20 ชุดสุดเห่ยแห่งวงการลูกหนัง
ฟุตบอล : ผมว่าใครก็อยากเห็นความสมบูรณ์แบบ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นความผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเรียน ชีวิต หรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม ยิ่งเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ด้วยแล้ว บางคนถึงขั้นไม่กล้าเดินออกจากบ้านยามที่แต่งตัวไม่ได้ดั่งใจ
แต่บางครั้งในโลกลูกหนังนักเตะก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าพวกเขาจะต้องใส่ชุดอะไรลงทำการแข่งขัน วันนี้ "อารมณ์คมคาย" หยิบเอาตัวอย่าง 20 ชุดสุดเห่ยในโลกลูกหนังมาให้ดู เห็นแต่ละชุดแล้วบอกได้คำเดียวว่า "เพลีย" สุดๆ ก็ไม่เข้าใจว่าดีไซเนอร์ต้องการจะสื่ออะไรถึงทำชุดเหล่านี้ออกมา
20. ชุดแข่งมนุษย์ผัก (ลา โอย่า ลอร์ก้า)
สโมสรลา โอย่า ลอร์ก้า เป็นทีมในลีก เซกุนด้า เบ สเปน (ดิวิชั่น 3) ฉายาว่า "เครื่องจักรบร็อคโคลี่" รังสรรค์ชุดเยือนของทีมได้อย่างน่ากิน เพราะสีเขียวและลวดลายผักสดบนชุดทำเอาคู่แข่งลายตากันไปตามๆ กัน เพราะพวกเขาคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาลที่ผ่านมา พร้อมเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีก เซกุนด้า เบ ปัจจุบันรั้งอันดับ 7 ของตาราง ที่สำคัญชุดของพวกเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเพราะความ "แปลก"
19. โคเวนทรี ปี 1970
ชุดแข่งของทีม "ช้างกระทืบโรง" ชุดนี้ ถูกเย้ยหยันและเหยียดหยามมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังเมืองผู้ดี โดยบรรดาสื่อมักเรียกชุดนี้ว่า "ช่วงเวลาของ ไข่" เพราะลายพาดที่ลากยาวตั้งแต่ใต้ราวนมไปจนถึงหว่างขา ให้ความรู้สึกว่าเป็นเสื้อแบบ "ทีแบ็ก" มากกว่าชุดแข่งขันฟุตบอล
18. ทีมชาติแคเมอรูน 2004
ทัพ "หมอผี" เป็นชาติแรกๆ ของโลกที่พยายามปรับนวัตกรรมชุดแข่งขันให้เกิดขึ้น ดังเช่นชุดนี้ที่ใช้ในศึกแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ เมื่อปี 2004 ที่พยายามออกแบบชุดให้เน้นสรีระของผู้เล่น อย่างไรก็ตามชุดนี้ของทีมชาติแคเมอรูน ทำให้ สหพันธ์ฟุตบอลแคเมอรูน ถูกปรับเงินจำนวน 1.54 แสนเหรียญสหรัฐ (4.62 ล้านบาท) โทษฐานใช้เนื้อผ้าประเภท "ถุงน่อง" มาทำชุดแข่ง รวมทั้งถูกตัดแต้ม 6 แต้มจากเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก เป็นข้อคิดเตือนใจอย่างดีว่า "คิดต่าง บางครั้งก็ไม่ดีเสมอไป"
17. แคทเทอริ่ง ปี 1976
ว่ากันว่า ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรแรกๆ ของลีกแดนผู้ดีที่มีสปอนเซอร์คาดอกเสื้อ โดยรายแรกที่มาตระหง่านอยู่หน้าอกเสื้อทัพ "หงส์แดง" คือ "ฮิตาชิ" เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดังของประเทศ ญี่ปุ่น ในปี 1979 แต่ก่อนหน้าที่ ลิเวอร์พูล จะมีสปอนเซอร์คาดอกเสื้อ 3 ปี สโมสรเล็กๆ อย่าง แคทเทอริ่ง มีบริษัทยางรถยนต์ท้องถิ่นเป็นสปอนเซอร์คาดอก แต่กลับถูกมองว่าเป็นเสื้อนักโทษมากกว่า เพราะดันคาดด้วยตัวอักษรเบ้อเริ่มเต็มหน้าอก
16. เม็กซิโก ปี 1994
ชุดแข่งทัพ "จังโก้" ในศึกชิงจ้าวลูกหนังโลกที่แดนมะกันยังพอทำเนา แต่ชุดผู้รักษาประตูมากกว่าที่ออกแนว "มีปัญหา" เพราะคาดว่าคนออกแบบคงตั้งใจให้ ฮอร์เก้ คัมโปส นายด่านร่างเล็กของทีมชาติเม็กซิโกดูดุดัน จึงออกแบบชุดคล้ายเครื่องแต่งกายของ "เค้าท์ แดร็กคูล่า" ผีดิบดูดเลือดในตำนานสยองขวัญ แต่ก็ดันแต่งแต้มสีสันให้มีลวดลายแฟนตาซีพร้อยไปทั้งตัว ก็เลยออกมาในสภาพนี้นั่นเอง
15. ฮีเรนวีน
เห็นชุดของ ฮีเรนวีน ชุดนี้อย่างเพิ่งตกใจ ผู้ออกแบบมิได้มีเจตนาให้หน่อมแน้ม อาโนเนะ ด้วยลวดลายรูปหัวใจ แต่ที่เห็นเป็นสีแดงๆ จุดๆ นั่นคือ ใบลิลลี่ สัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสระของแดนกังหันลมเค้า ส่วนลายน้ำเงิน-ขาวบนเสื้อคือสีธงประจำเมือง แต่หากเห็นชุดนี้ไกล หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นชุดแข่งของสภากาชาดก็เป็นได้
14. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปี 1920
แนวคิด "วี ฟอร์ วิคตอรี่" ไม่ได้เพิ่งมามีในช่วงทศวรรษหลัง แต่มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว และเคยเกิดขึ้นกับทัพ "ผีแดง" ในยุค 1920 และมันก็ไม่เวิร์คเอาเสียเลย ไม่เชื่อก็ดูกันเอาเองแล้วกัน
13. เรจจิน่า
ทีมในลีกรองของประเทศอิตาลี ทีมนี้ พยายามออกแบบเสื้อให้มีลักษณะลวดลายคล้ายหนังสัตว์ เพื่อความดุดัน แต่ทำไปทำมาออกแนวเหมือน "หนังกลับ" มากกว่า นะครับ
12. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปี 1996
ชุดสีเทาของทีม "ปีศาจแดง" ว่ากันว่านี่เป็น "ชุดอาถรรพณ์" ที่ แมนฯ ยูฯ ใส่ลงทำการแข่งขันเมื่อใด มันไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าใดนัก หลายคนอาจเคยมีโอกาสได้เห็นชุดนี้ น่าจะพอเข้าใจได้ว่าเวลาใส่ไม่มีราศีแชมป์จับเอาเสียเลยจริงๆ
11. เชลซี ปี 1995
ชุดเยือนของทีม "สิงโตน้ำเงินคราม" ที่ตีแหวกแหกกรอบม่านประเพณีไปเป็นสีส้ม-เทา ลวดลายก็ไม่เข้า สีสันก็ไม่เข้า เป็นชุดที่โคตรจะไม่ลงตัว รูปนี้ได้ รุด กุลลิท มาเป็นนายแบบให้อีก ด้วยทรงผมและอารมณ์ ยิ่งทำให้ชุดนี้ดู "เลอะเทอะ" มากขึ้นไปอีกว่าไหมครับ
10. เรเครอาติโบ อูเอลบา
ทีมจากลีกอเดลันเต้ สเปน ทีมนี้เลือกชุดเยือนของเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาได้ไม่ต่างจากลายของการ์ตูนมิกกี้ เมาส์ ก็เล่นน่ารักสดใสขนาดนี้ใครจะไปกลัว
9. ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ปี 1977
ครั้งนั้นทัพ "ไก่เดือยทอง" มีผู้สนับสนุนเครื่องแต่งกายเป็น "คัปปา" แบรนด์กีฬาชื่อดังของอิตาลี ก็เข้าใจว่าสัญลักษณ์ของแบรนด์นี้คือคนคู่ จะทำลายอะไรก็ต้องมี 2 ฝั่งแบบสมดุลกัน แต่การใช้เสื้อสีทอง แบบมีแถบคล้ายสาปเสื้อก็ไม่ใช่ ลายเสื้อก็ไม่เชิงที่ไหล่ทั้ง 2 ข้าง ลากยาวมาถึงหน้าอก แถมปิดทับด้วยตราสโมสร มันเป็นอะไรที่โคตรจะไม่เข้ากัน สมัยนั้นคนเรียกชุดนี้ว่า "มะนาวมีจอน"
8. ซาน โฮเซ่ แคลช
นี่คือทีมในอดีตของลีกสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งดูยิ่งไม่เข้าใจ ว่าคนออกแบบพยายามจะสื่ออะไร สายฟ้า หรือการแบ่งพรรคแบ่งพวก หรืออะไรยังไง งงไปหมด เสื้อบอลโรงงานบ้านเราอาจดูเข้าท่ากว่าในกรณีนี้
7. ชิมิสึ เอส-พัลส์ ปี 2001
นึกในใจไว้อยู่แล้วว่าต้องมีชุดของทีมในลีกเอเชียติดอันดับมาบ้าง แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับทีมในลีกญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่ล้ำสุดกู่ในทุกๆ เรื่องๆ ชุดสีส้มของ ชิมิสึ ชุดนี้ อาจพอเข้าใจได้ว่าสปอนเซอร์คาดอกเป็น "เจแปน แอร์ไลน์" สายการบินประจำชาติญี่ปุ่น ที่พยายามโฆษณาบอกใครต่อใครว่าบินไกลทั่วโลก แต่แนะนำให้พรีเซนท์ทางอื่นมากกว่าลวดลายบนเสื้อจะดีกว่า เพราะดูแล้วทำใจลำบากจริงๆ
6. ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ปี 1949
ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่เห็นแว้บแรกเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ชุดที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอล เหมาะแก่การใส่หาบน้ำ ผ่าฝืน หรือทำงานแบบใช้แรงงานมากกว่า
5. ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ปี 1991-92
ตัวชุดนักเตะไม่เท่าไหร่ แต่ชุดผู้รักษาประตูของฮัดเดอร์สฟิลด์ ดูจะหวานแหววไปนิด แบบนี้กองหน้าคู่แข่งมีแต่จะแย่งกันยิง
4. นอริช ซิตี้ ปี 1992
เราน่าจะคุ้นตากับสี "เหลือง-เขียว" ของทัพ "นกขมิ้น" แต่ย้อนไปครั้งนั้น บอร์ดบริหารพยายามแหวกธรรมเนียมปฏิบัติ ด้วยการเปลี่ยนสีเสื้อชุดเหย้าของทีมตัวเอง มาเป็น "เสื้อหลากสี" แต่ดูแล้ว "ไม่เวิร์ค"
3. เอซี มิลาน ปี 1981
ดูไปก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ นี่คือชุดทั่วไปของทัพ "ปีศาจแดงดำ" อยู่แล้ว แต่ในชุดนี้นั้นความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่สี หรือแบบเสื้อ แต่ผิดพลาดที่สปอนเซอร์คาดอก "พูห์ ยีนส์" เป็นบริษัทผลิตกางเกงยีนส์ชื่อดังที่เข้ามารับเป็นสปอนเซอร์คาดอกของ มิลาน ในครั้งนั้น ชื่อมันคง "น่ารัก" เกินไป เลยทำให้แฟนบอลออกมาค้านกันขรม โดยให้เหตุผลว่าทำให้ความเข้มขลังของทัพ "รอสโซเนรี่" ลดน้อยลงไป
2. รอยัล เอ็นจิเนียร์ ปี 1872
แม้จากการจัดอันดับจะถูกวางให้เป็น "หมายเลข 2" แต่สำหรับผมนี่คือชุดที่เห่ยที่สุดกับการจะเป็นชุดแข่งขันฟุตบอล ชื่อทีม รอยัล เอ็นจิเนียร์ ในเวลานี้อาจไม่มีใครรู้จักแล้วก็ได้ แต่ชุดนี้เกิดขึ้นและใช้จริงในเกมการแข่งขันเอฟเอ คัพ ครั้งแรก ชุดบอลแมวไรมีทั้งหมวก ทั้งเลกกิ้ง แนะนำให้ไปเดินแบบดีกว่าเตะฟุตบอล ที่สำคัญทีมนี้ใส่ชุดนี้ลงเล่นและตกรอบแรกด้วยนั่นสิ
1. โคโลราโด คาลิบูส ปี 1979
ชื่อทีมอาจเป็นที่รู้จักมากนัก แต่นี่คือทีมที่มีอยู่จริงในลีกอเมริกาเหนือ ทั้งสีเสื้อที่ไม่เข้ากัน ดิ้นทองตรงกลางลำตัว แขนเสื้อสีดำและมีเบอร์ติดอยู่ รวมทั้งแขนจัมพ์สีทอง บอกได้คำเดียวว่า "โคตรแอ็บสแทร็คท์" อย่างรุนแรง ที่สำคัญทีมนี้ใส่ชุดนี้ลงเล่นแพ้ถึง 22 เกม จาก 30 เกมลีกที่ลงเล่น พูดได้คำเดียวว่า "สมควร"
ผมว่าชุดแข่งขันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างออกมา ทั้งสภาพจิตใจของผู้คนในเวลานั้น รสนิยม หรืออาจจะรวมไปถึงจุดขายทางการตลาดของช่วงเวลานั้นๆ เอาเป็นว่า 20 ชุดที่เอ่ยมา มีใครมีชุดไหนอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้าง เก็บมันไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของตู้เสื้อผ้าของคุณซะ
แต่ผมก็เชื่ออีกนะครับว่าวันข้างหน้ามันต้องมีที่ เห่ยกว่านี้ แย่กว่านี้ หรือไม่เข้าใจกว่านี้เกิดขึ้น เพราะมนุษย์เป็นผู้ออกแบบมัน และมนุษย์นั้นไม่เคย "ธรรมดา"
อธิคม ภูเก้าล้วน