ท่าสัญลักษณ์ ที่ทำให้ฮีโร่ "เอธิโอเปีย" ไม่ได้กลับบ้านเกิดกว่า 2 ปี

ท่าสัญลักษณ์ ที่ทำให้ฮีโร่ "เอธิโอเปีย" ไม่ได้กลับบ้านเกิดกว่า 2 ปี

ท่าสัญลักษณ์ ที่ทำให้ฮีโร่ "เอธิโอเปีย" ไม่ได้กลับบ้านเกิดกว่า 2 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนมักจะกล่าวว่า กีฬาควรแยกให้อยู่ห่างจากการเมือง” ทว่าจากหน้าประวัติศาสตร์ เรากลับพบว่าการแยกสองเรื่องนี้จากกันทำได้ยากยิ่ง ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างเศรษฐกิจ, สังคม หรือแม้แต่ชีวิตประจำวัน ที่มักมีเรื่องนี้สอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งเสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งกีฬาได้กลายเป็นสถานที่แสดงออกทางการเมือง หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์การแข่งขันทางการเมืองในหลากวาระ ทั้งเวทีแสดงพลังอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์กับนาซีในฟุตบอลโลกและโอลิมปิกช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2, “Black Power Salute” เรียกร้องสิทธิคนเชื้อสายแอฟริกันในโอลิมปิก 1968 แม้กระทั่ง “คุกเข่าเคารพธงชาติ” ก่อนเกม NFL ที่มี โคลิน เคปเออร์นิก เป็นแกนนำ ก็ยังลุกลามเป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อสิ่งดังกล่าวขัดใจ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างแรง

 

แน่นอน เมื่อการกระทำดังกล่าวส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม ผู้ที่แสดงออกย่อมต้องได้รับผลกระทบเป็นธรรมดา แต่สำหรับเรื่องราวของชายผู้นี้ สิ่งที่เขาพบเจอถือว่าหนักหนาไม่น้อย กับการต้องจากบ้านถึงกว่า 2 ปี ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างชื่อเสียงให้ชาติในฐานะ “ฮีโร่เหรียญเงินโอลิมปิก” เพียงเพราะประกาศให้โลกรู้ว่า “ประเทศของเขามีบางสิ่งเกิดขึ้น”

วิ่งตามไอดอล

ชีวิตของ เฟยิซ่า ลิเลซ่า ค่อนข้างคล้ายคลึงกับชาวเอธิโอเปียเพื่อนร่วมชาติของเขาหลายคน ที่เลือกจะเป็นนักวิ่งมาราธอนเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ทว่าสำหรับเขา นั่นไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้เขาตัดสินใจเช่นนี้ เพราะยังมีอีกแรงบันดาลใจสำคัญให้ดำเนินรอยตาม

 1

นั่นคือ อเบเบ บิคิล่า วีรบุรุษของชาติผู้ใช้สองขาสร้างชื่อให้ประเทศ ด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยซ้อนในปี 1960 และ 1964 นั่นเอง

“บิคิล่าเปรียบเหมือนคนที่ส่องแสงสว่างให้โลกรู้ว่ามีประเทศเอธิโอเปียอยู่ครับ” ลิเลซ่าเริ่มเอ่ยถึงวีรบุรุษตลอดกาลของชาติ “อย่างที่ทราบกันดีว่าในอดีตประเทศของเราขัดสนไม่น้อย จนเขาไม่มีรองเท้าที่จะไปแข่งโอลิมปิก ถึงกระนั้น เขาก็ใช้สองเท้าเปล่านำตัวเองคว้าเหรียญทองโอลิมปิก (ปี 1960 ที่กรุงโรม ส่วนอีก 4 ปีต่อมาที่กรุงโตเกียว บิคิล่ามีรองเท้าใส่แล้ว) จนได้”

“ชัยชนะของบิคิล่า ถือเป็นประตูที่เปิดโอกาสให้ชาวเอธิโอเปียหลายคนได้มีโอกาสเป็นนักวิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น หากไม่มีความสำเร็จของเขา ตัวผมเองคงไม่อยู่ในสถานะที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับพรรคพวกพี่น้องร่วมชาติได้เป็นแน่แท้”

และเส้นทางการเป็นนักวิ่งของลิเลซ่าก็เริ่มต้นจากจุดนั้น โดยช่วงแรกเจ้าตัวคือนักวิ่งครอสคันทรี่ดาวรุ่งฝีเท้าดี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสายวิ่งถนนอย่างเต็มตัวในเวลาถัดมา และสามารถสร้างชื่อได้อย่างรวดเร็วจากการคว้าแชมป์ ดับลิน มาราธอน เมื่อปี 2009 ซึ่งถือเป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับนานาชาติครั้งแรกของเขาด้วย รวมถึงรายการ เซียะเหมิน อินเตอร์เนชั่นแนล มาราธอน ในปีถัดมา

ไม่เพียงเท่านั้น ลิเลซ่ายังพิสูจน์ฝีเท้าของตัวเองในรายการใหญ่ๆ ด้วยการขึ้นโพเดียมศึก ชิคาโก้ มาราธอน 2 ปีซ้อน (อันดับ 3 ปี 2010 และอันดับ 2 ปี 2011) รวมถึงเหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลกปี 2011 ที่เมืองแตกูของเกาหลีใต้อีกด้วย

 2

ทว่าในระหว่างที่กำลังสร้างชื่อในฐานะนักวิ่งบนเวทีโลก กลับมีสิ่งหนึ่งในเอธิโอเปียบ้านเกิดที่กัดกินหัวใจของเขาอยู่

ปัญหาที่บ้านเกิด

ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องนั้น คงต้องพูดกันถึงพื้นเพของลิเลซ่ากันเสียหน่อย เขาเป็นชาวเผ่าโอโรโม ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ของประเทศเอธิโอเปีย โดยมีจำนวนถึง 34% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมาคือชนเผ่าอามฮารา ที่มีประชากรอยู่ราว 27%

 3

และเรื่องนั้นเองคือที่มาของปัญหาอันคาราคาซังในประเทศนี้มานานแสนนาน เพราะหลังจากที่เอธิโอเปียหลุดพ้นจากสงครามกลางเมืองและระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1991 พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปฏิวัติประชาชน หรือ EPRDF ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อสู้ก็ได้ครองอำนาจการปกครองของประเทศนี้มาโดยตลอด

ประเด็นสำคัญคือ แม้พรรค EPRDF จะเป็นการรวมตัวของหลายๆ พรรคจากหลากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ ชนเผ่าตีเกรย์ ซึ่งมีประชากรแค่ราว 6% ของประเทศกลับกุมตำแหน่งสำคัญๆ ทางการบริหารเสียหมด ส่วนชนเผ่าโอโรโมและอามฮาราที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการบริหารเลย

หากจะยกตัวอย่างให้ชัดๆ เอธิโอเปียก็ไม่ต่างอะไรจาก อิรัก สมัยที่ ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้นำสูงสุด เมื่อชาวมุสลิมนิกายซุนนีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศครองอำนาจทางการบริหาร ส่วนชาวนิกายชีอะฮ์กลับไม่มีสิทธิ์มีเสียง ทั้งๆ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของดินแดนเมโสโปเตเมีย

ไม่เพียงเท่านั้น ดินแดนแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ยังมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่มีทั้งภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมจากปรากฎการณ์ เอล นินโญ่ ทำให้ประสบปัญหาในการทำกสิกรรม ขณะเดียวกัน แม้เอธิโอเปียจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกตั้งแต่เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ แต่การพัฒนากลับกระจุกตัวในเมืองใหญ่ และเมืองที่เป็นฐานเสียงของรัฐบาลเท่านั้น เมืองในชนบทและเมืองที่ไม่ใช่ฐานเสียงกลับไม่ได้รับอานิสงส์ด้วย เพียงเท่านี้ก็พอจะเดาสภาพได้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาจะกลายเป็นเชื้อไฟที่ปะทุความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเป็นแน่

และนั่นทำให้เกิดการประท้วงในประเทศเอธิโอเปียอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งแทบทุกครั้งลงเอยในลักษณะเดียวกัน คือฝ่ายรัฐสามารถปราบปรามผู้ชุมนุมได้ และเกิดความสูญเสียกับฝ่ายต่อต้านมากมาย เช่นในปี 2005 ที่การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ได้ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบ 200 ศพ

 4

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจลิเลซ่าก็บังเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2015 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงจากชนเผ่าโอโรโม ประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐที่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างนิคมการลงทุนใหม่ ซึ่งการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ได้ลุกลามจนเกิดเหตุประท้วงไปทั่วดินแดนของชนเผ่าโอโรโม

“ยิ่งปราบยิ่งลาม” น่าจะเป็นคำพูดที่อธิบายสภาพการณ์ของเหตุประท้วงนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยศพ และผู้บาดเจ็บจำนวนมากตามรายงานจากองค์กร ฮิวแมน ไรท์ส วอช ที่สังเกตการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่สุดแล้ว การชุมนุมประท้วงก็ขยายสู่วงกว้างไปยังเขตแดนของชนเผ่าอื่นๆ อย่าง อามฮารา กลายเป็นการประท้วงใหญ่ไปทั่วประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 ก่อนหน้าการแข่งขันโอลิมปิกเพียงไม่กี่สัปดาห์

ตัวลิเลซ่าที่เป็นชาวเผ่าโอโรโมก็รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดอย่างต่อเนื่องอยู่เต็มอก แต่ในเวลานั้นเจ้าตัวก็ไม่ได้มีพลังทางสังคมมากพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้แต่เก็บความคับแค้นไว้ในส่วนลึกเพื่อรอแสดงออกในเวลาที่เหมาะสม

ดีเดย์

21 สิงหาคม 2016 มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เดินทางมาถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน โดยมี วิ่งมาราธอนชาย กีฬาที่มีมาตั้งแต่สมัยโอลิมปิกยุคโบราณ และเป็นหนึ่งในกีฬาที่สะท้อนถึงสปิริตของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติได้ดีที่สุด เป็นกีฬาชนิดท้ายๆ ที่มีการชิงเหรียญรางวัล ซึ่ง เฟยิซ่า ลิเลซ่า ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำการแข่งขันด้วย

 5

อันที่จริง ลิเลซ่าเองก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งของคราวนั้น จากการที่เจ้าตัวเพิ่งคว้าแชมป์รายการ โตเกียว มาราธอน หนึ่งใน 6 รายการระดับเมเจอร์เมื่อช่วงต้นปี ทว่าคู่ต่อสู้อย่าง เอลิอุด คิปโชเก้ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เคนยา (ซึ่งสร้างสถิติโลกใหม่ของการวิ่งมาราธอนอีก 2 ปีต่อมา) ถือเป็นหนึ่งใน “บิ๊กเนม” ของวงการยุคนี้ เมื่อผลการแข่งขันใน 4 รายการระดับเมเจอร์ก่อนถึงโอลิมปิกที่ปอดเหล็กผู้นี้ลงสนาม (ชิคาโก้ 2014, ลอนดอน กับ เบอร์ลิน 2015 และ ลอนดอน 2016) สะกดได้เพียงคำเดียวเท่านั้น นั่นคือ “แชมป์”

และแม้ลิเลซ่าจะเร็วสู้นักวิ่งตัวท็อปอย่างคิปโชเก้ ที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันคราวนั้นไม่ได้ แต่การวิ่งตามมาในฐานะอันดับ 2 ก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น การที่โอลิมปิกถือเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ นั่นหมายความว่า แฟนกีฬาทั่วทุกมุมโลกจะจับจ้องที่ผู้เข้าแข่งขันอย่างเขา ซึ่งรวมถึงคนที่เอธิโอเปียบ้านเกิดด้วย ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่สุดในการแสดงให้โลกรู้ว่า บ้านเกิดของเขากำลังมีปัญหา

เมื่อเส้นชัยอยู่ตรงหน้า สมองและหัวใจของลิเลซ่าก็ได้สั่งการให้แขนทั้งสองข้างยกขึ้นเพื่อทำเป็นเครื่องหมายกากบาท ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โฟกัสของตากล้องทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวพุ่งเข้าใส่เขาทันที

 6

เฟยิซ่า ลิเลซ่า คว้าเหรียญเงินวิ่งมาราธอนโอลิมปิก 2016 และหลังจากที่พิธีมอบเหรียญเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาเปิดเผยเสียทีว่า ท่ากากบาทนั้นคืออะไร และเขาทำมันด้วยสาเหตุใดกันแน่?

“อ๋อ ท่ากากบาทนั่นเหรอครับ? มันคือสัญลักษณ์ที่ชนเผ่าโอโรโม เชื้อสายเดียวกับผมทำขึ้นเพื่อบอกว่า ‘พวกเขาไม่มีอาวุธ’ ในการประท้วง ผมทำท่านี้เพื่อให้โลกรู้ว่า พวกพ้องของผมถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปราม ทำร้าย ฆ่าให้ตายไปมากมายเหลือเกิน แม้พวกเขาแสดงออกแล้วว่ามีเจตนาอันบริสุทธิ์ก็ตาม”

เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่กัดกินใจของลิเลซ่ามาโดยตลอด โดยเจ้าตัวเผยต่อว่า “สมัยที่ผมเรียนอยู่เกรด 9 (มัธยมศึกษาปีที่ 3) เพื่อนของผม 3 คนต้องตายเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งนานวันเข้าสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากเดิม แถมมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเสียด้วยซ้ำ”

“แม้กระทั่งช่วงโค้งสุดท้ายของการฝึกซ้อมก่อนลงแข่งโอลิมปิก เรื่องดังกล่าวก็ยังคงเป็นสิ่งที่กระสบโสตประสาทของผมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งผมเองก็ได้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มผู้ประท้วงอยู่ไม่น้อย มันทำให้ผมตัดสินใจว่าจะทำสิ่งนี้เพื่อให้โลกรับรู้ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเสียที”

แรงกระเพื่อมอันรุนแรง

แม้เรื่องดังกล่าวดูจะหมิ่นเหม่ว่า นี่คือการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการใดๆ ต่อลิเลซ่า ถึงกระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับฮีโร่โอลิมปิกจนได้

 7

เรื่องมันก็เป็นเพราะ ระหว่างการเปิดใจหลังคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกซึ่งเผยถึงสาเหตุของท่ากากบาทตอนเข้าเส้นชัย เจ้าตัวยังได้พูดทิ้งท้ายด้วยว่า

“จากสิ่งที่ได้พูดและทำไป ผมคงกลับบ้านเกิดผมไม่ได้อีกตลอดชีวิตแล้วล่ะ เพราะบางทีผมอาจถูกจับ หรือสังหารก็เป็นได้”

แน่นอน รัฐบาลของเอธิโอเปียไม่พอใจกับการกระทำของเขาเป็นอย่างมาก ไฮเลมาเรียม เดชาเลน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเชื่ออย่างฝังใจว่า การแสดงออกของฮีโร่โอลิมปิกรายนี้ต้องมีเบื้องหลัง

“เราส่งลิเลซ่าไปแข่งโอลิมปิก ซึ่งแน่นอนว่า ต้องการให้เขาเดินทางกลับบ้านหลังคว้าเหรียญ แต่สิ่งที่เขาทำ ผมมั่นใจว่านี่ไม่ใช่ความคิดของเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้จะต้องมีคนที่อยู่เบื้องหลังแน่นอน” ผู้กุมอำนาจสูงสุดทางฝ่ายบริหารกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า กลุ่มต่อต้านพลัดถิ่น ศัตรูที่รัฐบาลไม่อาจเอื้อมมือถึงเป็นผู้ให้การสนับสนุน

แม้จะด่าแบบสาดเสียเทเสีย พร้อมกับมีการตอบโต้จากภาครัฐทุกครั้งที่ลิเลซ่าเปิดใจกับสื่อ แต่รัฐบาลก็ทราบดีว่า สถานะของปอดเหล็กผู้นี้จะทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์มากหากดึงเข้ามาเป็นพวกได้ เดชาเลนจึงพูดผ่านสื่อว่า ยินดีต้อนรับฮีโร่ของชาติคนนี้กลับบ้าน พร้อมรับประกันความปลอดภัย

ถึงกระนั้น แม้แต่สมาชิกในครอบครัวเองก็ไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐบาลกล่าวอ้าง “รับประกันความปลอดภัย?” แม่ของลิเลซ่าย้อนทันทีเมื่อมีนักข่าวถามเรื่องนี้กับเธอ “พวกคุณเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลพูดเหรอ? แม่ไม่คิดอย่างนั้นนะ แม่ว่าลูกจะไปอยู่ที่ไหนก็ไปเถอะ อย่ากลับมาที่นี่เลย”

และลิเลซ่าก็ทำจริงๆ เพราะหลังจากจบโอลิมปิก เจ้าตัวได้ใช้ชีวิตอยู่ในบราซิลพักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจหาที่พำนักแห่งใหม่ ที่ซึ่งเขาจะสามารถทุ่มเทกับการฝึกซ้อมได้เต็มที่ และด้วยผลงานการแข่งขันที่ผ่านมา ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินใจออกวีซ่าผู้ชำนาญทักษะให้ เขาจึงสามารถไปลงหลักปักฐานที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ เพื่อทุ่มเทกับการฝึกซ้อมและแข่งขันได้โดยไม่ต้องพะวงว่า ชีวิตจะเจอกับความเสี่ยงจากอำนาจรัฐกับผู้สนับสนุนเมื่อไหร่

วันฟ้าเปลี่ยนสี

แม้จะย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนภรรยาและลูกๆ ก็หอบกระเป๋าบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ชีวิตด้วยกันแล้ว แต่ “สำนึกรักบ้านเกิด” ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของลิเลซ่าเสมอ เนื่องจากญาติๆ ของเขาหลายคนยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แถมบางคนยังถูกคุมขังจากการออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาล

 8

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจไม่ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอื่น มิหนำซ้ำ ยังเรียกร้องให้นานาชาติเหลียวมอง และเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อีกด้วย

“จริงๆ ผมก็กลัวนะว่าประเทศของผมจะเลวร้ายแบบที่ลิเบียเคยเป็นหรือไม่ ถึงกระนั้นผมก็ยังมีความเชื่อว่า ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จนสามารถกลับไปที่นั่นได้อีกครั้ง เพราะผมยังต้องการรับใช้ทีมชาติเอธิโอเปียอยู่เสมอ”

ชีวิตแม้จะเจอกับความมืดมนเพียงใด แต่วันฟ้าใหม่ย่อมมาถึงเสมอ การเมืองของเอธิโอเปียก็เช่นกัน เพราะหลังจากที่การประท้วงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ช่วงก่อนโอลิมปิก 2016 ที่สุดแล้ว ไฮเลมาเรียม เดชาเลน ก็ทนความกดดันจากทั้งในประเทศและระดับนานาชาติไม่ไหว ต้องขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 และหลังจาก 2 เดือนในการสรรหาผู้นำคนใหม่ ก็ได้ อาบีย์ อาเหม็ด นักการเมืองจากชนเผ่าโอโรโม ชาติพันธุ์เดียวกับลิเลซ่าและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศขึ้นดำรงตำแหน่ง

ในการแถลงนโยบาย อาเหม็ดได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะสร้างมาตรฐานของประเทศนี้ขึ้นใหม่ ซึ่งประชาชนทุกคนของประเทศไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดก็จะมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน รวมถึงวางรากฐานสู่ระบอบการปกครองที่ยั่งยืน แน่นอน ลิเลซ่าติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเมื่อมีนักข่าวอีเมลมาสอบถามความเห็น เขาจึงพิมพ์กลับไปว่า

“ถ้าเขาสามารถเปลี่ยนวาทศิลป์ที่พูด เป็นการกระทำที่เห็นผลได้จริง ผมว่าเขาก็น่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในประเทศนี้ได้ แม้หลายสิ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่อีกหลายสิ่งผมว่าก็น่าจะดีกว่าเดิมแหละน่า”

และเพียงไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง หลายสิ่งในเอธิโอเปียก็ดีขึ้นตามคำสัญญา แม้สถานการณ์ของประเทศจะยังมีการประท้วงอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของความเท่าเทียมให้เห็น เริ่มตั้งแต่คณะรัฐมนตรีที่มีการแต่งตั้งผู้หญิงเข้าไปดำรงตำแหน่งถึงครึ่งต่อครึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผู้ใหญ่ในวงการกีฬาของเอธิโอเปียอย่าง อชีบี โวลเดอกอร์กิส ประธานคณะกรรมการโอลิมปิก และ ไฮเล่ เกเบรเซลาสซี่ ฮีโร่ของชาติอีกราย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกวิ่ง 10,000 เมตร 2 สมัยซ้อน ที่ปัจจุบันขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์กรีฑา ส่งจดหมายเชิญลิเลซ่ากลับบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อสานต่อความสำเร็จที่เคยทำไว้ร่วมกัน พร้อมยืนยันว่า ปอดเหล็กดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิกคนนี้คือฮีโร่ของชาติ และจะรับประกันความปลอดภัยเวลาอยู่ในประเทศอีกด้วย

ด้วยสถานการณ์ของประเทศซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ที่สุดแล้ว เฟยิซ่า ลิเลซ่า ก็ตัดสินใจเดินทางกลับเอธิโอเปียบ้านเกิดอีกครั้ง เขาเดินทางถึงกรุงแอดดิส อบาบา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2018 โดยมี วอคเน เกเบเยฮู รัฐมนตรีต่างประเทศ และประชาชนเพื่อนร่วมชาติให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

“ผมรู้ดีว่าที่สุดแล้ว วันนี้จะต้องมาถึง เลือดที่พี่น้องร่วมชาติของผมต้องหลั่งรินเพื่อประเทศนี้ ที่สุดแล้วมันไม่สูญเปล่า” เจ้าตัวเอ่ยประโยคนี้กับสำนักข่าวรอยเตอร์สทันทีที่กลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง

“ผมมั่นใจอย่างที่สุดว่า ระบอบเผด็จการของประเทศนี้จะต้องถึงวันล่มสลาย ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังมั่นใจมาโดยตลอดว่า วันที่จะได้กลับมาพบกับทุกคนในบ้านเกิดของผมจะต้องมาถึง แม้ในอดีตผมไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าแค่ไหน แต่วันนี้ ผมกลับมาแล้ว”

“ผมเชื่อมั่นว่ายังสามารถสร้างผลงานการวิ่งที่ดีเช่นนี้ให้กับประเทศของผมได้ และผมทราบดีว่า ผู้คนรักผมจากการเป็นนักกีฬา ไม่ใช่นักการเมือง สิ่งที่ผมทำ ก็แค่นำความทุกข์ของผู้คนในประเทศนี้ให้คนทั้งโลกทราบด้วยอาชีพของผมเท่านั้นเอง”

 9

หากจะถามว่า ชาวเอธิโอเปียรัก เฟยิซ่า ลิเลซ่า ขนาดไหน? เรื่องราวจาก คริส ชาเวซ ผู้สื่อข่าวของ สปอร์ตส์ อิลลัสเตรด สื่อกีฬาระดับโลกน่าจะพอตอบคำถามนี้ได้ โดยเจ้าตัวเล่าว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีโอกาสได้ไปทำข่าว ชิคาโก้ มาราธอน และได้พบกับคนขับอูเบอร์ชื่อ ฮุสเซน ซึ่งเป็นชาวเอธิโอเปียชนเผ่าโอโรโมที่อพยพมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

เมื่อทราบถึงพื้นเพชีวิตของคู่สนทนา ชาเวซจึงได้ถามความรู้สึกของคนขับอูเบอร์รายนี้ที่มีต่อฮีโร่โอลิมปิกคนนี้ และคำตอบถือว่าน่าสนใจยิ่ง

“เฟยิซ่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ฮีโร่ของชนเผ่าโอโรโมเท่านั้น แต่ยังเป็นฮีโร่ของคนเอธิโอเปียทั้งชาติ” ฮุสเซนเผย “เขาคือหนึ่งในคนที่เปิดโปงเรื่องเลวร้ายในประเทศนี้ให้โลกเห็นจนกลายเป็นข่าวใหญ่ ผมว่ามันน่าเหลือเชื่อมากนะ เขายังหนุ่ม แต่สามารถเปลี่ยนประเด็นสนทนาของผู้คนทั้งประเทศได้จากการกระทำของเขา แค่นั้นเอง”

นักกีฬา ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีหน้ามีตาทางสังคม เพราะด้วยฝีมือและชื่อเสียง จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะต้องฟังเสียง หรือแม้แต่รับรู้ถึงการกระทำทั้งในและนอกสนาม

แน่นอน เสียงของบุคคลที่มีชื่ออย่างนักกีฬา ถือว่าดังกว่าประชากรทั่วไป คำถามก็คือ พวกเขาจะใช้เสียงของเขาเพื่อการใด เพื่อชื่อเสียง เงินทองของตน หรือเพื่อประชาชนร่วมสังคม

แม้เรื่องดังกล่าวไม่มีคำตอบที่ผิด แต่เรื่องราวของ เฟยิซ่า ลิเลซ่า น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถใช้เป็นบทเรียนกับเราทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงได้ว่า หากใช้ชื่อเสียงในทางที่เหมาะสม ใช้ชื่อเสียงเพื่อสะท้อนปัญหาที่มีในสังคม กระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาในทางที่ถูกต้อง

แม้มันอาจจะส่งผลต่อตัวเองอยู่บ้างในบางครั้ง แต่สิ่งที่จะได้กลับมาแน่ๆ ก็คือ หัวใจของเพื่อนร่วมชาติ และอาจหมายถึงคนทั้งโลก ที่พร้อมมอบความรักให้อย่างไม่มีข้อแม้ ซึ่งบางที นี่อาจเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าผลงานในสนามแข่งขัน หรือบนเส้นทางอาชีพของตัวเองเสียอีก

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ท่าสัญลักษณ์ ที่ทำให้ฮีโร่ "เอธิโอเปีย" ไม่ได้กลับบ้านเกิดกว่า 2 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook