สกู๊ป : "แรชฟอร์ด" คำตอบฮอดจ์สันที่ปฏิเสธไม่ได้
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 3 เดือนกับอีก 4 วันก่อน มาร์คัส แรชฟอร์ด ยังไม่มีโอกาสได้ลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แกเร็ธ เซาธ์เกต เคยพูดว่า “มันเร็วเกินไปสำหรับเขา” สำหรับเขาที่จะเล่นในระดับทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 21 ปี ขณะที่ นิคกี้ บัตต์ เชื่อว่าการเรียกตัวเขาติดทีมชาติอังกฤษจะเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย
1 เดือนก่อน รอย ฮอดจ์สัน พูดถึงโอกาสของ แรชฟอร์ด ที่จะได้ไปยูโร 2016 ว่า “เกินจินตนาการ” แต่เป็นไปไม่ได้ ขณะที่ หลุยส์ ฟาน ฮาล อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนยันว่าเขา “ยังไม่พร้อม”
แต่เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา มาร์คัส แรชฟอร์ด กดจองตั๋วไปยูโร 2016 ได้ในเวลาไม่ถึง 3 นาทีที่ลงสนามให้ทีมชาติอังกฤษ ในเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติออสเตรเลีย ที่สเตเดี้ยม ออฟ ไลท์
ระยะเวลาที่ทำได้อาจจะห่างไกลจากสถิติทำประตูในนัดแรกเร็วที่สุดของ บิล นิโคลสัน ที่ทำประตูแรกให้ทีมชาติอังกฤษในการลงสนามนัดแรกได้ในระยะเวลาแค่ 19 วินาที แต่สำหรับนักเตะคนหนึ่งที่อายุ 18 ปี กับอีก 208 วัน และสามารถทำประตูได้ใน “โอกาสครั้งแรก” ในการลงสนามครั้งแรกกับทีมในรายการ ยูโรป้า ลีก, พรีเมียร์ลีก ให้กับต้นสังกัด “ผีแดง”
และล่าสุดเมื่อคืนนี้กับทีมชาติอังกฤษ ซึ่งอย่างน้อยก็ทำลายสถิติของ ทอมมี่ ลอว์ตัน ที่เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดคนเก่า (19 ปี 16 วัน) ที่ทำประตูให้อังกฤษได้ในเกมประเดิมสนาม
ผมคิดว่าไม่มีคำใดที่จะอธิบายได้ดีไปกว่าคำว่า “อัศจรรย์” ครับ
นักเตะคนสุดท้ายที่ทำเรื่องราวคล้ายๆกันนี้ที่นึกออกคือ ไมเคิล โอเว่น ที่ก็ไม่ได้ “เหลือเชื่อ” ในระดับเดียวกันด้วยซ้ำไปครับ
กับผลงานในสนาม แรชฟอร์ด อาจจะห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบครับ แต่เด็กคนนี้แสดงให้เห็นว่าเขา “ดีพอ” ที่จะเป็นหนึ่งใน 23 ขุนพลของทีมชาติอังกฤษ ที่จะไปยูโร 2016 ซึ่งเป็นจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะไปเสียหมดเพราะ ดาเนี่ยล สเตอร์ริดจ์ เองก็บาดเจ็บแบบไม่คาดฝันอีกครั้งพอดี
คำถามกับความกังวลเรื่องความฟิตของสเตอร์ริดจ์ สวนทางกับประตูแรกของ แรชฟอร์ด ที่กลายเป็น “ตัวช่วย” ที่ทำให้ รอย ฮอดจ์สัน ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ เพราะเวลานี้กระแสไหลมาทางเจ้าหนูมหัศจรรย์คนใหม่แบบ “เต็มข้อ” เหมือนกับจังหวะที่บอลลอยมาเข้าทางเขาในประตูแรกของเกม
ในรูปการณ์นี้หากกุนซือขรัวเฒ่าแห่งครอยดอน จะฝืนเลือก สเตอร์ริดจ์ ติดทีมในการประกาศรายชื่อวันอังคารนี้ก็ดูจะเป็นการ “เสี่ยง” ที่ไม่คุ้มค่าเท่าก่อนหน้านี้ครับ เพราะก่อนลงสนามกับ ออสเตรเลีย หลายคนยังไม่เชื่อน้ำยาเจ้าหนูคนนี้มากนัก และทำให้การเสี่ยงกับสเตอร์ริดจ์ ที่มีความสามารถและสไตล์ที่มีประโยชน์ต่อทีมยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
แม้เราจะไม่มีทางรู้เลยก็ตามครับว่าถ้าพกเจ้าหนูรายนี้ไป อังกฤษจะคาดหวังว่าจะสร้างความแตกต่างให้กับทีม หรือสร้างโมเมนตัมให้กับทีมได้เหมือนที่ สเตอร์ริดจ์ สามารถทำได้หรือไม่
แต่เรื่อง “วาสนา” มันแข่งกันไม่ได้จริงๆครับ
สำหรับอังกฤษ ในภาพรวมของเกมนี้ แม้จะเก็บชัยชนะได้แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจอะไรให้แฟนบอลเท่าไหร่นัก
ฮอดจ์สัน เลือกที่จะใช้โอกาสที่มีไม่มากนักในการลงอุ่นเครื่องเพื่อทดลอง “แผนสอง” ของเขามากกว่าจะให้ผู้เล่นชุดใหญ่ได้ลงสนามร่วมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่แน่ใจนักว่ามันจะเป็นประโยชน์หรือไม่
สิ่งที่เราได้เห็นคือความไม่ลงตัวของผู้เล่นในระบบ “ไดมอนด์” ในครึ่งแรก โดยเฉพาะในแดนกลาง เพราะบางคน เช่น แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ ถูกจับเล่นไม่ตรงตำแหน่ง ซึ่งก็เป็นปัญหาลักษณะเดียวกับในเกมที่ชนะ ตุรกี เมื่อวันอาทิตย์ก่อนที่ ฮอดจ์สัน เลือกคู่หอกที่ดีที่สุดตอนนี้อย่าง เจมี่ วาร์ดี้ และแฮร์รี่ เคน ลงสนามพร้อมกัน แต่ดันเล่นในระบบ 4-3-3 และจับวาร์ดี้ ไปยืนทางฝั่งซ้าย ขณะที่ในครึ่งหลังก็ส่ง เอริค ไดเออร์ กลับไปยืนเซนเตอร์ฮาล์ฟแทน คริส สมอลลิง และช่วยออสเตรเลีย พุ่งโหม่งเข้าประตูตัวเองไป
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการตัดสินใจที่ชวนให้รู้สึก “เสียของ” ค่อนข้างมาก
อังกฤษ ชุดนี้ไม่ได้มีนักเตะที่มีความสามารถสูงเทียบเท่ากับ เยอรมัน, สเปน, ฝรั่งเศส หรืออิตาลี (และอาจจะทีมระดับรองอีกหลายทีม) แต่หลายๆคนกำลังอยู่ในช่วงผลงานร้อนแรงเป็นเปลวเพลิง
สิ่งที่ ฮอดจ์สัน ควรทำคือการพยายามหาทางให้นักเตะเหล่านั้นได้เล่นเหมือนเวลาเล่นให้กับสโมสรมากกว่าจะจับยัดลงตำแหน่งที่อยากให้ลงซึ่งบางครั้งมันยากเกินที่จะปรับตัวได้ทันในระยะเวลาอันสั้น
“สิงโตคำราม” เหลือโอกาสในการเตรียมความพร้อมอีกแค่นัดเดียวครับ ในการพบกับโปรตุเกสที่เวมบลีย์
ผมหวังว่าเราจะได้เห็นอะไรดีๆมากกว่านี้จากทีมของ รอย ฮอดจ์สัน ครับ