เนวินส่งสารถึงบังยี26ข้อ

เนวินส่งสารถึงบังยี26ข้อ

เนวินส่งสารถึงบังยี26ข้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟตบอล : นาย เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดได้ส่งสารถึง นาย วรวีร์ มะกุดี รักษาการณ์นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยผ่านเวปไซด์ทางการของสโมสร

โดยได้ชี้แจงในสารเป็นทั้งหมด 26 ข้อและมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

 

 

 

 

“นายวรวีร์ กับ สมาคมฟุตบอล จะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้”
เนวิน  ชิดชอบ
ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 
พันธะผูกพัน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กับ กฎหมายไทย ที่ ฟีฟ่า ไม่เกี่ยว 
เมื่อ วรวีร์ มะกูดี  จงใจฉีกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 96
ผลที่จะตามมาคือ สมาคมฟุตบอล สิ้นสภาพ”แห่งประเทศไทย”

1.นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556

2. ปัจจุบัน นายวรวีร์ มะกูดี  ไม่ได้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แล้ว มีสถานะเพียง “รักษาการนายกสมาคมฯ” หมายความว่า เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในห้วงเวลาที่ไม่มีนายกสมาคมฟุตบอลฯ เท่านั้น

3. แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 85 จะกำหนดให้รักษาการนายกสมาคม ปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีนายกสมาคมคนใหม่ มารับหน้าที่ต่อไป  ก็เป็นการกำหนดโดยมีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานที่เป็นงานประจำวัน เช่น งานธุรการ ตอบจดหมาย รับ-ส่งหนังสือ งานจัดการแข่งขัน งานบัญชีการเงิน ต้องหยุดชะงัก แต่การปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ย่อมจะไม่ครอบคลุมถึงงานในเชิงนโยบายหรือ งานแก้ไขข้อบังคับของสมาคม ที่กำลังพยายามทำกันอยู่ในขณะนี้  แล้วนำเหตุนี้มาเป็นข้ออ้างว่า หากไม่มีการเลือกตั้งตามธรรมนูญใหม่ ก็จะอยู่กันไปเรื่อยๆ

4. ข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พ.ศ.2546 (ฉบับปัจจุบัน) ข้อ 17.3 กำหนดไว้ เมื่อสภากรรมการ จะพ้นตำแหน่ง ให้นายกสมาคม จัดให้มีการประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมฯ และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ย่อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของข้อบังคับอยู่แล้วว่า รักษาการนายกสมาคม ควรจะปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ไม่เกิน 30 วัน  ไม่ใช่มาอ้างกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 85 ว่ายังอยู่ไปได้เรื่อยๆ  เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง  กรณีนี้นายวรวีร์ ไม่ได้ทำตามข้อบังคับ ข้อ 17.3  คือไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมฯ และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง คือ 16 มิถุนายน  จึงสรุปได้เลยว่านายวรวีร์ จงใจละเว้นที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับ โดยมีเจตนาทุจริต เพื่อประโยชน์ของตัวเอง  หากมีเจตนาสุจริต ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 17.3 แล้ว ปัญหาทั้งหมด ก็จะไม่เกิดขึ้น
 
5. ข้อบังคับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พ.ศ.2546 (ฉบับปัจจุบัน) ข้อ 21.1 เขียนไว้ว่า สภากรรมการจะจัดให้มีการประชุมใหญ่พิเศษตามความจำเป็นเมื่อใดก็ได้  เว้นแต่ในกรณีที่สมาชิกสามัญมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด มีหนังสือร้องขอ  จะต้องให้มีการประชุมใหญ่พิเศษ ภายใน 21 วัน นับตั้งแต่วันที่สภากรรมการได้รับหนังสือร้องขอ  คำร้องขอนี้สมาชิกสามัญจะต้องแจ้งญัตติที่จะเสนอต่อที่ประชุมให้สถากรรมการ ด้วย ในกรณีนี้ ปรากฎแล้วว่านายกสมาคม ไม่ดำเนินการตามข้อบังคับ ข้อ 17.3 ไม่เรียกประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องทำก่อนพ้นวาระ คือวันที่ 16 มิถุนายน 2556  สมาชิกได้สอบถามแล้วก็เงียบ วันที่ 2 กรกฏาคม 2556 สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด  จึงเข้าชื่อกัน เรียกร้องให้มีการจัดประชุมใหญ่พิเศษ  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามข้อบังคับ จะเห็นได้ว่าข้อบังคับ ข้อ 21.1 ได้สร้างระบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ กับ นายกสมาคม ที่ไม่เคารพข้อบังคับของสมาคมไว้ด้วย

6. จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพษณิชย์ มาตรา 85 กำหนดให้สถานะ “รักษาการ” หรือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว  มีหน้าที่จัดการงานเท่าที่จำเป็น และ ดำเนินการจัดการเลือกตั้งตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ ข้อบังคับที่มีอยู่  เท่า นั้น  และข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯ ข้อ 17.3 ก็กำหนดเวลาชัดเจนว่า ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 30 วัน

7. โดยหลักปฏิบัติทั่วไป ผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในฐานะ “รักษาการ”  จะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งในเชิงนโยบาย และ การออกกฎ ข้อบังคับ หรือ ประกาศใดๆ ที่เป็นภาระผูกพันต่อเนื่อง  จะรอให้ผู้บริหารที่จะเกิดขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง เป็นผู้ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย และดำเนินการ

8. เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน คือ กรณีนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง  เพราะครบวาระ ก็มีสถานะเป็นเพียง “รักษาการนายกรัฐมนตรี” คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ชั่วคราว ในห้วงเวลาที่รอให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่  ในระยะเวลาที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี  รักษาการนายกรัฐมนตรี  จะไม่ออกกฎ ประกาศ หรือ ข้อบังคับใดๆ ที่มีผลบังคับใช้เหมือนกฎหมาย ในทุกๆ กรณี

9. แม้แต่ รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังมีขอบอำนาจการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และมีประเพณีปฏิบัติตามกรอบธรรมาภิบาลที่ดี ดังกล่าว  แต่เหตุใดนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเพียงรักษาการนายกสมาคม จึงยังดึงดันที่จะเสนอแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองสมาคม ซึ่งเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับนายกรัฐมนตรีจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศ นั่นเอง มีความเหมาะสมหรือไม่ ทุกคนย่อมจะทราบดี ยิ่งเป็นการแก้ธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญคือเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง ตัดสิทธิสมาชิก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง ที่จะได้กลับมาเป็นนายกสมาคม อีก  ย่อมไม่มีความชอบธรรม  แม้จะอ้างว่าเป็นธรรมนูญที่ฟีฟ่า สั่งให้ทำ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นมาได้
 
10. โดยปกติ การเลือกตั้งใดๆ ก็ตาม จะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ กติกา ข้อบังคับที่มีอยู่ ใช้อยู่ ณ เวลาที่จะต้องทำการเลือกตั้ง  ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใด ระดับใด ที่จะใช้กฎ กติกา ในอนาคต ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากเสียงส่วนใหญ่จากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกขององค์กรนั้นๆ
11. โดยปกติ ก่อนการลงมติใดๆ ของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก จะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และอิสระ ปราศจากการชี้นำ แทรกแซงจากบุคคลใด หรือ องค์กรใด และที่ประชุมจะต้องรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคน และเมื่อถึงเวลาลงมติ จะต้องให้สมาชิกได้ใช้สิทธิลงมติอย่างอิสระ  ไม่ใช่มีการชี้นำ และ ข่มขู่ต่างๆ นานา ว่าหากสมาชิกไม่ลงมติไปในทิศทางหรือแนวทางที่ตนต้องการ จะได้รับผลกระทบอย่างไร  ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 
12. การเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่ให้สมาชิกได้มีสิทธิมีเสียงมีส่วนในการพิจารณากำหนด ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นการกำหนดของฟีฟ่า ก็ตาม เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ขัดกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

13. การตัดสิทธิการลงมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกของสมาคม ซึ่งมีอยู่ 179 สมาชิก ให้เหลือเพียงบางส่วน และ การนำบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม คือ บางส่วนของ 72 เสียง (ตามข้อบังคับใหม่) ไม่เคยสมัครเข้าเป็นสมาชิก ไม่เคยจ่ายค่าบำรุงสมาคม ไม่เคยปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม เข้ามาลงมติในที่ประชุมใหญ่   ซึ่งขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 97  ที่กำหนดว่า “สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน”  และไม่มีบทบัญญัติข้อใด ที่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีสถานะเป็นสมาชิก เข้าร่วมประชุมในที่ประชุมใหญ่ และใช้สิทธิได้เสมือนหนึ่งเป็นสมาชิก

14.ในขณะที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 96 กำหนดว่าการประชุมใหญ่ของสมาคมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถึงแม้กฎหมายจะเขียนท้ายมาตรา 96 ว่า “เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคม จะกำหนดองค์ประชุมไว้เป็นอย่างอื่น” แต่คำว่า “อย่างอื่น” ในที่นี้  น่าจะหมายถึงจำนวนสัดส่วนของสมาชิก อาจจะเปลี่ยนแปลงได้  ไม่ใช่การนำผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เข้ามาร่วมประชุม และ ร่วมลงมติในที่ประชุมใหญ่ ด้วย เนื่องจากผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก ย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสมาคมแต่ต้น

15. ข้อ 20 ของข้อบังคับใหม่ ที่นายวรวีร์ มะกูดี พยายามจะนำมาใช้ นี้ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ที่ประชุมใหญ่ เป็นที่ประชุมซึ่งสมาชิกของสมาคมทั้งหมด มาร่วมประชุมตามกำหนด เป็นที่ประชุมสูงสุด และมีอำนาจในทางนิติบัญญัติของสมาคม ที่ประชุมใหญ่ที่มีการประชุมถูกต้องตามที่กำหนดเท่านั้นที่มีอำนาจในการลงมติ  แต่ ข้อ 21 กลับเขียนว่า ที่ประชุมใหญ่ประกอบผู้แทนจำนวน 72 คน ซึ่งมีทั้งคนที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม  แล้วยังให้อำนาจ 72 คนนี้  ไปใช้สิทธิลงคะแนนแทนคนอื่นอีกด้วย  ซึ่งขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 96 ที่บอกว่า “สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน” อย่างชัดเจน

16. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะออกข้อบังคับที่ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้  ไม่ว่าจะอ้างเหตุใดๆ ก็ตาม  ซึ่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังดึงดันที่จะออกข้อบังคับเช่นนี้มาตัดสิทธิสมาชิก
 
17. มีข้อพึงสังเกตว่า ในข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯฉบับใหม่ ที่นายวรวีร์ มะกูดี พยายามจะนำมาใช้นี้ มีสาระสำคัญที่ขัดกับพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย คือ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคม ข้อ 38 กำหนดว่า “นายกสมาคมฯ จะได้รับเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ มีวาระ 4 ปี  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล ข้อ 84 วรรค 1 ของธรรมนูญนี้”
 
18. เหตุที่ข้อ 38 ต้องเขียนแบบนี้ เพราะข้อบังคับที่อ้างว่าฟีฟ่า จะให้ใช้นี้มีสาระสำคัญที่ขัดกับ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้กรรมการสมาคม อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี  นายวรวีร์ จึงต้องเขียนบทเฉพาะกาล ไว้ใน ข้อ 84 ว่าวาระในการดำรงตำแหน่งของนายก อุปนายก กรรมการกลางของสภากรรมการ ตลอดจนถึงประธาน รองประธาน คณะกรรมการขององค์คณะตุลาการ กำหนดวาระให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี โดยให้เริ่มใช้ได้ในการประชุมใหญ่ปี พ.ศ.2558  ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับพ.ร.บ.การกีฬา  สำหรับวาระในการดำรงตำแหน่งที่จะมาจากการการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2556 ให้มีวาระในการดำรงตำแหน่งสองปี ในกรณีที่พ.ร.บ.การกีฬา ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่ในปีพ.ศ.2558 ให้การกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งต่างๆ มีวาระ 2 ปี จนกว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.การกีฬา เสร็จสิ้น

19. นายวรวีร์  เติมบทเฉพาะกาล ข้อ 84 นี้ เข้าไป เพราะได้รับการทักท้วงจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าข้อบังคับที่จะใช้ใหม่ ขัดกับพ.ร.บ.การกีฬา  วิธีการแก้ไขก็คือ ใส่บทเฉพาะกาล เข้าไปว่า วาระการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมฟุตบอล จะต้องสอดคล้องกับพ.ร.บ.การกีฬา และให้นายกสมาคมฟุตบอล มีวาระ 2 ปี ไปจนกว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.การกีฬา  หมายความว่า ในประเด็นนี้ นายวรวีร์ ไม่ได้ทำตามฟีฟ่ากำหนด แต่ทำตามกฎหมายไทย กำหนด และ ถ้ากฎหมายการกีฬา ไม่แก้ไขให้เป็น 4 ปี นายกสมาคมฟุตบอล ก็จะมีวาระ 2 ปี ซึ่งขัดกับธรรมนูญฟีฟ่า ที่ให้มีวาระ 4 ปี  ทำไมประเด็นนี้ ฟีฟ่าไม่แบน
 
20.ในทางตรงกันข้าม นายวรวีร์ มะกูดี กลับจงใจเขียนข้อบังคับข้อ 21 ให้ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 96  คือ เรื่องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคม เพียง 72 เสียง แทนการให้สมาชิกทั้งหมดมีสิทธิและอ้างว่าต้องทำตามฟีฟ่ากำหนด  เป็นเหตุให้ไม่ต้องทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ทำไมนายวรวีร์ ไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันคือ เขียนบทเฉพาะกาล ไว้ว่า การใช้ข้อบังคับข้อ 21 ต้องสอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจะใช้ 72 เสียงตามแบบที่ฟีฟ่า กำหนด ภายหลังจากที่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 96 และ 97 เรื่ององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ และ ผู้มีสิทธิออกเสียง  แล้วเสร็จเสียก่อน หากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ใช้ตามข้อบังคับเดิมไปก่อน  ทำไมนายวรวีร์ มะกูดี จึงปฏิบัติสองมาตรฐาน ในสองประเด็นนี้ กับ พ.ร.บ. 2 ฉบับ เขียนข้อบังคับให้สอดคลอ้งกับพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย  แต่จงใจขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

21. มาตรา 55 ของพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย  ในฐานะเจ้าพนักงานรักษากฎหมาย มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตที่ให้แก่สมาคม  ในกรณีที่สมา คมไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การกีฬาฯ หรือ ดำเนินการขัดกฎหมายซึ่งธรรมนูญใหม่ของสมาคมฯ ที่นายวรวีร์ พยายามจะนำมาใช้ให้ได้  มีสาระสำคัญที่ขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างชัดเจน  ย่อมเป็นเหตุให้การกีฬาแห่งประเทศไทย เพิกถอนการอนุญาตสถานะ "แห่งประเทศไทย" ของสมาคมฟุตบอล ที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้อนุญาตได้

22. ในกรณีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทยเพิกถอนการอนุญาต "แห่งประเทศไทย" สมาคมฟุตบอล จะไม่มีศักดิ์และสิทธิ ในฐานะสมาคมตัวแทนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ตามกฎหมายกำหนด

23. เมื่อไม่มีสถานะ "แห่งประเทศไทย" อย่างเป็นทางการ ฐานะของสมาคมฟุตบอล ในฟีฟ่า จะถูกพิจารณาทบทวนใหม่ เนื่องจากการเป็นสมาชิกของฟีฟ่า จะได้รับการพิจารณา ก็ต่อเมื่อเป็นสมาคมแห่งประเทศ อย่างเป็นทางการเท่านั้น หมายความว่า สมาคมฟุตบอลที่เลือกตั้งนายกสมาคม และกรรมการสมาคม ขัดกฎหมาย  มีโอกาสจะถูกแบน นั่นเอง

24. ถามว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ จะรับรองการเลือกตั้งตามธรรมนูญใหม่ ที่สมาคมฯ กำลังผลักดัน โดยอ้างว่าฟีฟ่า บังคับใช้แล้ว ได้หรือไม่ คำตอบคือ หากผู้ว่าการการกีฬาฯ ลงนามรับรอง ก็เท่ากับว่า เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากใช้อำนาจรับรองการเลือกตั้งที่ขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ให้ผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก ใช้สิทธิเลือกตั้ง และ สกัดกั้น ขัดขวางสมาชิก ไม่ให้ใช้สิทธิ

25. ทางออกของกรณีนี้ คือ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าพนักงานรักษากฎหมาย จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้รัฐในฐานะผู้ให้งบอุดหนุนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้รับความเสียหายได้ ซึ่งผมจะดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าพนักงานเหล่านี้ หากละเว้นที่จะดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้กระทำการขัดกฎหมาย

26. ขอย้ำว่าสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ในฐานะนิติบุคคลที่ก่อตั้งและดำเนินการภายใต้กฎหมายไทย เช่นเดียวกับที่ฟีฟ่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศที่ตั้งของฟีฟ่า และ เอเอฟซี ต้องปฏิบัติตามกฎหมายมาเลเซีย ประเทศที่ตั้งของเอเอฟซี

ความสับสนวุ่นวายในวงการฟุตบอลไทยนี้ จบได้ง่ายๆ หากทุกคนที่เกี่ยวข้องเคารพกฎหมายไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย ให้ถูกต้องครบถ้วน  ก่อนที่จะนำตัวเองเข้าสู่กระบวนการรับรองธรรมนูญใหม่ของฟีฟ่า แล้วปฏิบัติตามธรรมนูญใหม่ เพื่อที่จะสามารถเข้าร่วมในเวทีนานาชาติ อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย และสง่างาม มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับชาติอื่นๆ บนเวทีโลก ต่อไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการฟุตบอลไทย ถ้าเรายอมแพ้ต่อคำขู่ต่างๆ ของคนบางคนบางกลุ่ม ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม วงการฟุตบอลไทย จะไม่มีวันก้าวหน้าไปไหนได้ ผมและแฟนบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะไม่ยอมให้คนเหล่านั้น ทำอะไรได้ตามใจอีกต่อไป คนไทยทุกคน แฟนบอลชาวไทยทุกคน สโมสรทุกสโมสร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เหมือนกัน แล้ว สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ภายใต้การรักษาการของ     นายวรวีร์ มะกูดี จะมีสิทธิพิเศษกว่าสมาคมอื่นๆ โดยไม่ต้องทำตามกฎหมายไทย ได้อย่างไร 


 
ขอแสดงความนับถือ
เนวิน ชิดชอบ
ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook