ในหลวงของวงการกีฬา (โดย นุสรณ์ ศิลปพันธ์)

ในหลวงของวงการกีฬา (โดย นุสรณ์ ศิลปพันธ์)

ในหลวงของวงการกีฬา (โดย นุสรณ์ ศิลปพันธ์)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าจะเป็นหนึ่งในคำพูดที่สามารถปลอบประโลมจิตใจกันและกันได้ดีที่สุด ในช่วงเวลานี้ และช่วงเวลาต่อไปข้างหน้า และไม่รู้จะอีกนานเท่าไหร่

ในเดือนที่ผ่านมา ต้องบอกตามตรงเลยว่า ความรู้สึกแบบ "อึนๆ" คิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ถูก คงเกิดขึ้นกับหลายๆคน

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)

ในช่วง 20 กว่าวันที่ผ่าน ได้อ่าน และได้รับชมรับฟัง เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระราชกรณียากิจ และความสนพระทัย หลายอย่างของพระองค์ท่าน  โดยการกีฬา เป็นหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรด ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส เกี่ยวเนื่องกับวงการกีฬาว่า “ กีฬา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง” ซึ่งถือเป็น พระราชดำรัส ที่แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬา ทรงเห็นว่า การกีฬาเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท


 พร้อมกันนั้นยังทรงฝึกซ้อมและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ครองเหรียญทองในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ซึ่งทำให้วันที่ 16 ธันวาคม ได้รับการยกย่องเป็น "วันกีฬาแห่งชาติ" จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

วันนี้เลยขออนุญาต รวบรวมเรื่องราวของพระองค์ท่านกับการกีฬาจากเว็บไซต์ต่างๆ มาบันทึกเอาไว้ สั้นๆ เก็บไว้อ่าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในการหันมาใส่ใจตัวเองด้วยการเล่นกีฬาครับ ...  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนใจในการเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงสนพระทัยในกีฬาหลากหลายประเภท อาทิเช่น สเกตน้ำแข็ง สกี เรือใบ แบดมินตัน ที่สำคัญและน่าจดจำเป็นแบบอย่างที่สุดคือ ไม่ว่าจะสนใจกีฬาประเภทไหน พระองค์จะทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี ในทุกประเภทกีฬา

นอกจากพระปรีชาสามารถในการทรงเล่นกีฬาเรือใบ อย่างที่ทราบกันแล้ว กีฬาแบดมินตัน ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทกีฬาที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทรงเล่นทั้งประเภทคู่ และประเภทสามคน โดยช่วงเวลานั้นกีฬาแบดมินตันของประเทศ ไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรที่ยาวไกล รับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถที่จะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบ ทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป จนกระทั่ง ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2493


ปัจจุบัน ประเทศไทย ก็มีถึง 15 สมาคมกีฬา ที่อยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ,ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาทางอากาศ และการบินแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬายิงปืน แห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาแข่งเรือแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬารักบี้ ฟุตบอลแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาสควอช แห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

จากพระราชกรณียากิจ ที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของ โอลิมปิก คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยในรอบ 700 ปีที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2534


ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  การเล่นกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช…วิกิพีเดีย , พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับการกีฬา ... thaihealth.or.th และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”พระมหากษัตริย์นักกีฬา" ... siamsport.co.th

“การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยไปร่างกายและจิตใจก็จะเฉา ถ้าทำมากเกินไปร่างกายและจิตใจก็ช้ำ”

พระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร หลังการออกกำลังพระวรกายประจำวันเพื่อฟื้นฟูพระวรกาย เมื่อครั้งทรงประชวรในปี พ.ศ. 2525 .....

เดินทางสายกลางอยู่อย่างพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ แล้ว "เราจะก้าวผ่านช่วงนี้ไปด้วยกัน" ครับ

จนกว่าจะพบกันใหม่....

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook