สกู๊ป : "ทีมชาติอังกฤษ" กับความเป็นอังกฤษ??!
บทความนี้ผมจะไม่พูดว่า ผม “สนับสนุน” แซม อัลลาร์ไดซ์ ให้เข้ามาทำหน้าที่กุนซือทีมชาติอังกฤษคนต่อไปถัดจาก รอย ฮอดจ์สัน นะครับ
ประเด็นผมจะอยู่เพียงแค่ ไม่ว่าใครจะมาทำทีมชาติสิงโตคำราม ประเดิมด้วยแคมเปญ “บอลโลก 2018” คนๆนั้นจะต้องงัด “ความเป็นอังกฤษ” ออกมาให้ได้
โดยหากมีการทำงาน “วิจัย” ง่ายๆ เช่น กรอกแบบสอบถามแฟนบอล และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลอังกฤษ
ผมเชื่อว่า ข้อชี้แนะประการแรกๆว่า ฟุตบอลอังกฤษ “โดดเด่น” จนถึงขั้นเป็น “จุดแข็ง” เหนือชาติอื่นๆได้ คงจะหนีไม่พ้น 2-3 ประเด็นด้านล่างนี้ :
1. เกมเร็ว เร้าใจ
2. ลูกกลางอากาศแข็งแกร่ง
3. จิตวิญญาณการต่อสู้ และความเป็นสุภาพบุรุษลูกหนัง
ครับ นั่นคือ “DNA” ของฟุตบอลอังกฤษมาช้านาน แม้ยุคสมัยปัจจุบันฟุตบอลจะเปลี่ยนไป ทว่า “รากเหง้า” ตรงนี้คือ “ตัวตน” ของบอลอังกฤษ
ที่ผมมั่นใจว่า ใครๆ ก็เกรงขาม!!!
แต่หากถามว่า ใครๆเกรงกลัวอังกฤษไหม หากทีมผู้ดีหันมาต่อบอลสวยงาม, ครองบอล และเจาะตามช่อง ฯลฯ? คำตอบน่าจะเป็น “ไม่กลัว”
เพราะอังกฤษไม่น่าจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่า เยอรมัน, สเปน, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, บราซิล, อาร์เจนติน่า, ชิลี และอื่นๆ อีกหลาย 10 ชาติที่สาธยายไม่หมด
ทั้งนี้มาจาก “ความจริง” ว่า การต่อบอล เคาะบอล ครองบอล หรือการเล่นด้วยเทคนิค และแท็คติก ชั้นสูง ไม่ใช่ “ธรรมชาติ” นักเตะอังกฤษ
จุดนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนครับว่า นักเตะพันธุ์ดังกล่าว เช่น เดเล่ อัลลี่, อดัม ลัลลาน่า, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในทัวร์นาเมนท์นี้ที่นักเตะเชิงเทคนิคดีๆกว่าเค้ามีมากมาย
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมพูดมาตลอดว่า “เสียดาย” แอนดี้ แคร์โรลล์ กับ แอนดรอส ทาวน์เซนด์ ที่เป็นนักเตะอังกฤษพันธุ์แท้ แต่ไม่ถูกถอดรายชื่อออกวินาทีสุดท้าย
แคร์โรลล์ ชนะลูกกลางได้ทุกคนในโลก และเล่น “ลูกเท้า” ได้เยี่ยม แต่มีข้อเสียเดียวคือ เจ็บบ่อย และอาจไม่เหมาะเป็นตัวหลัก 90 นาทีทุกนัด
ทว่า เกมที่ต้องการชัยชนะแบบ “เร่งรัด” เช่น แมตช์แพ้ไอซ์แลนด์หรือเจ๊าสโลวาเกีย
การมี แคร์โรลล์ ท้ายเกมมารับลูกบอมบ์กลางอากาศ หรือได้ทาวน์เซนด์ มาเลี้ยงกินคนไม่ต่างจากเพื่อนร่วมทีมนิวคาสเซิล อย่าง มุสซ่า ซิสโซโก้ ที่แจ้งเกิดเป็นแมน ออฟ เดอะ แมตช์ ในนัดไฟนอลให้ทีมเจ้าบ้าน ฝรั่งเศส
ตรงนี้ต่างหากครับที่ “สำคัญ” และจัดว่า เป็น “แก่น” ของทีมผู้ดีพอๆ กับผู้เล่นสไตล์สุนัชพิตต์บูลล์ที่สู้ไม่ถอยอย่าง เวย์น รูนี่ย์, แกรี่ เคฮิลล์, เอริค ดายเออร์
ทั้งนี้ สิ่งที่ผมกำลังพูด คือ ไม่ว่าใครจะเป็นกุนซือคนต่อไป การดึง “คาแร็กเตอร์” แบบอังกฤษออกมาหลักๆคือ ผ่าน 3 ข้อข้างต้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก
อังกฤษต้องเล่นแบบอังกฤษ และ “แตกต่าง” เป็นตัวของตัวเองโดยต้อง “เข้าใจโลก” และรู้ไปพร้อมๆกันด้วยว่า ชาวโลกปัจจุบันไปถึงไหน? และเล่นอะไรกันอยู่?
พอรู้แล้วไม่ใช่ไป “ก็อปปี้” แต่ต้องนำมาตีโจทย์ให้แตก แล้วหาผู้เล่นที่มี “คุณลักษณะ” ที่เหมาะสม เป็นอังกฤษสมัยใหม่เข้าไปต่อกร
แน่นอนครับว่า คนที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวได้ก็ควรเป็นกุนซือที่ “คุ้นเคย” และมีประสบการณ์ตรงฟุตบอลอังกฤษ จะ อาร์แซน เวนเกอร์, แซม อัลลาร์ไดซ์ และเจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ ซึ่งน่าจะเหลือเป็นแค่ 3 แคนดิเดทหลักก็ไม่ผิดนัก
ทว่า คณะกรรมการจัดหาของ “เอฟเอ” ต้องตีโจทย์ให้แตกในการเลือกคนที่ใช่ เพราะหากขืนมองแค่ “บุคลิก” คนควบคุมง่าย เช่น สตีฟ แม็คคลาเรน, รอย ฮอดจ์สัน
ผลงานก็อาจ “จบไม่สวย” เหมือนที่ แม็คก้า พาทีมตกรอบคัดเลือกยูโร 2008 หรือ “ปู่รอย” พาตกรอบแรกบอลโลก 2014 และล่าสุดศพไม่สวยใน “ยูโร 2016”
แซม อัลลาร์ไดซ์ ที่เป็นตัวเลือกตั้งแต่ปี 2006 หลังยุค สเวน โกรัน เอริคส์สัน (แต่แพ้ แม็คคลาเรน) อาจเหมาะ ณ เวลานี้ที่เจ้าตัวแม้จะ “ยังแรง”
แต่วัย 61 ปีน่าจะทำให้ “บิ๊กแซม” กลายเป็นองุ่นที่ไม่ได้เปรี้ยวจี๊ดเหมือนแต่ก่อน และอาจหา “จุดร่วม” ในการทำงานกับ “เอฟเอ” ได้
อีกจุดที่น่าสนใจ คือ “ทุกทีม” ไม่เว้นแม้แต่ ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์, โปแลนด์, ฮังการี ฯลฯ เล่น “ฟุตบอลดี” หมดครับ
กุนซือทีมชาติอังกฤษคนต่อไปคงไม่ต้องเก่งกาจศาสตร์ลูกหนังขั้นเทพมาแก้เกมอะไรมากกับ “ข้อจำกัด” ฟุตบอลนานาชาติที่เวลา “เก็บตัว” สั้น และไม่ได้มีโอกาสให้ทดลอง ทดสอบอะไรมาก
การสร้าง “แรงจูงใจ” และการกระตุ้นเอาสิ่งที่ดีที่สุดของนักเตะออกมา ณ จุดสำคัญๆของเกม น่าจะจำเป็นกว่า
ถึงตรงนี้ ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงรวมกัน ผมมองว่า แซม อัลลาร์ไดซ์ จะเป็นชอยส์ที่ไม่ “ขี้เหร่” เลยครับ