วันนั้นถึงวันนี้ของ "ฉลามณุก" รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ไทย

วันนั้นถึงวันนี้ของ "ฉลามณุก" รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ไทย

วันนั้นถึงวันนี้ของ "ฉลามณุก" รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ายน้ำถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมและได้รับความสนใจในทุกมหกรรมกีฬาตั้งแต่ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ขณะที่ทัพนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยก็สามารถสร้างผลงานในระดับซีเกมส์เอาไว้มากมาย แต่หากพูดขึ้นการแข่งขันในระดับเอเชียนเกมส์แล้วต้องยอมรับว่านักว่ายน้ำไทยนั้นยังเป็นรองชาติอื่นมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น โดยทีมชาติไทยเคยสร้างผลงานด้วยการคว้า 3 เหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

 ทีมชาติไทยต้องรอจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ปี 1978 ที่เวียนมาจัดกันที่กรุงเทพมหานครอีกครั้งถึงจะมีโอกาสได้เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์อีกหน และในครั้งนั้นทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ได้จาก “รัชนีวรรณ บูลกุล” ในการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง และพ่วงมาด้วย 3 เหรียญทองแดงจากเจ้าตัวในประเภทฟรีสไตล์ 100 เมตรหญิง, ฟรีสไตล์ 400 เมตรหญิง และทีมผลัดฟรีสไตล์ 4x100 เมตรหญิง

 จากนั้นทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยต้องรอคอยอีกกว่า 16 ปีถึงจะมีนักว่ายน้ำที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ได้อีกครั้งและคนนั้นก็คือ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำดาวรุ่งฟอร์มแรงในช่วงเวลานั้น บทความนี้เราจะพาทุกท่านไปย้อนดูเรื่องราวและผลงานของเจ้าตัวในการแข่งขันเอเชียนเกมส์กันครับ

จุดเริ่มต้นจากซีเกมส์

 “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ เป็นนักว่ายน้ำดาวรุ่งของวงการว่ายน้ำไทยในช่วงยุคต้น 90 โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าตัวได้มีโอกาสเริ่มต้นสร้างผลงานให้ทีมชาติไทยในเวทีระดับนานาชาติ โดยในการแข่งขันครั้งนั้น “ฉลามณุก” ทำผลงานคว้าเหรียญเงินได้ในการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรและ 1,500 เมตร โดยในช่วงเวลานั้น “ฉลามณุก” ยังเป็นรอง “เจฟฟรี่ อ่อง” ของประเทศมาเลเซีย ขณะที่ในประเภทกบ 200 เมตรเจ้าตัวทำได้เพียงเหรียญทองแดงเท่านั้น และในประเภทเดี๋ยวผสม 400 เมตร “ฉลามณุก” ก็ได้เหรียญเงินโดยไม่อาจสู้ความเก๋าของ “เอริก บูเฮน” นักว่ายน้ำทีมชาติฟิลิปปินส์เจ้าถิ่นได้ ส่วนในประเภททีมเจ้าตัวก็ได้มาอีก 2 เหรียญเงินจากผลัดผสม 4x100 เมตรชาย และผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร ชาย ทำให้ในการรับใช้ทีมชาติไทยครั้งแรกของ “ฉลามณุก” เจ้าตัวคว้าไป 5 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ไร้ซึ่งเหรียญทองแต่นี่คือผลงานของนักกีฬาวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น

จากนั้นในอีก 2 ปีถัดมาในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 1993 ที่ประเทศสิงคโปร์ ชื่อของ “ฉลามณุก” ก็กลายเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทยเมื่อเจ้าตัวสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมโดยสามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์จากประเภทกบ 200 เมตรชาย โดยทำเวลาได้ 2:20.10 นาทีทำลายสถิติซีเกมส์ จากนั้นเจ้าตัวก็ได้เหรียญทองจากประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตร และ 400 เมตร โดยในประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตร ชาย นั้น “ฉลามณุก” ก็สามารถทำลายสถิติซีเกมส์ได้อีกหนึ่งรายการ โดยทำเวลาไปได้ 4:29.74 นาที เบ็ดเสร็จแล้วเจ้าตัวคว้าไปทั้งสิ้น 3 เหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนั้นพร้อมการทำลายสถิติซีเกมส์ไป 2 รายการ

นอกจากเหรียญทองแล้ว “ฉลามณุก” ก็ยังได้เหรียญเงินในประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย โดยยังพ่าย “เจฟฟรี่ อ่อง” ของประเทศมาเลเซียไปอีกครั้งแต่ก็เป็นการพ่ายแพ้เพียง 0:00.29 เท่านั้น ส่วนประเภทฟรีสไตล์ 1,500 เมตรชาย “ฉลามณุก” ได้เหรียญทองแดงไปเช่นเดียวกับประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย ผลงานซีเกมส์ 1993 ของเจ้าตัวคือ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง

จากผลงานการแข่งขันซีเกมส์ทั้ง 2 ครั้งของ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ทำให้เจ้าตัวถูกจับตามองและคาดหมายว่าจะสามารถทำผลงานได้ดีในระดับเอเชีย

จากความสำเร็จซีเกมส์สู่เหรียญทองเอเชียนเกมส์

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยมี “ฉลามณุก” ที่ทำผลงานได้ดีในการแข่งขันซีเกมส์ 1993 ทุกครั้งที่เจ้าตัวลงแข่งขันกองเชียร์ชาวไทยต่างได้ลุ้นกับกีฬาว่ายน้ำกันอย่างสนุกผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และ “ฉลามณุก” ก็ไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวังเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้ในประเภทท่ากบ 200 เมตร โดยทำเวลาไป 2:16.52 นาที

จากนั้นในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตรชาย ฉลามณุกก็แตะขอบสระเข้ามาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยเวลา 2:04.16 นาที เช่นเดียวกับในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย เจ้าตัวก็เข้ามาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยเวลา 4:20.03 นาที โดยทั้ง 2 รายการนี้ ฉลามณุกต้องพ่ายแพ้ “ชาง กั่วหมิง” นักว่ายน้ำประเทศจีน จนเจ้าตัวต้องรับเหรียญเงินไปแบบน่าเจ็บใจ

อย่างไรก็ตามหลังจากจบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้ไม่นานก็มีข่าวดีสำหรับ “รัฐพงศ์ ศิริสานนท์” เมื่อผลการตรวจสารกระตุ้นของนักว่ายน้ำจีนนั้นไม่ผ่านตามมาตรฐานที่ฝ่ายจัดการแข่งขันกำหนดเอาไว้ จึงทำให้ฉลามณุกได้รับการปรับอันดับขึ้นไปเป็นเหรียญทองและเวลาที่เจ้าตัวทำได้ทั้ง 2 รายการก็ได้รับการรับรองเป็นสถิติเอเชียนเกมส์ และเหรียญทองดังกล่าวก็ทำให้ฉลามณุกเป็นนักว่ายน้ำชายไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์

ผลงาน 2 เหรียญทองกับ 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 นั้น ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในเวทีการแข่งขันระดับเอเชียมาจนทุกวันนี้

ผลงานดีต่อเนื่องสร้างชื่อเป็นราชาสระซีเกมส์

หลังจากที่ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ กลายเป็นฮีโร่คว้า 2 เหรียญทองเอเชียนเกมส์มาครองได้แล้ว เจ้าตัวก็ยังสามารถสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการแข่งขันในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ “ฉลามณุก” สามารถสร้างผลงานกวาดมาได้ 6 เหรียญทองจากประเภทกบ 100 เมตร, กบ 200 เมตร, เดี่ยวผสม 200 เมตร, เดี่ยวผสม 400 เมตร, ผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตรชายและผลัดผสม 4x100 เมตรชาย นับเป็นผลงานที่สุดยอดและสร้างชื่อให้กับ “ฉลามณุก” เป็นอย่างมากจนสามารถสร้างกระแสฟีเวอร์ได้

จากนั้นในการแข่งขันซีเกมส์ในอีก 2 ปีถัดมา “ฉลามณุก” ก็ยังคงสร้างผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจ เจ้าตัวสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจากผลงานประเภทบุคคลในประเภทกบ 200 เมตรและเดี่ยวผสม 400 เมตร ส่วนในประเภทกบ 100 เมตรชายนั้น “ฉลามณุก” ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยพ่าย “เอลวิน เจีย ชุน เทา” นักว่ายน้ำทีมชาติมาเลเซียไปแบบน่าเสียดาย ได้เพียงเหรียญเงินมาคล้องคอเท่านั้น อย่างไรก็ตามผลงานทั้งหมดในกีฬาซีเกมส์ 1995 และ 1997 ก็นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและยังคงทำให้ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ยังคงเป็นความหวังของวงการว่ายน้ำไทยในทุกรายการแข่งขัน

คว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ในบ้าน อีกความภูมิใจของคนไทย

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ยังคงลงสนามให้กับทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยเพื่อเป็นความหวังในการไล่ล่าเหรียญรางวัลเหมือนเดิม และในการแข่งขันครั้งนั้น เจ้าตัวก็ไม่ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยต้องผิดหวังเมื่อคว้ามาได้ 1 เหรียญเงินกับ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญเงินได้ในการแข่งขันประเภทท่ากบ 200 เมตร ชาย ที่ทำเวลาไป 2:16.47 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ดีกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 0.05 วินาที และเป็นการได้เหรียญรางวัลที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะตอนเอเชียนเกมส์ 1994 นั้น เจ้าตัวได้เหรียญทองแดงในรายการนี้

ด้านการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย ที่ฉลามณุกเป็นเจ้าของเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่แล้วมา ในครั้งนี้คู่ปรับเก่าอย่าง “ชาง กั่วหมิง” ก็พ้นโทษแบนกลับมาลงสนามแข่งขันได้ ขณะที่ทีมชาติญี่ปุ่นก็มีนักว่ายน้ำฟอร์มแรงอย่าง “ทาคาฮิโร่ โมริ” ที่สถิติและเวลาในการแข่งขันที่ผ่านนั้นน่าจับตามอง ซึ่งเมื่อถึงเวลาลงสนามแข่งขันจริง ก็เป็นนักว่ายน้ำทีมชาติญี่ปุ่นที่มาแรงแตะขอบสระเป็นคนแรก ตามมาด้วย “ชาง กั่วหมิง” ส่วนฉลามณุกของเรานั้นก็ยังไว้ลายว่ายเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยเวลา 4:24.15 นาที คว้าเหรียญทองแดงไปครองได้สำเร็จ

แม้ว่าในการแข่งขันบางกอกเกมส์ 1998 นั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ จะไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้แต่การได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ก็ถือได้ว่าเป็นผลงานที่สุดยอดแล้วในการแข่งขันระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับที่นักกีฬาไทยจะสามารถคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้ โดยเฉพาะกีฬาว่ายน้ำที่มีชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ขวางทางอยู่

เหรียญทองแดงสุดท้ายสร้างตำนานไม่รู้ลืม

หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพแล้วนั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็ยังคงรับใช้ทีมชาติไทยอย่างตัวเนื่อง และก็สามารถสร้างผลงานได้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์อีกครั้ง โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ปี 1999 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เจ้าตัวก็ยังคงคว้าเหรียญทองให้ทีมชาติไทยได้ 3 เหรียญทองจากประเภทถนัดอย่างเดี่ยวผสม 200 เมตรและเดี่ยวผสม 400 เมตร ขณะที่อีก 1 เหรียญทองได้จากทีมผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร ขณะที่ในประเภทท่ากบ 200 เมตร และประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย “ฉลามณุก” ได้เหรียญเงินมาครอง

จากนั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็สร้างสถิติด้วยการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2000 ณ กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้ “ฉลามณุก” เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 1992 และ 1996 มาแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลงานในโอลิมปิกเกมส์สมัยที่ 3 ของเจ้าตัวนั้นไม่ได้น่าจดจำมากนัก แต่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในระดับโลกอย่างที่ตัวเองคาดหวัง “ฉลามณุก” ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะกลับมาทำผลงานให้ดีขึ้นในการแข่งขันรายการต่อๆ ไป

 การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ที่กลับมาอีกครั้งหลังจากจบโอลิมปิกเกมส์ 2000 เจ้าตัวก็ยังคงสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลว่ายน้ำในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้อีกครั้ง โดยเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันประเภทท่ากบ 200 เมตรได้สำเร็จ โดยทำเวลาได้ 2:15.81 นาที และเหรียญรางวัลนี้ก็เป็นเหรียญรางวัลเดียวของทัพว่ายน้ำทีมชาติไทยในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น และที่สำคัญเหรียญทองแดงดังกล่าวคือเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์สำดับสุดท้ายของทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยมาจนทุกวันนี้

หลังจากจบเอเชียนเกมส์ 2002 ปีต่อมา “ฉลามณุก” ก็เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ปี 2003 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเจ้าตัวก็กลับมาสร้างผลงานสะท้านสระอาเซียนได้อีกครั้งโดยสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญทองจากประเภทท่ากบ 100 เมตรและ 200 เมตร จากนั้นในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม “ฉลามณุก” ก็สามารถคว้าเหรียญทองได้ทั้ง 200 เมตร และ 400 เมตร โดยในรายการเดี่ยวผสม 400 เมตรนั้นเจ้าตัวทำเวลาได้ 4:23.20 นาที ทำลายสถิติซีเกมส์ที่ตนเองเคยทำเอาไว้ได้ในซีเกมส์ 1999 ที่ประเทศบรูไน และเหรียญทองซีเกมส์สุดท้ายก็มาจากประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย

และในปี 2004 “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็สร้างสถิติเป็นนักว่ายน้ำไทยที่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 4 และก็สามารถคว้าอันดับที่ 19 ในประเภทท่ากบ 200 เมตร ด้วยเวลา 2:15.39 นาที เป็นการปิดฉากนักกีฬาทีมชาติไทยอย่างสมบูรณ์
312267004_10160289199163466_1

นี่คือเรื่องราวผลงานของ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำทีมชาติไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ และตลอดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ของเจ้าตัวกว่าสิบปีนั้นก็สามารถทำผลงานได้ทั้งสิ้น 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง เป็นผลงานที่ยังคงเป็นตำนานนักกีฬาทีมชาติไทยมาจนทุกวันนี้

ส่วนปัจจุบัน รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ในวัย 47 ปี ได้เป็นครูสอนว่ายน้ำ และยังคงทำในสิ่งที่ตัวเองรักและอยู่กับสระว่ายน้ำที่เขารักและหลงไหลอย่างสุดหัวใจ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ ของ วันนั้นถึงวันนี้ของ "ฉลามณุก" รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook