เอเชียนเกมส์ : ไฮดิลีน ดิอาซ "ฉันลงแข่งเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป"
สำหรับคนทั่วไปแล้วการจะขยับฐานะของตัวเองมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งด้วยการศึกษา หรือหน้าที่การงาน และวิธีง่าย ๆ อย่างการเสี่ยงโชค (แบบถูกกฎหมาย) แต่ถ้าคุณเกิดมาในฐานะยากจน ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะได้โอกาสทำตามวิธีข้างต้น ขณะที่ "กีฬา" คือหนทางหนึ่งที่มอบโอกาสนั้น ซึ่งในบางชนิดเราลงทุนแค่ร่างกายกับเวลา แต่การจะไปให้ถึงจุดสูงสุดได้ต้องรักษาแรงปรารถนา และความมุ่งมั่นเอาไว้
สำหรับ ไฮดิลีน ดิอาซ สิ่งที่เธอแบกไว้บนบ่าในการลงแข่งแต่ละครั้งมันมากกว่าน้ำหนักลูกเหล็กหลายร้อยเท่า เพราะมันคือชื่อเสียง, เกียรติยศ และหน้าตาของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความเป็นอยู่ของครอบครัวที่เธอต้องการให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดที่เป็นฮีโร่ของประเทศบ้านเกิดผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกในประวัติศาสตร์ เธอต้องผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ลูกชาวนาที่ฝันเป็นแค่พนักงานธนาคาร
ไฮดิลีน ดิอาซ เติบโตขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า มามปัง ใกล้กับเมืองซามโบอังกา ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นลูกสาวของชาวนาที่เปลี่ยนมาขี่สามล้อรับจ้างในภายหลัง ซึ่งด้วยฐานะที่ยากจน ไฮดิลีน ต้องช่วยพ่อขายผักขายปลาในแผงข้างถนนตั้งแต่สมัยเรียนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 8 คน เพราะฉะนั้นเรื่องการเล่นกีฬาจึงห่างไกลความคิดของเธออย่างที่สุด
"ตอนเป็นเด็ก ฉันบอกกับแม่ว่าอยากทำงานนับเงินในธนาคาร เพื่อให้เธอกังวลกับเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านน้อยลง" ไฮดิลีน เล่าถึงความฝันง่าย ๆ และบริสุทธิ์ในวัยเด็กของเธอ
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ คาตาลิโน่ ดิอาซ ลูกพี่ลูกน้องของเธอ ที่ชักชวนให้ลองเล่นกีฬา เพราะคิดว่าญาติตัวเองมีรูปร่างที่เหมาะสม ซึ่งด้วยความสงสัยใคร่รู้ และเมื่อมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต ไฮดิลีน ลองเล่นกีฬาหลายประเภททั้ง บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน หรือแม้แต่ยกน้ำหนัก ที่สุดท้ายแล้วไปเข้าตา เอลเบิร์ต อติลาโน่ นักกีฬายกน้ำหนัก ซึ่งเล็งเห็นว่า ไฮดิลีน ในวัย 10 ขวบ มีรูปร่างและมีศักยภาพในการเป็นนักยกลูกเหล็กชั้นเลิศ
จากนั้นสาวน้อยไฮดิลีนก็ได้เริ่มต้นสู่เส้นทางกีฬายกน้ำหนัก โดยใช้ท่อพีวีซีที่มีคอนกรีตถ่วงไว้สองข้างเป็นอุปกรณ์ฝึกซ้อม และหลังจากที่เธอเริ่มชนะการแข่งขันระดับท้องถิ่น ก็มีคนบริจาคบาร์เบลของจริงให้ แต่ใช้งานได้ไม่นานเพราะทนทานการฝึกเกินพิกัดของไฮดิลีนไม่ไหว
จากเวทีในประเทศสู่นานาชาติและโอลิมปิก
ในช่วงเริ่มต้น ไฮดิลีน ยังคงต้องรับจ้างขายผักขายปลา และล้างรถสองแถวเพื่อหาเงินเดินทางไปฝึกซ้อม ก่อนที่จะได้โอกาสลงแข่งขันครั้งแรกปี 2002 ซึ่งเป็นรายการในประเทศ และมีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่ราย แน่นอนว่า ไฮดิลีน คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ
ขณะที่การแข่งขันซีเกมส์หนแรกของเธอคือปี 2007 ที่จ.นครราชสีมา ซึ่ง ไฮดิลีน คว้าเหรียญทองแดงรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 58 กิโลกรัม ขณะที่เหรียญทองเป็นของ วันดี คำเอี่ยม นักยกเหล็กทีมชาติไทย
ปีถัดมา ไฮดิลีน ในวัย 17 ปี ได้รับโอกาสครั้งใหญ่เมื่อได้ไวลด์การ์ดเข้าร่วมศึกโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ทำให้เธอเป็นนักกีฬายกน้ำหนักหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ที่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งแม้เธอจะพยายามทำผลงานอย่างเต็มที่ ทุบสถิติของประเทศแต่ได้เพียงอันดับ 11 จากนักกีฬาทั้งหมด 12 คน อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งเกมส์ กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอพยายามทำผลงานให้ดีขึ้นเพื่อคว้าโควตาด้วยความสามารถของตัวเอง
ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาสู่เหรียญเงิน ริโอ เกมส์
แม้ไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นสูงสุด แต่ไฮดิลีน ยังคงลงแข่งในรุ่น 58 กิโลกรัมต่อไป เธอคว้าเหรียญเงินซีเกมส์ปี 2011 (แพ้ ศิริภุช กุลน้อย) และปี 2013 (แพ้ สุกัญญา ศรีสุราช) รวมทั้งผ่านควอลิฟายไป ลอนดอน เกมส์ ปี 2012 อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะยกท่าคลีนแอนด์เจิร์กด้วยการเรียกเหล็ก 118 กิโลกรัม ไม่สำเร็จทั้งสามครั้ง ทำให้ ไฮดิลีน จบด้วย DNF ซึ่งมีการเปิดเผยในภายหลังว่า เธอต้องเจอกับปัญหามากมายก่อนการแข่งขัน ทั้งอาการบาดเจ็บรุมเร้า และการแยกทางกับโค้ชที่รู้ใจอย่างไม่ทันตั้งตัว
ถึงแม้จะล้มเหลวและผิดหวังมาหลายครั้ง แต่ไฮดิลีนยังไม่หยุดความฝัน เธอตัดสินใจเปลี่ยนมาแข่งในรุ่น 53 กิโลกรัม ที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า หลังจากที่ต้องแบกน้ำหนักมาตลอด จากนั้นความสำเร็จก็เริ่มทยอยเข้ามา เริ่มจากคว้าเหรียญทองศึกชิงแชมป์อาเซียนที่ภูเก็ต ก่อนจะได้เหรียญทองศึกชิงแชมป์เอเชียปี 2015 และเหรียญทองแดงชิงแชมป์โลกปีเดียวกัน ซึ่งทำให้คว้าตั๋วไปโอลิมปิกสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
ที่บราซิล ไฮดิลีน ไปแข่งด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม ก่อนจะหักปากกาเซียน คว้าเหรียญเงินไปครองด้วยสถิติน้ำหนักรวม 200 กิโลกรัม เป็นรองเพียง ซู ซู่จิง แชมป์เก่าจาก ไชนีส ไทเป เพียงรายเดียว ซึ่งทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักกีฬาคนที่ 2 ของประเทศที่คว้าเหรียญเงินโอลิมปิก ต่อจาก มานซูเอโต้ เวลาสโก้ นักกีฬามวยสากล เมื่อปี 1996 และเป็นชาวฟิลิปปินส์แท้ ๆ คนแรกที่ทำได้
อย่าหยุดฝันและกลับไปที่จุดเริ่มต้น
ถึงแม้จะคว้าเหรียญเงินจากเวทีใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิก แต่ไฮดิลีน ไม่หยุดความฝันของเธอไว้แค่นั้น แม้ว่าชื่อเสียงของเธอจะเป็นที่รู้จักไปทั่วบ้านทั่วเมืองก็ตาม สองปีต่อมา ในเอเชียนเกมส์ที่กรุงจาการ์ตา ไฮดิลีน คว้าเหรียญทองให้ฟิลิปปินส์ได้สำเร็จ ก่อนที่เธอจะตั้งทีมที่ประกอบด้วยเทรนเนอร์และโค้ชเพื่อดูแลให้เธอฟิตสมบูรณ์ที่สุดในการไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น "เหรียญทองโอลิมปิก"
ปี 2019 เธอขยับมาแข่งในรุ่น 55 กิโลกรัม ก่อนคว้าเหรียญเงินในชิงแชมป์เอเชียและเหรียญทองแดงจากศึกชิงแชมป์โลก รวมทั้งคว้าเหรียญทองจากซีเกมส์ได้เป็นหนแรก โฟกัสของเธออยู่ที่ "โตเกียว 2020" อย่างเต็มที่ แต่แล้วในเดือนมีนาคมปี 2020 ทั้งโลกต้องล็อกดาวน์จากปัญหาเชื้อไวรัสแพร่ระบาด ขณะที่ ไฮดิลีน ติดแหง็กอยู่ที่เซลังงอร์ ในมาเลเซีย แต่ทีมของเธอไม่สามารถเดินทางมาดูแลได้เนื่องจากมีฐานที่มั่นในกรุงไทเป
ฮีโร่ยกเหล็กของฟิลิปปินส์ต้องเจอบททดสอบทางจิตใจจากความไม่แน่นอนว่าจะได้แข่งโอลิมปิกเพื่อบรรลุฝันตัวเองหรือไม่ แต่ก็เหมือนทุกครั้งเมื่อลงแข่งขัน ไฮดิลีน ยืดอก กัดฟัน และพุ่งสมาธิไปที่เป้าหมายเท่านั้น
"มันไม่ใช่เรื่องที่ควบคุมได้ ฉันทำได้แค่การฝึกซ้อมเท่านั้น" ไฮดิลีน เปิดใจถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก เมื่อเธอไม่สามารถไปฝึกซ้อมที่ยิมได้ ต้องกักตัวเองอยู่ในต่างแดน และต้องใช้ไม้ไผ่กับขวดน้ำขนาดใหญ่มาประยุกต์เป็นอุปกรณ์ฝึกซ้อม เหมือนเป็นการย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของเธอในกีฬาชนิดนี้
นาทีประวัติศาสตร์เหรียญทองแรกของประเทศ
"เราไม่ควรยอมแพ้ต่อความฝัน และไม่ควรยอมแพ้กับตัวเอง ฉันเคยล้มเหลวมาแล้ว แต่นั่นคือส่วนหนึ่งของการเดินทาง ฝันให้สูง, อยู่กับคนที่ดีกับเรา และเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ คุณก็จะทำได้ทุกอย่าง"
แม้จะเจออุปสรรคมากมายกว่าจะได้แข่งโอลิมปิกครั้งที่ 4 ในชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ไฮดิลีนก็ดึงตัวเองกลับมาพร้อมอย่างเต็มที่ก่อนเดินทางไปที่กรุงโตเกียว
ไฮดิลีน ทำได้ดีตั้งแต่ช่วงแรก เธอเคลียร์น้ำหนัก 94 และ 97 กิโลกรัมในท่าสแนตช์ไปได้อย่างไม่มีปัญหา แม้จะยก 99 กิโลกรัมไม่สำเร็จ ใบหน้าของเธอยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและท่าทีสงบผ่อนคลาย
พอถึงคลีนแอนด์เจิร์ก ไฮดิลีน ต้องดวลกับ เหลียว ฉิ่วหยุน เจ้าของสถิติโลกจากจีน เธอต้องเอาชนะสถิติ 223 กิโลกรัม ที่คู่แข่งทำเอาไว้เพื่อคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ ซึ่งในการยกครั้งที่ 3 ไฮดิลีน เรียกน้ำหนัก 127 กิโลกรัม เป็นสถิติโอลิมปิก และทำได้สำเร็จ ส่งผลให้เธอมีสถิติรวม 224 กิโลกรัม ปาดหน้า ฉิ่วหยุน คว้าเหรียญทอง ยุติการรอคอยอันยาวนานกว่า 97 ปี ของประเทศฟิลิปปินส์
ส่งต่อแรงบันดาลใจไม่มีหยุด
แม้จะขึ้นสู่จุดสูงสุดของกีฬายกน้ำหนัก แต่ไฮดิลีนยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในวัย 31 ปี เธอยังคงลงแข่งต่อไป ก่อนจะคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาได้อีกสมัย รวมทั้งคว้าแชมป์โลกไปครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ขณะที่ปี 2023 เธอขยับมาแข่งรุ่น 59 กิโลกรัมในศึกชิงแชมป์เอเชียที่เกาหลีใต้แต่ได้อันดับ 4 ไปครอง
“ทั้งหมดที่พูดได้คือฉันมองเห็นศักยภาพของตัวเอง ฉันแข็งแกร่ง มันคงน่าเสียดายถ้าฉันหยุด ตราบเท่าที่ยังทำได้ดี ฉันก็จะแข่งต่อไป” ไฮดิลีน ตอบคำถามสื่อเมื่อถูกถามว่าจะแข่งไปถึงเมื่อไหร่
ตลอดชีวิตการเป็นนักกีฬาของเธอ ตั้งแต่ 11 ขวบจนถึง 32 ปี สิ่งหนึ่งที่ ไฮดิลีน ไม่เคยหยุดคือการส่งต่อแรงบันดาลใจและการเป็นตัวอย่างให้คนอื่น ๆ สู้กับชีวิต และไม่ยอมแพ้ต่อความฝัน ซึ่งในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจวในปีนี้ จะเป็นอีกครั้งที่เธอจะได้ทำในสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดหรือไม่ อย่าลืมติดตามไปพร้อมกัน