สกู๊ป : จาก “คิงส์คัพ” ถึง “ยูโร 2016”

สกู๊ป : จาก “คิงส์คัพ” ถึง “ยูโร 2016”

สกู๊ป : จาก “คิงส์คัพ” ถึง “ยูโร 2016”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ผมได้เขียนเรื่อง “อังกฤษ แชมป์ยูโร 2016” เอาไว้ครับว่า ทีมชาติสิงโตคำรามชุดนี้มีความ “ตระหนัก” ในการเล่นเกมรับค่อนข้างสูง

และเชื่อแน่ว่า รอย ฮอดจ์สัน วาง “ยุทธศาสตร์” การเล่นของทีมเพื่อรับมหกรรม “ยูโร 2016” เอาไว้แบบนั้น

ซึ่งแนวทางนี้ หรือก็คือ หากไม่ได้ก็ต้อง “ไม่เสียประตู” ไว้ก่อน และรอจังหวะเหมาะจริง ๆ จึงค่อย “โต้กลับ” หรือเปลี่ยนจากเกมรับเป็นรุกให้เร็วที่สุดนี่แหละที่ผมบอกว่า จะเป็นวิธีการสู่ความสำเร็จของทีมชาติผู้ดี

และจริง ๆ แล้วน่าจะเป็นแนวทาง “สำเร็จรูป” ของชาติส่วนใหญ่จาก 24 ชาติในฟุตบอลยูโรครั้งนี้

“ภาพรวม” ดังกล่าว ผมเริ่มสัมผัสได้จริงจังก็จากแมตช์ อังกฤษ - โปรตุเกส นี่แหละครับ และได้ “ร่วมถก” กับพรรคพวก เพื่อนฝูง ในสายงาน “ฟุตบอลโค้ช” เพื่อเช็คความรู้สึกตัวเอง

ผลสรุปจากการพูดคุยยังไม่ชัดเจน เพราะ “โค้ชไทย” คงไม่ได้อินกับฟุตบอลยุโรป หรือมี “ข้อมูล” เท่ากับผม หรือ “ลูกแม่กิ่ง” บก.Francais’16 ที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีอย่างน้อย 1 คนแล้วที่มองคล้าย ๆ กับผม

ครับ คาร์โล อันเชลอตติ เข้ามารับงานเป็นคอลัมนิสต์พิเศษให้ นสพ.เดลี เทเลกราฟ ได้ตั้งชื่อคอลัมน์ครับว่า “This is how to win Euro 2016”

ซึ่งเนื้อใน คือ การพูดถึง “เทรนด์” ของโลกฟุตบอล และยกตัวอย่าง แอตเลติโก้ มาดริด กับเลสเตอร์ ซิตี้ ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของ “เคาน์เตอร์ แอตแทคกิ้ง” ฟุตบอล

โดย Counter Attacking Style ในมุมของ อันเชลอตติ จะ “ง่ายกว่า” ในการบริหารทำทีมสำหรับโค้ชต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีเวลามากมายในการเตรียมทีม

กุนซือคนใหม่ของ บาเยิร์น มิวนิค ระบุว่า ใคร ๆ ก็อยากทำทีมเน้นครองบอล และต่อบอลสวยงามแบบทีมชาติสเปน

แต่ไม่ใช่ว่า “ทุกทีม” จะมีกลุ่มผู้เล่นที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กลุ่ม และมีทักษะความสามารถดีแบบนั้น

ทางลัดจึงหนีการเล่น “รับ” แล้ว “โต้” หรือเคาน์เตอร์แอตแทคลำบาก

โดยเฉพาะทีมที่อาจมี “ซูเปอร์สตาร์” คนเดียว หรือไม่มากอย่าง เวลส์ (แกเร็ธ เบล), สวีเดน (ซลาตัน อิบราฮิโมวิช), โปรตุเกส (โรนัลโด้) ฯลฯ ที่อย่างน้อยน่าจะสามารถประคองตัวเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้

อังกฤษน่าจะทำได้ดีกว่านั้น เพราะนักเตะที่มีความสามารถทั้งดาวรุ่ง และตัวเก๋า โดยหากออร์แกไนซ์เกมรับให้ดี และมีกองหน้าที่มีความเร็วอยู่แล้ว

โอกาสของทีมผู้ดีมีแน่ ๆ และเป็นเหตุให้ อันเชลอตติ เชื่อมั่นว่า ทีมสิงโตคำรามอยู่ในกลุ่มรอง ๆ ได้ลุ้นแชมป์ร่วมกับ เบลเยียม และสเปน

ขณะที่ ฝรั่งเศส ในฐานะเจ้าภาพ และเยอรมัน แชมป์โลก จะเป็น 2 ทีมเต็งอันดับต้น ๆ ในเวลาที่กุนซืออิตาเลียนไม่ได้พูดถึง อิตาลี

ทว่า ด้วยเทรนด์ฟุตบอลแบบนี้ และประวัติศาสตร์ “ยูโร” เคยมี เดนมาร์ก (1992) และกรีซ (2004) เป็น 2 ทีมม้ามืด “รับแล้วโต้” จนได้แชมป์มาแล้วเมื่อ 24 และ 12 ปีที่ผ่านมาตามลำดับ

พูดถึง “ตัวเลข” ระยะห่างการเป็นแชมป์ของ “ม้ามืด” ข้างต้น ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน รุ่นพี่ที่นับถือซึ่งได้พูดคุยกันกล่าวโจ้กขำ ๆ ไว้ว่า ทุก 12 ปียูโรจะเกิดเหตุการณ์พิสดาร

ครั้งนี้ ครบอีก 12 ปีพอดี อะไรที่คาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นได้!?

ตัดกลับมาที่ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ 2559 ระหว่าง ไทย - จอร์แดน คู่ชิงชนะเลิศ

ในครึ่งแรก วิธีการเล่นของทั้ง 2 ทีม ไม่ได้ต่างอะไรจากที่ผมกล่าวไว้ทั้งหมดข้างต้นเลยครับ

“ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง สั่งลูกทีมเล่นรัดกุม และทำให้เกม “อึดอัด” อยู่เหมือนกัน แต่มันเป็น “แท็คติก” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องอดทนครับ

คือ ในเมื่อวางแผนจะ “เพรสซิ่ง” ในแดนตัวเองเท่านั้นก็ทำไป และห้ามเสียประตู

ทีมช้างศึกจึงระวัง และทำได้ดีมากตามความรู้สึกของผม ขณะที่ต้อง “แอบดีใจ” นะครับที่จอร์แดนมองเราว่า เหนือกว่า หรืออันตราย จนเล่นเน้นรับเช่นกัน

เกมแบบนี้ต้องการ “ประตูแรก” ครับ และพอเราทำได้ก่อนต้นครึ่งหลังจาก เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ เกมจึงเปิด เพราะจอร์แดนบุกมากขึ้น

และก็ “ตามสูตร” ที่เราได้ประตูที่ 2 จากการ “โต้กลับ” แบบสุดงามก่อนคว้าแชมป์ไปครองได้แบบชื่นมื่น

ซึ่งผมเชื่อครับว่า “ยูโร 2016” รูปแบบการเล่นส่วนใหญ่จะไม่ต่างจากภาพที่ได้เห็นใน “คิงส์คัพ” ครั้งนี้ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook