12 ที่สุด... เนย์ปิดอว์เกมส์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่ @ เมียนมาร์

12 ที่สุด... เนย์ปิดอว์เกมส์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่ @ เมียนมาร์

12 ที่สุด... เนย์ปิดอว์เกมส์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่ @ เมียนมาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดระยะเวลา 22 วันของมหกรรมกีฬาแห่งชนชาติอาเซียน "ซีเกมส์ ครั้งที่ 27" ณ ประเทศเมียนมาร์ ได้มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งนอกและในสนามเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย

ตั้งแต่เรื่องราวอันน่าประทับใจ ตราตรึงในความทรงจำของบรรดากองเชียร์ ไปจนถึงปมปัญหาวุ่นวายที่ควรค่าแก่การนำมาเป็นบทเรียนของชาติเจ้าภาพในอนาคต

ด้วยเหตุนี้เอง "ประชาชาติธุรกิจ" จึงรวบรวมเหตุการณ์เด่น ๆ อันเป็น "ที่สุด" ซึ่งเกิดขึ้นในการแข่งขันซีเกมส์หนนี้ มาสรุปเอาไว้ภายในหนึ่งหน้าหนังสือพิมพ์ที่อยู่บนมือผู้อ่านในขณะนี้

เริ่มต้นจาก "ความอลังการที่สุด" ที่เรียกได้ว่าเป็นการจัดพิธีเปิดซีเกมส์ที่มีมาตรฐานของโอลิมปิก (ใช้ทีมงานจากโอลิมปิก 2008) ที่แม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวพื้นบ้านง่าย ๆ ของเมียนมาร์ ซึ่งจัดว่าสูงมากเกินกว่าเกือบทุก ๆ ชาติที่ผ่านมา จนน่าจะทำให้ประเทศที่จะต้องรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งต่อ ๆ ไปต้องคิดกันหนักว่า จะสามารถรักษาระดับคุณภาพงานที่สูงเกินอาเซียนได้มากน้อยเพียงใด โดยคำตอบดังกล่าวจะแสดงให้เห็นในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศสิงคโปร์

มาดูกันในเรื่องที่จัดว่า "ผิดคิวที่สุด" ของประเทศเจ้าภาพในการจัดพิธีเปิดซีเกมส์ครั้งนี้เลยก็ว่าได้ เพราะจังหวะหลุดที่กำลังจะพูดถึงนี้ดันเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญอย่าง "การจุดคบเพลิง"

ตามกำหนดการเดิมคือการส่ง "ไฟซีเกมส์" ไปให้กับ "เวลิน ทอน" นักกีฬายิงธนูทีมชาติเมียนมาร์ ซึ่งเป็นนักกีฬาคนสุดท้ายที่จะจุดคบเพลิงด้วยวิธีการยิงธนูไฟขึ้นไปจุด

แน่นอนว่าภาพในจินตนาการของใครหลายคนที่รู้ขั้นตอนการจุดคงจะเห็นภาพลูกธนูเพลิงพุ่งออกจากคันไปจนถึงกระถางเพลิงด้านบนสนาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากไฟในกระถางคบเพลิงดันลุกติดไฟอย่างร้อนแรง ก่อนที่เว ลิน ทอน จะง้างคันธนูจนสุดสายเสียอีก

ด้าน "กีฬาสุดพ็อปพูลาร์" ของเวทีซีเกมส์หนนี้คือ "ตะกร้อ" ตลอดการแข่งขันตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันชิงเหรียญทอง อัฒจันทร์ภายในสนามอินดอร์ล้วนแล้วแต่แน่นขนัดไปด้วยกองเชียร์เกือบทุกวัน

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่สัมผัสได้จากการพูดคุยกับกองเชียร์ชาวเมียนมาร์คือพวกเขาไม่รู้จักนักกีฬาดาวเด่นในทีมชาติของตัวเอง แต่ที่ตามมาเชียร์ติดขอบสนามแบบนี้เป็นเพราะชอบดูตะกร้อ ซึ่งเป็นกีฬาที่สนุกและมีลุ้นเหรียญทองมากที่สุดของทัพนักกีฬาพม่า

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะมีเพียงแค่สนามตะกร้อเท่านั้นที่เต็มความจุเพราะสนามแข่งขันอื่น ๆ ก็นับได้ว่าคนเยอะพอสมควร จากความตื่นตัวกับกีฬาระดับมหกรรมที่ห่างหายมานาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนเข้าชมมาก ย่อมต้องมีโอกาสที่จะมีปัญหาความวุ่นวายตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมกีฬาที่มีผลการแข่งขันที่ไม่เป็นไปตามคาดแบบ "ฟุตบอล"

เหตุการณ์ที่ต้องขอเรียกว่า "รุนแรงที่สุด" จากซีเกมส์หนนี้ เกิดขึ้นในเกมชี้ชะตา (นัดที่สองของรอบแบ่งกลุ่ม) ระหว่างเจ้าภาพเมียนมาร์กับ "อินโดนีเซีย"

กองเชียร์เจ้าภาพคลั่ง

ซึ่งผลที่ออกมาคือ รองแชมป์เก่าอินโดนีเซียเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 เขี่ยเจ้าภาพตกรอบไปแบบทำลายความหวังแฟนบอลขั้นรุนแรง ส่งผลให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นภายในสนามอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แฟนบอลเมียนมาร์ยิ่งเข้าไปใหญ่ จนบางรายถึงขั้นเผาเสื้อทีมกันเลยทีเดียว แน่นอนว่าตอนนี้โค้ชปาร์กได้โดนปลดลงจากตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว

ด้านบนคือความรุนแรงไปแล้ว ลองมาดูในระดับ "ความวุ่นวายที่สุด" กันบ้าง ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยที่ลงสระเป็นวันแรกของการแข่งขัน

ในรายการหนึ่งร้อยเมตรหญิงฟรีสไตล์ซึ่ง "อุ้ม-ณัชฐานันตร์จันทร์กระจ่าง" และ "จอย-เจนจิรา ศรีสอาด" เป็นตัวแทนลงแข่งขัน

แต่กลับเกิดความผิดพลาดจากการกดสัญญาณปล่อยตัวของกรรมการ ทำให้อุ้มและจอยเกิดเสียจังหวะหยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง ส่งผลให้นักกีฬาไทยเข้าป้ายเป็นอันดับ 4 และ 7

ทางทีมงานไทยได้ประท้วงท่ามกลางเสียงค้านของทีมนักกีฬาฟิลิปปินส์ที่ได้เหรียญทอง ทำให้ได้แข่งใหม่อีกครั้งในวันถัดไป และได้เหรียญทองมาครองในที่สุด

ขณะที่เหตุการณ์พลิกกลับตลบสอง คือ การแข่งขัน 4x200 เมตรหญิงฟรีสไตล์ ที่ทัพนักกีฬาไทยสามารถเข้าป้ายได้เป็นอันดับสองรองจากทีมสิงคโปร์

แต่กลับเกิดความผิดพลาดเรื่องการส่งลำดับชื่อนักกีฬาเข้าแข่งขันไม่ตรงกับการว่ายจริง ทำให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันตัดสินใจตัดสิทธิ์ทีมชาติไทยจากเหรียญรางวัลทันที

ด้านเรื่องที่ "เข้าใจผิดมากที่สุด" นั้น ตกเป็นของ "ข้าวกล่องครัวไทย" สำหรับนักกีฬา, ทีมงาน และสื่อมวลชน ที่มีหลายกระแสในเมืองไทยกล่าวหาว่ามีปริมาณน้อยและไม่น่ารับประทาน เมื่อเทียบกับงบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทที่ได้มา

กรณีนี้ ประชาชาติธุรกิจที่ส่งผู้สื่อข่าวมาสำรวจบรรยากาศซีเกมส์ในกรุงเนย์ปิดอว์รายงานว่า ปริมาณข้าวกล่องที่ได้รับแจกแต่ละวันอยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับจำนวนนักกีฬา, ทีมงาน และสื่อมวลชน

เพียงแต่ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่หรูหรา เพราะมองภายนอกก็เป็นข้าวกล่องธรรมดาเท่านั้น ซึ่งถ้าจะมีข้อติอาจจะเป็นเพียงข้าวสวยที่มีกลิ่นจากการตักใส่ถุงทันทีที่หุงเสร็จแล้วเท่านั้น

จบเรื่องความเข้าใจผิดแล้วมาที่เหตุการณ์"เชือดเฉือนที่สุด" กันบ้าง

วาสนา วินาโท ฮึดแซงคว้าเหรียญทอง

โดยที่สุดมุมนี้ต้องยอมรับว่ามีให้เห็นเยอะมากจริง ๆ แต่เชื่อว่าภาพที่ตราตรึงสายตาคนไทยที่สุดคงหนีไม่พ้นการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว 400 เมตร ประเภทหญิง "วาสนา วินาโท" ที่ตามหลัง "ทิ อันควอซ" นักวิ่งสาวชาวเวียดนามมาตลอด จนกระทั่งเข้าสู่ช่วง 10 เมตรสุดท้าย เค้นลูกฮึดพลิกขึ้นแซงก่อนเข้าเส้นชัยเพียงไม่กี่เซนติเมตร คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

สำหรับดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดในปีนี้ ในแง่ความสามารถยังไงก็ต้องขอยกให้กับทัพนักกีฬาไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะฟุตบอลชายที่ปีนี้นักเตะหลายคนทำผลงานภายใต้การคุมทีมของ "ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง" ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประวีณวัช บุญยงค์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ และปกเกล้า อนันต์

ขณะที่แบดมินตันก็มีทั้งครีม-บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์, แน็ต-ณิชชาอร จินดาพล, อลิส-ณริฎษาพัชร แลม, ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และเอิร์ธ-พุธิตา สุภจิรกุล

ต่อด้วย "ทัพกีฬาที่เหนือชั้นที่สุด" ของไทยในปีนี้คือ วอลเลย์บอลหญิง, ฟุตซอลชาย และตะกร้อ ที่อาจพูดได้เกือบเต็มปากว่าเป็น "เจ้าอาเซียน"

ส่วนเรื่องที่ "น่าผิดหวังมากที่สุด" ไม่ได้อยู่ในสนามกีฬา เพราะเป็นเรื่องนอกสนาม ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ของกรุงเนย์ปิดอว์ ทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองหลวงแต่กลับมีระบบการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบาก รถรับจ้างสาธารณะอาจสามารถนับเป็น "แรร์ไอเท็ม" ของที่นี่

ขณะเดียวกัน การเดินทางจากเมืองสู่เมืองก็ไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ยกตัวอย่าง ค่าแท็กซี่จากย่างกุ้งมาเนย์ปิดอว์ตกอยู่ที่ราว ๆ 400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,800 บาท) เลยทีเดียว

เรื่องต่อมาที่ได้ใจคนไทยแบบสุด ๆ คือ "การทำลายสถิติ" ของทัพนักกีฬาไทย อาทิ ขว้างค้อน ซึ่ง "ตันติพงษ์ เพชรไชยา" สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ด้วยการทำสถิติ 62.23 เมตร พร้อมทำลายสถิติซีเกมส์, กระโดดค้ำหญิง "สุกัญญา ชมชื่นดี" ทำสถิติ 4.21 เมตร คว้าเหรียญทองไปครองเป็นครั้งแรก หลังจากเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์มาแล้ว 3 สมัย พร้อมกับทำลายสถิติซีเกมส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเหรียญทองประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งนับเป็นก้าวเล็ก ๆ ในการพัฒนาตัวเองต่อไปในการลุยระดับเอเชียและระดับโลกในอนาคต เช่น เหรียญทองแบดมินตันชายที่ "สอง-ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข" สามารถเอาชนะนักตบจากอินโดนีเซีย ซิวแชมป์ซีเกมส์มาครองเป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปีของไทย

เหรียญทองประวัติศาสตร์อีกประเภทของไทยคือ "คาราเต้-โด" ประเภทต่อสู้ ที่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ร่วมแข่งขันซีเกมส์เมื่อ 28 ปีก่อน ซึ่งสามารถนำกลับมาได้ถึง 2 เหรียญทอง

ปิดท้ายกันที่ "ความภาคภูมิใจที่สุด" ของคนไทยทั้งประเทศ ย่อมต้องเป็น "สปิริต" และ "ความทุ่มเท" ทั้งแรงกายและแรงใจของทัพนักกีฬาไทยทุกคนในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งล่าสุดนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เครดิต - http://www.prachachat.net

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook