"เรื่องลุ้นๆ ของบอลโลกร้อนๆ"
ศึกฟุตบอลโลก 2014 มีของแปลกที่เพิ่งเปิดตัวหนแรกในประวัติศาสตร์ของทัวร์นาเมนต์หลายอย่าง ทั้งเทคโนโลยีโกลไลน์, สเปรย์ล่องหน และที่นานๆ ใช้ทีแต่มีประเด็นก็คือเจ้า "คูลลิ่งเบรก" หรือการพักดื่มน้ำท่ามกลางอากาศร้อนจัดนั่นเอง
"คูลลิ่งเบรก" (Cooling Break) เป็นนโยบายของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) (ซึ่งในเวลาต่อมาศาลแรงงานของบราซิลย้ำให้ใช้) โดยระบุว่า แมตช์ไหนที่วัดอุณหภูมิระหว่างแข่งได้ถึง 32 องศาเซลเซียส กรรมการจะต้องให้หยุดเกมหลังเตะแต่ละครึ่งเวลาไปได้ 30 นาที เพื่อให้นักเตะได้พักดื่มน้ำราว 3 นาที เนื่องจากสภาพอากาศร้อนชื้นในบางพื้นที่
เวิลด์คัพหนนี้ใช้คูลลิ่งเบรกครั้งแรกในคู่ระหว่าง โปรตุเกส กับ สหรัฐอเมริกา ในรอบแรก เนื่องจากเมืองมาเนาส์อยู่ใกล้ป่าดงดิบของอเมซอน (แม้ว่าจะเตะกันเวลา 1 ทุ่มตามเวลาท้องถิ่นก็ตาม) และล่าสุดคือแมตช์ระหว่าง เนเธอร์แลนด์ กับ เม็กซิโก ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งบางช่วงเวลาวัดอุณหภูมิข้างสนามได้ถึง 38 องศาเซลเซียส!
แฟนบอลและผู้สังเกตการณ์หลายคนจึงมองว่า บอลโลกบนแผ่นดินแซมบ้าเป็นหายนะของทีมจากยุโรปซึ่งไม่ค่อยคุ้นเคยกับสภาพอากาศแบบนี้ ซึ่งรวมถึงนักเตะหลายคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปด้วย
ตัวอย่างจากเวิลด์คัพ 2014 ยังทำให้เกิดคำถามต่อเนื่องไปถึง ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ในอีก 8 ปีข้างหน้า ว่าหนนี้ว่าโหดแล้ว เกมเตะช่วงหน้าร้อนในพื้นที่ตะวันออกกลาง จะยิ่งหนักหนาสาหัสขนาดไหน?
มีการประเมินว่า อุณหภูมิวันเปิดบอลโลกที่กาตาร์น่าจะประมาณ 47.2 องศาเซลเซียส และค่าเฉลี่ยตลอดเดือนคงจะอยู่ราวๆ 40.5 องศา โดยที่กรุงโดฮาซึ่งเป็นที่ตั้งสนามหลัก อาจร้อนสูงสุดได้ถึง 49 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว!
ตัวเลขน่ากลัวขนาดนี้มีคนเปรียบเปรยว่า ให้นึกถึงตอนเราจอดรถทิ้งไว้กลางแดดนานๆ แล้วกลับไปขึ้นรถอีกครั้ง แค่จะแตะพวงมาลัยหรือเกียร์ยังแทบทำไม่ได้
การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายภายใต้สภาพอากาศร้อนจัด (ตั้งแต่ 40 องศาขึ้นไป) ร่างกายเสียเหงื่อไปมากแต่ดื่มน้ำทดแทนไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ จนกลไกในร่างกายทำงานผิดปกติ สภาพจิตใจไม่มั่นคง อาเจียน เป็นลมแดด หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็คือเสียชีวิต
ทางออกสำหรับบอลโลกที่กาตาร์ ถกกันใน 2 ประเด็น คือ สร้างสนามที่ควบคุมอุณหภูมิได้เต็มรูปแบบ หรือไม่ก็เปลี่ยนเวลาไปเตะกันในฤดูหนาว ซึ่งไม่ว่าตัวเลือกไหนก็โดนต่อต้านและเลยเถิดไปถึงการถอนสิทธิกาตาร์จากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหนนี้อีกต่างหาก
อีกตัวเลขที่น่าตกใจในช่วงนับถอยหลังก่อนเวิลด์คัพในอีก 8 ปีข้างหน้าคือ ระหว่างปี 2012-2013 มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตในโปรเจ็กต์ก่อสร้างต่างๆ มากถึง 964 ราย ในจำนวนนี้ 246 ราย มีสาเหตุมาจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับบอลโลกโดยตรง แต่ก็เป็นสถิติที่ควรรับฟังและทบทวนให้ดีก่อนจะถึงปี 2022
ติดตามข่าวบอลโลก 2014 โปรแกรมบอลโลก ผลบอลโลก ได้ที่
http://sport.sanook.com/worldcup