จับตาอนาคตลูกหนังไทย หลัง"บังยี"ร่วงเก้าอี้บอร์ดฟีฟ่า!
สะท้านวงการฟุตบอลเมืองไทย เมื่อ "บังยี" วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตกเก้าอี้ คณะกรรมการบริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) หลังจากทำหน้าที่มานานเกือบ 18 ปี
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 26 สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) หรือ "26th AFC Ordinary Congress 2015" ที่กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 วาระสำคัญคือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" ในสัดส่วนโควต้าทวีปเอเชีย เพื่อเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร 15 ตำแหน่งจากตำแหน่งในฟีฟ่าทั้งหมด 24 ที่นั่ง
การเลือกตั้งตัวแทนโซนเอเชียมีผู้ลงชิงชัย 7 คน ประกอบด้วย 1.วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ 2.เต็งกู อับดุลลาห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) และนายกสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย 3.ชุง มง กยู นายกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ และประธานบริษัท ฮุนได 4.โคโสะ ทาชิมา รองนายกสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น 5.ซาอุด อัล โมฮันนาดี อุปนายกสมาคมฟุตบอลกาตาร์ 6.ไซอิด คาลิค ฮาเหม็ด ฮามุด อัล บูไซดี นายกสมาคมฟุตบอลโอมาน 7.ชีคอาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ชาวคูเวต
ผลปรากฏว่า วาระ 2 ปี 1 ตำแหน่ง ปรากฏว่าทั้งหมดขอถอนตัว ทำให้ ชีคอาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ได้รับตำแหน่งดังกล่าวไปโดยปริยาย ขณะที่วาระ 4 ปี 2 ตำแหน่ง เหลือการชิงชัย 6 คน
ผลการโหวตปรากฏว่า "บังยี" ได้รับคะแนนโหวตเพียง 13 เสียง น้อยกว่า โคโสะ ทาชิมา จากญี่ปุ่น ที่ได้ 36 เสียง และเต็งกู อับดุลลาห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ จากมาเลเซีย ที่ได้ 25 เสียง ทำให้ "บังยี" ไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากทวีปเอเชียนั่งเก้าอี้บอร์ดบริหารฟีฟ่าอีกต่อไป
สรุปตัวแทนเอเชียที่ได้นั่งบอร์ดบริหารฟีฟ่าประกอบด้วย ชีคอาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) โคโสะ ทาชิมา รองนายกสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น และเต็งกู อับดุลลาห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) และนายกสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย
การหลุดจากเก้าอี้บอร์ดบริหาร "ฟีฟ่า" ของ "บังยี" ส่งผลให้ "บังยี" หลุดจากตำแหน่งประธานผู้ตัดสินของเอเอฟซีโดยอัตโนมัติอีกด้วย...!!!
ทันทีที่พลาดท่าตกเก้าอี้บอร์ดลูกหนังโลกวรวีร์ มะกูดี บอกว่า ผิดหวังกับผลการโหวตที่ออกมา ต้องยอมรับว่าครั้งนี้การแข่งขันสูงจริงๆ คู่ต่อสู้ทำทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้ชนะให้ได้ ซึ่งบรรยากาศเข้มข้นตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งกันแล้ว และเมื่อผลออกมาอย่างนี้ ตนก็ยอมรับ แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงอนาคตของวงการลูกหนังอาเซียน โดยเฉพาะสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ซึ่งดูแล้วไม่มีความเป็นเอกภาพ เพราะขนาดมติในที่ประชุมเอเอฟเอฟ ก่อนหน้านี้ออกมาอย่างชัดเจนว่ามีทิศทางอย่างไร แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น
"ผู้พันหลอ" พ.อ.(พิเศษ) วรวุฒิ ทองศรีงาม พ่อบ้านสมาคมลูกหนังไทย แสดงทรรศนะว่า การหลุดตำแหน่งบอร์ดฟีฟ่าของวรวีร์ มะกูดี ไม่ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลเมืองไทย เพราะการหลุดตำแหน่งครั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะหลุดแบบถาวร แต่ยังมีโอกาสกลับไปสู่ตำแหน่งบอร์ดฟีฟ่าอีกครั้ง
"บิ๊กเปี๊ยก" องอาจ ก่อสินค้า อดีตพ่อบ้านสมาคมฟุตบอลฯ และประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด มองว่า ช่วงแรกอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนักแต่อนาคตแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียกร้องเรื่องของโควต้าต่างๆ เช่น การจัดการแข่งขันระดับชาติในรอบคัดเลือกเพื่อให้ไทยได้เปรียบในการพิจารณาคัดเลือก หรือแม้กระทั่งทัวร์นาเมนต์สำคัญต่างๆ ที่จะมาจัดในภูมิภาคอาเซียน อาทิ รายการเอเชี่ยนคัพ ขณะที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การพัฒนาเรื่องของฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียนเพราะเกิดความไม่ไว้วางใจกันในหมู่ชาติสมาชิก เพราะผลโหวตของ วรวีร์ มะกูดี ได้เพียงแค่ 13 เสียงทั้งที่ก่อนหน้านี้ในการประชุมเอเอฟเอฟต้องการให้ 2 ตัวแทนจากอาเซียนยึดตำแหน่งบอร์ดฟีฟ่าให้ได้ แต่สุดท้ายมาเลเซียที่เป็นประธานได้นั่งบอร์ดฟีฟ่าคนเดียว
"บังยี" วรวีร์ มะกูดี ปัจจุบันอายุ 63 ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และเริ่มสนใจเล่นฟุตบอลตั้งแต่เป็นนักเรียน ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ทีมของโรงเรียน รวมถึงผ่านการคัดเลือกเป็นนักฟุตบอลของสโมสรมุสลิม ตั้งแต่ชุดเยาวชนจนถึงชุดใหญ่ และลงแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ง และ ค ตามลำดับ ต่อมาย้ายสังกัดไปยังสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ และได้เลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งในฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ข และ ก ตามลำดับ จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติคูเวต โดยทุนของรัฐบาลคูเวต และได้รับคัดเลือกเข้าร่วมทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัย จนกระทั่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จึงเลิกเล่นฟุตบอล
วรวีร์ มะกูดี เข้าสู่วงการฟุตบอลด้วยการตั้งสโมสรฟุตบอลโรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2532 และสโมสรฟุตบอลโรงเรียนศาสนวิทยา ปี พ.ศ.2535 ต่อมาในสมัยที่ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีการติดต่อทาบทาม "บังยี" เข้ามาเป็นรองเลขาธิการสมาคมเป็นตำแหน่งแรก เพื่อช่วยเหลืองานกับวิจิตร เกตุแก้ว เลขาธิการสมาคม หลังจาก พล.ต.ท.ชลอพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคมเมื่อปี พ.ศ.2538 วิจิตร เกตุแก้ว ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน พร้อมกับ "บังยี" ก็เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการสมาคม โดยอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่วิจิตรจะลาออกเมื่อปี พ.ศ.2550 ก่อนที่สภากรรมการสมาคมฟุตบอลฯ ลงมติเลือก "บังยี" ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเป็นคนที่ 15 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการดำรงตำแหน่งระดับนานาชาตินั้น "บังยี" เป็นบอร์ดบริหารของฟีฟ่า รวมถึงกรรมการบริหารเอเอฟซี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เรื่อยมากระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2556 "บังยี" ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานเอเอฟซี แต่พ่ายแพ้ให้กับ ชีคซัลมาน บิน เอบราฮิม อัล คาลิฟา นายกสมาคมลูกหนังบาห์เรน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ชีคอาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ)
นั่นเป็นที่มาที่ไปในเส้นทางผู้บริหารลูกหนังโลกที่ว่ากันว่า หาก "บังยี" ไม่หาญกล้าท้าชิงตำแหน่งประธานเอเอฟซี เมื่อ 2 ปีก่อนก็ยังน่าจะรักษาเก้าอี้ "บอร์ดฟีฟ่า" ต่อไปอีกสมัย แต่ "บังยี" เลือกเส้นทางที่พร้อมจะเสี่ยงแม้รู้ทั้งรู้ว่าอาจโดน "เช็กบิล" ตามผลที่ออกมาเวลานี้ก็ตาม
การที่ "บังยี" ตกเก้าอี้ฟีฟ่า แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อวงการฟุตบอลไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้โดยเด็ดขาด เพราะมันหมายความว่าไม่มีตัวแทนคนไทยเข้าไปร่วมบริหารงานในองค์กรใหญ่ระดับ "ฟีฟ่า"
ในมุมหนึ่งแฟนบอลไทยที่ไม่พอใจการบริหารงานของ "บังยี" ออกอาการเนื้อเต้นสะใจที่เห็นความพ่ายแพ้ของ วรวีร์ มะกูดี แต่หารู้ไม่ว่า หายนะกำลังคืบคลานเข้ามาสู่กีฬาฟุตบอลของไทย...
หายนะที่ว่า เป็นหายนะเงียบอันเป็นผลพวงจากอำนาจการต่อรองต่างๆ ระดับเพาเวอร์ของคนไทยในสายตากลุ่มผู้บริหารระดับใหญ่ของฟีฟ่าถูกมองข้าม อนาคตแฟนบอลไทยอาจจะไม่ได้เห็นฟุตบอลดีๆ เกรดเอบินมาเตะที่เมืองไทยกับทีมชาติไทยอีกต่อไป การสนับสนุนด้านการพัฒนาต่างๆ จากฟีฟ่า ทั้งสถานที่ฝึกซ้อม, โค้ช, ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จะยากลำบากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว นี่ยังไม่รวมการเสนอตัวขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอล, ฟุตซอลรายการระดับเอเชีย และระดับโลกที่คงจะยากขึ้นสำหรับประเทศไทยอีก
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนวิเคราะห์กันว่าการที่ วรวีร์ มะกูดี ไม่มีตำแหน่งในบอร์ดบริหารฟีฟ่าอีกต่อไปน่าจะยังมีข้อดีต่อวงการฟุตบอลไทยอยู่บ้าง ตามการอ้างที่ว่า บังยีจะได้มีเวลามาทุ่มเทบริหารงานในตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แบบเต็มตัว แบบเต็มเวลา
และนี่จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือการบริหารงานวงการฟุตบอลของ วรวีร์ มะกูดี ได้เป็นอย่างดี...
หลังจากนี้ต้องติดตามอนาคตวงการลูกหนังเมืองไทยกันแบบห้ามกะพริบตา
นี่จะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถการเป็นนักบริหารของอดีตฟีฟ่า วรวีร์ มะกูดี ได้เป็นอย่างดี