ลูกยางหญิงกับลูกหนังชาย

ลูกยางหญิงกับลูกหนังชาย

ลูกยางหญิงกับลูกหนังชาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมอ่านเจอกระทู้ของ “คุณวสันต์” ในเว็บไซต์ thailandsusu ที่เปรียบเทียบการทำงานของ สมาคมวอลเลย์บอล กับ สมาคมฟุตบอล (ไทย) แล้วผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และอยากให้ นายกลูกหนังคนดี ไม่เคยมีผลประโยชน์แอบแฝง ลองย้อนกลับไปมองดูบ้าง

วันนี้จึงขออนุญาตหยิบมานำเสนอให้แฟนๆ ได้อ่านกันครับ

การนำเอาการทำงานของ สมาคมวอลเลย์บอลฯ มาเปรียบเทียบกับ สมาคมฟุตบอลฯ จากการดูกันเพียงความสำเร็จนั้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะระบบและขั้นตอนระหว่างสองสมาคมนั้นมันมีความแตกต่างกันอยู่อย่างมากมาย

แต่ว่าด้วยหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะนำเอาความสำเร็จหรือหลักการที่นำไปสู่ความสำเร็จมาเปรียบเทียบกัน

ความสำเร็จของวอลเลย์บอลหญิงไทยมาจากการประเมินตนเอง พร้อมกับการที่เขารู้ว่าอะไรคือจุดเด่น และอะไรคือจุดด้อย แล้วนำข้อมูลต่างๆ มาสร้างผู้เล่น-สร้างทีมเพื่อที่จะนำเอาจุดเด่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ในขณะเดียวกัน เขาก็หาวิธีแก้ปัญหาจุดด้อย ด้วยการเล่นเกมที่ทำให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้น้อย หรือมีโอกาสที่จะได้เปรียบ

เช่น การที่เขาเข้าใจว่าผู้เล่นที่ตัวสูงใหญ่จะเสียเปรียบกับการเล่นบอลเร็ว แล้วเขาก็พัฒนาในส่วนนั้นขึ้นมาเป็นอาวุธ

เขาใช้โค้ชไทยที่มีประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่เขาเสียเปรียบและได้นำเอาสิ่งนั้นมาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อการต่อกรกับคู่ต่อสู้

เขาศึกษาและพัฒนาทั้งโค้ชและผู้เล่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องได้ร้บการพัฒนาควบคู่กันไป

และที่สำคัญ โค้ชของเขาเป็นคนไทยที่มีความเข้าใจธรรมชาติของนักกีฬาไทยทั้งทางด้านสรีระ ตลอดจนความคิดและจิตใจในสภาวการณ์ต่างๆ เพราะโค้ชได้เผชิญมาแล้วในฐานะผู้เล่น เขาสามารถสื่อกันได้เป็นอย่างดีและมีความเข้าใจดีว่าจะต้องสื่ออย่างไรที่จะเป็นการให้กำลังใจแทนการสื่อสารที่นำไปในทางบั่นทอน

ฟุตบอลไทย โค้ชไทยไม่เคยได้รับการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน แม้เพียงในระดับ 10 ยอดทีมของทวีป นิยมที่จะใช้โค้ชต่างชาติที่ขาดความเข้าใจธรรมชาติของนักเตะไทยทั้งทางด้านการควบคุม สรีระ และ สภาวะจิตใจ หรือที่เรียกกันในภาษากีฬาว่า เมนทอล เกม (mental game)

สิ่งที่นักเตะอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน ได้รับคำสั่งแล้วนำไปปฏิบัติได้เป็นสิ่งที่นักเตะไทยส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เพราะพื้นเพการพัฒนาและการที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มันเป็นเรื่องยากที่โค้ชต่างชาติจะเข้าใจได้ และบางคนยอมรับไม่ได้จนถูกปลดหรือลาออกไปในที่สุด

ปัญหาของโค้ชต่างชาติกับทีมฟุตบอลชาติไทย ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของการสื่อสารกันด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่เขาไม่เข้าใจว่าเวลาให้ทำแบบฝึกต่างๆ ทำกันได้ดี

แต่เวลาใส่รูปเกมเข้าไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขัน ทำไมนักเตะของเขาทำกันไม่ได้ หรือสิ่งที่คิดง่ายๆ ทำไมไม่คิด และทำไปตามรูปแบบที่เกมกำหนด (เหมือนกับผู้เล่นที่บ้านของเขา)

ตราบใดที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาฟุตบอลของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยังไม่เข้าใจในจุดนี้ ฟุตบอลไทยก็จะประสบกับความล้มเหลวอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

สมาคมวอลเลย์บอลหญิง เขาให้โอกาสกับตนเองในการเรียนรู้และให้เวลากับตนเองกับการพัฒนาเพื่อที่จะได้นำเอาจุดเด่นมาใช้ ในขณะที่สมาคมฟุตบอลฯ บ้าจี้ไปตามเสียงเรียกร้อง และมุ่งแต่จะให้เห็นผลเดี๋ยวนั้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้

ภาคปฏิบัติของการพัฒนาจะต้องเริ่มต้นมาจากการยอมรับในหลักการ และกับความจริงที่ว่า เรายังขาดการพัฒนาศักยภาพของนักเตะเพื่อการแข่งขันในระดับ 10 ยอดทีมของเอเชีย

ซึ่งมันจะต้องเริ่มต้นมาจากการยอมรับว่าจากองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ที่เราเป็นได้อย่างเก่งเพียงหนึ่งในสิบหกทีม และหาคำตอบและกรรมวิธีที่ถูกต้องให้กับการเลื่อนขึ้นไปอยู่ในระดับ 10 ทีม

ซึ่งไม่ใช่การนำเอาโค้ชต่างชาติเข้ามาเป็นโค้ชนักฟุตบอลที่ได้รับการปลุกปั้นและปลูกฝังมาจากโค้ชไทย

เรื่องโดย "มร.เอ็ม 79"

ขอบคุณเนื้อหาจากคอลัมน์ จัดหนัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook