ประวัติศาสตร์ในมือของ 'ริคกี้ หอกใจสิงห์"
ฟุตบอล : บางครั้งในบางคน ชีวิตจริงนั่นยิ่งกว่าในละครครับ และสำหรับชีวิตของ ริคกี้ แลมเบิร์ต นั้นว่ากันว่าชวนให้คิดถึง รอย เรซ แห่งการ์ตูนอมตะ "รอย ออฟ เดอะ โรเวอร์ส" ที่ไม่ใช่ชีวิตของนักเตะซูเปอร์สตาร์ที่ทุกก้าวเดินนั้นสวยงามราวกับมีกลีบกุหลาบโปรย
น้ำตา ความท้อแท้ สิ้นหวัง การถูกปฏิเสธ และอีกมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักเตะศูนย์หน้า ผู้ไร้ซึ่งพรสวรรค์แต่ไม่เคยละซึ่งความพยายาม
วันนี้ ริคกี้ แลมเบิร์ต คือหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของคนอังกฤษอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากการเป็นศูนย์หน้าผู้ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายสโมสร ซึ่งนับย้อนหลังกลับไป 10 ปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน เขายังนั่งจับเจ่าอยู่บนม้านั่งสำรองของ สตอคพอร์ท ซิตี้ มาสู่การเป็นหัวหอกดีกรีทีมชาติอังกฤษ ทำให้หลายคนเริ่มมอง แลมเบิร์ต ในฐานะ "ไอดอล"
เขาคือ "แรงบันดาลใจ" ของนักฟุตบอลตัวสำรองทั่วเกาะอังกฤษ รวมถึงเหล่า "ผู้แพ้" ที่ยังคว้าโอกาสของตัวเองไม่ได้
อย่างไรก็ดีจากการถูกเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษแบบ "ขำๆ" ในเกมกับทีมชาติสกอตแลนด์ ซึ่งว่ากันว่าคงเป็นเพียงโอกาสครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของดาวยิงวัย 31 ปีคนนี้ ซึ่งสวนทางกับรุ่นพี่อย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด และสตีเว่น เจอร์ราร์ด ที่ลงสนามในนามทีมชาติรวมกันเกินคนละ 100 นัด
แต่โชคชะตาทำให้ แลมเบิร์ต ทำประตูให้กับทีมชาติอังกฤษได้ตั้งแต่การสัมผัสบอลครั้งแรก และเป็นประตูชัยเหนือเหล่า "ตาร์ตัน" อีกด้วย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงอนาคตของดาวยิงผู้นี้ว่า ฤา เรื่องราวของเขามันอาจจะไม่ใช่แค่ "นิทานก่อนนอน"
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ แลมเบิร์ต ได้รับโอกาสคือการที่รอย ฮอดจ์สัน ไม่มีตัวเลือกอื่นๆเหลืออยู่เท่าไหร่นัก
แต่จะปฏิเสธอย่างไรว่าแลมเบิร์ต ไม่คู่ควรกับ "โอกาส" นั้น? ในเมื่อจากเกมกับสกอตแลนด์ มาสู่เกมแข่งอย่างเป็นทางการในนัดกับมอลโดวา และเขาก็ยังคงทำผลงานได้ดีเยี่ยมด้วยการทำอีก 1 ประตู และมีส่วนกับหลายจังหวะสำคัญ
โชคชะตายังคงเล่นตลกกับเขาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลานี้อังกฤษไม่เหลือศูนย์หน้าคนใดให้ใช้งานอีกแล้ว หลังดาเนี่ยล สเตอร์ริดจ์ ไม่สามารถเรียกสภาพความฟิตกลับมาได้ทันในเกมกับยูเครน วันอังคารนี้
นั่นหมายถึงการที่ แลมเบิร์ต จะเป็น "ความหวังเดียว" ของมหาชนชาวเมืองผู้ดีไปโดยปริยาย
คำถามมากมายพรั่งพรูขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือเขาจะเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายให้กับอังกฤษได้จริงหรือไม่? เมื่อคู่แข่งครั้งนี้ไม่ใช่ทีมไร้พิษสงอย่าง สกอตแลนด์ หรือมอลโดวา
ยูเครน ภายใต้การนำของมิคาอิล โฟเมนโก้ ไม่เคยแพ้ใครใน 8 นัดที่ผ่านมา และพวกเขายังมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะได้ไปฟุตบอลโลกที่บราซิลในฐานะแชมป์กลุ่ม
ความแข็งแกร่งของทีมจากแดนหลังม่านเหล็กนั้นเป็นของจริงแท้อย่างไม่ต้องสงสัยครับ และนั่นคือความกดดันที่ แลมเบิร์ต กำลังจะต้องเผชิญเป็นครั้งแรก
ในตัวตน แลมเบิร์ต ถือเป็นศูนย์หน้าหัวจิตหัวใจแกร่งอย่างไม่ต้องสงสัย และในวัย 31 พรรษา เขาผ่านร้อนและหนาวมามากพอจะเข้าใจในศาสตร์ของเกมลูกหนัง โดยอาจจะกล่าวได้ว่าฝีเท้าของเขาในระดับนี้นั้นเป็นของจริงแท้และแน่นอน
ใช่เพียงแต่คุณลักษณะของกองหน้าในฉบับ "หมายเลข 9" แบบดั้งเดิมของอังกฤษ แต่แลมเบิร์ต ยังมีความสามารถในการอ่านเกมที่เฉียบขาด การสอดประสานกับเพื่อนที่ยอดเยี่ยม และการผ่านบอลที่ไม่ธรรมดา
อาจจะไม่ใช่สไตล์ที่เด่นจนร้องว้าว แต่บอลออกจากเท้านั้นล้วนมี "ความหมาย"
นั่นทำให้เขาดีกว่าศูนย์หน้าร่างใหญ่ของอังกฤษในช่วงที่ผ่านมาทั้ง ปีเตอร์ เคราช์, เอมิล เฮสกีย์ หรือแม้แต่แแอนดี้ แคร์โรลล์
ดังนั้นปัญหาเดียวสำหรับแลมเบิร์ตที่ผมคาดว่าจะเจอคือเรื่องความกดดันที่เขาจะต้องเผชิญหน้ากับมัน "ตัวต่อตัว" เป็นครั้งแรก
การแบกความหวังของคนอังกฤษไว้นั้นไม่ใช่ "ภาระ" ธรรมดาทั่วไป
และยิ่งคิดถึงการแบกความหวังของทีม "สิงโตคำราม" ในการไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก
สำหรับ แลมเบิร์ต นี่คงเป็นเกมที่เขาตั้งใจจะ "ชน" กับมันให้ถึงที่สุด รีดเร้นขีดความสามารถทั้งหมดที่มีในตัวออกมาให้มากที่สุด
เล่นให้เหมือนกับจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้ลงสนามในเสื้อ "ทรีไลออนส์"
กับโอกาสจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะ "วีรบุรุษ" ของชาติ ให้ผู้คนได้เล่าขานสืบนานเท่านาน
เรื่องโดย "ลูกแม่กิ่ง"
ลูกโขกแจ้งเกิดของแลมเบิร์ต
ประตูของแลมเบิร์ตนัดเจอมอลโดว่า