สกู๊ป : โปรตุกีส สไตล์ และ "สปิริต"
ผมเขียนใน บท บก.ตั้งชื่อเรื่องว่า “ทำอย่างไร โปรตุเกส จะชนะ?” ก่อนแมตช์ไฟนอล “ยูโร 2016” ไว้ว่า
-------------------------
ตอบ: ให้เล่นเหมือนฝรั่งเศสรับมือเยอรมันในรอบที่ผ่านมานั่นแหละครับ นั่นคือ “ตั้งรับ” แบบจริงจังเป็น “แพทเทิร์น” ไม่ให้เสียตำแหน่ง และฟอร์เมชั่น
จะรับทั้งทีม 11 คน หรือห้อย นานี่ กับโรนัลโด้ ไว้ก็ไม่ผิด โดยต้อง “ซึมซับ” รับความกดดันถาโถมจากเจ้าบ้านที่จะครองบอล ต่อบอล และเล่นในแดนตัวเองให้ได้นานที่สุด
ยิ่งนาน เจ้าถิ่นที่เป็นต่อจะยิ่งกดดัน และอาจ “เปิดช่อง” ผิดพลาดได้เหมือน สเปน (ตอนเจออิตาลี) หรือเยอรมัน (ตอนเจออิตาลี และฝรั่งเศส)
และอีกหลาย ๆ เกมที่ทีมใหญ่แพ้ภัยตัวเองจนมี “แจ็ค” เซอร์ไพรส์ยักษ์หลายทีมโดยมี เวลส์ ที่เพิ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศเป็นจอมเซอร์ไพรส์อันดับ 1
ฉะนั้น หากรับดีๆ และแน่นๆ เหมือนตั้งแต่รอบน็อคเอ๊าท์ 16 ทีมเรื่อยมา โปรตุเกสจะมีโอกาส “ขโมย” ชัยชนะได้ในเกมไฟนอล (เหมือนที่ทำกับ โครเอเชีย และเวลส์)
ประเด็นจึงอยู่ที่ ฝรั่งเศส ต้องไม่ผลีผลาม และเร่งจังหวะเหมือนเยอรมัน (เล่นกับพวกเค้า) แต่ต้องบุกแบบรัดกุม เรียกได้ว่า ไม่ได้ก็ต้องไม่เสียประตู
โดยหวังตัวเปลี่ยนเกมดีๆ อย่าง ดิมิทรี้ ปาเยต กับอองตวน กรีซมันน์ จะแผลงฤทธิ์ได้
ซึ่งถ้าให้คาดการณ์ ฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศ “ยูโร 2016” น่าจะเป็น cagey game ที่ระมัดระวัง และไม่น่าจะสนุก ประตูไม่น่าจะมีเยอะ และมีสิทธิ์ไปไกลถึงต่อเวลา กับจุดโทษด้วยครับ
-----------------------------
ครับ นำบทวิเคราะห์ก่อนเกมมาเล่าอีกครั้งก็เพราะ เกมนัดชิงฯ ยูโร 2016 เป็นแบบนั้นจริง ๆ
หากจะ “ขยายเพิ่ม” ก็คือ โรนัลโด้ ได้รับบาดเจ็บหลังโดน ดิมิทรี้ ปาเยต กระแทกเข้าที่เข่าซ้ายจนสุดท้ายต้องขึ้นเปลออกจากสนามทั้งน้ำตาในนาทีที่ 25 หลัง “ยื้อยุด” ปฐมพยาบาลแล้วลงไปเล่นใหม่แต่ก็ไปไม่รอด
การเจ็บของโรนัลโด้ ไม่เพียงแต่ทำให้ทัพนักเตะโปรตุเกส “หลอมรวม” พลังใจกันยิ่งกว่าเดิมโดยมี นานี่ สวมปลอกแขนกัปตันทีมเท่านั้น
ทว่า ยอดกุนซือ เฟอร์นันโด ซานโต๊ส ได้ปรับ “แท็คติก” ดัน เรนาโต้ ซานเชส เข้ากลาง และใช้ริคาร์โด้ ควาร์เรสมา ยืนริมเส้นฝั่งขวา
นานี่ จะทำมีบทบาทคล้าย ๆ False No.9 แต่ยุทธวิธีนี้ที่ปรับจาก 4-1-3-2 ในตอนแรกเป็นกลายเป็น 4-1-4-1 ทำให้ “จุดเด่น” โปรตุเกส ยิ่งเด่นชัด
นั่นคือ เกมรับที่ “แพ็คแน่น” กว่าเดิม เพราะมิดฟิลด์มีเพิ่มเป็น 5 คน ขณะที่การออร์แกไนซ์ยังคงยอดเยี่ยมนำโดย เปเป้ ที่คืนทัพกลับมาบาดเจ็บ
ในเวลาที่ โจเซ่ ฟอนเต้ จากเซาแธมป์ตัน “โดดเด่น” มาก โดยเฉพาะการครอบครองบอล และเปิด “บอลแรก” จากแผงหลังที่รับบอลตรงมาจากนายทวาร รุย ปาทริซิโอ ที่ก็ยอดเยี่ยม “เซฟสวย ๆ” หลายหน
การเติบโตของ วิลเลียม คาร์วัลโญ่, ราฟาเอล เกร์เรโร่, เจา มาริโอ และก็แน่นอน เรนาโต้ ซานเชส ทำให้ทีมชุดนี้ “ลงตัว” และมีทีมสปิริตที่แข็งแกร่ง
ซึ่งต้อง “ขอบคุณ” กุนซือซานโต๊ส ในความสามารถ “หลอม” ทีมชุดนี้ให้เข้าด้วยกันทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะยุค “Golden Generation” หลุยส์ ฟิโก้, วิเตอร์ บาย่า, เฟอร์นันโด เคาโต้, รุย คอสต้า ฯลฯ
มาจนยุค เดโก้, เปาเล็ตต้า, นูโน่ โกเมซ, โรนัลโด้ (หนุ่ม ๆ), ซิเมา ฯลฯ
โปรตุเกส ไม่เคยได้สัมผัสแชมป์ซีเนียร์ระดับเมเจอร์เลยทั้งที่ตัวผู้เล่นดีกว่า กุนซือที่คุมทัพ เช่น หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ (ยูโร 2004) ก็มีชื่อชั้นมากกว่า เฟอร์นันโด ซานโต๊ส และเด็ก ๆ ชุดนี้
ทีมชุดนี้ตอนอุ่นเครื่องก่อนมาฝรั่งเศสที่บุกไปพ่ายอังกฤษแบบสู้ไม่ได้ 0-1 ยิ่งดู “ขี้เหร่” กว่าในรอบแรกที่เสมอไอซ์แลนด์, ออสเตรีย และฮังการี มากมาย
แต่ด้วย “ระบบ” และวิธีการเล่นแบบข้างต้นให้พวกเค้าดู “เด่นขึ้น” ในรอบน็อคเอ๊าท์ซึ่งที่ผ่านมาอาจใช้ โรนัลโด้ และนานี่ เป็น “ทีเด็ด”
ทว่า นัดไฟนอลกลับได้ “ฮีโร่” คนใหม่เป็น เอแดร์ ที่ “แจ้งดับ” กับสวอนซี ซิตี้ แต่เล่นได้ “ตรงสเปค” มากในเกมนี้ที่ลงมาแทน เรนาโต้ ซานเชส นาทีที่ 80
ครับ “สเปค” แบบเอแดร์ จะตัวใหญ่ เก็บบอลดี และทำให้โปรตุเกสมี “อีกมิติ” นั่นคือ ฝากบอลแล้วมิดฟิลด์เคลื่อนไปซัพพอร์ตได้ทัน
เกมรับ ฝรั่งเศสที่ “ไม่ชิน” เพราะเจองานเทคนิคมาทั้งเกมจึงลำบาก และเสียท่าจากลูกยิงไกลเกือบ 30 หลานาทีที่ 109 และพ่ายแพ้ไป
ทั้งนี้ “ชัยชนะ” ของโปรตุเกส ไม่ได้เป็นอะไร “เซอร์ไพรส์” เพราะสไตล์ฟุตบอลแบบนี้ถูก “จับตา” มาตลอดนับจาก เลสเตอร์ ซิตี้ และแอตเลติโก้ มาดริด นำมาใช้ได้ดี
ปรัชญานี้ ยังตอกย้ำ และ “พิสูจน์” แบบสุดๆ ครับว่า “สปิริตทีม” มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จ ถึงขั้นที่ โปรตุเกส “ทำได้” โดยไม่ต้องมี โรนัลโด้ ในนัดชิงชนะเลิศ