ย้อนความทรงจำ : วอลเลย์บอลหญิงไทยกับความสำเร็จในเอเชียนเกมส์

ย้อนความทรงจำ : วอลเลย์บอลหญิงไทยกับความสำเร็จในเอเชียนเกมส์

ย้อนความทรงจำ : วอลเลย์บอลหญิงไทยกับความสำเร็จในเอเชียนเกมส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะบอกว่าทีม “วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย” คืออีกหนึ่งทีมกีฬาที่สร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมากก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง ด้วยก็เพราะนักตบลูกยางสาวไทยสามารถยกระดับตัวเองไปสู่การแข่งขันระดับโลกมาได้อย่างยาวนานกว่า 25 ปี นับตั้งแต่ปี 1998 ที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกรายการเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพ ได้เป็นครั้งแรก

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยนั้นผ่านเข้าร่วมการแข่งขันในระดับโลกมาแล้วทุกรายการทั้ง เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วีเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพ, เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วีเมนส์ เวิลด์ คัพ, เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วีเมนส์ เวิลด์ แกรนด์ แชมเปียน คัพ, เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ / เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก จะขาดก็เพียงแต่โอลิมปิกเกมส์เท่านั้น

ขณะที่การแข่งขันในระดับทวีปทีมลูกยางสาวไทยก็เริ่มต้นจากการคว้าเหรียญทองแดงรายการเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล แชมเปียนชิพ ได้ในปี 2001 และ 2007 ก่อนที่ในปี 2009 ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย จะสามารถคว้าแชมป์เอเชียได้เป็นครั้งแรกจากนั้นในปี 2013 ก็สามารถคว้าแชมป์รายการดังกล่าวได้เป็นสมัยที่ 2 ปราบยอดทีมของทวีปเอเชียมาหมดทั้งทีมชาติจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คาซัคสถานและไต้หวัน ขณะที่ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียนรายการเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล คัพทีมชาติไทยก็คว้าเหรียญทองแดงได้ในปี 2008 จากนั้นก็ความเหรียญเงินได้ในปี 2010 ก่อนจะคว้าแชมป์รายการดังกล่าวได้ในปี 2012

ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 1966 ที่ทีมชาติไทยเริ่มปรากฎตัวสู่เวทีการแข่งขันระดับเอเชียเป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยมาจนถึงปี 2013 ทีมชาติไทยประสบความสำเร็จขึ้นโพเดียมมาหมดแล้วในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ทั้งรายการเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล แชมเปียนชิพและเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล คัพ จะขาดก็เพียงแต่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์เท่านั้นที่ทีมลูกยางสาวไทยยังไม่เคยได้เหรียญรางวัลใดเลยมาคล้องคอ

ความสำเร็จในมหกรรมกีฬาของชาวเอเชียมันยากขนาดนั้นเลยหรือ แล้วประวัติแห่งความสำเร็จในเอเชียนเกมส์ของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราไปพบกับเรื่องราวของพวกเธอกันครับ

เอเชียนเกมส์ เวทีแห่งความผิดหวังของทีมลูกยางสาวไทย

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกกคือการแข่งขันเชียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1965 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จากนั้นในปีถัดมาก็เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร โดยในการแข่งขันระดับเอเชียครั้งแรกทีมลูกยางสาวไทยเก็บชัยชนะไปได้เพียงหนึ่งนัดเหนือทีมชาติพม่า

ส่วนเกมกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน และฟิลิปปินส์ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยยังไม่อาจต้านความแข็งแกร่งได้ต้องพ่ายแพ้ไปโดยเก็บเกี่ยวได้เพียงประสบการณ์เท่านั้น และความจริงอีกด้านคือทีมชาติไทยในยุคเริ่มต้นนั้นนักกีฬาส่วนมากมาจากนักศึกษาฝึกหัดครูพลานามัย วิทยาลัยพลศึกษาแทบทั้งสิ้น

โดยผู้เล่นชุดประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในกีฬาเอเชียนเกมส์ประกอบไปด้วยคำนึง เข็มเพชร, อำนวย บุญยาลักษณ์, วรรณวิมล ถิ่นประชา, วิไล ใจประสาท, นที แก้วทิพยเนตร, พูลทรัพย์ เพชรสุข, ดวงใจ บุญใหญ่, สริศรี ลีลาวัตร, สมบูรณ์ รัตนพันธ์, ดรุณี ศรีวรกูล, จรวย กิ่งมิ่งแฮ และเทียมจันทร์ คำมูลเมือง

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์อย่างต่อเนื่องจะขาดไปบ้างก็มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น จนมาถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 10 ปี 1986 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทีมลูกยางสาวไทยก็สามารถจบอันดับที่ 4 ของการแข่งขันได้สำเร็จและเป็นอันดับที่สูงที่สุดที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเคยทำได้

แต่หากมองลงไปในรายละเอียดแล้วยังถือว่าห่างไกลการคว้าเหรียญรางวัลอยู่มาก เพราะในการแข่งขันครั้งนั้นมีเพียง 5 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันและทีมชาติไทยก็เอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียได้เพียงทีมเดียวเท่านั้น ส่วนการพบกับทีมชาติจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยก็ยังคงปราบชัยแบบราบคาบเหมือนเดิม และผลงานก็ยิ่งน่าผิดหวังไปอีกในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดมาเพราะทีมชาติไทยไม่สามารถเก็บชัยชนะได้เลย แพ้ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ และไต้หวัน

 ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยยังคงเป็นรอง 4 ชาติมหาอำนาจลูกยางเอเชียอย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเรื่อยมาจนถึงช่วงปี 2000 ทีมลูกยางสาวไทยก็สามารถพัฒนาตัวเองไปจนสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียรายการเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล แชมเปียนชิพ 2001 ได้สำเร็จและสามารถผ่านเข้าการแข่งเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพและเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ได้ในปี 2002 นับเป็นความหวังใหม่ของวงการกีฬาไทยในขณะนั้น

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่เอาชนะทีมชาติไต้หวันและทีมชาติญี่ปุ่นได้มาแล้วในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียปี 2001 ทำให้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ทีมชาติไทยในชุดนั้นถูกตั้งความหวังว่าจะสามารถคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งมาครองได้ แต่ความฝันนั้นก็ต้องสบายไปเมื่อทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสามารถเอาชนะได้เพียงทีมชาติคาซัคสถานเท่านั้น ส่วนการพบกับ 4 ชาติมหาอำนาจลูกยางเอเชียทีมชาติไทยยังไม่อาจจะเอาชนะไปได้

หลังจากทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยพบกับความผิดหวังมาอย่างต่อเนื่องในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ แต่ทีมชาติไทยก็ยังไม่ละทิ้งความพยายาม หลังช่วงปี 2002 เป็นต้นมาทีมลูกยางสาวไทยก็ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์แข่งขันในเวทีระดับโลก นักกีฬาทุกคนพยายามจะยกระดับการเล่นของตัวเองและทีม จนการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ทีมลูกยางสาวไทยก็งัดเอาประสบการณ์ทั้งหมดมาทุ่มเทในการแข่งขันครั้งนั้น โดยผลงานเด่นของทีมชุดนั้นคือการคลิกโค่นเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้ในการแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้าย และแม้จะพ่ายแพ้ต่อทีมชาติญี่ปุ่นในรอบรองชนะเลิศ แต่การชิงเหรียญทองแดงกับทีมชาติไต้หวันนั้นหลายคนเชื่อว่าทีมชาติไทยสู้ได้

นี่คือความใกล้เคียงกับเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์ที่สุดแล้ว ผมจำได้เป็นอย่างดีว่าการถ่ายสดกลับมายังประเทศไทยในวันนั้นมีผู้ชมให้ความสนใจมากมายขนาดไหน แฟนลูกยางไทยทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าทีมชาติไทยจะเอาชนะไต้หวันได้ แต่เมื่อลงสนามไปแล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดกับไม่ใช่คู่แข่งที่อยู่ตรงหน้า แต่มันคือ ... “ความกดดัน” การแข่งขันในวันนั้นนักกีฬาหลายคนเล่นผิดฟอร์มจนทำให้พ่ายแพ้ทีมชาติไต้หวันไปอย่างง่ายดาย คราบน้ำตาของนักกีฬาทุกคนและทีมงานนั่นคือคำตอบของความผิดหวังเป็นอย่างดี

แชมป์เอเชียพ่ายทีมหลังม่านเหล็ก ความเจ็บปวดนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

หลังจากทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชวดคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งเอเชียนเกมส์ 2006 อย่างน่าเสียดาย ทีมลูกยางสาวไทยก็ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในระดับโลกทีมชาติไทยผ่านเข้าร่วมการแข่งขันเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ คัพ 2007 และ เอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ แกรนด์ แชมเปียน คัพ 2009 และก่อนหน้าเอเชียนเกมส์ 2010 จะเริ่มขึ้นทีมชาติไทยก็เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพที่ประเทศญี่ปุ่นมาหมาด เรียกได้ว่าสภาพทีมพร้อมสุดๆ

ขณะที่ดีกรีระดับเอเชียก็ไม่ธรรมดาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์เอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล แชมเปียนชิพ 2009 มาครองได้สำเร็จเป็นทีมชุดประวัติศาสตร์แชมป์เอเชียและแถมมาด้วยการเป็นรองแชมป์รายการเอวีซี วูเมนส์ วอลเลย์บอล คัพ 2010 ก่อนหน้าเอเชียนเกมส์จะเริ่มขึ้นได้ไม่นาน เรียกได้ว่าทีมชาติไทยชุดลุยศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คือทีมที่พร้อมจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ครั้งแรก

เมื่อการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2010 เริ่มต้นขึ้นทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยยังทำผลงานได้ตามมาตรฐานรอบแรกสามารถเอาชนะทีมชาติมองโกเลียและทาจิกิสถานได้ตามเป้าส่วนเกมกับทีมชาติจีนและทีมชาติเกาหลีใต้ทีมลูกยางสาวไทยก็พ่ายแพ้ไปแต่ก็ยังสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายไปพบกับทีมชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งว่ากันตามชื่อชั้นแล้วทีมลูกยางสาวไทยเป็นต่ออยู่หลายขุม หลายคนมองไปที่การแข่งขันในรอบรองชนะเลิศมากกว่าที่ทีมชาติไทยมีโอกาสจะพบกับทีมชาติจีน และถ้าแพ้ทีมชาติจีนโอกาสที่ชิงอันดับที่ 3 หรือเหรียญทองแดงกับทีมชาติคาซัคสถานก็มีสูง เรียกว่าสายการแข่งขันเป็นใจให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ไปถึงเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์เสียที ขอเพียงผ่านทีมชาติเกาหลีเหนือให้ได้เท่านั้น

“วอลเลย์บอลสาวไทยไปไม่ถึงฝัน พ่ายเกาหลีเหนือ 2-3 เซต”

ครับ พาดหัวข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้ผิดพลาดแต่อย่างใด ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่มีดีกรีมากมายพ่ายแพ้ต่อทีมชาติเกาหลีเหนือที่ไม่ค่อยจะออกมาแข่งขันระดับนานาชาติเท่าใดนัก หลายคนสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เรามีตัวผู้เล่นระดับโลกมากมายผ่านเวทีการแข่งขันมานับไม่ถ้วน ผู้เล่นหลายคนก็เล่นหรือเคยผ่านการเล่นวอลเลย์บอลลีกในทวีปยุโรปอย่าง ปลื้มจิตร์ ถินขาว, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, มลิกา กันทอง และอำพร หญ้าผา ที่เล่นให้กับสโมสรเอเรกลี เบเลดิเยร์ในลีกของประเทศตุรกี, อรอุมา สิทธิรักษ์ สังกัดสโมสรไซเลอร์ โคนิซ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์, นุศรา ต้อมคำ สังกัดสโมสรคันติ ชาฟฟ์เฮาเซ่น ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อความพ่ายแพ้เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีข้อแก้ตัว ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยต้องก้มหน้ายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและรอแก้ตัวในอีก 4 ปีข้างหน้า

ภาพจากสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย

เหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ ยุติการรอคอยกว่า 48 ปี

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ในกีฬาวอลเลย์บอลหญิงนั้นก็เกิดเรื่องที่ทำให้ต้องตัดสินใจเมื่อการแข่งขันรายการดังกล่าวตรงกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกรายการเอฟไอวีบี วอลเลย์บอล วูเมนส์ เวิลด์ แชมเปียนชิพ ซึ่งถือว่าเป็นรายการสำคัญและทำให้หลายทีมในทวีปเอเชียต้องเลือกที่จะแบ่งทีมชาติของตัวเองออกเป็นสองชุดเพื่อเข้าแข่งขัน 2 รายการดังกล่าว

ทีมชาติไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับทีมชาติจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และคาซัคสถาน โดยทีมชาติไทยนั้นเลือกผู้เล่นที่จะมาแข่งขันในอินชอนเกมส์ ดังนี้ ปิยะนุช แป้นน้อย, เอ็มอร พานุสิทธิ์, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์, ทัดดาว นึกแจ้ง, คัทลีย์ ปิ่นสุวรรณ, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, นุศรา ต้อมคำ, มลิกา กันทอง, ฐาปไพพรรณ ไชยศรี,  แก้วกัลยา กมุลทะลา และปริญญา พานแก้ว ทีงานผู้ฝึกสอน ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค, ดนัย ศรีวัชรเมธากุล และนิพน แจ่มแจ้ง

ทีมชาติไทยลงสนามแข่งขันในรอบแรกสามารถคว้าชัยชนะเหนือทีมชาติญี่ปุ่น 3-1 เซต (25-27, 25-18, 25-19, 25-21) เป็นชัยชนะที่มีความหมายต่อสายในรอบต่อไปและที่สำคัญมันคือขวัญกำลังใจที่ดีเยี่ยม ซึ่งแม้ในนัดต่อมาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยจะแพ้ให้กับเจ้าภาพไป 0-3 เซต (21-25, 20-25, 21-25) แต่นัดสุดท้ายของรอบแรกทีมลูกยางสาวไทยก็เอาชนะทีมชาติอินเดียไปได้แบบขาดกระจุย 3-0 เซต (25-19, 25-12, 25-11) ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายไปพบกับทีมชาติคาซัคสถาน และก็เป็นสาวไทยที่ทำได้ดีกว่าเอาชนะไปได้ 3-0 เซต (25-10, 25-10, 25-10)

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศอีกครั้งและคู่ต่อสู้ก็คือทีมชาติจีนที่แสนแข็งแกร่ง เกมในวันนั้นไม่มีปาฏิหาริย์ใดจะมาช่วยทีมชาติไทยได้พวกเธอพ่ายแพ้ทีมชาติจีนไป 1-3 เซต (19-25, 25-23, 25-15, 25-19) ทีมชาติไทยต้องไปชิงเหรียญทองแดงกับทีมชาติญี่ปุ่นอีกทีมมหาอำนาจของทวีปเอเชีย แต่ก็ต้องยอมรับกันตามตรงครับว่าทีมชาติไทยนั้นมีประสบการณ์ที่เหนือกว่าทีมชาติญี่ปุ่นชุดนั้น และทุกคนตั้งใจเล่นกันอย่างเต็มที่ เล่นละเอียด ไม่เสียคะแนนง่ายจนเกินไป และในที่สุดทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมจากแดนอาทิตย์อุทัยไปได้ 3-0 เซต (25-17, 25-22, 25-23)

ชัยชนะดังกล่าวส่งผลให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแดงกีฬาเอเชียนเกมส์ไปครองได้เป็นครั้งแรก โดยนับจากปี 1966 ที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยลงสนามแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์จนมาถึงอินชอนเกมส์ 2014 นั้นก็เป็นระยะเวลา 48 ปี กว่าที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยจะสามารถคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์มาครองได้เป็นครั้งแรก

คว้าเหรียญเงินครั้งล่าสุด ประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่อง

หลังจากทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้แล้วในอินชอนเกมส์ 2014 อีก 4 ปีถัดมาในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ กรุงจาการ์ตาและเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย ทีมลูกยางสาวไทยก็ตั้งเป้าจะรักษาผลงานเดิมเอาไว้ให้ได้ ผู้เล่นในชุดนี้เป็นตัวเก๋าผสมกับดาวรุ่งที่ถูกผลักดันขึ้นมาเพราะรุ่นนี้นั้นตั้งใจจะเลิกเล่นในเร็ววันนี้ ทีมชาติไทยประกอบด้วยผู้เล่นอย่าง ปิยะนุช แป้นน้อย, ทัดดาว นึกแจ้ง, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, นุศรา ต้อมคำ, มลิกา กันทอง, พรพรรณ เกิดปราชญ์,  หัตถยา บำรุงสุข, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี, สุพัตรา ไพโรจน์ และชิตพร กำลังมาก ผู้ฝึกสอนดนัย ศรีวัชรเมธากุล ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค

ทีมชาติไทยชุดผสมนี้ทำผลงานได้อย่างร้อนแรงรอบแรกเก็บชัยชนะรวดทั้ง 4 นัดเหนือทีมชาติญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และฮ่องกงโดยเสียไปเพียงเซตเดียวให้กับทีมเจ้าภาพเท่านั้น จากนั้นในรอบ 8 ทีมสุดท้ายทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยก็ย้ำแค้นทีมชาติเวียดนามพระรองของซีเกมส์ไปแบบเหนือชั้น 3-0 เซต (25–23, 25–16, 25–20) ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับทีมชาติเกาหลีใต้แชมป์เก่าซึ่งถ้าว่ากันตามชื่อชั้นทีมชาติไทยก็เป็นรองอยู่แล้ว แต่เกมในวันนั้นเรายิ่งเป็นรองหนักเข้าไปอีกเมื่อ “บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี ที่ฟอร์มกำลังร้อนแรงดันมาได้รับบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิกในเกมกับทีมชาติเวียดนามทำให้หมดโอกาสลงช่วยทีมในนัดที่เหลือ ขณะที่ “เพียว” อัจฉราพร คงยศ ก็มีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ เรียกได้ว่ามองมุมไหนทีมชาติไทยก็ชนะแชมป์เก่ายาก

 แต่อย่างว่าแหละครับกีฬาลูกกลมๆ มีลมอยู่ข้างในอะไรก็เกิดขึ้นได้ เกมในวันนั้นนักกีฬาทุกคนที่เหลืออยู่ก็ช่วยกันเล่นอย่างเต็มที่ อัจฉราพร คงยศ ที่แม้สภาพจะไม่สมบูรณ์มากนักก็ต้องลงสนามไปช่วยเสริมแท็กติกในบางจังหวะ ทีมชาติไทยช่วยกันเล่นช่วยกันไล่บอล แม้ในบางครั้งต้องตกเป็นรองตามอยู่ 4-5 คะแนน แต่ทุกคนก็รวบรวมสมาธิช่วยกันทำคะแนนคืนได้จนสุดท้ายแล้วทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้อย่างพลิกความคาดหมาย 3-1 เซต (25–15, 25–20, 20–25, 25–22) ผ่านเข้าไปลุ้นเหรียญทองกับทีมชาติจีน ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยจะทำได้เพียงเหรียญเงิน แต่ก็เป็นเหรียญรางวัลที่มีคุณค่าอย่างมาก เป็นอีกประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทยที่ต้องบันทึกเอาไว้

ไม่ใช่แค่เพราะทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยคือทีมระดับท๊อปเอเชียเท่านั้น แต่เราควรบันทึกเอาไว้ว่าทุกความสำเร็จที่พวกเธอได้มา มันมาจากความพยายามทุ่มเท ต่อสู้ และฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ และไม่มีสิ่งใดจะมาหยุดความมุ่งมั่นของพวกเธอได้

แล้วหางโจวเกมส์ในครั้งนี้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย จะสร้างประวัติศาสตร์อะไรอีกหรือไม่พวกเราต้องมาให้กำลังใจพวกเธอกันครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook