ยังไม่จบ!กสทช.ขยับอีกรอบ ยื่นอุทธรณ์คดีถ่ายบอลโลก

ยังไม่จบ!กสทช.ขยับอีกรอบ ยื่นอุทธรณ์คดีถ่ายบอลโลก

ยังไม่จบ!กสทช.ขยับอีกรอบ ยื่นอุทธรณ์คดีถ่ายบอลโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กสทช. ยื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด กรณีคำตัดสินของ ศาลปกครองกลาง กรณีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก พ.อ.นที ประกาศลั่น อาร์เอส ต้องทำตามกฎมัสต์เเฮฟ


พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท..) แถลงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ว่า  “กสทช.” ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ในคดี บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล  บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด ฟ้อง “กสทช.” กรณีคำสั่งการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ค.ศ.2014 ตามประกาศ “มัสต์แฮฟ” ในวันเดียวกันนี้แล้ว โดยเป็นการยื่นคำอุทธรณ์ ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
ข้อหนึ่ง การฟ้องคดีของ “อาร์เอส” ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เนื่องจากประกาศ “มัสต์แฮฟ” มีผลบังคับใช้เฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ แต่ “อาร์เอส” เป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และแม้เป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วย แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ กำหนดว่า การจะนำคดีมาฟ้องศาลปกครองได้ ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในประกาศที่พิพาทก่อน คือต้องขอให้ “กสทช.” ยกเว้นการบังคับใช้ประกาศฯ ก่อน แต่ “อาร์เอส” ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนั้น กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
ข้อสอง “กสทช.” มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพแลเป็นธรรม ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ประกอบกับ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จึงมีฐานอำนาจในการออกประกาศ “มัสต์แฮฟ” ที่เป็นข้อพิพาท เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ
 
ข้อสาม ประกาศ “มัสต์แฮฟ” ที่เป็นข้อพิพาท ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2551 เพราะการใช้สิทธิตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ใช้ตามอำเภอใจ เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการจะนำมาเผยแพร่ในกิจการโทรทัศน์ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจอ้างความเป็นผู้ทรงสิทธิแต่เพียงผู้เดียวมายกเว้นกฎหมายอื่น
 
ส่วนการที่ศาลระบุว่าการปฏิบัติตามประกาศ “มัสต์แฮฟ” มีผลทำให้ “อาร์เอส” ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและความเสียหาย เพื่อประโยชน์ประชาชนนั้น  “กสทช.” เห็นว่าการปฏิบัติตามประกาศฯ จำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์บางส่วน อาทิ การขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อชมการถ่ายทอดทั้ง 64 นัด แต่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดสิทธิในการหาประโยชน์จากการถ่ายทอดผ่านบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปอื่น ๆ ซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า “อาร์เอส” ได้รับค่าโฆษณาจากผู้ประกอบกิจการอื่น ในการถ่ายทอดสด รวมถึงได้ค่าตอบแทนจากการให้เอกชนรายอื่น ถ่ายทอดสัญญาณผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของประชาชน ที่จะได้รับจากการออกประกาศ must have จะมีมากกว่าผลประโยชน์ของ “อาร์เอส” ที่ต้องถูกจำกัดลง ไม่ได้เป็นก่อภาระเกินสมควรแต่อย่างใด
 
ข้อสี่ กระบวนการในการพิจารณาคดีของศาลปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลอนุญาตให้ “กสทช.” คัดสำเนาสัญญาระหว่าง “อาร์เอส” กับ FIFA เฉพาะภาษาอังกฤษ จำนวน 10 แผ่น ไม่ได้อนุญาตให้คัดสำเนาได้ทั้งหมด ซึ่งในส่วนที่ให้คัดสำเนาได้ เป็นส่วนหัวข้อทั่วไป ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้เห็นว่า การบังคับตามประกาศ “มัสต์แฮฟ” ที่เป็นข้อพิพาทนี้ จะไม่สามารถทำได้ ซึ่งการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีเช่นนี้ กระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการดำเนินคดี และยังส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงรายการสำคัญ รวมถึงขัดต่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ระบุว่า กระบวนการที่ไม่เปิดเผยเช่นนี้ ศาลปกครองจะนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาไม่ได้
 
พร้อมกันนี้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “กสทช.” ได้ยื่นอุทธรณ์คดีแล้ว ย่อมถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด ดังนั้น หากศาลปกครองสูงสุดยังไม่คำสั่งใดๆ ออกมา ก็ต้องถือว่า ประกาศ “มัสต์แฮฟ” ยังมีผลบังคับใช้อยู่  ดังนั้น “กสทช.” ต้องบังคับใช้ให้เป็นไปตามประกาศ “มัสต์แฮฟ” ดังนั้น “อาร์เอส” ต้องทำการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ค.ศ.2014 ผ่าน “ฟรีทีวี” รวมทั้งหมด 64 แมตช์ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook