หยาดเหงื่อ, จิตวิญญาณ, ศักดิ์ศรี : กว่าจะเป็น "โยโกซึนะ"

หยาดเหงื่อ, จิตวิญญาณ, ศักดิ์ศรี : กว่าจะเป็น "โยโกซึนะ"

หยาดเหงื่อ, จิตวิญญาณ, ศักดิ์ศรี : กว่าจะเป็น "โยโกซึนะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซูชิ, ซามูไร หรือ นินจา อาจจะเป็นเรื่องราวที่ก่อกำเนิดจากรากเหง้าของชาวญี่ปุ่นที่พวกเขาภาคภูมิใจ ชาวอาทิตย์อุทัยมีขนบธรรมเนียมที่ลึกซึ้งอันก่อเกิดมาจากโบราณนานมา หลายอย่างเข้าตาชาวโลกจนถูกนำไปทำซ้ำ, เล่าใหม่ และดัดแปลงจากต่างประเทศจนรากเหง้าได้ผิดเพี้ยนออกไป

อย่างไรก็ตามมีหนึ่งสิ่งที่ยังคงอยู่กลายเป็นเอกลักษณ์นั่นคือ "ซูโม่" กีฬาระดับสูงที่ยากแท้หยั่งถึง เกินกว่าที่ชนชาติใดจะลอกเลียนได้ง่ายๆ แม้จะมีนักกีฬาซูโม่ชาวต่างชาติเก่งๆ ไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือเวทีแห่งความภาคภูมิใจอยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น

นี่คือกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น เหมือนกับที่คนอเมริกันมี อเมริกันฟุตบอล เป็นของตัวเอง เพียงแต่ว่าพิธีรีตองของ “ซูโม่” นั้นซับซ้อนและเป็นขั้นเป็นตอนมากกว่าหลายเท่านัก

 

“หากคุณได้มองเห็นการแข่งขันซูโม่ครั้งแรกคุณจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ มันไม่ใช่กีฬาที่คนร่างใหญ่ 2 คนมางัดกันเพื่อชิงตำแหน่งคนที่เเข็งแกร่งที่สุดในประเทศหรอกนะ” นี่คือคำยืนยันจาก มาร์ค บัคตัน นักเขียนฝรั่งหัวทอง ซึ่งหลงใหลกับกีฬาชนิดนี้หลังจากได้ชมการเเข่งขันซูโม่ครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มุมมองเขาเปลี่ยนไป จนกลายเป็นคอลัมนิสต์ของกีฬาซูโม่โดยเฉพาะ

ซูโม่ เป็นกีฬาที่เกิดจากศิลปะการต่อสู้ผสมกับพิธีกรรมทางศาสนา นักซูโม่คือความภูมิใจของคนทั้งเมือง เพราะในอดีตการแข่งขันซูโม่จะมีขึ้นต่อหน้าองค์จักรพรรดิเท่านั้น หลายร้อยปีมาเเล้วที่ ซูโม่ คือความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น กว่าจะได้ขึ้นปล้ำเกมเกียรติยศแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าสุ่มสี่สุ่มห้าจะสามารถขึ้นเวทีต่อสู้ที่เป็นวงกลมหรือที่เรียกกันว่า "โดเฮียว" พวกเขาต้อง ผ่านการฝึกฝนไต่ระดับกันเสียก่อน

ซูโม่ เองก็มีลำดับขั้นนักกีฬาอาชีพเหมือนกับกีฬาชนิดอื่นๆ โดยแบ่งออกเป็น 6 ลำดับขั้น ซึ่งสามารถเลื่อนขั้นและลดขั้นได้ หากต้องการจะไต่ให้ไปสู่จุดสูงสุด สิ่งที่ต้องทำก็คือ ชนะ, ชนะ และชนะไปเรื่อยๆ นอกจากนั้น ยังต้องแสดงให้ทุกคนเห็นถึงพลัง, ทักษะ และศักดิ์ศรี เพื่อที่จะได้รับการเลื่อนชั้นสู่ตำแหน่งสูงสุด เป็นแชมป์เหนือแชมป์ที่จะไม่มีวันถูกลดฐานะได้อีก

นั่นคือตำแหน่งที่เรียกว่า "โยโกซึนะ" 

เลือดบูชิโดโดนลูบคม

แม้ ซูโม่ จะเป็นเวลาที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นมาเป็นพันๆ ปี ทว่าช่วงหลังๆ ความนิยมของชาวญีปุ่นที่มีต่อกีฬาชนิดนี้กลับลดลงไปมาก เพราะมันไม่เท่ ค่าตอบแทนไม่สูงเมื่อเทียบกับกีฬาหรืออาชีพอื่นๆ และที่สำคัญคือนักซูโม่ญี่ปุ่นต้องอุทิศชีวิตให้กับกีฬาชนิดนี้ไปเลย

 1

กฎอันยิบย่อยของ ซูโม่ นั้นมีอยู่มากชนิดว่ายากจริงๆ ที่คนธรรมดาจะเลียนแบบได้ ทั้งการกิน, นอน, ฝึกซ้อม ที่เรียกได้ว่าเข้มข้นจนถึงขีดสุด ความกดดันก็มากจนหลายคนรับไม่ไหว และหากรับไม่ไหวนั่นก็มีทางเดียวคือเลิกเป็นนักซูโม่ไปเสีย เพราะธรรมเนียมปฎิบัติของนักซูโม่ไม่อาจจะย้ายสังกัดยิมที่ฝึกซ้อมได้ จนกระทั่งมีการเปิดรับชาวต่างชาติที่สนใจกีฬาซูโม่ให้เข้าสู่โรงยิมทั่วประเทศได้

เมื่อเป็นเช่นนั้นเหล่านักเเสวงโชคที่อยากหลีกหนีความจนก็เดินทางหลั่งไหลเข้ามาเพื่อหวังสร้างรายได้จากกีฬาที่คนเจ้าถิ่นรุ่นใหม่ไม่สนใจนัก ชาวต่างชาติที่เข้ามาพกความได้เปรียบเจ้าถิ่นหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างร่างกายที่สามารถทำให้ตัวใหญ่ได้ง่ายกว่า นอกจากนี้นักซูโม่ต่างชาติยังมีทักษะมวยปล้ำติดตัวมาด้วย นั่นหมายความว่าพวกเขามีโอกาสชนะมากกว่า เพราะได้ผสมผสานหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกันนั่นเอง

ในยุคที่ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนเป็นประเทศแนวหน้าของโลก พวกเขาผลิตบุคลากรระดับคุณภาพมากมายหลากหลายวงการ ดังนั้นค่านิยมก็เปลี่ยนไป ความภาคภูมิของการแชมป์ซูโม่ไม่ได้สำคัญไปกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ อีกเเล้ว นั่นจึงเป็นการเปิดช่องให้กับนักซูโม่ต่างชาติเข้ามาแทรกซึมทีละนิดๆ จากการแก้กฎต่างๆ ไปเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นนักซูโม่ แต่รู้ตัวเองอีกทีก็มีนักซูโม่ต่างชาติที่ไปถึงตำแหน่ง "โยโกซึนะ" ถึง 18 จาก 19 คนหลังสุดเลยทีเดียว

 2

แม้จะบอกว่าความนิยมลดน้อยถอยลงไป แต่การมีแชมป์เป็นชาวต่างชาตินั่นหมายความว่า ญี่ปุ่น กำลังถูกลูบคม มันเหมือนกับการสูญเสียความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ตอนที่ คิเซโนซาโตะ หรือชื่อจริง ยูทากะ ฮากิวาระ ขึ้นเป็นเจ้าของตำแหน่ง โยโกะซึนะ คนที่ 72 ในประวัติศาสตร์ และคนแรกในรอบ 19 ปีที่เป็นชาวญี่ปุ่น ถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการซูโม่ของเเดนอาทิตย์อุทัยไม่น้อย จนถูกเรียกว่า "โยโกซึนะตัวจริง"

วิถีชีวิตก่อนจะเป็นเบอร์ 1

คนญี่ปุ่นนั้นเชื่อมั่นและให้ราคากับคนที่ทำงานหนัก เเละการจะเป็นนักซูโม่ก็เป็นภาพจำลองวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

 3

อย่างแรกเลยคือต้องวัดความสมัครใจกันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น มีกฎเกี่ยวกับการเป็นนักซูโม่มากมาย โดยจะต้องสูงอย่างน้อย 167 เซนติเมตร มีน้ำหนักอย่างน้อย 67 กิโลกรัม คนที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเรียนจบมัธยมปลาย อยู่ในช่วงอายุ 18-22 ปี ต้องผ่านการตรวจเลือดเพื่อเช็คสภาพร่างกาย ไม่เป็นโรคใดๆ นี่คือสิ่งที่เพิ่มมาจากยุคอดีต ในวันที่กีฬาซูโม่กลายเป็นอาชีพ

ตามลำดับขั้นตอนยังไม่เปลี่ยนไป กว่าจะไต่มาถึงบนสุดได้นักซูโม่ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นแรกไล่ตั้งแต่ล่างสุดถึงบนสุดจาก โจโนคุจิ > โจนิดัน > ซันดาเมะ > มาคุชิตะ > จูเรียว และ มะคูจิ แต่ละระดับจะมีผู้เข้าแข่งขันน้อยลงเรื่อยๆ ตามความเข้มข้นของลำดับรุ่น

และเส้นทางของ โยโกซึนะ หรือเรียกให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ "แชมป์ซูโม่ระดับโลก" เหนือกว่าระดับบนสุดอย่าง มะคูจิ ที่คนทั้งประเทศรอคอยเองก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เหตุผลที่ คิเซโนซาโตะ คือความภูมิใจของคนทั้งชาติ นั่นก็เพราะว่าเขาทำในสิ่งที่แทบหาคนญี่ปุ่นทำไม่ได้เเล้ว นั่นคือการทุ่มสุดชีวิตให้กับการเล่นซูโม่นับตั้งแต่จำความได้  

เขาไต่เต้ามาตั้งแต่นักซูโม่ระดับล่าง ซึ่งต้องบอกว่าในวงการนี้เรื่องของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือเรียกแบบตะวันตกว่า โซตัส คือสิ่งจำเป็นมาก รุ่นน้องต้องถือคำสั่งของรุ่นพี่เป็นเด็ดขาด และต้องเคยผ่านการทำงานนอกเหนือจากการฝึกหลายรูปแบบ เช่นการทำอาหารนักซูโม่หรือ "จังโกะนาเบะ" หม้อไฟที่ใส่สารพัดวัตถุดิบเข้าไปเพื่อให้มีพลังงานถึง 8 พันแคลลอรี นอกจากนี้ยังมีการล้างห้องน้ำ, อ่างน้ำ และช่วยทำความสะอาดโรงฝึกไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าหากไม่สามารถขยับระดับได้เขาก็ต้องทำแบบนี้ไปตลอดชีวิต และการจะเลื่อนขั้นได้ต้องชนะถึง 8 จากการขึ้นปล้ำ 15 ครั้ง ยิ่งการแข่งขันซูโม่นั้นไม่มีการจำกัดน้ำหนักซึ่งทำให้ยากเข้าไปอีกสำหรับเหล่านักซูโม่หน้าใหม่ที่จะต้องเจอกับนักซูโม่รุ่นเก่าที่ตัวใหญ่กว่าถึง 2 เท่าและงมโข่งในรุ่นเดียวกัน

ตัวของ คิเซโนซาโตะ แม้จะเป็นคนที่มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการซ้อม แต่การกระทำของเขาในการซ้อมแต่ละครั้งเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งรักทั้งเกลียดมากกว่า อย่างที่บอกไปในข้างต้นระบบโซตัสอันรุนแรงของวงการซูโม่ ทำให้เหล่านักซูโม่รุ่นเยาว์จะต้องโดนรุ่นพี่ซ้อมได้ตามใจชอบ โดยในวงการใช้การซ้อมแบบนี้ว่า "ได้รับการเอ็นดูโปรดปราน" ซึ่งบางรายโชคร้ายโดนเอ็นดูมากไปหน่อยจนถึงขั้นโดนตบกระโหลกร้าวเรื่องถึงคุกถึงตาราง บางรายก็เสียชีวิตไปเลยก็มี

เรื่องดังกล่าวเคยมี "ฮะคุโฮ" แชมป์ซูโม่ระดับโยโกซึนะชาวมองโกเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่าเขาเคยถูกเฆี่ยนตีสั่งสอนจากรุ่นพี่แบบนอนสต็อปเป็นเวลาเกือบชั่วโมง เรื่องดังกล่าวทำให้เขาร้องไห้ทุกวัน แต่ก็ยังผ่านมาได้จนก้าวมาถึงจุดสูงสุดของวงการซูโม่

 4

แม้จะเกลียดการซ้อมยังไงก็ต้องทำนั่นคือวิถีของมืออาชีพ เช่นเดียวกับ คิเซโนซาโตะ และนักซูโม่ระดับสูงทุกคนจาก 47 โรงยิมทั่วประเทศ ซึ่งพวกเขาต้องใช้ชีวิตตามตารางที่วางไว้เป๊ะๆ ทั้งการซ้อม 2 ช่วง เช้าและบ่าย การกินแบบไม่บันยะบันยัง รวมถึงการนอนช่วงกลางวันเพื่อให้มีแรงซ้อมก่อนในช่วงบ่าย ซึ่งการนอนนั้นบางครั้งต้องใช้สายอ็อกซิเจนช่วยในการหายใจอีกด้วยเพราะเหล่านักซูโม่นั้นมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ 2-3 เท่า

ส่วนเหตุผลที่ต้องซ้อมกันขนาดนั้นเพราะหากไปไม่ถึงระดับสูง พวกเขาก็จะอยู่ในสถานะซ้อมฟรี ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีรางวัลจากการเเข่งขัน แต่หากไปถึงจุดนั้นได้ ก็จะมีเงินจากรัฐบาลทุกเดือนให้ใช้แบบไม่ลำบาก โดยหากไปถึงตำแหน่ง โยโกซึนะ ได้ ก็จะมีเงินให้ใช้เดือนละประมาณ 2.8 ล้านเยน หรือ 8 แสนบาทโดยประมาณ ซึ่งตัวของ คิเซโนซาโตะ ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี กว่าจะมาถึง

อย่างไรก็ตามนอกจากจะฝึกร่างกายให้แข็งแกร่งเเล้ว เรื่องการวางตัวของการเป็น โยโกะซึนะ ก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน...

อยากจะใหญ่อย่าบู๊เป็นอย่างเดียว

ว่ากันว่าการจะเป็นสุดยอดนักซูโม่ระดับ "โยโกซึนะ" นั้นต้องเข้าถึงจิตวิญญาณถึงขั้นสุด เรื่องรากฐานมาจากกีฬาที่เล่นให้องค์จักรพรรดิดูแล้ว เวทีซูโม่ยังถือว่าเป็นสังเวียนศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่จะไปถึงจุดนั้นต้องเตรียมวางตัวให้เหมาะสม สง่างามอีกด้วย

 5

เหล่านักซูโม่ระดับสูงจะไม่มีการให้สัมภาษณ์เชิงท้าทายทีเล่นทีจริงแบบนักมวยสากล หรือ MMA เด็ดขาด พวกเขาต้องอยู่ในกรอบของความเงียบสงบเคร่งขรึม การให้สัมภาษณ์แต่ละครั้งต้องใช้น้ำเสียงที่คงที่ไม่ดังและเบาเกินไป และยังต้องใส่อารมณ์ให้เรียบเฉยที่สุดไม่ว่าลึกๆ จะรู้สึกโกรธแค้นและดีใจขนาดไหนก็ตาม ต่อให้เป็นนักกีฬาต่างชาติก็ต้องหัดพูดภาษาญี่ปุ่นในระดับที่ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อปฎิบัติตามกฎที่ว่านี้

 6

เหล่า โยโกซึนะ จะต้องสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของกีฬาชนิดนี้ พวกเขาต้องสวมเครื่องแบบเฉพาะนั่นคือชุดยูกาตะที่แสดงออกถึงความเป็นญี่ปุ่นตลอดเวลา แม้จะออกไปนอกค่ายหรือไปต่างประเทศก็ตาม และสำหรับการใส่ มาวาชิ หรือชุดที่นักซูโม่ใส่แข่งขันนั้น โยโกะซึนะ จะได้รับการแบ่งชั้นอย่างชัดเจน กลุ่มนักซูโม่ระดับสูงเท่านั้นที่จะได้สวมใส่ "เคโชะ มาวาชิ” ซึ่งเป็นมาวาชิที่ปักลวดลายสวยงาม เข้าร่วมพิธีกรรม ก่อนการแข่งขัน ขณะที่เหล่าหน้าใหม่ใส่ได้แต่ วามาชิ สีดำและขาวเท่านั้น

 7

ด้วยทุกสิ่งที่กล่าวมาทำให้ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้มี "โยโกซึนะ" เป็นสายเลือดบูชิโดเเท้ๆ คือการปัดฝุ่นครั้งใหญ่ของวงการซูโม่อย่างแท้จริง

อีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะ คิเซโนซาโตะ เป็นเหมือนตัวแทนสะท้อนถึงความเป็นชาวญี่ปุ่นโดยเนื้อแท้ ก่อนที่เขาจะเป็น โยโกซึนะ เขาเองเคยเข้าชิงถึง 12 ครั้งและผิดหวังมาโดยตลอด

"ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศเฝ้ารอ โยโกซึนะ ที่เป็นสายเลือดญี่ปุ่นแท้จริงมาตลอด ผมหวังว่าเขาจะแสดงคาแร็คเตอร์ เเสดงความสามารถ และรักษาเกียรติยศแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้" โคอิชิ ฮากิอุดะ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ แถลงกลางกรุงโตเกียวหลัง คิเซโนซาโตะ กลายเป็นอันดับ 1 ของโลกซูโม่

 8

แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศยังกล่าวขนาดนี้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กีฬาซูโม่ รวมถึงตำแหน่ง โยโกซึนะ ถือเป็นศักดิ์ศรีแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างแท้จริง

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ หยาดเหงื่อ, จิตวิญญาณ, ศักดิ์ศรี : กว่าจะเป็น "โยโกซึนะ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook