ทำไม เจมส์ มิลเนอร์ ดีกว่า ธีโอ วัลค็อตต์ ?
อังกฤษ มีโปรแกรมที่จะพบกับ อิตาลี ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยสื่อต่างๆ ก็ออกมาจับคู่คีย์แมนทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็น สตีเว่น เจอร์ราร์ด กับ อันเดรีย ปีร์โล่ หรือ 2 แบดบอย อย่าง เวย์น รูนี่ย์ กับ มาริโอ บาโลเตลลี่
ขณะที่ในแคมป์ทีมชาติอังกฤษ เวลานี้กำลังลุ้นอยู่ว่า ธีโอ วัลค็อตต์ ที่ลงมาเป็นตัวสำรองและทำผลงานได้ดีในรอบแรก จะได้สตาร์ตในเกมฟาดแข้งกับขุนพล "อัซซูรี่" หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็ยังต้องรอจนกว่า รอย ฮอดจ์สัน จะส่งชื่อก่อนลงสนาม
แต่ในคอลัมน์วันนี้ มีเหตุผล...ทำไม เจมส์ มิลเนอร์ จึงดีกว่า ธีโอ วัลค็อตต์ ในการที่จะออกสตาร์ทเป็น 11 ตัวจริง
มดงาน
แม้ว่าจะไม่ใช่นักเตะที่เล่นได้ตื่นเต้นที่สุดในโลก แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธลูกขยันของอดีตแข้งจาก ลีดส์ ยูไนเต็ด รายนี้ ทั้งการวิ่งขึ้น-วิ่งลงช่วยทีมทั้งในเกมรุกและรับ กับแนวริมเส้นด้านข้าง เรียกว่าเป็น "มดงาน" ของทัพสิงโตคำราม ชุดนี้เลยก็ว่าได้
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นเหตุผลที่ รอย ฮอดจ์สัน ตัดสินใจเลือก เจมส์ มิลเนอร์ ออกสตาร์ตมากกว่า ธีโอ วัลค็อตต์
ในเกมรอบแรกนัดสุดท้ายกับ สวีเดน จะเห็นว่า มิลเนอร์ วิ่งไม่หยุดและช่วยตัดเกมจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วย วัลค็อตต์ ในครึ่งหลัง ซึ่งดาวเตะอาร์เซนอล ที่ลงไปแทนนั้นอาจจะเด่นเพียงเกมรุก
นอกจากนั้้นยังได้รับคะแนนที่ใช้ได้เล่นกับความสามารถที่เล่นในรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งมาจากความขยันของ มิลเนอร์ และ การช่วยทีมในหลายๆ อย่าง จนบรรลุเป้าหมายนั่นเอง ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง
แม้อังกฤษ จะมีผู้เล่นในตำแหน่งเกมรุกไม่น้อยก็ตาม แต่บางทีการใช้ มิลเนอร์ ที่เป็นแข้งสไตล์อังกฤษโบราณแบบไร้เทคนิคอยู่ในทีม ก็แสดงให้เห็นได้ว่าสไตล์การเล่นเช่นนี้ยังไม่ตายไปจากฟุตบอลสมัยใหม่
ช่วยเหลือและป้องกัน
การที่มี เกล็น จอห์นสัน อยู่ในพื้นที่แบ็กขวา ตรงนี้ไม่มีใครปฏิเสธอยู่แล้วกับการเติมเกมขึ้นมาบุกของดาวเตะจาก ลิเวอร์พูล แต่ในจังหวะที่เติมเกมบุกนั้้น หากอังกฤษเกิดพลาดเสียบอลขึ้นมา เกล็น จอห์นสัน ก็อาจใช้ความเร็วถอยกลับมายืนตำแหน่งได้เช่นกัน แต่ทว่าก็ไม่ทุกครั้ง
ซึ่งการมี เจมส์ มิลเนอร์ คอยเป็นแบ็กอัพ ถอยลงมาซ้อนช่วยในจังหวะที่ จอห์นสัน เติมเกมนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่อุ่นใจไม่น้อยในแนวป้องกัน ขณะที่คุณสมบัติของ ธีโอ วัลค็อตต์ แม้จะมีตรงจุดนี้ แต่ก็ยังห่างไกลกับ มิลเนอร์ หลายช่วงตัวเหลือเกิน
อีกคุณสมบัติที่หลายๆ คนอาจลืมไปแล้ว นั่นก็คือ เจมส์ มิลเนอร์ เคยผ่านประสบการณ์การเล่นในแผงแบ็กโฟร์มาแล้วในระดับสโมสร ซึ่งผิดกับ วัลค็อตต์ ที่ตะบันทำเกมรุกเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าในเกมกับอิตาลี รอย ฮอดจ์สัน น่าจะส่ง มิลเนอร์ และ จอห์นสัน ออกสตาร์ตทางด้านขวาเหมือนเดิม เพราะทางที่ดีอังกฤษคงจะเล่นด้วยการปลอดภัยเอาไว้ก่อน
ตัวเลือกเกมรุกมีมากพอแล้ว
เวย์น รูนี่ย์, แดนนี่ เวลเบ็ค, แอชลี่ย์ ยัง และ สตีเว่น เจอร์ราร์ด ทั้งหมดถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีคุณสมบัติในการทำประตูที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว นอกจากนั้นที่ม้านั่งสำรอง ก็ยังมีทั้ง เจอร์เมน เดโฟ และ แอนดี้ แคร์โรลล์
ซึ่งจุดนี้คงไม่มีความจำเป็นที่ รอย ฮอดจ์สัน จะต้องส่งผู้เล่นเกมรุกธรรมชาติลงโจมตีชนิดเต็มรูปแบบ โดยที่ปราศจากการป้องกันในเกมรับ
หากมองย้อนไปในรอบแบ่งกลุ่ม ขุนพล "สิงโตคำราม" ทำประตูได้ในทุกนัด ซึ่งเหล่าบรรดาศูนย์หน้า ก็พาเหรดกันใส่สกอร์ได้เกือบทุกคน เพราะฉะนั้นการส่ง เจมส์ มิลเนอร์ ลงไป ถือเป็นการช่วยในเกมบุกในอีกระดับหนึ่งแถมยังลดแรงเสียดทานจากการโจมตีของคู่ต่อสู้ฝั่งตรงข้ามได้ด้วยเช่นกัน
แม้กองกลางจากแมนฯ ซิตี้ จะถูกตำหนิเรื่องการเปิดบอลไม่แม่น และเล่นแบบพื้นๆ จนเกินไป แต่หากนำ มิลเนอร์ ไปเปรียบกับสำนวนไทย ก็ไม่ต่างกับการที่มิดฟิลด์ผู้นี้ทำหน้าที่เสมือน "ปิดทองหลังพระ" ให้กับอังกฤษนั่นเอง
การที่อังกฤษ ขยับเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นผลมาจากนักเตะทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ซึ่งจุดนี้ก็หวังว่า มิลเนอร์ จะเล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเองได้ต่อไปในนัดที่จะเจอกับอิตาลี
วัลค็อตต์ เหมาะเป็นซูเปอร์ซับมากกว่า
อาจจะต้องเห็นใจไม่น้อยกับการที่ เจมส์ มิลเนอร์ ถอยมาเล่นเกมรับและถูกคู่ต่อสู้ฝั่งตรงข้ามกระชากลากเลื้อย อย่างเช่นที่ ธีโอ วัลค็อตต์ ทำให้เห็นในนัดพลิกกลับมาชนะสวีเดน ซึ่งนัดนั้นกองกำลัง "ทรีไลออนส์" ตกเป็นฝ่ายตามหลัง
แม้ในถิ่นเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม วัลค็อตต์ จะได้ลงเป็นตัวจริงเป็นส่วนใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าในทัวร์นาเมนต์นี้การเป็น "ซูเปอร์ซับ" จะเหมาะกับแข้งวัย 23 ปี มากกว่า เนื่องจากคุณสมบัติของอดีตแข้งจากเซาแธมป์ตัน เป็นจำพวกลงไปเปลี่ยนเกมในยามที่สถานการณ์คับขัน ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก แอรอน เลนน่อน ที่ไม่ติดมาในทีมชุดนี้
มันใช่ว่าจะยากเกินแก้ไข
ย้อนไปกว่าทศวรรษ จะเห็นได้ว่าอังกฤษมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงการเล่นเท่าไหร่นัก ซึ่งผลที่ตามมาคือพวกเขาไปได้ไม่ไกลในทัวร์นาเมนต์ใหญ่
แต่มาถึงศึกยูโร 2012 รอย ฮอดจ์สัน กล้าที่จะเรียกผู้เล่นเลือดใหม่เข้ามาโดยไม่เกรงเสียงคำวิจารณ์ และใช้เวลาก่อนเปิดฉากรายการนี้วางแผน รวมทั้งเค้นประสิทธิภาพของนักเตะออกมา จนทำให้ทีมสามารถยันเสมอ ฝรั่งเศส ก่อนกลายเป็นที่ 1 ของกลุ่ม ดี
กรณีตัวอย่างที่ผ่านมา สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ แฟรงค์ แลมพาร์ด ถือว่าทำผลงานในระดับสโมสรได้เป็นอย่างดี แต่หากจับทั้งคู่มาร่วมลงรับใช้ชาติแล้ว เกมแดนกลางของอังกฤษ ดูเหมือนจะไม่สอดประสานและด้อยประสิทธิภาพลงไปทันตาเห็น
และหากเปรียบเทียบระหว่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด และ สก็อตต์ ปาร์คเกอร์ ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กองกลางจากเชลซีนั้นดีกว่า แต่ทว่า ปาร์คเกอร์ กลับเล่นร่วมกับ เจอร์ราร์ด ในยูโร 2012 ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเมื่อย้อนไปในปี 1966 ครั้งที่อังกฤษ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก... 11 ผู้เล่นในครั้งนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นเพราะทั้ง 11 ผู้เล่นนั้นเล่นร่วมกันเป็นทีมได้อย่างดี
คราวนี้ดูเหมือนว่า รอย ฮอดจ์สัน จะใช้คนถูกกับงานจนไม่เกิดปัญหา และนำมาซึ่งผลการแข่งขันที่ดี จนไม่รู้ว่าจะต้องหาเหตุผลใดมาเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงอีกในรอบก่อนรองชนะเลิศ
เรื่องโดย"ตัวต่อ"