คาชิมา อันท์เลอร์ส : ตัวแทนความสัมพันธ์แนบแน่นบราซิล-ญี่ปุ่น
ท่ามกลางความเงียบงันของแฟนบอลเจ้าบ้านในสนาม อาซาดี สเตเดียม มิตสึโอะ โองาซาวาระ กัปตันทีมคาชิมา อันท์เลอร์สในวัย 39 ปี ค่อยๆบรรจงชูถ้วยอย่างช้าๆ ถ้วยแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่พวกเขารอคอยมานาน อยู่ในอ้อมกอดของพวกเขาจนได้
หลังจากคว้าแชมป์ในประเทศมาทุกรายการ “กวางเขาเหล็ก” ก็เติมเต็มตู้โชว์สโมสรได้เสียที หลังเอาชนะ เปอเซโปลิส ยอดทีมจากอิหร่านด้วยสกอร์รวม 2-0
การเข้ามาของ แซร์จินโญ กองหน้าชาวบราซิล ได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทีมในฤดูกาลนี้ แม้จะเสีย มู คานาซากิ ดาวยิงตัวเก่งที่ย้ายไปเล่นให้กับ ซางัน โทซุ ในช่วงตลาดหน้าร้อน แต่ดาวเตะจาก ซานโตส ที่มาแทนที่ ก็เข้ามาเสริมทีมได้อย่างพอดิบพอดี เขาทำไป 5 ประตูกับอีก 3 แอสซิสต์ จาก 6 นัดในเกมระดับทวีป และหนึ่งในนั้นคือประตูสำคัญในนัดชิงชนะเลิศนัดแรก ที่พาทีมก้าวไปถึงแชมป์
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชาวบราซิลคือผู้ที่เข้ามาสร้างความสำเร็จให้แก่สโมสรแห่งนี้ เพราะหากมองย้อนกลับไป พวกเขามีความผูกพันกับผู้คนจากแดนกาแฟมาตั้งแต่เริ่มต้น
และนี่คือเรื่องราวของ คาชิมา อันท์เลอร์ส สโมสรที่มีความเป็นบราซิลมากที่สุดในญี่ปุ่น
ทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้จะมีช่วงเวลาที่ซบเซา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คาชิมา อันท์เลอร์ส คือทีมที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เจลีกก่อตั้งในปี 1993
หลังเกือบไม่ได้เป็นสโมสรอาชีพในช่วงเริ่มแรก อันท์เลอร์ส ก็ก้าวขึ้นมาเป็น “เต้ย” แห่งวงการฟุตบอลซามูไร พวกเขาเดินหน้ากวาดแชมป์เจลีกได้ถึง 8 สมัยมากที่สุดในญี่ปุ่น พ่วงด้วยแชมป์ลีกคัพที่ครองถ้วยได้มากที่สุดเช่นกันอีก 6 สมัย และเอ็มเพอเรอร์สคัพอีก 5 สมัย
“กวางเขาเหล็ก” ยังเคยไปได้ไกลสุดในเวทีระดับโลก ด้วยตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลสโมสรโลกในปี 2016 หลังพ่าย เรอัล มาดริด ไปอย่างเฉียดฉิวชนิดชนะหัวใจคนดู ก่อนคว้าแชมป์ ACL ที่พวกเขารอคอยมานานได้ในปีนี้
“เรามาจากเมืองที่เล็กมากๆ ตอนที่เจลีกก่อตั้ง เราถูกบอกว่า เรามีโอกาส 99.9999 เปอร์เซ็นต์ ที่จะไม่ได้เป็นสโมสรเจลีก แต่เราก็เดิมพันกับ 0.0001 เปอร์เซ็นต์นั้น เพื่อเป็นสโมสรอาชีพ และเมืองคาชิมาก็ทำได้” มาซาทาดะ อิชิอิ อดีตกุนซืออันท์เลอร์สที่เคยเป็นนักเตะรุ่นก่อตั้งกล่าวหลังนัดชิงแชมป์สโมสรโลกเมื่อปี 2016
อันท์เลอร์ส ยังทีมแรกของเจลีกที่มีสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ รังเหย้า “คาชิมา ซ็อคเกอร์ สเตเดียม” สร้างเสร็จในปี 1993 ทันพอที่จะให้ ซุมิโตโม เมทัล อินดัสทรี ซ็อคเกอร์ คลับ ใช้ในนัดเปิดฤดูกาลเจลีกภายใต้ชื่อ “คาชิมา อันท์เลอร์ส” สนามความจุ 40,728 คน เป็นที่ที่ทำให้พวกเขาได้ชูถาดแชมป์มากที่สุดในญี่ปุ่น
และหนึ่งในกุญแจสำคัญในความสำเร็จของพวกเขาที่ใช้กันมาแบบรุ่นต่อรุ่นก็คือ นักเตะชาวบราซิล
แซมบ้าคอนเนคชั่น
ในยุคตั้งไข่ของเจลีกที่ยังขาดแคลนนักเตะท้องถิ่นที่มีคุณภาพ หนึ่งในทางลัดที่ดีที่สุด คือการอิมพอร์ทนักเตะต่างชาติระดับโลกเข้ามาเพื่อยกระดับลีกให้สูงขึ้น ด้วยค่าเหนื่อยมหาศาลในช่วงบั้นปลายชีวิตนักเตะอาชีพที่พร้อมมอบให้ เจลีกในยุคนั้น จึงกลายเป็นแหล่งขุดทองของเหล่าแข้งดัง
แกรี่ ลินีเกอร์, ซัลวาตอเร สกิลลาชี, กุยโด บุชวาลด์ หรือ ปิแอร์ ลิตบาร์ทกี คือเหล่านักเตะที่พาเหรดกันมาโชว์ฝีเท้าในลีกแห่งนี้ บางรายสร้างผลงานอันลือลั่น บางรายเอาชื่อมาทิ้งไว้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาคือสีสันที่สำคัญในเจลีกยุคเริ่มต้น
เช่นเดียวกันกับอันท์เลอร์ส พวกเขาก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่ใช้บริการนักเตะต่างชาติ และเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นนักเตะจากบราซิลเท่านั้น ด้วยลีลาการเล่นที่เร้าใจ เทคนิคที่แพรวพราว การยิงประตูที่เฉียบคม เหล่านี้ได้ดึงดูดให้พวกเขาดึงตัวแข้งจากแดนกาแฟมาเล่นให้ทีมอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ ซิโก้ เจ้าของฉายา “เปเล่ขาว” มาบุกเบิก แข้งเลือดแซมบ้าก็ทยอยมาโชว์ฝีเท้าในสีเสื้ออันท์เลอร์ส อย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น บิชมาร์ค นักเตะบราซิลชุดแชมป์ โคปา อเมริกา 1989, จอร์จินโญ แข้งดรีกรีแชมป์โลก 1994, เลโอนาร์โด ที่ต่อมาได้ไปค้าแข้งกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง และ เอซี มิลาน, เบเบโต แข้งผ่านเวทีฟุตบอลโลก 3 สมัย หรือ แซร์จินโญ คีย์แมนคนล่าสุด ที่เพิ่งช่วยทีมสอยแชมป์ระดับทวีปมาครอง
ความเป็นบราซิลของ อันท์เลอร์ส ยังทำให้ครั้งหนึ่ง อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ เขียนบทให้ เปเป้ และ เลโอ สองนักเตะทีมชาติบราซิลชุดรองแชมป์เยาวชนโลก ย้ายมาเล่นให้กับทัพกวางเขาเหล็ก ในการ์ตูนกัปตันสึบาสะ ภาค Road to 2002 อีกด้วย
ไม่เพียงแต่อันท์เลอร์ส เท่านั้นที่นิยมนักเตะบราซิล เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งเจลีก มีนักเตะทีมชาติบราซิลชุดฟุตบอลโลก หลายรายย้ายมาโชว์ฝีเท้าในลีกแห่งนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส ดุงกา กัปตันทีมชาติบราซิลชุดแชมป์โลก ที่มาเล่นให้จูบิโล อิวาตะ ในช่วงปี 1995-1998, เซซาร์ ซัมปาโญ ที่เล่นให้กับ โยโกฮามา ฟลูเกลส์, คาชิวา เรย์โซล และ ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา หรือ เอดมุนโด ในสีเสื้อของ โตเกียว เวอร์ดี และ อุราวะ เรดส์
“ฟุตบอลบราซิล มักจะได้รับการยกย่องที่ญี่ปุ่นอยู่เสมอ และแน่นอน หลังจากที่ผมและชาวบราซิลคนอื่นๆเข้าไปมีส่วนร่วม พวกเขาก็สามารถสร้างสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่มีการแสดงความเคารพต่อฟุตบอลบราซิลได้” ซิโก้ ที่เคยเล่นให้กับ อันท์เลอร์สในช่วงปี 1991-1994 กล่าวกับ Goal
เจ้าพ่อแห่งอันท์เลอร์ส
ในจำนวนนักเตะชาวบราซิล ที่เดินทางมาโชว์ฝีเท้าให้กับอันท์เลอร์ส หนึ่งในนักเตะที่มีอิทธิพลที่มากสุดคงจะไม่ใช่ใครนอกจาก “ซิโก้”
แม้จะประกาศเลิกเล่นในปี 1991 เพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาในรัฐบาลของประธานาธิบดี Fernando Collor de Mello แต่เขาต้องมีอันต้องหยิบสตั๊ดขึ้นมาปัดฝุ่นและสวมมันลงหวดลูกบอลอีกครั้ง หลังเซ็นสัญญากับ ซุมิโตโม เมทัล อินดัสทรี
ในตอนนั้น ซุมิโตโมยังเป็นเพียงทีมสมัครเล่นในลีกรองของประเทศ แต่หลังจากซิโก้ เข้ามาทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ดาวเตะเจ้าของฉายา “เปเล่ขาว” ได้กลายเป็นพระเจ้าของที่นี่ในวัยเกือบ 40 ปี
ในฤดูกาลแรกกับซูมิโตโมเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ยิงประตูถล่มทลายถึง 21 ประตูจาก 22 นัด ครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุด เจแปน ซ็อคเกอร์ลีก ดิวิชั่น 2 พร้อมพาทีมจบตำแหน่งรองแชมป์ปี 1991-1992 ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีก ลีกอาชีพแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
“ตอนนั้นหัวเข่าผมไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกอย่างมันโอเคหมด ผมได้เป็นดาวซัลโวในดิวิชั่น 2 เราก็จบในตำแหน่งรองแชมป์ และได้สิทธิ์ขึ้นมาเล่นในลีกอาชีพ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆของผม พวกเขาได้เห็นความมุ่งมั่นของผม และความทุ่มเทที่ใส่ลงไป” ซิโก้กล่าวกับ FIFA.com
ดาวเตะทีมชาติบราซิล สร้างความตะลึงตั้งแต่นัดแรกในเจลีก เขาซัดแฮตทริคได้ทันทีในนัดเปิดสนามเจลีก 1993 ช่วยให้ อันท์เลอร์ส เอาชนะ นาโงยา แกรมปัสไปอย่างขาดลอย 5-0 ตลอดฤดูกาลเขายิงไปทั้งสิ้น 12 ประตูจาก 24 นัดในทุกรายการ พาทีมคว้าแชมป์เจลีก เลกแรก และรองแชมป์ในฤดูกาลปกติ
ซิโก้ ได้มีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสความนิยมในอันท์เลอร์สและเจลีก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของ “กวางเขาเหล็ก” ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดีเขาก็ออกมายอมรับภายหลังว่าจริงๆแล้วเขาไม่ได้ตั้งใจมาเตะฟุตบอลสักเท่าไหร่…
เซนเซ
ในวัย 38 ปี และร้างลาจากพื้นหญ้าไปพอสมควร สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชายผู้เคยผ่านฟุตบอลโลก 3 สมัย คือการนำความรู้และประสบการณ์เข้าไปพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
ในวันที่เซ็นสัญญากับ อันท์เลอร์ส ความตั้งใจแรกของเขาคือการมาเป็นเบื้องหลังให้กับสโมสรสมัครเล่นแห่งนี้ แต่ทันทีที่เขาเห็นสภาพของฟุตบอลญี่ปุ่นในตอนนั้น ก็ทำให้เขาเปลี่ยนใจ
“ผมรู้ตั้งแต่ตอนที่เซ็นสัญญาแล้วว่าพวกเขาอยากให้ผมมาเล่น แต่ผมชัดเจนตอนเจรจาว่าผมอยากแขวนสตั๊ดแล้ว และเริ่มที่จะเป็นโค้ช หรืออะไรซักอย่าง” ซิโก้ เริ่มต้นกับ FIFA.com
“ตอนที่ผมไปถึงที่นั่น ผมเห็นถึงความต่างชั้นว่ามันห่างกันมาก ซึ่งทำให้ผมสามารถเล่นได้ แม้จะแค่ 60 เปอร์เซนต์จากความสามารถ และสิ่งนั้นแหละที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจ”
และอย่างที่ทราบกันดี ซิโก้ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในสีเสื้อของอันท์เลอร์ส เขายิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ พาทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกอาชีพจบถึงตำแหน่งรองแชมป์ของลีก
ไม่เพียงแต่ในสนามเท่านั้น แต่นอกสนาม ซิโก้ ยังเป็นผู้วางรากฐานสำคัญให้กับสโมสรตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสโมสรอาชีพ เขาใช้ความรู้ที่มีทั้งหมด รวมถึงประสบการณ์การเล่นในบราซิล และ อิตาลี ถ่ายทอดให้กับนักเตะญี่ปุ่นจนหมดไส้หมดพุง จนถูกขนานนามว่า “เซนเซ” (อาจารย์) ถึงขนาดว่านักเตะญี่ปุ่นหลายคนอยากย้ายมาอยู่ อันท์เลอร์ส เพื่อเรียนรู้จากเขา
หลังแขวนสตั๊ดในปี 1994 เขาได้มีโอกาสกลับมาในถิ่น คาชิมา ซ็อคเกอร์ สเตเดียม อีกครั้งในฐานะกุนซือรักษาการณ์เมื่อปี 2009 และ รับตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคของสโมสรอยู่ในขณะนี้
“เป้าหมายของผมตอนไปที่นั่น (ญี่ปุ่น) คือทำให้พวกเขาเปลี่ยนจากมือสมัครเล่นเป็นมืออาชีพ แต่บางสิ่งบางอย่างในตัวผมเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น” ซิโก้กล่าวกับ FIFA.com
“ทั้งจิตสำนึกในความเป็นระเบียบ ความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จ และความทะเยอทะยานของพวกเขา ผมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกื้อหนุนต่อกัน ผมได้รับความเชื่อใจจากผู้คน และประตูก็เปิดขึ้น ที่ทำให้ผมสามารถทำงานของผมได้”
“เราแค่วางโครงสร้างให้กับพวกเขา และพวกเขาก็เอามันไปใช้ มันก็ดำเนินไปจากตรงนั้น คาชิมากลายเป็นทีมใหญ่ คว้าแชมป์และชนะคู่แข่งมากกว่าทีมอื่น ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้ช่วยพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้น”
คุณูปการของซิโก้ ต่ออันท์เลอร์ส และวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
ทำให้เขามีรูปปั้นของตัวเองตั้งอยู่หน้าสนาม คาชิมา ซอคเกอร์ สเตเดียม และได้รับการเลือกเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนต่างชาติคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ รวมทั้งได้รับการขนานนามจากแฟนบอลแดนอาทิตย์อุทัยว่า Sakka no Kamisama หรือ “พระเจ้าแห่งฟุตบอล”
“พวกเขาจดจำและเข้าใจในสิ่งที่ผมเคยทำให้ดูไว้ได้เป็นอย่างดี และทำให้ผมถูกเลือกเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศของสมาคม ผมเป็นผู้เล่นต่างชาติคนแรก และคนเดียวที่ได้รับเกียรตินี้” ซิโก้เผยกับ Goal
“ผมรู้สึกมีคุณค่าจริงๆ รวมๆแล้วผมอยู่ญี่ปุ่นเกือบ 15 ปี ผมอยู่กับคาชิมา (ในฐานะผู้เล่น ผู้อำนวยการเทคนิค และ โค้ช) เกือบ 11 ปี และอีก 4 ปี ในฐานะโค้ชทีมชาติ”
“วันคืนที่ผ่านไปอุทิศไปกับการพัฒนา ผมมีปีที่มหัศจรรย์ที่นั่นกับครอบครัว ผมรู้สึกเหมือนอยู่บ้านทุกครั้งที่กลับไป”
อันท์เลอร์สกับบราซิล
ผ่านมากว่า 25 ปี นับตั้งแต่ชายที่ชื่อว่า ซิโก้ ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักมนต์สเน่ห์ของฟุตบอลบราซิล นักเตะจากแดนกาแฟ ก็ยังคงเป็นแข้งต่างชาติที่ได้รับความนิยมไม่ต่างจากในอดีต
ในฤดูกาล 2018 มีนักเตะสัญชาติบราซิล วาดลวดลายในลีกอาชีพของญี่ปุ่น (J 1 2 3)เป็นจำนวนสูงถึง 86 คน มากที่สุดในบรรดานักเตะต่างชาติ แบ่งเป็น เจ1 จำนวน 31 คน, เจ2 ถึง 42 คน และ J3 อีก 13 คน มากกว่านักเตะจากเกาหลีใต้เพื่อนบ้านเสียอีก
ในขณะที่ อันท์เลอร์ส ก็ยังเป็นทีมที่นิยมในบราซิลอย่างเหนียวแน่น นอกจากจะมีนักเตะบราซิล ย้ายมาเล่นเป็นประจำทุกปี พวกเขายังใช้บริการโค้ชจากบราซิล มากที่สุดทีมหนึ่งในเจลีก
นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร อันท์เลอร์ส มีโค้ชชาวบราซิลนำทัพถึง 9 คนจากทั้งหมด 13 คน โดยคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ ออสวัลโด โอลิเวียรา ที่พาอันท์เลอร์ส คว้าแชมป์เจลีก 3 สมัยติดต่อกันในปี 2007-2009
ญี่ปุ่นและบราซิล มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานในแง่ประวัติศาสตร์ ทั้งสองประเทศ ต่างมีประชากรที่อพยพไปอยู่ในประเทศของกันและกันเป็นอันดับต้นๆของโลก จากการขนย้ายแรงงานเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่มีซิโก้ ความสัมพันธ์ระหว่างอันท์เลอร์ส และบราซิล อาจจะไม่ได้ลงลึกถึงเพียงนี้ และการวางเข้ามาวางรากฐานและโครงสร้างของเขา ยังสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมายให้กับสโมสรตลอดจนวงการฟุตบอลญี่ปุ่นจนเติบโตขึ้นมาถึงขนาดนี้
“พระเจ้าของอันท์เลอร์ส” และ “พระเจ้าของฟุตบอลญี่ปุ่น” ก็คงจะไม่ใช่คำเรียกที่เกินไปสำหรับเขา ด้วยสิ่งที่เขาทำเพื่อวงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัย ก็คงทำให้ป้ายผ้า “สปิริตแห่งซิโก้” ถูกขึงในสนาม คาชิมา ซอคเกอร์ สเตเดียม ตราบนานเท่านาน