9 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเชียร์นักกีฬาไทยในซีเกมส์ 2023
มหกรรมซีเกมส์ 2023 เปิดฉากขึ้นแล้ว โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 32 ซึ่งประเทศกัมพูชารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ แข่งขันระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ในขณะที่ความสนุกเพิ่งเริ่มต้น เราได้รวบรวม 9 เรื่องราวที่จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเชียร์นักกีฬาไทยได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้าง ติดตามไปพร้อมกันได้ที่นี่
เจ้าภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เข้าสู่ปีที่ 64 ของกีฬาซีเกมส์ มหกรรมกีฬาของชาวภูมิภาคอาเซียน นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศกัมพูชาได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ โดยใช้ชื่อว่า “cambodia 2023”
อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้พวกเขามีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้ง ในสมัยที่ยังใช้ชื่อเดิมว่า เซียพเกมส์ ในปี 1963 และ 1967 แต่ทว่าด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว กัมพูชา ตัดสินใจถอนตัวจากการทำหน้าที่ดังกล่าว โดยในปี 1963 นั้นการแข่งขันเป็นอันต้องเว้นว่างไป ส่วนปี 1967 ประเทศไทยรับบทเป็นเจ้าภาพแทน
ชิงชัย 36 กีฬา รวม 583 เหรียญทอง
กัมพูชา จัดให้มีการชิงชัยทั้งหมด 36 ชนิดกีฬา จำนวน 583 เหรียญทอง โดย 2 ชนิดกีฬาบังคับในเทียร์ 1 กรีฑาชิงมากที่สุด 47 เหรียญทอง ตามมาด้วยว่ายน้ำ 39 เหรียญทอง รองลงมาเป็นโววีนั่ม กับ มวยปล้ำ ชิงเท่ากันที่ 30 เหรียญทอง, วูซูชิง 24 เหรียญทอง, คุนโบกาตอร์ 21 เหรียญทอง ฯลฯ
เจ้าภาพได้แบ่งใช้สังเวียนแข่งใช้สำหรับการแข่งขันออกเป็น 5 เมือง 28 สนาม ดังนี้ SIEM REAP ใช้สำหรับแข่ง วิ่งมาราธอน, จักรยานถนน, จักรยานเสือภูเขา และเดิน 20 กม., SIHANOUKVILLE ใช้แข่ง เรือใบ, เจ็ตสกี, วอลเลย์บอลชายหาด, เมือง KAMPOT ใช้แข่ง เรืองยาวมังกร, KEP ใช้ไตรกีฬา ส่วนกีฬาอื่นๆ ที่เหลือจะแข่งขันกันที่กรุงพนมเปญ
ฟุตบอล, คริกเก็ต และหมากรุก เป็น 3 กีฬาที่จะเริ่มแข่งขันวันแรกในวันที่ 29 เมษายน ก่อนที่พิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมและพิธีเปิดวันที่ 17 พฤษภาคม วึ่งทั้งพิธีเปิดและพิธีเปิดจะจัดขึ้น มรดก เตโช เนชั่นแนล สเตเดี้ยม
เจ้าภาพตั้งเป้าคว้าทะลุ 100 เหรียญทอง
มีรายงานว่าเจ้าภาพกัมพูชาตั้งเป้าคว้าเหรียญทองซีเกมส์ในครั้งนี้ไว้ที่ 103 เหรียญทอง 58 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ของพวกเขาเลยทีเดียว เพราะตลอดการแข่งขัน 21 ครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน กัมพูชา คว้าเหรียญทองมาครองได้เพียง 78 เหรียญทองเท่านั้น
หากเจาะลงไปอีกนิดจะพบว่ามีถึง 7 ครั้งที่กัมพูชาไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้เลย และมีแค่ 2 หนเท่านั้นที่พวกเขาคว้าเหรียญทองเกิน 10 เหรียญ ในปี 1965 และ 1967 ที่มาเลเซีย ทั้ง 2 ครั้ง
รายงานยังระบุอีกว่า รัฐบาลกัมพูชา พร้อมอัดฉีดความสำเร็จให้กับนักกีฬาเจ้าภาพอีกด้วย โดย เหรียญทองจะได้ 40 ล้านเรียลกัมพูชา หรือราว 347,000 บาท เหรียญเงิน 30 ล้านเรียลกัมพูชา หรือราว 260,000 บาท เหรียญทองแดงรับ 16 ล้านเรียลกัมพูชา หรือราว 138,000 บาท นอกจากนี้นักกีฬาที่คว้าเหรียญทองยังจะได้รับการบรรจุให้เข้าเป็นข้าราชการประจำอีกด้วย
กีฬาพื้นบ้านความหวังเจ้าทองเจ้าภาพ
ตามกฎแล้วเจ้าภาพจะต้องบรรจุกีฬาให้มีครบทั้ง 3 เทียร์ โดยเทียร์ 1 คือกีฬาบังคับได้แก่ กรีฑาและว่ายน้ำ ส่วนเทียร์ 2 คือกีฬาสากล 24 ชนิดกีฬา และเทียร์ 3 อีก 10 ชนิดกีฬาให้สิทธิ์เจ้าภาพเลือกตามอิสระ ซึ่งจากข้อเทียร์ 3 นี้เองที่เจ้าภาพมักจะบรรจุชนิดกีฬาพื้นบ้านรววมถึงชนิดกีฬาที่ตัวเองถนัดลงไปในโปรแกรมชิงชัย
ไม่เพียงเท่านั้นกีฬาเหล่านี้นี่แหละ ที่มักจะบรรจุให้มีการชิงเหรียญรางวัลมากกว่าชาวบ้าน ตัวอย่างเช่นซีเกมส์ครั้งนี้ โววีนัม ชิง 30 เหรียญทอง, ขุน โบกาตอ (มวยเขมร) 21 เหรียญทอง, ปันจักสีลัต 22 เหรียญทอง, ว่ายน้ำตีนกบ 22 เหรียญทอง หมากรุกเขมร 6 เหรียญทอง เป็นต้น
ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ครองเจ้าเหรียญทองใน 2 ครั้งหลังสุด ชนิดที่ทิ้งอันดับ 2 แบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว ส่วนครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามีโอกาสได้เห็นเจ้าภาพกัมพูชาคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดเท่าที่พวกเคยเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์
โหมโรงทางอ้อม
ก่อนที่ ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 จะเปิดฉากขึ้นมีเรื่องราวมากมายให้พูดถึงตั้งแต่ก่อนแข่ง ทั้งเรื่องของผู้ตัดสินที่มีรายงานเจ้าภาพงบไม่พอในการจ้างกรรมการจากชาติอื่นๆ ทำให้จะใช้บุคลากรของชาติตัวเองทำหน้าที่ตัดสิน แต่ปัญหาคือบางชนิดกีฬาพวกเขาไม่มีแม้กระทั่งทีมที่จะส่งแข่งด้วยซ้ำ หรืออย่างเช่นการปรับเปลี่ยนกฎกติการวมถึงตั้งข้อจำกัดในบางชนิดกีฬา เช่นแบดมินตันที่เพิ่มอีเว้นท์ประเภททีมผสม แต่ไม่ให้ชาติยักษ์ใหญ่ในกีฬาลูกขนไก่อย่าง ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ลงแข่ง หรือตะกร้อที่มีการจำกัดอีเว้นท์ลงแข่งของแต่ละชาติ การตัดมวยไทยออกแล้วปรับมาใช้มวยกุนแขมร์จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต รวมไปถึงเรื่องของความพร้อมต่างๆ ทั้งที่พักนักกีฬาที่ยังต้องลุ้นว่าจะเสร็จทันการแข่งขันหรือไม่
ทัพไทยตั้งเป้าคว้า 112 เหรียญทอง
ทีมชาติไทยส่งแข่งซีเกมส์ครั้งนี้ทั้งสิ้น 38 สมาคมกีฬา แต่ละสมาคมฯ ก็ตั้งเป้าหมายแตกต่างกันไป ซึ่งพอนำมารวมกันแล้ว หนนี้ทัพนักกีฬาไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 112 เหรียญทองด้วยกัน แบ่งออกเป็นดังนี้
12 เหรียญทอง ประกอบด้วย กรีฑา
7 เหรียญทอง ประกอบด้วย คิกบ็อคซิ่ง, เซปักตะกร้อ
5 เหรียญทอง ประกอบด้วย เทควันโด, มวยสากล, หมากรุกสากล, ว่ายน้ำ
4 เหรียญทอง ประกอบด้วย กอล์ฟ, เจ็ตสกี, เปตอง
3 เหรียญทอง ประกอบด้วย ยูโด, ยูยิตสู, โววีนัม, เรือยาวมังกร, เรือใบ
2 เหรียญทอง ประกอบด้วย จักรยาน, บาสเกตบอล, ปันจักสีลัต, ฟุตบอล, ฮอกกี้, ฟลอร์บอล, ฟินสวิมมิ่ง, วอลเลย์บอล, สนุกเกอร์, อีสปอร์ต, เทเบิลเทนนิส, เทนนิส, ซอฟท์เทนนิส, แบดมินตัน, ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก
1 เหรียญทอง ประกอบด้วย คริกเก็ต, วูซู, วินด์เซิร์ฟ, ยิมนาสติก, ไตรกีฬา, คาราเต้, มวยปล้ำ
โดย เบรกกิ้ง หรือแดนซ์สปอร์ต เป็นเพียงกีฬาเดียวที่ไม่หวังถึงเหรียญทอง วางเป้าไว้แค่ 1 เหรียญเงิน ขณะที่กีฬาสาธิตอย่าง เทคบอล หวังคว้า 3 เหรียญทอง แต่เนื่องจากเป็นกีฬาสาธิตจะไม่ถูกนับเหรียญรางวัล
ขณะที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนวงการกีฬาไทยได้คาดการณ์ไว้ว่าทัพนักกีฬาไทยจะทำผลงานได้ 164 เหรียญทองด้วยกัน ซึ่งถ้าสามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ที่ทัพนักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองได้มากกว่า 100 เหรียญ โดยหนสุดท้ายทำได้ในซีเกมส์ที่ เมียนมา ปี 2013 (107 เหรียญทอง)
ทีมชาติไทยครองเจ้าเหรียญทองครั้งสุดท้าย 8 ปีก่อน
ซีเกมส์ 31 ครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยครองเจ้าเหรียญทองได้ทั้งหมด 13 สมัย มากที่สุดในบรรดา 11 ชาติ นับตั้งแต่เริ่มแข่งขันกันในปี 1959 อย่างไรก็หนสุดท้ายที่ทีมชาติไทยจบด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทอง ต้องย้อนกลับไปใน ซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ หรือก็คือไทยห่างจากการครองบัลลังก์อาเซียนมานานถึง 8 ปี ส่วนซีเกมส์ 3 ครั้งล่าสุดนั้นปรากฎว่าที่ กัวลาลัมเปอร์ 2017 , มะนิลา 2019 และฮานอย 2021 เจ้าเหรียญทองตกเป็นของชาติเจ้าภาพทั้งหมด เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนั้นก็คือการที่ชาติเจ้าภาพบรรจุกีฬาพื้นบ้านลงในโปรแกรมชิงเหรียญเพิ่มมากขึ้น
“เทนนิส-บิว” นำทัพซุปตาร์ไทยล่าทองซีเกมส์
น่าเสียดายไม่น้อยที่ซีเกมส์หนนี้ เราไม่ได้ยลฝีมือนักแบดมินตันไทยชุดใหญ่ ทั้ง วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์, “เมย์” รัชนก อินทนนท์, “ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์, “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์, "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เนื่องจากโปรแกรมนั้นกระชั้นชิดกับศึกทีมผสมชิงแชมป์โลก รวมไปถึงกีฬายกน้ำหนักที่คาดว่าจะส่งจอมพลังชุดใหญ่ไปลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งเป็นรายการสำคัญคัดเลือกไปโอลิมปิก 2024
แต่ข่าวดีของทัพนักกีฬาในซีเกมส์หนนี้ยังคงเต็มไปด้วยดาวดังที่พร้อมจะป้องกันแชมป์ “เทนนิส” ภาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะแชมป์โอลิมปิก 2020 นำทัพไทยล่าความสำเร็จอีกครั้ง นอกจากนี้ในส่วนของกรีฑา “เทพบิว” ภูริผล บุญสอน ยอดนักวิ่งดาวรุ่งที่แจ้งเกิดจากซีเกมส์หนที่แล้ว ก็พร้อมลงป้องกันแชมป์ 3 เหรียญทองให้ทัพกรีฑาไทยหนนี้ เช่นเดียวกับ คีริน ตันติเวทย์ ที่ฟิตพร้อมลงชิงทองอีกครั้งหลังจากปีที่แล้วมีปัญหาอาการบาดเจ็บที่สะโพกจึงต้องถอนตัวไป ส่วน จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน ก็พร้อมป้องกัน 4 เหรียญทองของตัวเอง
ขณะที่เทเบิลเทนนิสไทยจัดชุดใหญ่ “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร กับ “ทิพย์” อรวรรณ พาระนัง และไบร์ท” ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล 3 กำลังหลักพร้อมพาทีมครองเจ้าเหรียญทองอีกครั้ง
เช่นเดียวกับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่ขนดาวดังมาเต็มสูบ นำทีมโดย อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ทัดดาว นึกแจ้ง, หัตถยา บำรุงสุข, พรพรรณ เกิดปราชญ์