"เรื่องการกิน ดื่ม และ ฉี่".. ของนักขี่จักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์
กระแสความนิยมขี่จักรยานที่เพิ่มขึ้นมากในเมืองไทยตอนนี้ ทำให้คนไทยบางกลุ่มจัดทัวร์ไปดูตูร์ เดอ ฟรองซ์ และปั่นจักรยานที่ฝรั่งเศส เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ 2 อย่าง
การแข่งขันจักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 4-26 กรกฎาคม การแข่งครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 102
แข่งขันทั้งหมด 21 ช่วง รวมระยะทาง 3,344 กิโลเมตร เทียบแล้วเท่ากับการขี่ไปกลับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ระยะทาง 1,650 กิโลเมตร
การแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 22 ทีม แต่ละทีมมีนักปั่น 9 คน รวมมีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 198 คน
นักแข่งจักรยานทุกคนแข่งขันทั้งสิ้น 21 วัน หยุดพักเพียง 2 วัน
เฉลี่ยแล้ว ต้องขี่จักรยานเป็นระยะทางวันละ 160 กิโลเมตร เท่ากับระยะทางกรุงเทพฯ-พัทยา
ความเร็วในการขี่จักรยานของผู้แข่งขันที่แข่งขันใน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ กับนักขี่จักรยานธรรมดาอย่างเราๆ เมื่อเปรียบเทียบกันมีความแตกต่างกันมากพอสมควร
เส้นทางเรียบ
ผู้เข้าแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปั่นด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นักขี่จักรยานธรรมดา 27 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เส้นทางขึ้นเขา
ผู้เข้าแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปั่นด้วยความเร็ว 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นักปั่นธรรมดาทั่วๆไป ปั่นความเร็วได้ 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปริมาณน้ำดื่มขณะขี่จักรยานเป็นเวลา 3 ชั่วโมง
นักขี่จักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะดื่มน้ำ 4 ถึง 20 ขวด ขึ้นอยู่กับสภาพถนนที่แข่งขัน และอุณหภูมิในวันนั้น แต่โดยเฉลี่ยจะดื่มน้ำประมาณ 1-4 ขวดต่อชั่วโมง
นักขี่จักรยานทั่วไป ดื่มน้ำ 2 ถึง 3 ขวด
ประมาณว่า การแข่งขันครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ทั้ง 198 คน จะดื่มน้ำขวดรวมกันแล้ว คิดเป็นจำนวนกว่า 42,000 ขวด!
การแข่งขันแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วนักกีฬาขี่จักรยานจะแข่งขันวันละ 160 กิโลเมตร และใช้เวลาปั่นประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ต้องใช้พลังงานอย่างมากตลอดการแข่งขัน 21 วัน
นักกีฬาในตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะใช้พลังงานสูงถึง 123,900 แคลอรี หรือเท่ากับการทานดัลเบิ้ลชีสเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ 252 ชิ้น หรือทานคริสปี้ ครีม โดนัท 619 ชิ้น!
ผู้เข้าแข่งขันจะมีเชฟส่วนตัวคอยดูแลเรื่องอาหารโดยเฉพาะเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ที่สุด
แต่ละวันอาหารเช้าที่นักแข่งจะทานนั้น ต้องทานก่อนการแข่งขันเริ่ม 3-4 ชั่วโมง เป็นอาหารที่หนักท้อง เช่น ขนมปัง พาสต้า ข้าว มันฝรั่ง ธัญพืช เพราะการแข่งขันมักเริ่มเที่ยงตรงหรือบ่ายโมง
หลังจากนั้น ระหว่างการปั่นจักรยานทุกๆ ชั่วโมง นักกีฬาต้องทานอาหารและเครื่องดื่มให้พลังงาน เช่น โปรตีนแท่ง เครื่องดื่มเกลือแร่ และแซนด์วิชผักประมาณ 250-300 แคลอรี่ต่อชั่วโมง
สําหรับอาหารเย็น จะเน้นผักและโปรตีน เช่น อะโวคาโด้ บร็อกเคอลี่ แครอต แตงกวา อกไก่ ปลาทูน่า เนื้อไก่งวง ที่เป็นอาหารง่ายต่อการย่อย
การทานอาหารปริมาณมากขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะหลังจากแข่งขัน นักกีฬาทุกคนจะเหนื่อยล้าอย่างมาก อยากพักอย่างเดียว ไม่ต้องการทานอะไร
นอกจากนั้น อาหารเมนูเพื่อสุขภาพมักทำให้เบื่อง่าย เชฟจึงต้องคิดค้นเมนูสุขภาพที่แปลกใหม่ ไม่ให้นักกีฬาเบื่อ เพื่อเสริมสร้างพลังงานให้เพียงพอต่อการแข่งขันในแต่ละวัน
ทุกๆวัน ร่างกายของนักกีฬาตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะเผาผลาญแคลอรี่ประมาณ 6,000 แคลอรี มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า ดังนั้น จึงต้องทานอาหารให้เพียงพอ โดยเฉลี่ยต้องทาน 6,000-9,000 แคลอรี่ต่อวัน
ดื่มน้ำเปล่าวันละ 4 ลิตร และดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ให้พลังงานอีก 4 ลิตร เพราะตลอดการแข่งขัน 21 วัน จะเสียเหงื่อประมาณ 135 ลิตร เทียบเท่ากับปริมาณการใช้น้ำกดชักโครกถึง 39 ครั้ง
เมื่อพูดถึงเรื่องชักโครก หลายคนคงสงสัยว่านักปั่น ตูร์ เดอ ฟรองซ์ มีการหยุดพักเข้าห้องน้ำบ้างหรือเปล่า เพราะดื่มน้ำมากขนาดนี้ต้องระบายออกแน่นอน
เรื่องนี้ตามกฎการแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ไม่ห้ามนักกีฬาหยุดเข้าห้องน้ำ แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องการเสียเวลาหาห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ ดังนั้น ทุกคนจึงใช้วิธีจอดจักรยานข้างทางและทำธุระส่วนตัว!
แต่ตามกฎของ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ระบุไว้ว่า ห้ามนักกีฬาหยุดจอดข้างทางทำธุระส่วนตัวประเจิดประเจ้อต่อหน้าแฟนๆที่ยืนเชียร์ริมทาง
หากผู้แข่งขันคนใดไม่ปฏิบัติตาม ถ้าถูกจับได้จะถูกปรับเป็นเงินประมาณ 3,000 บาท ฐานประพฤติตัวไม่เหมาะสม
นักปั่นจำนวนไม่น้อยเห็นว่ากฎนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจนักปั่นเอาซะเลย เพราะการแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะมีแฟนๆ ยืนเชียร์ริมถนนไม่ขาดสาย
ดังนั้น การจะหาที่ลับตาแฟนๆ เพื่อทำธุระส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่สุดแสนจะลำบากลำบน เพราะทุกๆปีจะมีผู้ชมมายืนเชียร์เรียงรายตลอดเส้นทางกว่า 12 ล้านคน!
เมื่อกฎเป็นอย่างนี้ นักปั่นจักรยานหลายคนจึงใช้วิธีปัสสาวะในขณะที่ขี่จักรยานซะเลย เพราะนอกจากไม่ทำให้เสียเวลาแล้ว ยังไม่เสี่ยงถูกปรับฐานจอดจักรยานปล่อยทุกข์ต่อหน้าแฟนๆอีกด้วย
แต่เวลาปล่อยปัสสาวะขณะขี่จักรยานนั้น ต้องมีมารยาท ไม่ใช่ปวดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จัดการทำธุระทันที เพราะคนอื่นที่ขี่ติดๆกันมา อาจโดนลูกหลงได้
ดังนั้น โดยมารยาท ก่อนที่นักปั่นจะปล่อยปัสสาวะตอนขี่จักรยานต้องบอกให้คนอื่นๆที่อยู่ติดๆกันทราบล่วงหน้า
จากนั้นเจ้าตัวก็จะเลี่ยงไปขี่จักรยานชิดริมถนน เพื่อไม่ให้มีใครอยู่ข้างๆ จะได้ปล่อยทุกข์ได้อย่างสบายใจ ไม่กระเซ็นกระสายไปถูกเพื่อนนักปั่นคนอื่นๆ
แต่ถ้าหากเป็นทุกข์หนักอั้นไม่ไหวจริงๆ ผู้แข่งขันบางคนก็ใช้วิธีอาศัยขอเข้าห้องน้ำในรถตู้นอนของแฟนๆ ที่จอดรถเชียร์ข้างทาง ซึ่งแฟนๆ ต่างเต็มใจให้ใช้
การจะเป็นนักขี่จักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ที่ประสบความสำเร็จ จึงอึดอย่างเดียวไม่พอ ต้องอั้นเก่งอีกด้วย!!!
คอลัมน์ "คลุกวงใน" มติชนสุดสัปดาห์ 3-9 กรกฎาคม 2558
โดย พิศณุ นิลกลัด