เบนนี่ โนนทะนำ : พรสวรรค์ที่ฉายแววกับความมุ่งมั่นตามความฝันเพื่อคุณยาย
ความเป็นลูกครึ่งไทยไลบีเรีย และร่างกายที่สูงใหญ่ ผิวสีเข้ม ดึงดูด "เบนนี่ โนนทะนำ" เข้าสู่โลกแห่งการวิ่งตั้งแต่เริ่มจำความได้ ความโดดเด่นชัดเจนเข้าตาสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ทำให้เธอได้เข้าสู่แคมป์ทีมชาติตั้งแต่อายุ 13 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ของเด็กหญิงจากกาฬสินธุ์ สู่การเป็นฮีโร่ของคนไทยในซีเกมส์ที่ฮานอย ...นี่คือเรื่องราวเส้นทางของ เบนนี่ โนนทะนำ และเป้าหมายในซีเกมส์ ที่ประเทศกัมพูชา
เพชรเม็ดงามของ "แฝดเล็ก พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์"
จำความได้ก็เริ่มวิ่งแล้ว เริ่มตั้งแต่อนุบาล 1 ชีวิตของ เบนนี่ โนนทะนำ ลูกครึ่งไทย ไลบีเรีย เติบโตมาบนสนามลู่ยาง 400 เมตร ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่างกายสูงใหญ่ผิวสีเข้มทำให้เธอโดดเด่น และกลายเป็นนักกีฬาโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล "เริ่มวิ่งตั้งแต่อนุบาล 1 ตอนนั้นวิ่ง 100 200 เมตร จำความได้หนูก็เริ่มวิ่งแล้ว และชอบการวิ่งแล้วด้วย ก็เป็นนักกีฬาโรงเรียนตั้งแต่ตอนนั้นจนจบป.6"
อีกหนึ่งคนที่เคียงข้างเบนนี่เสมอ และคอยสนับสนุนเธอในเส้นทางการวิ่งตั้งแต่เริ่มต้นก็คือคุณยายแท้ๆ ของเบนนี่ ที่คอยสนับสนุนหลานสาวทั้งการไปซ้อมและไปแข่ง ซึ่งการแข่งแรกคือกีฬาสีโรงเรียน เบนนี่ไม่ทำให้คุณยายผิดหวัง คว้าเหรียญทองมาได้ จนได้ผ่านไปแข่งถึงระดับเขต "ตอนนั้นหนูอยู่ ป.2 ได้เป็นตัวแทนแข่งอำเภอก็ชนะ โรงเรียนดีใจมาก ยายก็ดีใจมาก จัดงานเลี้ยงให้ด้วย"
เบนนี่บอกว่า ภูมิใจมาก เพราะได้ทำให้ทุกคนภูมิใจโดยเฉพาะยาย "ยายสนับสนุนตลอด ไปซ้อมด้วย พาไปแข่งด้วย จนยายเสียตอน ป.3 ตอนนั้นหนูเสียกำลังใจไปเลย คิดว่าคนที่คอยสนับสนุนหนูไม่อยู่แล้ว แต่ใจหนูก็ยังฝันอยากติดทีมชาติ อยากให้ยายภูมิใจเลยกลับมาวิ่งต่อ"
พรสวรรค์ที่ฉายแววชัดเจน บวกกับความมุ่งมั่นตามความฝันเพื่อคุณยาย ทำให้เมื่อจบชั้นประถมเบนนี่ถูกชักชวนโดยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองคอนเตรียมราษฎร์บำรุง ให้ย้ายไปเรียนโรงเรียนกีฬาที่จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เบนนี่เริ่มออกจากบ้านตั้งแต่ยังเด็ก
"เข้าไปป.6 ในฐานะนักวิ่ง ตอนนั้นไม่ลังเลเลย เพราะไปอยู่โรงเรียนประจำ ได้ทุนเรียนฟรี กินอยู่ฟรี ตอนนั้นหนูอยู่กับป้า จะช่วยป้าประหยัดค่าใช้จ่าย ป้าก็อยากให้หนูไป"
เมื่อเข้าระบบของโรงเรียนกีฬา การซ้อมก็จริงจังมากขึ้น เบนนี่ย้ายเข้าไปเรียนได้ไม่ถึง 1 ปี ก็ได้แข่งคัดตัวแทนภาคที่อำนาจเจริญ และทำให้เธอได้เข้ามาเก็บตัวที่สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย "ลุงเล็ก (พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย) ขับรถไปรับหนูมาจากอำนาจฯ มาอยู่ที่สมาคม ลุงเล็กบอกป้าว่าจะรับมาดูแลให้เป็นทีมชาติ"
ณ ตอนนั้น เบนนี่อายุได้ 13 ปีเท่านั้น ถือเป็นรุ่นเล็กสุด แต่ในตอนนั้นสมาคมต้องการเด็กลูกครึ่งมาปั้นให้เป็นทีมชาติ เบนนี่จึงได้ออกเดินทางอีกครั้ง
สู้เพื่อฝันของยาย มุ่งสู่ซีเกมส์
จากกาฬสินธุ์ สู่สุรินทร์ มาถึงกรุงเทพฯ เด็กอายุ 13 ปี ต้องอาศัยความแข็งแกร่งในจิตใจมากมาย เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในแบบของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ช่วงแรกเบนนี่รู้สึกเคว้งที่ต้องห่างบ้าน และเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวเข้ากับรุ่นพี่ในสมาคม แต่เธอก็อดทนเพื่อความฝันของยาย "หนูก็ตั้งใจ อยากเป็นอย่างพี่ๆ รู้ว่าตัวเองมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ได้ซ้อมกับโค้ชเก่งๆ หนูก็สู้ต่อ"
หลายปีที่เบนนี่พิสูจน์ตัวเองที่สมาคม ก่อนถึงวันที่ติดทีมชาติ เธอตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าทำไมยังไม่พัฒนาเหมือนกับคนอื่น จนถึงวันที่อายุ 18 ปี มีการแข่งขันซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ เบนนี่ตั้งใจไว้ว่าหากครั้งนี้ไม่ติดทีมชาติ เธอจะเลิกวิ่ง "ใจหนูคิดว่า อยากเลิก แต่ก็คิดว่ามาจนถึงขนาดนี้แล้ว ต้องให้กำลังใจตัวเองใหม่ หนูก็ไปเทสต์ 400 เมตร แล้วติดทีมชาติครั้งแรก"
"คิดถึงยายมาก หนูคิดว่ายายต้องดีใจมากแน่ๆ แต่ตอนนั้นหนูเจ็บก่อนไปแข่งก็เพิ่งหาย ผลออกมาได้แค่ที่ 5 แพ้แต่ก็ตั้งใจว่าจะกลับมาใหม่ เอาใหม่" ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 พอดี ทำให้การแข่งต่างๆ ถูกเลื่อนออกไปนาน 2 ปีเต็ม เบนนี่ยังตั้งใจซ้อมต่อแม้จะยอมรับว่าหมดไฟไปบ้าง
ไม่นานหลังจากนั้นซีเกมส์ที่ฮานอยก็ยืนยันจัดการแข่งขันเมื่อปี 2022 "หนูกลับมามีกำลังใจอีกรอบ อยากซ้อม อยากแข่ง จนได้มีคัดตัวไปซีเกมส์แล้วได้ไป" ณ หมีดิ่ญ สเตเดี้ยม กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เบนนี่ โนนทะนำ ในชุดสีแดง ผมเปียยาว 2 ข้าง ที่หน้าอกด้านซ้ายมีรูปธงไตรรงค์ ลงสนามแข่ง 400 เมตรหญิงเป็นรายการแรก เธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 คว้าเหรียญเงินครั้งแรกในชีวิต
ถัดจากนั้น เบนนี่ได้ลงสนามหมีดิ่ญอีกครั้งในการเป็นผลัดไม้สุดท้ายของ ผลัดผสม 4 คูณ 400 เมตร "ตอนแข่ง 400 เมตรเดี่ยว หนูกดดันมากไป เลยยังวิ่งไม่ดีเท่าไหร่ หนูรู้สึกว่ายังทำได้อีก แต่ตื่นเต้นมากไป พอมาแข่งผลัด มีกติกาใหม่ให้ผู้หญิงต้องเป็นไม้สุดท้าย และมันเป็นหนู ตอนแรกหนูคิดว่าจอช (จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน) จะเป็นไม้สุดท้าย"
ตามปกติแล้ว กลยุทธ์ของการวิ่งผลัด ไม้สุดท้ายมักจะเป็นคนที่วิ่งเร็วที่สุด แต่กติกาใหม่ของซีเกมส์กำหนดให้ไม้สุดท้ายต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ทำให้สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยวางลำดับไม้เป็น ใบพัน ศิริพล รับหน้าที่ไม้แรก ส่งไม้ต่อให้สาวมากประสบการณ์ น่าน ศุภนิช พูลเกิด ต่อด้วย จอชชัว ดาวรุ่งลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย ปิดท้ายด้วย เบนนี่ โนนทะนำ
จากฮานอย สู่พนมเปญ
เสียงของกองเชียร์ดังสนั่นทั้งหมีดิ่ญสเตเดี้ยม เพราะความสูสีในการแข่งรายการนี้ระหว่างเจ้าภาพเวียดนามและทีมชาติไทย จากไม้แรกสู่ไม้สอง ส่งต่อถึงไม้ที่ 3 และไม้สุดท้าย แล้วชัยชนะก็ตกเป็นของทีมชาติไทย
"หนูกดดันมากเพราะเราเป็นไม้ตัดสิน หนูคิดว่าเป็นรองเวียดนาม กลัวแพ้ ก่อนลงสนามคิดเยอะมาก แต่พอแข่งจริงหนูฮึกเหิม คิดว่าทำได้อยู่แล้ว เชื่อมั่นในตัวเอง ตอนรับไม้จากจอชแล้ววิ่งออกไป หนูไม่กดดันเลย เพราะทีมของหนูด้วย หนูมั่นใจในตัวทุกคน และทุกคนก็มั่นใจในตัวเรา"
หลังแข่งจบเบนนี่น้ำตาไหลด้วยความดีใจ และคนที่เธอคิดถึงที่สุดก็คือคุณยาย "คิดว่าในที่สุดก็ทำได้แล้ว คิดถึงยายมาก น้ำตาไหล ไม่อยากเชื่อว่าจะทำได้ ถ้ายายอยู่ยายต้องภูมิใจมาก ตอนกลับไปเมืองไทย มีขบวนแห่ต้อนรับหนูทั้งที่กาฬสินธุ์และสุรินทร์ หนูกลายเป็นฮีโร่ที่ได้กลับบ้าน"
เหรียญในซีเกมส์สำหรับเบนนี่คือความภูมิใจของตัวเธอเอง ผสมกับจิตวิญญาณของคุณยาย และกลายเป็นความภูมิใจของคนกาฬสินธุ์และสุรินทร์ รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ "หนูประทับใจการแข่งที่ฮานอยมากที่สุด เพราะทำตามความฝันของเราได้ เป็นความฝันของยายด้วย หนูดีใจที่ทุกคนภูมิใจ"
ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2023 เบนนี่ โนนทะนำ จะกลับสู่สนามระดับอาเซียนอีกครั้ง เพื่อล้างตาการแข่ง 400 เมตรหญิง และป้องกันแชมป์ผลัด 4 คูณ 400 ผสม กลยุทธ์ของเบนนี่นอกจากการซ้อมหนัก ก็ยังเพิ่มเรื่องการฝึกสมาธิลงไปด้วย "หนูซ้อมหนักขึ้นในปีนี้ เพราะคู่แข่งก็หนักขึ้นเกือบทุกประเทศ เป้าหมายซีเกมส์ครั้งนี้ก็อยากทำสถิติให้ดีขึ้นกว่าเดิมสำหรับ 400 เมตร ต้องมีสมาธิมากขึ้น ก็ฝึกเรื่องนี้มากขึ้น"