เปิดโปง "คดียิงแหลก" ณ แดนแซมบ้า
ดูจากจำนวนประตูที่ยิงกันถล่มทลายในฟุตบอลโลกหนนี้แล้ว จะยกให้ เวิลด์คัพ อิน บราซิล เป็นฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ หลังจากจบ 26 แมตช์ (เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน) มีการยิงประตูรวมแล้ว 77 ลูก
มีเพียง 3 แมตช์เท่านั้นที่เสมอแบบไร้สกอร์ แมตช์ที่ยิงประตูรวมกัน 3 ลูกและ 3 ลูกขึ้นไปมีถึง 19 นัด เฉลี่ยยิงกัน 2.96 ประตูต่อแมตช์เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับ 26 แมตช์แรกของฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ยิงไป 49 ประตู เฉลี่ย 1.9 ประตูเท่านั้น แต่ก็มีแมตช์ที่เสมอ 0-0 เพียง 3 แมตช์เท่ากัน
หรือถ้ามองเพียงนัดแรกในรอบแบ่งกลุ่ม 16 แมตช์ ถล่มประตูรวม 49 ลูก เฉลี่ยแมตช์ละ 3.06 ประตู เป็นสถิติที่สูงมาก แต่ยังเทียบไม่ได้กับฟุตบอลโลก 1958 ที่สวีเดนที่มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 3.6 ประตูต่อ 1 แมตช์ในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม
สาเหตุที่ทำให้มีการถล่มประตูกันสนุกเท้ามีอยู่หลายปัจจัย มีอะไรบ้าง มาดูกัน
1.สภาพอากาศ
อุณหภูมิในบราซิลถือว่าร้อนมาก เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลกหนอื่นๆ โดยเฉพาะที่มาเนาส์ อากาศร้อนทำให้นักเตะเหนื่อยเร็วขึ้น ซึ่งความเหนื่อยนั่นเองที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการเล่นมากกว่าอยู่ในสภาพร่างกายปกติ
10 จาก 49 ประตู (20.4 เปอร์เซ็นต์) เกิดจากนักเตะที่เปลี่ยนตัวลงมาใหม่ 22 ประตู (44.8 เปอร์เซ็นต์) ทำได้ในช่วง 30 นาทีสุดท้าย และ 16 ประตู (32.7 เปอร์เซ็นต์) ยิงกันในช่วง 10 นาทีสุดท้าย 6 ทีมที่นำก่อนตั้งแต่ 30 นาทีแรก แต่โดนยิงแซงและแพ้ไปในที่สุด นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนจากความเหนื่อยท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
2.ความแย่ของเกมรับ
ทีมใหญ่หลายทีมมีแนวรุกระดับโลกแต่ในแผงเกมรับกลับขาดประสบการณ์ ขาดความฟิต และบางคนก็ผ่านจุดที่ดีที่สุดของตัวเองไปแล้ว อาร์เจนตินา ชื่อชั้นกองหลังเทียบไม่ได้กับดาวยิงอย่าง ลิโอเนล เมสซี่, เซร์คิโอ้ อากูเอโร่, เอเซเกียล ลาเวซซี่, กอนซาโล่ อิกัวอิน กองหลังของทีมฟ้า-ขาวไม่เป็นที่รู้จักนัก มีเพียง เอเซเกียล การาย, ปาโบล ซาบาเลต้า
ที่เล่นในระดับสูงสุด หรือกองหลังบราซิลที่ถือเป็นแบ๊กโฟร์ที่แพงที่สุดในโลก ดาวิด ลุยซ์, ติอาโก้ ซิลวา, ดาเนียล อัลเวส, มาร์เซโล่ ค่าตัวรวมกันมหาศาล แต่อัลเวสเหมือนจะผ่านจุดสุดยอดของตัวเองไปแล้ว ขณะที่แบ๊กทั้งสองข้างมักจะเติมเกมรุก จนเป็นภาระของแดนกลางที่ต้องตัดบอลช่วยอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งนายทวาร ฮูลิโอ เซซาร์ ก็ใกล้ปลดเกษียณเต็มที เบลเยียม ไม่มีแบ๊กธรรมชาติ เนเธอร์แลนด์ ขนเอานายทวารและกองหลังหน้าใหม่มาเพียบ
3.แทคติคเปลี่ยนไป
ติกี้-ตาก้า ที่ทำให้ สเปน คว้าแชมป์โลกและยูโรมาได้ ถูกหลายชาตินำไปปรับใช้ และประสบความสำเร็จในหลายๆ ทีม การเน้นเกมรุกมากกว่าการตั้งรับและสวนกลับถูกนำมาใช้มากขึ้น หรือบางทีมเลือกจะใช้กองหน้าสองคนยืนคู่กันมากกว่าการอัดแผงมิดฟิลด์และห้อยกองหน้าตัวเดียวเหมือนเมื่อก่อนการปล่อยกองหน้าลงในสนามมากขึ้น แปลได้อีกความหมายคือ โอกาสได้ประตูย่อมต้องมากขึ้นตามไปด้วย
4.จุดโทษและยิงตัวเอง
จังหวะฟาวล์ในเขตโทษของบอลโลก2014 ในรอบแรกมีถึง 6 ประตูจาก 16 แมตช์แรก เมื่อเทียบกับจำนวน 7 ประตูจาก 48 แมตช์ในรอบแรกของครั้งที่แล้ว ต้องบอกว่าจำนวนมากกว่าและจะมากขึ้นไปอีกเมื่อนับยอดรวมหลังจบทัวร์นาเมนต์ ส่วนการทำประตูตัวเองยิงไปถึง 3 ลูกจาก 26 นัดที่ผ่านมา มากกว่าทั้งทัวร์นาเมนต์ที่แอฟริกาใต้ที่ทำเข้าประตูตัวเองเพียง 2 ลูกเท่านั้น
5.ขึ้นนำเร็ว
เมื่อโดนยิงประตู สัญชาตญาณของนักฟุตบอลคือ ต้องยิงประตูทวงคืนให้เร็วที่สุด และที่บราซิลประตูขึ้นนำเร็วเกิดขึ้นบ่อยมาก มีการยิงประตูกันในครึ่งแรกถึง 25 ลูก ใน 20 แมตช์แรก ทำให้เกมเปิดแลกกันมากขึ้น มีถึง 7 ทีมที่สามารถพลิกชะตาจากการเป็นผู้ตามและกลายเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการทำเข้าประตูตัวเองของ
มาร์เซโล่ ที่ทำให้ โครเอเชีย พลิกนำเจ้าภาพบราซิล 1-0 ตั้งแต่นาทีที่ 11 ในนัดเปิดสนาม และเป็นเจ้าภาพที่บุกแหลกยิงแซงชนะ 3-1 รวมทั้งจุดโทษของสเปนในนาทีที่ 25 ที่กระตุ้นให้เนเธอร์แลนด์เปิดเกมรุกใส่และถล่มขาดไป 5-1 ซึ่งในปี 2010 มีเพียง 4 ทีมเท่านั้นที่ทำได้
ฟุตบอลโลกครั้งที่ยิงประตูกันมากที่สุดคือปี 1998 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกมี 32 ชาติร่วมแข่งขัน ครั้งนั้นซัดกันไป 171 ประตู หลังจากนั้นจำนวนประตูรวมก็ลดลงมาเรื่อยๆ ปี 2002 ที่เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น 161 ประตู / ปี 2006 ที่เยอรมนี 147 ประตู / ปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ 145 ประตู
ดูสถานการณ์การถล่มประตูกัน ณ ตอนนี้แล้ว โอกาสที่จำนวนประตูจะเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 12 ปีมีสูงมาก แต่จะทำลายสถิติ 171 ประตูหรือไม่ ต้องติดตาม
ติดตามข่าวบอลโลก 2014 โปรแกรมบอลโลก ผลบอลโลก ได้ที่
http://sport.sanook.com/worldcup