แรงผลักดันอันแรงกล้าของฟุตบอลญี่ปุ่น
หลังจากชมฟุตบอลระหว่าง “ทีมชาติไทย” กับ “ทีมชาติญี่ปุ่น” ซึ่งขุนพลช้างศึกแพ้แบบต้องยอมรับความจริง 0-4 ก็เกิดคำถามว่าทำไมวงการฟุตบอลของประเทศนี้ถึงพัฒนาขึ้นมาเร็วมากด้วยระยะเวลาประมาณ 20 ปี จากทีมประเภทลูกกระจ็อกหรือสมันน้อยของเอเชีย จนกลายเป็นทีมระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว
ถ้าถามแฟนฟุตบอลรุ่นเดอะเกินหลัก 5 หลัก 6 ขึ้นไป เชื่อว่าทุกคนอาจจะจำได้ว่า เวลาเราเจอขุนพลซามูไร เป็นปกติที่เราจะไล่ถล่มคู่แข่งกันเลยทีเดียว แต่พอมายุคนี้ต้องยอมรับว่านี้คือ “เบอร์ 1 ของเอเชีย” ซึ่งตลอด 3 วันที่สัมผัสกับกลิ่นอายกับฟุตบอลญี่ปุ่น พอสรุปได้คร่าวๆดังนั้น
สิ่งที่เห็นจากฟุตบอลญี่ปุ่นคือ “แรงผลักดัน” ซึ่งคนญี่ปุ่นอยากเห็นฟุตบอลของเค้าไปอยู่ในระดับโลกจนเป็น “ความฝัน” ของชาวแดนอาทิตย์อุทัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เห็นได้จากพวกการ์ตูนฟุตบอลต่างๆที่ออกมาแต่ที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้น “กับตันซึบาสะ” ที่คอการ์ตูนชาวไทยรู้จักไม่น้อย
ทำไมต้อง “การ์ตูน” ส่วนนึงมองว่า เป้าหมายของคนที่อ่านการ์ตูนคือบรรดาเด็กผู้ชายที่กำลังโตขึ้นมาซึ่งถ้าได้อ่านการ์ตูนฟุตบอลต่างๆ น่าจะทำให้อยากเห็นทีมชาติจริงๆของตัวเองประสบความสำเร็จเหมือนในการ์ตูน โดยเฉพาะภาพที่เห็นนักเตะเดินเข้าสู่สนามในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และก็เป็นจริงในปัจจุบันแล้ว
นอกจากภาพของทีมชาติญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลก ก็ยังมีการ์ตูนที่เห็นนักเตะไปเล่นให้กับสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปทั้งหลาย อย่างเช่น เรื่อง “วีว่า กัลโช่” ที่พระเอกไปเล่นฟุตบอลในลีก อิตาลีซึ่งเป็นลีกอันดับ 1ของโลกในแง่ของศาสตร์ฟุตบอลเมื่อยุค 20-30 ปีที่แล้ว
เรื่องนี้ก็คงเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราเห็นนักเตะสัญชาติซามูไรหลายคนค้าแข้งอยู่ในยุโรปในปัจจุบันไม่ว่าจะลีกไหน ไม่ใช่แค่ “กัลโช่ เซเรียอา” เพียงลีกเดียว อย่างนักเตะ 23 คนที่ “วาฮิต ซาลิฮ็อตซิส” กุนซือชาวบอสเนียของทีมเข้ามาติดทีมในฟีฟ่าเดย์สัปดาห์นี้มีนักเตะที่เล่นในยุโรปถึง 11 คนด้วยกัน
ที่สำคัญนักเตะเหล่านี้ไม่ได้ไปย้ายทีมเพราะเหตุผลทางการค้าหรือเป้าหมายการตลาดเอเชียเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน แต่ทีมในยุโรปก็ยอมรับในฝีเท้าของนักเตะปลาดิบ เห็นได้จากหลายคนที่เป็นนักเตะตัวหลักของสโมสรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะ “ชินจิ คากาวะ” “เกงกิ ฮารากูชิ” “ทาคามิ อาซาชิ” “โกโตกุ ซากาอิ” ที่เล่นในลีกเมืองเบียร์ “บุนเดสลีกา” หรือในลีกอันดับ 1 ยุคนี้ “พรีเมียร์ลีก” ก็มี “มายะ โยชิดะ” กับ ชินกิ โอกาซากิ”
มุมมองของคนญี่ปุ่นต่อกีฬาชนิดนี้ที่ผมชอบ แตกต่างจากหลายๆประเทศเพราะจากป้ายโฆษณาที่น่าจะเป็นของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในสนามที่สังเกตุในเกมวันก่อน คือ ป้ายที่เขียว่า “One Asia One Goal” ซึ่งความหมายให้ความรู้สึกถึงความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ
โดย “โร้ดแมป” ของสมาคมฟุตบอลที่นี้หลังจากนี้ใช้ “ความฝัน” เป็นแรงขับดัน กับภาพของนักฟุตบอลญี่ปุ่นคว้าแชมป์โลก ต้องบอกก่อนว่า “ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่น” ได้แชมป์โลกไปแล้ว เมื่อปี 2011
ส่วนฟุตบอลชายคือ ภายในปี 2050 ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ขุนพลซามูไรยกระดับจากทีมประเภทแจกแต้มในฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายขึ้นมาเป็นม้ามืด โอกาสเห็นทีมจากเอเชียคว้าแชมป์โลกก็มีโอกาสเป็นไปได้ในชาตินี้ครับ
แบงค์ พิพัช