ประวัติ เอเชียน เกมส์

ประวัติ เอเชียน เกมส์

ประวัติ เอเชียน เกมส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เอเชียน เกมส์" คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่, เก่าแก่ และทรงคุณค่าที่สุดของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) นับย้อนไปจนถึงการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในปี 1951 หรือ 72 ปีที่แล้ว โดยจัดการแข่งขันขึ้นทุกๆ 4 ปี เหมือนกับ โอลิมปิก เกมส์ มี 45 ชาติสมาชิกเข้าร่วม

เอเชียน เกมส์ จัดการแข่งขันครั้งแรกหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก เนรู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียที่ต้องการใช้กีฬาสานสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างชาติในเอเชียที่มีความขัดแย้งในช่วงสงคราม ซึ่งมีทั้งหมด 11 ชาติตอบรับเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่นั้น เอเชียน เกมส์ ก็กลายเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมมิตรภาพผ่านกีฬาและส่งเสริมสันติภาพของโลกด้วยการเน้นย้ำถึงความหลากหลาย

PHOTO CREDIT : AFP

นับตั้งแต่ นิวเดลี 1951 ถึงครั้งล่าสุดคือ จาการ์ตา-ปาเลมบัง ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2018 เอเชียน เกมส์ จัดการแข่งขันมาแล้วทั้งหมด 18 สมัย มี 9 ชาติที่ได้จัดการแข่งขัน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมากที่สุด 4 สมัย ตามด้วยเกาหลีใต้ 3 สมัย ซึ่งจีนและญี่ปุ่นกำลังจะเทียบเท่าจาก หางโจว 2022 และ ไอจิ-นาโงยะ ปี 2026

ถึงแม้ว่าชนิดกีฬาที่แข่งขันใน เอเชียน เกมส์ เป็นไปตามโปรแกรมโอลิมปิกซึ่งยึดกรีฑาและว่ายน้ำเป็นหลัก แต่มหกรรมกีฬาแห่งเอเชียมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง เมื่อมีการจัดแข่งขันชนิดกีฬาที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของทวีป อาทิเช่น เซปักตะกร้อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กาบัดดี้ของเอเชียใต้ และวูซูของเอเชียตะวันออก

 ตลอดการแข่งขันเอเชียน เกมส์ 18 สมัย มีเพียง 2 ชาติที่เคยครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง เริ่มจาก ญี่ปุ่น 8 สมัยตั้งแต่ปี 1951-1978 ก่อนจะเป็น จีน ที่ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองมาตลอด 10 ครั้งหลังสุด

PHOTO CREDIT : ADEK BERRY / AFP

สำหรับประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน เอเชียน เกมส์ มาตั้งแต่สมัยแรก และเป็นเจ้าภาพ 4 ครั้งในปี 1966, 1970, 1978 และ 1998 ทำผลงานรวมทั้งหมดได้ 132 เหรียญทอง 175 เหรียญเงิน และ 279 เหรียญทองแดง เป็นอันดับ 7 ในตาราง

ส่วนครั้งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือปี 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพคว้าได้ 24 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน 40 เหรียญทองแดง อยู่อันดับ 4 ของตารางเหรียญรวม กีฬาที่คว้าเหรียญทองมากที่สุดคือเซปักตะกร้อ 26 เหรียญทอง และกีฬาที่คว้าเหรียญรวมมากที่สุดคือยิงปืน 78 เหรียญ

ส่วนการแข่งขันหนล่าสุดที่จาการ์ตา-ปาเลมบัง จีน ครองเจ้าเหรียญทองจาก 132 เหรียญทอง 92 เหรียญเงิน และ 66 เหรียญทองแดง ขณะที่ไทยทำได้ 11 เหรียญทอง 16 เหรียญเงิน และ 46 เหรียญทองแดง เป็นอันดับที่ 11 ของตาราง

มาสคอต เอเชียน เกมส์ หางโจว 2022

ในมหกรรมกีฬาทุกรายการ หนึ่งในสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นภาพจำของการแข่งขันคือมาสคอต หรือในภาษาไทยที่เรียกว่าสัตว์นำโชค แม้ระยะหลังขอบเขตของคำนิยามนี้จะข้ามเส้นคำว่าสัตว์ไปไกลแล้วก็ตาม และใน เอเชียน เกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว ก็ใช้มาสคอตเป็นหุ่นยนต์กีฬาสามตัวที่เรียกรวมกันว่า “สมาร์ททริปเล็ทส์” (Smart Triplets) สะท้อนถึงความความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ตของเมืองหางโจว และมณฑลเจ้อเจียงแล้วรายละเอียดของมาสคอตแต่ละตัวมีอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

คองคอง (Congcong)

มาสคอตตัวนี้ใช้สีเหลืองซึ่งเป็นสีของดินและความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นโทนสีหลัก เป็นตัวแทนของซากเมืองโบราณเหลียงจู่ ชื่อของมันมาจากจี้หยก “คอง” (Cong) ที่มีลวดลายแกะสลักอย่างปราณีตเปล่งประกายเสน่ห์อันเป็นนิรันดร์ ซึ่งถูกขุดพบในซากปรักหักพังของเมืองโบราณเหลียงจู่มีอายุเก่าแก่นับย้อนไปได้ถึง 5,000 ปี

ส่วนลวดลายใบหน้าสัตว์ในตำนานบนศีรษะบ่งบอกถึงความกล้าหาญที่ไม่ย่อท้อ และการเอาชนะตัวเอง โดยคองคองมีบุคลิกมุ่งมั่น จริงใจ ใจดี มีน้ำใจนักกีฬา สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งความกล้าได้กล้าเสียไม่ย่อท้อ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีความพยายามแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น

 เหลียนเหลียน (Lianlian)

หุ่นยนต์สีเขียว สัญลักษณ์ของชีวิต และธรรมชาติ ตัวแทนของทะเลสาบฝั่งตะวันตก โดยชื่อ "เหลียนเหลียน" มีความหมายถึงทะเลสาบที่เต็มไปด้วยใบบัวที่เขียวชอุ่ม ซึ่งใบบัวเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ ความสง่างาม และความสงบสุขตามความเชื่อของชาวจีน

เหลียนเหลียน มีบุคลิกบริสุทธิ์ ใจดี มีชีวิตชีวา น่ารัก สง่างาม และมีอัธยาศัยดี สะท้อนถึงจิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อน สง่างาม มีความสามัคคีและเปิดกว้าง สื่อถึงแรงบันดาลใจในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ ส่วนเครื่องประดับศีรษะรูปใบบัวได้รับการตกแต่งด้วยสระน้ำสามสระสะท้อนดวงจันทร์ ทิวทัศน์อันงดงามของทะเลสาบตะวันตก และสัญลักษณ์อินเตอร์เน็ต

เฉินเฉิน (Chenchen)

ตัวแทนของ "ต้าอวิ้นเหอ" คลองขุดยาวที่สุดในโลกซึ่งเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองหางโจว ชื่อของมันมาจากชื่อสะพาน "กงเฉิน" สัญลักษณ์สำคัญของคลองขุดฝั่งเมืองหางโจวที่มีอายุกว่า 400 ปี โดยมีสีฟ้าซึ่งแสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เฉินเฉินซึ่งมีบุคลิกกล้าหาญ, เฉลียวฉลาด มองโลกในแง่ดีกล้าได้กล้าเสีย เป็นสัญลักษณ์ของความครอบคลุมยุคสมัยปัจจุบันที่เชื่อมโยงเอเชียกับทั่วโลก ส่วนภาพลักษณ์เป็นการรวมตัวกันของคลองใหญ่ปักกิ่ง-หางโจว, แม่น้ำเฉียนถัง และโลกนอกทะเลเข้าด้วยกัน โดยมีกระแสน้ำของแม่น้ำเฉียนถังอยู่บนศีรษะและสะพานกงเฉินบนหน้าผาก เหลือเพียงที่ว่างสำหรับจินตนาการไม่รู้จบ

ทั้งนี้ จางเหวิน และ หยางหงยี่ อาจารย์จากสถาบันศิลปะจีน (China Academy of Art) คือผู้ออกแบบมาสคอตทั้ง 3 ตัว และได้รับเลือกจากตัวอย่างการออกแบบที่ส่งเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,633 ชิ้น

กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 จะจัดขึ้น ณ เมืองหางโจว ระหว่างวันที่ 10 – 25 กันยายน 2565 และจะเป็นการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่สามที่จัดขึ้นในประเทศจีน หลังจากที่เคยจัดมาแล้วสองครั้ง คือที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 และที่เมืองกวางโจว เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยจะมีคณะกรรมการโอลิมปิกจาก 45 ชาติ เข้าร่วมการแข่งขันใน 42 ชนิดกีฬา

สนามแข่ง หางโจว 2022 ความสวยงามพร้อมเทคโนโลยี

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของมหกรรมกีฬาคือสนามแข่งขัน และในหางโจวเกมส์ จีนเจ้าภาพจัดเต็มกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แล้วข้อมูลเบื้องต้นมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ที่นี่

56 สนาม 37 ชนิดกีฬา

เพื่อให้สมศักดิ์ศรีในฐานะพี่ใหญ่ของเอเชีย จีนประกาศสร้างสนามใหม่ 14 แห่ง บวกกับบูรณะปรับปรุงของเดิมอีกกว่า 44 แห่ง เพื่อรองรับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ โดยกระจายอยู่ในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง และพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง เฉาชิ่ง, หนิงป๋อ, จินหัว, เหวินโจว และเต๋อชิง ซึ่งอยู่ภายใต้แกนของการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทันสมัย ไม่ฟุ่มเฟือย และมีเอกลักษณ์ของทวีปเอเชีย

ทั้ง 56 สนาม ใช้จัดการแข่งขัน 61 ประเภทจาก 37 ชนิดกีฬา โดยศูนย์กีฬาปีนผาหยางชานในเฉาชิ่ง คือสนามที่ก่อสร้างเสร็จเป็นแห่งสุดท้ายในเดือนมีนาคมปี 2022 และทุกสนามผ่านมาตรฐานรวมถึงมีการทดลองจัดการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ศูนย์ฝึกซ้อมทั้ง 31 แห่ง และหมู่บ้านนักกีฬาอีก 5 แห่งต่างพร้อมใช้งานทั้งเอเชียน เกมส์ และเอเชียน พาราเกมส์ เช่นกัน

"ดอกบัวยักษ์" สนามหลัก หางโจว เกมส์

เมื่อพูดถึงสนามแข่ง ความสำคัญและสนามที่มีบทบาทมากที่สุดคือสนามหลักของการแข่งขัน และในเอเชียนเกมส์หนนี้คือ หางโจว โอลิมปิก สปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ สเตเดียม หรือที่มีชื่อเล่นว่า "ดอกบัวยักษ์" ความจุ 80,000 ที่นั่ง ซึ่งสนามแห่งนี้จะใช้ในพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน รวมทั้งจัดแข่งกรีฑาและฟุตบอลชายนัดชิงชนะเลิศ

สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบสนามแห่งนี้มาจากเนื้อผ้าและวิธีการทอผ้าไหมโบราณ ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสะท้อนภาพเกลียวคลื่นอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำเฉียนถัง ส่วนหลังคาของสนามประกอบไปด้วยโครงสร้างแบบกลีบดอกไม้ใหญ่-เล็กรวมกว่า 55 กลีบ อันมีที่มาจากบัวพื้นเมืองของทะเลสาบตะวันตกหนึ่งในทิวทัศน์ที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองหางโจว

credit : hangzhou2022.cn

จัดเต็มทั้งดีไซน์และเทคโนโลยี

ในฐานะเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมไปกับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ทำให้สนามแข่งขันที่สร้างขึ้นใหม่มีทั้งความสวยงามแบบสมัยใหม่ ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขัดต่อภาพลักษณ์ของความเป็นเมืองอนุรักษ์ อย่างเช่นสนามดอกบัวยักษ์ที่เป็นภาพสะท้อนเมืองหางโจวได้อย่างครอบคลุม โดยใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบน้อยกว่าสนามรังนกที่กรุงปักกิ่งถึง 67 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่สนาม หางโจว อีสปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ ก็มีการออกแบบให้เหมือนยานอวกาศโดยใช้แนวคิด "กระแสน้ำวนแห่งดวงดาว" เข้ากับชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขันซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่พลาดที่จะสร้างบรรยากาศในสนามแข่งอย่างเต็มรูปแบบด้วยระบบภาพและเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศา

credit : hangzhou2022.cn

อีกสนามที่มีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ไม่แพ้กันคือ เฉียนถัง โรลเลอร์ สปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ ที่ใช้แข่งโรลเลอร์สเก็ต และสเก็ตบอร์ด ซึ่งเมื่อมองลงมาจากด้านบนจะดูเหมือนรูปทรงของเลข 6 สองตัวเชื่อมกันหรือรูปลูกข่างหมุนคล้ายเกลียวลมที่เป็นเอกลักษณ์ของกีฬาโรลเลอร์สเก็ตนั่นเอง

คบเพลิงและเหรียญรางวัล องค์ประกอบหลักและเอกลักษณ์ของหางโจว 2022

การแข่งขันมหกรรมกีฬาในระดับต่างๆ นั้นกิมมิคหรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาก็คือคบเพลิงที่จะใช้จุดไฟอันเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของการแข่งขันและเหรียญรางวัลที่นักกีฬาจะได้รับเมื่อเป็นผู้ชนะ สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2023 นี้ เจ้าภาพได้ทำการเปิดตัวคบเพลิง “ซิน หั่ว” กับเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” สู่สายตาชาวเอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้วและก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม ซึ่งต้องยอมรับเลยครับว่าผู้ออกแบบนั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างงดงามและมีความหมายสมกับการรอคอย

 บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับคบเพลิงและเหรียญรางวัลของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 หรือหางโจวเกมส์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกันครับ

 

“เปลวไฟนิรันดร์” คบเพลิงประจำหางโจวเกมส์

คณะกรรมการจัดการแข่งขันหางโจวเกมส์ได้เปิดตัวคบเพลิงที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Eternal Flame” หรือก็คือ “เปลวไฟนิรันดร์” โดยการออกแบบนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรม “เหลียงจู่” ที่มีจุดกำเนิดเมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ทางเจ้าภาพเน้นให้ตัวคบเพลิงมีความสง่างามและแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งตามแบบฉบับของชาวจีน ตัวฐานของคบเพลิงจะมีลักษณะเป็นลายนูนโดยมีเส้นสายทั้งหมด 8 เส้นเพื่อสื่อถึงแม่น้ำสายหลักทั้ง 8 สายในมณฑลเจ้อเจียง ที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมจีนโบราณ

ส่วนหัวของคบเพลิงจะมีลักษณะเป็นแบบ “หยกฉง” ซึ่งเป็นหยกที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน โดยการเลือกใช้หยกฉงที่หัวคบเพลิงนั้นผู้ออกแบบต้องการให้มีการเข้ากันกับชื่อ “เปลวไฟนิรันดร์” ที่สื่อถึงการส่งต่ออารยธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่นจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและจะต่อเนื่องไปยังโลกอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งคบเพลิงนี้มีความสูงอยู่ที่ 730 มิลลิเมตร และน้ำหนักสุทธิ 1,200 กรัม

สำหรับคบเพลิง “เปลวไฟนิรันดร์” ได้ถูกจุดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ณ สวนต้าโม้เจี่ยวซาน ซากเมืองโบราณเหลียงจู่ ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือว่าเป็นการนับถอยหลัง 100 วันก่อนที่พิธีเปิดหางโจวเกมส์ 2022 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ สำหรับสาเหตุที่ฝ่ายจัดการแข่งขันเลือกสวนต้าโม้เจี่ยวซาน ซากเมืองโบราณเหลียงจู่ เป็นที่จุดไฟคบเพลิงนั้นก็เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังนั้นไฟคบเพลิงที่เริ่มจุด ณ สถานที่แห่งนี้ก็เปรียบเสมือนแสงสว่างที่นำพาอารยธรรมเหลียงจู่ข้ามผ่านกาลเวลามาสู่ปัจจุบันและต่อเนื่องไปยังอนาคต

เหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” ที่ระลึกแห่งชัยชนะ

เหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ จาง จุนเจี๋ย นั้น คือเหรียญรางวัลที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์จะมอบให้กับนักกีฬาที่สามารถยืนอยู่บนโพเดียมอันดับที่ 1-3 เท่านั้น โดยลวดลายของเหรียญรางวัลนี้จะเป็นรูปทะเลสาบและภูเขา และลักษณะรูปทรงของเหรียญ “ชาน ฉ่วย” นี้ได้แรงบันดาลใจจาก “หยกอี้ฉง” ซึ่งเป็นหยกโบราณที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมเหลียงจู่โบราณโดยตัวเหรียญจะมีรูปร่างเป็นขอบเหลี่ยมด้านนอกตัวเหรียญส่วนด้านในตัวเหรียญนั้นจะยังคงความเป็นวงกลมไว้เป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ของเมืองหางโจว

ที่ด้านหน้าของเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” จะเป็นภูเขาและทะเลสาบ “ซีหู” ที่มีความสวยงามและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากโดยทะเลสาบแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของบทกวีและนิยายชื่อดังมากมายหลายเรื่องของประเทศจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องนางพญางูขาวนั่นเอง โดยหน้าเหรียญ “ชาน ฉ่วย” ที่มีทะเลสาบ “ซีหู” นั้นก็จะมี “สะพานสะบั้นรัก” และโคมไฟที่สร้างเป็นทรงเจดีย์หิน 3 ดวงร่วมอยู่ด้วย ส่วนด้านหลังของเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” นั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาเอเชียนเกมส์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

เมื่อทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเราคงมีความรู้สึกไม่ต่างกันนะครับว่าเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้มีความใส่ใจในการสร้างกิมมิคของคบเพลิงและเหรียญรางวัลเป็นอย่างมาก ทุกรายละเอียดล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและวัฒนธรรมอันมีประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนานของประเทศจีนและเมืองหางโจว ผู้ที่ได้ครอบครองเหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้นอกจากจะเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในเกมการแข่งขันแล้ว ก็ยังเปรียบเสมือนได้มีส่วนร่วมกับการส่งต่อวัฒนธรรมจีนจากอดีตไปสู่อนาคตอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook