"ชัตเติล แต๋น" ภาพสะท้อน MotoGP ฉบับบุรีรัมย์ที่ทุกชนชั้นมีส่วนร่วม

"ชัตเติล แต๋น" ภาพสะท้อน MotoGP ฉบับบุรีรัมย์ที่ทุกชนชั้นมีส่วนร่วม

"ชัตเติล แต๋น" ภาพสะท้อน MotoGP ฉบับบุรีรัมย์ที่ทุกชนชั้นมีส่วนร่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง "รถอีแต๋น" ยานพาหนะคู่ใจเกษตรกรไทย จะกลายมาเป็นสิ่งที่แฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก สามารถจดจำได้มากสุดสิ่งหนึ่ง เมื่อนึกถึงการจัด MotoGP ครั้งแรกบนแผ่นดินไทย

     หากว่ากันตามตรง… สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองบุรีรัมย์ ตลอดช่วง 3 วันในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก "MotoGP" คือภาพที่คนไทยทั่วไปแทบไม่เคยจินตนาการมาก่อน

     ทั้งการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทย ยังไม่เคยมีสนามแข่งขันที่ผ่านสแตนดาร์ด "FIM Grade A" จากสมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) เพื่อใช้รองรับทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว



     ประกอบกับปัจจัยด้านการลงทุนที่ต้องการกำลังเงินมหาศาลในการซื้อลิขสิทธิ์ และจัดการแข่งขันที่ต้องระดมสรรพกำลังอย่างเต็มพิกัด  นั่นจึงทำให้ MotoGP กับประเทศไทย อยู่ห่างไกลกันพอสมควร ที่แม้แต่ภาครัฐบาล ก็ยังไม่เคยมี ผู้นำคนใด กล้าลงทุนสร้างสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลกเช่นนี้ในแผ่นดินไทย

43296955_1603088739793366_7

     ยิ่งถ้าบอกว่า จะมีการจัดแข่งขัน MotoGP ในจังหวัดที่เคยถูกมองว่า เป็นพื้นที่ยากจนสุดในประเทศ โดยมีรถอีแต๋นวิ่งไปมาเต็มพื้นที่รอบสนามแข่งขัน ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแม้แต่คิด และมองว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร

     สุดท้ายสิ่งที่ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ในการแข่งขัน "PTT Thailand Gran Prix" สนามที่ 15 ประจำฤดูกาล 2018 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่เราได้เห็น จังหวัดบุรีรัมย์ ในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และมากกว่าแค่ที่เห็นจากฟุตบอล

     โดยเฉพาะ "รถอีแต๋น" ที่ถูกแปลงสภาพจากรถขนส่งของ ชาวไร่ ชาวนา กลายมาเป็น "ชัตเติล แต๋น" (Shuttle Tan) ยานพาหนะที่ทำหน้าที่รับส่งนักท่องเที่ยว แฟนๆ MotoGP ทั้งไทยและเทศ ไปรอบบริเวณงาน

     แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ "ชัตเติล แต๋น" นั้น กลับมีมากกว่าแค่ ยานพาหนะที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ แก่แขกต่างบ้านเมืองที่ได้เห็นเจ้ารถคันนี้… เพราะนี่คือภาพบางอย่าง ที่ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งจังหวัด ต้องการสะท้อนความคิด จิตวิญญาณ ออกไปสู่สายตาชาวโลก ผ่านรถ 4-6 ล้อที่เคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าที่คนไทยเรียกกันว่า "รถอีแต๋น"

เมืองตำน้ำกินกับอีเวนท์ระดับโลก

     "พระเจ้าไม่ให้ภูเขา พระเจ้าไม่ให้ทะเลแก่เมืองบุรีรัมย์ พระเจ้าให้แต่พื้นที่แห้งแล้งแก่เรา" เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยอธิบายถึงลักษณะของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตให้ฟัง

     นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง หากผู้อ่านเคยมีโอกาสได้นั่งรถไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ภาพที่เห็นสองฝั่งข้างทาง จะเป็นพื้นที่ในทำเกษตรและป่าเสียเป็นส่วนใหญ่ มีแค่พื้นที่ในตัวเมืองเท่านั้นที่ดูทันสมัย มีสนามฟุตบอล สนามแข่งรถ และห้างร้านธุรกิจ โรงแรมที่พัก อยู่บ้าง

000_pa8dt

     วิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดนี้ จึงมีความผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรมมาหลายชั่วอายุคน แม้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง ปราสาทหินพนมรุ้ง แต่บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ถูกจัดให้เป็น จังหวัดท่องเที่ยว หรือ พื้นที่เศรษฐกิจ อย่างหัวเมืองใหญ่อื่นๆ

     ตรงกันข้ามพวกเขาถูกมองว่าเป็น จังหวัดที่ยากจนมากสุดแห่งหนึ่ง ถึงขนาดมีคำพังเพยออกมาว่า "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" อันหมายถึง ในยุคสมัยหนึ่ง เมืองๆนี้ประสบภาวะขาดแคลนน้ำ จนชาวบ้านจะแก้ปัญหาด้วยการขุดหลุมดิน แล้วนำเอาน้ำจากโคลน ในบ่อ ในสระ มาเทใส่หลุมที่ขุดไว้ ก่อนย่ำด้วยเท้าและเอาไม้ไผ่ตำ ปล่อยทิ้งไว้ให้ดินตกตะกอนอยู่ข้างล่าง ส่วนด้านบนจะได้น้ำใสพอไปบริโภคได้

     "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" จึงเป็นคำพังเพยที่สะท้อนให้เห็นภาพในอดีตของเมืองบุรีรัมย์ ว่ามีลักษณะอย่างไร ประชาชนมีแนวคิดแบบไหน? ในการต่อสู้ดำรงชีวิต ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกบอกสอนและส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น

     "รถอีแต๋น" ก็เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่น ของชาวเกษตรกรของไทย ในพื้นที่ห่างไกลๆ ที่มีการประกอบรถขึ้นมาใช้งานในการทำเกษตรกรรม

     โดยใช้อะไหล่และเครื่องจากรถยนต์ ทั้งมือ 1 มือ 2 มารวมร่าง จนได้รถที่พอจะสามารถขับขี่ ขนส่ง และใช้ในงานเกษตรกรรมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินราคาแพงเพื่อซื้อรถบรรทุกที่มีขนาดใหญ่กว่า เครื่องแรงกว่า และราคาแพงกว่า

     แต่ถึงกระนั้น รถอีแต๋น ก็ยังถูกมองว่าเป็น พาหนะของคนชนชั้นเกษตรกรเท่านั้น และจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ยังเป็นเพียงแค่จังหวัดหนึ่งที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน

     กระทั่งทุกอย่างในจังหวัดเปลี่ยนไป โดย "กีฬา" จากหมุดหมายแรกในปี 2010 ที่ เนวิน ชิดชอบ มาลงทุนสร้างและพัฒนาด้านกีฬา ในฐานะเอกชนรายหนึ่ง

000_p65wo

     จนวันหนึ่งจังหวัดที่ไม่น่าเชื่อว่า จะได้รับเลือกให้จัด MotoGP ก็ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ภายใต้สัญญา 3 ปีสำหรับคนไทยในจังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะรู้สึกยินดีไปด้วย ที่ประเทศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์จัดการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลกเช่นนี้เป็นครั้งแรก

     แต่สำหรับคนบุรีรัมย์ นี่อาจจะเป็นวันที่หลายๆ คน รอคอยมาชั่วชีวิต ที่จะได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของคนในภายจังหวัด ในการรับมือการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ แม้พวกเขาเคยจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และในประวัติศาสตร์ของจังหวัดนี้ ไม่เคยผ่านงานสเกลใหญ่ขนาดนี้

43414387_1605173142918259_6

     ไม่มีใครรู้เลยว่า เมื่อการแข่งขันดำเนินไปถึงวันสุดท้าย ทุกอย่างที่ถูกจัดขึ้นจะ "สำเร็จ" หรือ "ล้มเหลว" เพราะเส้นแบ่งของสองอย่างนี้อยู่ใกล้กันแค่เอื้อม

พลังของท้องถิ่น

     อย่างที่ทราบกันดีว่า MotoGP จัดเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่เปรียบได้ดั่งฟุตบอลโลกของ วงการสองล้อ ด้วยกระแสความนิยมที่แพร่กระจายไปถึงผู้ชมทั่วโลก ความตื่นเต้น สนุกเร้าใจของการได้ชมลีลา ชั้นเชิง ของนักบิดระดับโลกมากมาย ในการช่วงชิงจังหวะเพื่อขึ้นโพเดียมในแต่ละสนาม ที่มีความยากแตกต่างกันออกไป

43266167_1604045659697674_3

     โดยในฤดูกาล 2018 มีเพียงแค่ 16 ประเทศเท่านั้น ที่ได้รับเลือกให้จัดการแข่งขันดังกล่าว ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศมหาอำนาจด้านกีฬา และเศรษฐกิจทั้งนั้น อาทิ สเปน ที่มีจัดแข่งขันใน 4 เมือง, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อิตาลี ฯ

     ทำให้การจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลกระดับนี้ได้นั้น ย่อมต้องอาศัยทุนทรัพย์ที่มากพอสมควร อย่างในอดีต คนไทยที่ชื่นชอบ และอยากไปดูการแข่งขันติดขอบสนาม ก็ต้องบินไปดูที่สนามใกล้สุด คือ เซปัง ประเทศมาเลเซีย

     ดังนั้นนี่จึงเป็นการแข่งขันที่ใกล้ชิดกับคนชนชั้นบน และชนชั้นกลางของไทย มากกว่าชนชั้นล่าง จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่ กลุ่มคนอาชีพเกษตรกรจากไทย จะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้



     ท่ามกลางระยะความห่างของสองอย่างนี้ "บุรีรัมย์" เจ้าของสนาม และผู้บริหารจัดการสิทธิประโยชน์และจัดการแข่งขันครั้งนี้ กลับมองเห็นความสำคัญของอีกหนึ่ง กลุ่มชนชั้นอื่นๆด้วย เริ่มจากการจำหน่ายราคาบัตรเข้าชม MotoGP ที่ถูกสุดในโลก ภายใต้แนวคิด "MotoGP ที่คนดูมีความสุขที่สุด"

43546372_1605173206251586_1

     แม้จะต้องเจอปัญหา และข้อจำกัดมากมายในช่วงก่อนเริ่มงาน ทั้ง ด้านบริการขนส่งสาธารณะ, ที่พักอาศัย, การบริการ ต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณ และจำนวนแรงงานหลายพันชีวิต ในการขับเคลื่อนให้งานดังกล่าวผ่านไปได้ด้วยดี

     แทนที่ บุรีรัมย์ จะจ้างคนจำนวนมากเพื่อทำงานเหล่านี้ด้วยเงิน แต่สิ่งที่ ซีอีโอของบุรีรัมย์ คิดกลับกัน เป็นการทำให้ชุมชน คนในพื้นที่ ทุกชนชั้นของจังหวัด เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันครั้งนี้ และอยากจะมาทำงานนี้ด้วยใจ

     จริงอยู่ที่ถ้าจ้างด้วยเงิน ก็ได้งาน แต่ความรู้สึกและภาคภูมิใจจะแตกต่างกันออกไป ชาวบ้านเหล่านั้น อาจไม่ได้รู้สึกว่า MotoGP ครั้งนี้ เขาได้มีส่วนร่วมกับงาน

     กลับกันเมื่อไม่ได้มีการจ้างด้วยเงิน แล้วสามารถโน้มน้าวใจให้คนในจังหวัด อยากออกมาช่วยงาน เมื่อนั้น ชาวบ้านจะมีความรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของงานจริงๆ

     ในช่วงก่อนวันแข่งขัน ได้มีการเปิดรับสมัคร อาสาสมัครที่จะทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ASK ME (คนบอกทาง, ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวผู้มาร่วมงาน) GU เก็บ (อาสาสมัครทำหน้าที่เดินเก็บขยะทั่วงาน) คนทำความสะอาดต่างๆ, คนดูแลการจราจรโบกรถ รวมถึง คนทำหน้าที่ดูแล-ขับรถรับส่ง ผู้เข้าร่วมงานภายในพื้นที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงานในครั้งนี้

41931840_1582453698523537_9

     หากเป็นการแข่งขันรายการอื่นๆ รถที่จะถูกนำมาใช้ขนส่งบริเวณโดยรอบ ก็คงเป็นรถประเภท Shuttle Bus ที่ถูกออกแบบมาเพื่องานลักษณะนี้ แต่สิ่งที่ บุรีรัมย์ นำเสนอออกมา ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า พวกเขาต้องการให้ MotoGP เป็นการแข่งขันระดับโลกที่เกิดขึ้นมาจากพลังของคนในจังหวัด ในทุกๆชนชั้น

     "รถอีแต๋น" คือรถที่ทางฝ่ายจัดฯ เลือกที่จะใช้มาเป็น รถขนส่งผู้โดยสาร โดยได้รวบรวมรถอีแต๋นจากชาวนา ชาวไร่ ในจังหวัด จำนวน 1,200 คัน มาไว้ 3 จุดหลักของงาน เพื่อรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 200,000 ชีวิต ตลอด 3 วัน

000_19t6n1

     นี่คือความตั้งใจและไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ บุรีรัมย์ ต้องการให้กลุ่มคนชนชั้นเกษตรกรในจังหวัด รู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของงานแข่งรถระดับโลกในครั้งนี้

     ด้วยการเปิดให้ พวกเขาเหล่านี้ได้นำรถอีแต๋น ที่ใช้งานอยู่ในภาคเกษตร  มาอวดโฉมและทำหน้าที่รับส่งให้ ชาวโลกได้รับรู้ และเกิดภาพจำที่ดีต่อเกษตรกรไทย รวมถึงทึ่งในภูมิปัญญาของคนไทยที่คิดและดัดแปลง สร้างสรรค์ ในการประกอบรถให้กลายมาเป็น ยานพาหนะ สำหรับการทำเกษตร และการขนส่งได้

     "ผมต้องขอบคุณพี่น้องชาวจังหวัดบุรีรัมย์ทุกคนจริงๆครับ เราทุ่มเททุกอย่าง เพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่เป็นเจ้าของรถอีแต๋น ที่ในชีวิตของพวกเขา คงไม่เคยขับรถเกินวันละ 2 ชั่วโมงหรอกครับ สำหรับการขับรถอีแต๋นจากบ้านไปสวน ไปนา"

     "แต่เขาก็เสียสละมาขับรถอีแต๋น ตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่มกว่าๆ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ต้องขอบคุณพวกเขาจริงๆ นี่คือกลุ่มคนตัวเล็กๆที่หัวใจใหญ่"

43271743_1603088269793413_9

     "เราไม่ได้เสียค่าเช่ารถ พวกเขาขอแต่เพียงค่าน้ำมันรถ ขอเพียงข้าว และที่นอน ที่ต้องการให้เราจัดให้ ด้วยหัวใจที่ อยากจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาได้จดจำ MotoGP ไทยแลนด์ ในอีกมิติหนึ่ง อันนี้ต้องขอบคุณเขาจริงๆ"

     "คนทั้งโลกรู้จักรถอีแต๋น เพราะพวกเขา เห็นไหมครับว่า มีใครไหมที่ขึ้นรถแล้วไม่เอาโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป ขอให้สู้กันอย่างสุดใจ จำไว้นะครับ ไม่ว่าจะทำอะไร บุรีรัมย์เราจะเป็นที่ 1" เนวิน ชิดชอบ กล่าว

MotoGP ของคนบุรีรัมย์ (โดยแท้จริง)

     พลันที่ มาร์ก มาร์เกซ นักบิดชาวสเปนแชมป์ MotoGP 4 สมัย จากทีม Repsol Honda ขึ้นโพเดียมในฐานะแชมป์ MotoGP คนแรกของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

43337704_1604046156364291_8

     นี่ถือเป็นวินาทีที่คนทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ น่าจะอิ่มเอมหัวใจที่สุด ในช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเขา ก็ได้เห็นการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้สำเร็จไปได้ ด้วยพลังและการร่วมมือร่วมใจของทุกส่วนในจังหวัด

     นอกจากตัวเลขผู้เข้าชม ที่มียอดรวม 3 วัน เป็นสนามที่มียอดสูงสุดในฤดูกาลนี้ (เหลืออีก 4 สนาม) ถึง 222,535 คน แล้ว

     อีกหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็คือ การบริหารจัดการแข่งขันของจังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาด้านอาชญากรรม หรือปัญหาอื่นๆที่สะท้อนภาพด้านลบของเมืองแห่งนี้เกิดขึ้นเลย

     สิ่งนี้แสดงออกให้เห็นว่า คนในจังหวัด มีความรู้สึกร่วม หวงแหน และต้องการทำให้คนทั้งโลกเห็นว่า บุรีรัมย์ มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถจัดการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลกได้

43281682_1603088376460069_3

     แม้พระเจ้าจะไม่เนรมิตภูเขา ทะเล หรือแหล่งน้ำให้ แต่พวกเขาก็จะผ่านทุกอย่างไปได้ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ต้องตำน้ำกิน หรือ วันที่สามารถขับรถอีแต๋นไปอวดชาวโลกได้อย่างไม่อายใคร

     MotoGP ฉบับบุรีรัมย์ จึงเป็นโมเดลที่ดีสำหรับจังหวัดอื่นๆในไทย หลายจังหวัดอยากมีทัวร์นาเมนต์ การแข่งขัน ระดับโลก หรือแม้แต่มีสโมสรกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง กระจายตัวไปแข่งขันในท้องถิ่นตัวเอง

43339445_1603087756460131_6

     แต่หากมองไปที่รากของความสำเร็จของ MotoGP ครั้งแรกของประเทศไทย กลับไม่ได้มาจากการที่  บุรีรัมย์ มีทัวร์นาเมนต์ระดับโลกมาลง มีสนามแข่งขันระดับโลกตั้งอยู่เพียงอย่างเดียว แต่รากความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากการที่ "บุรีรัมย์" สามารถสร้างความรู้สึกร่วม ให้แก่ทุกคน ทุกชนชั้น ในจังหวัดได้เป็นเจ้าของจริงๆ

43040105_1600392233396350_1

     เพราะต่อให้คุณจะมีรายการระดับโลก สนามมาตรฐานสูง ตั้งอยู่ในจังหวัด แต่หากปราศจากพลังจาก ภายในท้องถิ่น และการสร้างความภาคภูมิใจแก่พวกเขา ก็คงไม่มีทางที่การแข่งขันรายการนั้น จะประสบความสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดีเช่นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook