ฟุตบอล : "ซัวเรซ" ไม่น่าเห็นใจซักนิด
ฟุตบอล : คุณหลอกบางคนได้ในบางเวลา แต่คุณหลอกทุกคนไม่ได้ตลอดเวลา
ในฟุตบอลแล้วคุณไม่สามารถทิ้งตัวล้มครั้งแล้วครั้งเล่า และหวังว่าจะตบตากรรมการได้ทุกครั้งไป
การพุ่งล้มกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง และเป็นหัวข้อที่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันพิสูจน์ว่าในเกมฟุตบอลอังกฤษแล้ว เราไม่ยอมทนต่อพฤติกรรมแบบนั้น และน่าดีใจที่เราไม่ได้มีเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยเท่ากับประเทศอื่นๆ
ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าจำนวนนักเตะต่างชาติที่มาเล่นที่นี่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนการตบตาและพุ่งล้มของที่นี่สูงขึ้นตาม
แน่นอน ถ้าว่ากันตามกฎแล้ว จุดโทษแต่ละครั้งควรจะถูกตัดสินไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นเท่านั้น
แต่กรรมการดูรายการแมตช์ออฟเดอะเดย์ พวกเขาดูถ่ายทดสดการแข่งขัน และพวกเขาก็คุยกัน พวกเขาจึงรู้ว่าใครบ้างที่เป็นจอมตบตา
ถ้านักเตะคนไหนได้จุดโทษที่น่ากังขา และกรรมการมารู้ตัวทีหลังว่าโดนหลอก เรื่องนี้ก็จะแพร่ไปทั่วในหมู่กรรมการด้วยกัน และนักเตะคนนั้นก็จะถูกกาหัวไว้เลยว่าขึ้นชื่อในเรื่องนั้น
ลองดู หลุยส์ ซัวเรซ เป็นตัวอย่าง ผมชอบเขาในฐานะนักเตะ เขาฝีเท้าเยี่ยม มีลีลาการลากเลื้อยที่แพรวพราว และถือเป็นหนึ่งในนักเตะแถวหน้าของพรีเมียร์ลีก
แต่เขาขึ้นชื่อเรื่องการทิ้งตัวล้มง่ายเกินไป เขาค่อนข้างโอเวอร์แอ๊กติ้งไปหน่อยเวลาล้มลงไปกองกับพื้นสนามด้วย และน่าเสียดายที่กรรมการอาจจะมองว่าเขาสวมวิญญาณทอม เดลี่ย์ (นักกระโดดน้ำ) มากเกินไป
ถ้าเขาตบตากรรมการได้ในอาทิตย์นี้ พอถึงอาทิตย์หน้ากรรมการก็จะระแวงเขา แบบเดียวกับที่พวกเขาจะจับตาดูนักเตะที่ชอบเข้าบอลหนักๆ มากเป็นพิเศษ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
บางทีเขาก็พุ่งในจังหวะที่ไม่ควรพุ่ง นั่นหมายความว่าเขาอาจจะไม่ได้จุดโทษในเวลาที่ควรจะได้ เพราะกรรมการติดภาพของเขาไปแล้ว
บางทีมันอาจจะไม่เป็นธรรม แต่ถ้าคุณซื่อสัตย์พอ คุณคงทำอะไรไม่ได้นอกจากคิดว่า "นี่แหละเป็นสิ่งที่คุณได้รับจากการชอบพุ่งล้ม" คุณคงคาดหวังความเห็นใจไม่ได้หรอก นักเตะที่ชอบพุ่งล้มทำตัวเองให้ตกที่นั่งแบบนั้นเอง
ครั้งแรกที่ผมได้เห็นศิลปะการพุ่งด้วยตาตัวเองคือตอนเป็นผู้จัดการทีมปอร์ทสมัธในเกมที่ไปเยือนอาร์เซนอล โรแบร์ ปิแรส เลี้ยงบอลเข้าหากองหลัง แล้วก็ลากขาเข้าไปหาก่อนจะทิ้งตัวล้มลงไป
ตอนแรกผมก็คิดว่ามันเป็นจุดโทษแน่ๆ แต่พอได้ดูภาพรีเพลย์แล้ว ผมช็อกไปเลยและรู้สึกเสียใจ
ลองดูนักเตะบางคนในพรีเมียร์ลีกตอนนี้สิ ตัวอย่างเช่นเซร์คิโอ อาเกโร่กับเอด็อง อาซาร์ พวกเขามีจุดศูนย์ถ่วงต่ำและมีความเร็ว จนใช้บอลหลอกล่อกองหลังให้หัวปั่นได้ ก่อนจะแตะหนีไปในจังหวะสุดท้าย และพวกเขาก็จะโดนแหย่ขาเข้ามาขวางจนได้ฟาวล์
มันเป็นการฟาวล์ที่ชัดเจน แต่เมื่อนักเตะตั้งใจจะลากขาเข้าไปหากองหลังเองและทิ้งตัวล้มเพื่อเอาจุดโทษ นั่นไม่ใช่การฟาวล์
ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักเตะต่างชาติที่ทำแบบนั้น แต่ผมไม่ได้พูดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่เราจะมีนักเตะต่างชาติแห่เข้ามาข้าแข้งที่นี่หรอกนะ
แฟรนนี่ ลี เป็นยอดนักเตะคนหนึ่ง แต่เขาก็รู้วิธีตุกติกที่จะทำให้ได้จุดโทษเช่นกัน แต่เขาถือเป็นข้อยกเว้น เพราะยังคงมีนักเตะในเกาะอังกฤษเองไม่มากนักที่สามารถตบตากรรมการได้ง่ายๆ แบบนั้น แอชลี่ย์ ยังเคยมีปัญหาในเรื่องนี้ และ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็รีบจัดการในทันที
คำพูดที่ว่านักเตะอังกฤษมักจะมีโชคมากกว่ากับการตัดสินของกรรมการในเรื่องจุดโทษ เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ
แต่คำตอบโต้กลับในทันทีก็คือ "อย่าพุ่งล้มและบางทีคุณอาจจะได้จุดโทษบ้าง"
อย่างที่ผมพูดนั่นแหละ นักเตะอังกฤษไม่ใช่คนแพร่กระจายโรคพุ่งล้มนี้
แต่ผมต้องเสริมด้วยว่าผมประทับใจกับ โรแบร์โต้ มันชินี่ นายใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอาทิตย์นี้ ที่เขายอมรับว่าทีมของเขาไม่ควรจะได้จุดโทษในเกมกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
ผมขอชมเชยเขาในเรื่องนี้ กองหลังไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะกางแขนออกไป ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเขาก็จะเสียการทรงตัว ผมรู้สึกเห็นใจเขามาก
มันเป็นการตัดสินที่แย่และไม่ใช่มันจะจะกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ "ศิลปะ" อย่างที่การพุ่งล้มเป็นในบางประเทศ นั่นคือการกระดกบอลไปที่แขนกองหลังเพื่อให้ได้จุดโทษ
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้กังวลจนถึงกับนอนไม่หลับกับเรื่องการพุ่งล้ม ไม่ว่ามันจะดูเป็นความพยายามที่น่าเกลียดแค่ไหนก็ตาม ผมคิดว่าการเข้าเสียบอันตรายเป็นอะไรที่สมควรโดนตำหนิมากกว่าเยอะ
แต่การตัดสินให้ถูกเมื่อมีการพุ่งล้มเกิดขึ้น เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดของกรรมการ
เรื่องโดย "เบบี้ แบร์"
คลิปซัวเรซพุ่งล้ม ?