่าวของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เกิดขึ้นจากความโชคร้ายที่นักเตะในทีมเกิดบาดเจ็บแทบทุกตำแหน่ง แถมยังบาดเจ็บในเวลาเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ทีมปราศจากความต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาล ซึ่งถือเป็นงานหนักของ เยอร์เกน คล็อปป์ ที่ต้องแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อบวกกับความจริงที่ทัพเสือเหลืองใช้งบประมาณไปจนหมดกับการซื้อตัวที่ผิดพลาด จนเสริมนักเตะเข้ามาสู่ทีมได้เพียงคนเดียวในช่วงกลางฤดูกาลจึงทำให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาไปตามเนื้อผ้า ซึ่งบางช่วงพวกเขาก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหวจึงต้องตกไปอยู่อันดับที่ 18 ของตาราง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2014 ถึงเดือนมกราคม ปี 2015

ฮีโร่และวายร้ายที่ชื่อคล็อปป์

แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่สามารถทำผลงานที่ดีได้ในฤดูกาล 2014-15 แต่ความจริงที่ทัพเสือเหลืองต้องหล่นไปอยู่ในโซนตกชั้นนานหลายเดือนย่อมถือเป็นผลงานอันย่ำแย่ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ เยอร์เกน คล็อปป์ กุนซือของทีมในเวลานั้น จนนำมาสู่จุดสิ้นสุดของช่วงเวลาอันยอดเยี่ยมของเขากับดอร์ทมุนด์หลังจบฤดูกาลนี้

คำถามที่ยังอาจคาใจหลายคนคือ "คล็อปป์มีส่วนมากแค่ไหนกับผลงานอันย่ำแย่หนนั้น ?" คำตอบคือ คล็อปป์เป็นทั้งวายร้ายที่ทำให้ดอร์ทมุนด์ต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันคล็อปป์ยังเป็นฮีโร่ของทีม เพราะเขาแทบจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ทัพเสือเหลืองหนีจากโซนตกชั้นและกลับมาจบอันดับ 7 ของตารางพร้อมกับคว้าโควตาไปเล่นฟุตบอลยุโรปได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ความผิดพลาดที่คล็อปป์สร้างไว้ในช่วงต้นฤดูกาลคือ "ยึดมั่นกับแผนงานของตัวเองมากเกินไป" เพราะถ้าอ้างอิงจากสถิติแล้ว ดอร์ทมุนด์มีผลงานที่ยอดเยี่ยมมากในช่วงเปิดฤดูกาล นักเตะในทีมยังคงวิ่งไล่บอล 120 กิโลเมตรต่อเกมและสร้างโอกาสความเป็นไปได้ในการทำประตู หรือ xG เป็นอันดับสองของลีกรองจาก บาเยิร์น มิวนิค เท่านั้น ซึ่งเมื่อมองจากสถิติตัวเลขตรงนี้ก็เห็นได้ชัดว่านักเตะของคล็อปป์ยังคงวิ่งไล่บอลและสร้างโอกาสจบสกอร์ได้มากมายตามที่คล็อปป์คิดไว้ไม่มีผิดเช่นเดียวกับหลายฤดูกาลก่อนหน้านี้

แต่ทำไมทีมที่มีสถิติดีเป็นอันดับ 2 ในหลายด้านและควรจะจบอันดับ 2 ของตารางบุนเดสลีกาถึงหล่นไปอยู่โซนตกชั้น ... นั่นเพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนสนามสวนทางกับสถิติตัวเลขบนหน้าจออย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างความพ่ายแพ้ต่อไมนซ์ 0-2 ในช่วงเดือนกันยายนที่ในเกมนั้น อาเดรียน รามอส พลาดโอกาสทองถึงสามครั้ง ซ้ำร้าย มัทธีอัส กินเทอร์ ยังสกัดบอลเข้าประตูตัวเองอีก ดังนั้นแล้วหากเทียบสกอร์ตาม xG ที่ควรจะเป็น ดอร์ทมุนด์ควรเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในสกอร์ 3-1 แต่ผลลัพธ์จริงกลับเป็นแพ้ 0-2

กรณีตัวอย่างจากเกมกับไมนซ์แสดงให้เห็นว่า ผลงานตามที่คล็อปป์คาดหวังไว้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเนื่องจากนักเตะของพวกเขาไม่มีคุณภาพมากพอ แต่แทนที่จะเปลี่ยนแผนการเล่นให้เข้ากับศักยภาพของนักเตะในเวลานั้น คล็อปป์ยังคงยึดติดกับแผนเดิม ส่งผลให้ดอร์ทมุนด์นอกจากจะทำประตูไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว พวกเขายังเปิดพื้นที่ในแดนหลังมากจนน่าใจหาย นำมาสู่ความพ่ายแพ้แบบไม่น่าให้อภัยหลายนัด ยกตัวอย่างเกมที่แพ้ ชาลเก้ 04 ในเดือนกันยายน 1-2 ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดเดิม ๆ อย่างการยิงเข้าประตูตัวเอง และแนวรับที่ถูกวิจารณ์ว่าเปิดช่องว่างยิ่งกว่าทุ่งหญ้าโล่งบนเนินเขา

หลังจากแพ้ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต 0-2 ในเดือนพฤศจิกายน และเป็นนัดแรกที่ดอร์ทมุนด์หล่นลงไปอยู่อันดับสุดท้ายของตาราง คล็อปป์ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความเชื่อมั่นในแผนการเล่นของเขา ด้วยการบอกว่าตัวเองในปี 2014 เป็นผู้จัดการทีมที่ดีกว่าปี 2012 ที่เขาพาทีมคว้าแชมป์ลีกเสียอีก เพียงแต่ปัญหาคือความเก่งกาจของเขายังไม่แสดงออกบนตารางคะแนนเท่านั้น

คำพูดดังกล่าวของคล็อปป์สะท้อนถึงเรื่องที่ดีและแย่ที่เกิดขึ้นกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาลดังกล่าว โดยเรื่องแย่คือความจริงที่คล็อปป์ยังคงยึดแผนตามที่ตนคิดแม้ฟอร์มของทีมจะตรงกันข้ามจนทีมตกไปอยู่ท้ายตาราง แต่ในเรื่องดีคือเป็นเพราะความดื้อของคล็อปป์ที่ยึดมั่นกับแผนงานของตัวเองที่ทำให้ทัพเสือเหลืองกลับมาคืนชีพอีกครั้ง หลังแผน 4-2-3-1 ที่คล็อปป์เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลสามารถหาจุดลงตัวได้สำเร็จ มันนำไปสู่ผลงานอันยอดเยี่ยมที่แพ้เพียง 3 เกมจาก 15 นัดหลังสุด

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงสามารถเอาตัวรอดและยังเดินไปสู่ฟุตบอลยุโรปได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งที่จมอยู่โวนตกชั้นนานนับเดือนเพราะความเชื่อมั่นในแผนการตัวเองของ เยอร์เกน คล็อปป์ สุดยอดกุนซือแห่ง ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค รายนี้ จึงได้โบกมือลากำแพงสีเหลืองด้วยน้ำตาและรอยยิ้ม เพราะฤดูกาลสุดท้ายของเขากับทีมไม่ได้จบลงด้วยความล้มเหลวเสียทีเดียว และเมื่อพิจารณาถึงวิกฤตต่าง ๆ ที่เข้ามา การจบอันดับ 7 ของตารางอาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่เลวของคล็อปป์

ไม่มีใครรู้ว่าคล็อปป์จะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในลักษณะนี้อีกหรือไม่ แต่เรื่องราวของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาล 2014-15 แสดงให้เห็นแล้วว่า ในวันที่ทุกอย่างผิดพลาดไปหมด กุนซือรายนี้ยังคงประคองทีมให้เอาตัวรอดไปได้ และยืนยันถึงความสามารถของเขาในระดับหนึ่ง แม้ผลลัพธ์จะไม่สวยงามตามที่แฟนบอลคาดหวังก็ตาม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook