FCH INSIGHT : 10 เรื่องน่ารู้ของยูเออี คู่แข่งช้างศึกคัดบอลโลก 2018
ขุนพลช้างศึกยังทำผลงานในเวทีเวิลด์คัพ 2018 โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้ายได้ไม่ดีนัก หลังไม่สามารถเก็บคะแนนได้เลย จากการพ่ายต่อซาอุดิอาระเบีย 0-1 ในนัดแรก และพ่ายในเกมถัดมาหลังเปิดบ้านที่ราชมังคลากีฬาสถานด้วยการแพ้ญี่ปุ่น 0-2 ทำให้สถานการณ์ล่าสุดยังคงรั้งอยู่อันดับสุดท้ายของกลุ่มบี โดยด่านสำคัญต่อไปที่ลูกทีมของเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง จะต้องเผชิญหน้าด้วย นั่นคือการยกพลไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ที่ในเกมแรกทำแสบใส่ญี่ปุ่น ด้วยการบุกไปปล้นชัยคาไซตามะ สเตเดียม 2-1 ต่อเปิดเปิดบ้านพ่ายออสเตรเลียหวิว 0-1
จากการแพ้คาบ้านในนัดล่าสุดต่อหน้าแฟนบอลกว่าสี่หมื่นคนที่เข้ามาชมเกม ส่งผลให้ยูเออีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคว้าสามคะแนนแรกในบ้านเพื่อตอบแทนแฟนบอลที่เข้ามาให้กำลังใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้ไทยกำลังเผชิญหน้าเกมหนักที่รออยู่อีกครั้ง
และก่อนที่เกมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2016 นี้ Football Channel Thailand พาไปพบกับ 10 เรื่องน่ารู้ของยูเออี คู่แข่งช้างศึกในนัดที่ 3 ของกลุ่มบี รอบ 12 ทีมสุดท้าย ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น
1. เกมรุกดี เกมรับเยี่ยม
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรุยทางผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย เวิลด์คัพ โซนเอเชีย ปี 2018 ในฐานะทีมอันดับ 2 ที่ดีที่สุดอันดับ 3 จาก 4 ทีม ซึ่งผลงานในรอบก่อนหน้านี้ ยูเออีถูกจับฉลากให้มาอยู่ในสายเอ ร่วมกับ ซาอุดิอาระเบีย (แชมป์กลุ่ม), ปาเลสไตน์, มาเลเซีย และติมอร์ เลสเต มีสถิติชนะ 5 นัด เสมอ 2 นัด และแพ้ 1 นัด เก็บได้ 17 คะแนน
ขณะเดียวกัน ยูเออียังเป็นอีกหนึ่งทีมในรอบคัดเลือกที่ผ่านมา ที่มีเกมรุกดุดันที่สุดทีมหนึ่ง แม้สถิติยิงประตูจะอยู่ที่อันดับ 9 ของรอบคัดเลือก ทว่าพวกเขากลับกระหน่ะประตูใส่คู่แข่งมากถึง 25 ประตู จากการลงแข่ง 8 นัด เป็นรองออสเตรเลียและกาตาร์ (29 ประตู) ซาอุดิอาระเบีย (28 ประตู) จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (27 ประตู) รวมถึงอิหร่านและซีเรีย (26 ประตู)
นอกจากนี้ สถิติในเกมรับก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะลูกทีมของมาห์ดี อาลีพลาดเสียเพียง 4 ประตู เท่ากับซาอุดิอาระเบีย คู่แข่งร่วมกลุ่ม ออสเตรเลียและอิรัก เป็นรองอิหร่าน (3 ประตู) รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ไม่เสียประตูที่รอบที่ผ่านมา
2. ผ่านเวทีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว
ยูเออีมีประสบการณ์ลงเล่นในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว 1 ครั้ง ที่ประเทศอิตาลี ในปี 1990 โดยในครั้งนั้น พวกเขาโชคร้ายถูกจับฉลากเข้ามาอยู่ในกลุ่มดี ที่มีทีมแชมป์ในปีนั้นอย่างเยอรมันตะวักตก, ยูโกสลาเวีย และโคลอมเบีย เป็นเพื่อนร่วมสาย
สำหรับผลงานทั้ง 3 นัดของยูเออี พวกเขาไม่สามารถคว้าคะแนนมาได้เลย เริ่มจากประเดิมพ่ายโคลอมเบีย 0-2, ถูกเยอรมันตะวันตกถลุงยับ 1-5 และแพ้ต่อยูโกสลาเวียในเกมนัดสุดท้ายไป 1-4 อย่างไรก็ดี ยูเออีกลับสร้างประวัติศาสตร์ทำได้ถึง 2 ประตูในการลงเล่นเวิลด์คัพหนแรกของตนเอง โดย 2 ประตูที่ได้มาจาก คาลิด อิสมาอิล ผู้เล่นตำแหน่งกองกลางในเกมพ่ายเยอรมันตะวันตก 1-5 และอีก 1 ประตูจากอาห์ลี ทาห์นิ จูมาอ์ อีกหนึ่งมิดฟิลด์ของทีมในเกมแพ้ยูโกสลาเวีย 1-4
3. ชนะนัดเดียวจาก 5 เกมหลังสุด
ทีมเจ้าของฉายา ‘เดอะ ไวท์’ มีสถิติการแข่งขันก่อนลงดวลแข้งกับช้างศึกไม่สวยนัก โดยเก็บชัยชนะได้เพียง 1 จาก 5 นัดหลังสุดที่ลงเล่น ทว่าชัยชนะเพียง 1 นัดของพวกเขา ถือเป็นชัยชนะอันล้ำค่า เพราะเป็นการบุกไปเฉือนญี่ปุ่นถึงไซตามะ สเตเดี้ยม 2-1 นั่นเอง
นอกนั้นแบ่งเป็นเกมในรอบแบ่งกลุ่มก่อนหน้านี้ 1 นัด (เสมอซาอุดิอาระเบีย 1-1), ศึกฟุตบอลรายการคิงส์ คัพ ครั้งที่ 44 จำนวน 2 นัด จากผลงานแพ้จอร์แดน 1-3 และพ่ายซีเรีย 0-1 ขณะที่ล่าสุด เป็นเกมเปิดรังพ่ายต่อออสเตรเลีย 0-1 ในเวิลด์คัพ โซนเอเชีย 2018 รอบ 12 ทีมสุดท้ายเมื่อ 6 กันยายน 2016 ที่ผ่านมา
4. อันดับ 66 ของโลก
แม้ 5 นัดหลังสุดก่อนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีคิวลงบู๊กับทีมชาติไทย จะเก็บชัยชนะได้เพียง 1 นัด แต่พวกเขากลับขยับอันดับขึ้นไปรั้งอยู่ที่ 66 ของโลก จากการจัดอันดับของฟีฟ่า ในเดือนกันยายน ปี 2016 และยังเป็นการไต่อันดับขึ้นสูงอีกครั้ง หลังจากที่เคยอยู่อันดับ 64 มาแล้ว ในเดือนมีนาคม 2016 ที่ผ่านมา
5. ค้าแข้งในประเทศทั้งทีม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ยูเออีประสบความสำเร็จด้วยการผ่านเข้าสู่รอบลึกๆ ในเวทีฟุตบอลระดับเอเชียอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลัง เหตุเพราะนักเตะส่วนได้รับโอกาสติดธง ล้วนค้าแข้งอยู่ในลีกภายในประเทศทุกราย โดยแบ่งเป็นสโมสรอัล จาซิล่า 4 ราย, อัล ไอน์ 8 ราย, อัล อาห์ลี 6 ราย, อัล วาห์ดา 3 ราย, อัล นาสต์ 1 ราย และบานิยาส 1 ราย ส่งผลให้พวกเขามีเวลารวมตัวในการเตรียมทีม เพื่อการปรับแท็คติกและความเข้าใจในเกมร่วมกันเหนือจากหลายทีมไม่มากก็น้อย
6. ผลงานการคุมทีมของ มาห์ดี อาลี กุนซือคนปัจจุบัน
นายใหญ่คนปัจจุบันของยูเออี มีสถิติการคุมทีมค่อนข้างโดดเด่น จากผลงานชนะ 31 นัด เสมอ 12 นัด และแพ้ 11 นัด จากจำนวน 54 นัด นับตั้งแต่ที่เข้ามารับงานคุมทีมตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2012
นอกจากนี้ กุนซือวัย 51 ปี ยังสร้างเกียรติประวัติทันทีในปีถัดมาหลังการเปิดตัว ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ในรายการกัลฟ์ คัพ 2013 และพาทีมประสบความสำเร็จอีกครั้งกับรายการดังกล่าวกับการคว้าอันดับ 3 ช่วงปี 2014 นอกจากนี้ ในปี 2015 อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติยูเออีรายนี้ยังพาทีมคว้าถึงอันดับ 3 ในรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพ 2015 อีกด้วย
7. คีย์แมนหลักพาทีมฉลุย
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขุนพล เดอะ ไวท์ ผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้ายได้ เป็นเพราะความโดดเด่นของ 3 ขุมกำลังหลักของทีมอย่างโอมาร์ อับดุลราห์มาน, อาลีห์ มาบคูด และอาเหม็ด คาลิล ที่ช่วยกันกดดันบรรดาแนวรับคู่แข่ง พร้อมกระหน่ำประตูรวมกันมากถึง 19 ประตู
ทั้งนี้ หากลงเจาะเฉพาะรายบุคคล โอมาร์ อับดุลราห์มาน ห้องเครื่องคนสำคัญ ที่นอกจากจะทำไป 3 ประตูแล้ว เจ้าตัวยังแอสซิสต์ให้เพื่อนทำประตูได้ถึง 7 ครั้ง ขณะที่อาลีห์ มาบคูด ทำไป 5 ประตู โดยแบ่งเป็นการทำแฮตทริค 1 ครั้ง ในเกมถล่มมาเลเซีย 10-0 นอกจากนี้ อาเหม็ด คาลิล ที่สวมปลอกแขนกัปตันทีมยุคปัจจุบัน กระซวกประตูใส่คู่แข่งมากถึง 11 ประตู รั้งตำแหน่งรองดาวซัลโวในรอบคัดเลือก และเจ้าตัวบวกสกอร์เพิ่มอีก 2 ประตูในนัดบุกเฉือนญี่ปุ่น 2-1 ได้อีกด้วย
8. เกมรุกฝืดยามเล่นนอกบ้าน
แม้เกมในบ้านของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในรอบแบ่งกลุ่มที่ผ่าน พวกเขาจะถล่มประตูคู่แข่งมากถึง 21 จาก 25 ประตู ทว่ายามที่ขุนพล เดอะ ไวท์ลงเล่นเป็นทีมเยือน พวกเขากลับมีสถิติทำประตูใส่คู่แข่งไม่ดีเท่าไหร่นัก เห็นได้ชัดจากเกมรอบแบ่งกลุ่มที่ผ่านมา ยูเออีทำประตูใส่ทีมเจ้าบ้านได้เพียง 4 ประตูเท่านั้น โดยแบ่งเป็นเกมชนะติมอร์ เลสเต้ 1-0, แพ้ซาอุดิอาระเบีย 1-2 และชนะมาเลเซีย 2-1 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เมื่อพวกเขาผ่านเข้ามาเล่นในรอบ 12 ทีมสุดท้าย ลูกทีมของมาห์ดี อาลีกลับประเดิมเกมนอกบ้านนัดแรกอย่างสวยหรู ด้วยการบุกไปลูบคมญี่ปุ่นได้ถึงถิ่น 2-1
9. กราบขวาคือจุดอ่อน
3 จาก 4 ประตูที่ยูเออีเสียประตูในรอบคัดเลือกที่ผ่านมา เกิดจากความผิดพลาดทางบริเวณทางขวาของกรอบเขตโทษตนเอง และเกิดขึ้นในเกมพบซาอุดิอาระเบียทั้งเหย้าและเยือน โดยแบ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งโยนบอลลุ้นเข้าทำถึง 3 ประตู ส่วนอีกหนึ่งประตูที่เสียจากบริเวณดังกล่าว เกิดขึ้นจากการปล่อยให้คู่แข่งอาศัยความสามารถเฉพาะตัวเข้าไปโจมตี จนนักเตะยูเออีจำเป็นต้องตัดฟาวล์ ส่งผลถึงการเสียลูกโทษที่จุดโทษ และเสียประตูในที่สุด ขณะที่อีก 1 ประตูที่เสียเกิดขึ้นจากการประกบตัวไม่ดีจากลูกตั้งเตะ ในเกมบุกเชือดมาเลเซีย 2-1
นอกจากนี้ อีก 2 ประตูที่เสียในรอบ 12 ทีมสุดท้าย ในนัดเฉือนญี่ปุ่น 2-1 และเปิดบ้านพ่ายออสเตรเลีย 0-1 ขุนพล เดอะ ไวส์ ยังคงมีปัญหาอยู่บริเวณพื้นที่ทางขวาของเขตโทษตนเองเช่นเดียวกัน
10. สถิติการพบกันระหว่างไทยกับยูเออี
ก่อนที่ทั้งคู่จะลงดวลแข้งกันอีกครั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2016 นี้ ทัพช้างศึกเคยเผชิญหน้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาแล้ว 10 นัด รวมทุกรายการ โดยแบ่งเป็นการชนะ 2 นัด เสมอ 2 นัด และแพ้ 6 นัด ทว่าหากนับการพบกันในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ทั้งไทยและยูเออีเคยพบกันมาแล้วในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย 2 สมัย คือในปี 1994 (แข่งในปี 1993) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายแพ้ทั้งในเกมนัดเหย้า 0-1 และนัดเยือนที่ดูไบ 1-2 โดย 1 ประตูที่ทำได้โดยดาวเตะเจ้าของฉายา “ปีกซ้ายมหากาฬ” หรือ นาวาอากาศตรีส่งเสริม มาเพิ่ม
รวมถึงอีกในเวิลด์คัพ รอบคัดเลือก ปี 2006 ที่แข่งขันในปี 2004 ที่ไทยแม้จะบุกไปพ่ายในเกมเยือน 0-1 ทว่าลูกทีมของกลับโชว์ฟอร์มโหดในเกมเหย้าที่ราชมังคลากีฬาสถาน ด้วยการไล่ถล่มขุนพล เดอะ ไวท์เละเทะ 3-0 จาก จักรพงษ์(นนทพันธ์) เจียรสถาวงศ์, อานนท์ นานอก และ เทิดศักดิ์ ใจมั่น