ถอดบทเรียนวิชา “ชนาธิปศึกษา” ทำอย่างไรแข้งไทยถึงประสบความสำเร็จในต่างแดน

ถอดบทเรียนวิชา “ชนาธิปศึกษา” ทำอย่างไรแข้งไทยถึงประสบความสำเร็จในต่างแดน

ถอดบทเรียนวิชา “ชนาธิปศึกษา” ทำอย่างไรแข้งไทยถึงประสบความสำเร็จในต่างแดน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

9 ประตู 3 แอสซิสต์ จาก 31 เกมที่ลงสนาม พร้อมรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลจากการโหวตของเพื่อนร่วมทีม ทั้งหมดถือเป็นรอยเท้าที่ยิ่งใหญ่ของนักเตะไทยร่างเล็กที่ฝากเอาไว้นอกแผ่นดินเกิด

ในอดีตเมืองไทย เคยมีผู้เล่นฝีเท้าดีบางส่วน เดินทางออกไปค้าแข้งนอกประเทศ ทั้งในเอเชีย และยุโรป บ้างก็ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นตำนาน บางรายอาจมีผลงานติดตัวอยู่บ้าง และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ในฟุตบอลยุคเก่า

ในโลกของฟุตบอลสมัยใหม่ ที่ไทยลีก กลายเป็นลีกที่แข็งแกร่งขึ้น มีค่าตอบแทนที่สูง ทำให้เราแทบไม่ค่อยได้เห็นนักฟุตบอลไทย ออกไปเผชิญกับโลกภายนอกเป็น "แข้งไทยในต่างแดน"

กระทั่งกลางปี 2017 ชนาธิป สรงกระสินธ์ กลายเป็นผู้เล่นไทยคนแรกที่ได้ฝากรอยเท้าไว้ ในศึก เจ 1 ลีก (ลีกสูงสุดของญี่ปุ่น) ด้วยการย้ายไปเล่นให้กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ด้วยสัญญายืมตัวจาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด พร้อมกับออปชั่นซื้อขาด หลังเจ้าตัวประสบความสำเร็จในการค้าแข้งที่ไทย และสร้างชื่อกระหึ่มอาเซียน จากการซิวรางวัล MVP ฟุตบอล AFF Suzuki Cup 2 สมัยติดต่อกัน

ครึ่งปีแรกของ ชนาธิป เขาสร้างสีสันให้กับลีกแดนอาทิตย์อุทัย ด้วยลีลาการเล่นที่ตื่นตาตื่นใจ รวมถึงจังหวะการจ่ายบอลที่เฉียบขาด ความสามารถเฉพาะตัวที่เล่นงานนักเตะญี่ปุ่นคนแล้วคนเล่า แต่ทั้งหมดเทียบไม่ได้เลยกับผลงานที่เหนือขึ้นไปอีกขั้น ในฤดูกาล 2018

ชนาธิป ไม่ใช่แค่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม ลงสนามอย่างต่อเนื่อง แต่เขายกระดับขึ้นมาเป็น หัวใจหลักของทีม จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า จอมทัพสัญชาติไทยวัย 25 ปี คือแบบอย่าง และกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับผู้เล่นไทยยุคใหม่ ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการเล่นอาชีพต่างแดน…

ในวันนี้ที่สื่อแทบไม่ต้องขายคำว่า “เมสซี่เจ” เพื่อแนะนำตัวดาวเตะคนนี้ เพราะทุกคนต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดี ในชื่อ “ชนาธิป สรงกระสินธ์” ที่ไม่เหมือนใครและมีเพียงหนึ่งเดียว

chanaopop2
วิชาที่ 1 : สิ่งแวดล้อมและสังคม
“โฮมซิก” เป็นอาการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลทั่วโลกได้เสมอ ยามที่ต้องย้ายสโมสร ไปยังประเทศใหม่ๆ ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากแผ่นดินที่นักเตะคนนั้นเคยกิน อยู่ หลับ นอน

จังหวัดฮอกไกโด แตกต่างกับ จังหวัดนครปฐม บ้านเกิดของชนาธิป สรงกระสินธ์ มากแค่ไหน คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว

ชนาธิป พบเจอกับอุปสรรคตั้งแต่วันแรกที่ย้ายมาอยู่เมืองนี้ เพราะเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ, อาหารการกิน, ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงในทางฟุตบอล เขาต้องลงเล่นและฝึกซ้อมกับ เพื่อนร่วมทีม หน้าใหม่ทั้งหมดที่ไม่มีใครสื่อสารกับเขาด้วยภาษาไทย

“ชนาธิป มีมนุษยสัมพันธ์ดี ร่าเริง ขี้เล่น ทำให้ใครๆต่างก็รักเขา ผมเองก็เช่นกัน นักเตะหลายคนในทีมเป็นเพื่อนกับเขา เพราะเขาเข้ากับคนได้ง่าย ที่สำคัญเขาเป็นคนใจกว้าง ชอบช่วยเหลือคนอื่น และมีน้ำใจกับเพื่อนๆ เสมอ” เคนโงะ อิชิอิ อดีตเพื่อนร่วมทีม คอนซาโดเล ซัปโปโร กล่าวถึงวิธีการปรับตัวของ ชนาธิป กับเพื่อนๆในทีม ผ่าน Main Stand

“จากนั้นเขาเริ่มหัดเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น แม้ช่วงแรกจะตกเป็นตัวสำรอง เพราะเขายังอยู่ในระหว่างการปรับตัว แต่มันก็สั้นมาก แค่ไม่กี่เดือน ชนาธิป ทำความเข้าใจกับวิธีการเล่นของทีมได้เร็วขึ้น จากตัวสำรอง สุดท้ายเขาก็สามารถยึดตัวจริงของทีมได้ จนตัวเขาเองเริ่มมีแฟนคลับมากขึ้น ซึ่งทำให้ผมรู้สึกยินดีไปกับเขาด้วย”

chanaopop3
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาชวนผมไปกินข้าวที่บ้านด้วยกัน แต่มันกลับไม่ใช่อาหารที่สั่งซื้อมา เขาชวนผม และภรรยา ทำอาหารกินกันอยู่ในครัว จนได้ออกมาเป็น ผัดไทยจานเด็ด นั่นคือช่วงเวลาที่ผมประทับใจมากที่สุด เมื่อนึกถึงชนาธิป”

บุคลิกที่ขี้เล่น ร่าเริง รอยยิ้มแบบไทยไทย คือสิ่งที่ ชนาธิป นำเสนอผ่านสายตาทุกคู่ในห้องแต่งตัว และยามอยู่นอกสนามแข่งขัน ดังเห็นได้จากการที่ ดาวเตะชาวไทย มักโพสต์ภาพ คลิป ที่เจ้าตัวมักใช้เวลาว่าง พานักเตะในทีม ไปกินข้าว ทำกิจกรรมต่างๆ หรือพูดคุยหยอกล้อกัน

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ ชนาธิป ชนะใจเพื่อนๆนักเตะได้  เพราะในสนามฝึกซ้อม และสนามแข่งขัน เจ้าของเสื้อหมายเลข 18 เริ่มโชว์ให้เห็นทุกคนในทีมเห็นว่า เขามีศักยภาพมากแค่ไหน และสามารถใช้มันเพื่อช่วยเหลือทีมได้

“ช่วงแรกๆที่ฝึกซ้อม ผมรู้สึกค่อนข้างกดดัน เพราะเราเป็นนักเตะต่างชาติ ก็ต้องซ้อมออกมาให้ดี วันไหนเราซ้อมได้ไม่ดี ผมจะรู้สึกนอยด์ตัวเองมาก ส่วนการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมทีม จริงๆ ทุกคนเขาก็มีพื้นที่ของตัวเอง แต่ผมอยู่ที่นั่น เวลาเจอใครที่ไหน ผมยิ้มกับไหว้ตลอด จนผู้คนในเมืองเขาเริ่มชอบผม” ชนาธิป เผยผ่านรายการ Woody World

ไม่เพียงแต่คนในสโมสร ที่ ชนาธิป สามารถเอาชนะใจ และพิสูจน์ด้วยผลงานในสนาม จนทำให้ภารกิจที่ดูเหมือนยากของเขา ในการลงเล่นบนศึก เจ-ลีก เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ  

chanaopop4
นอกจากนี้ ชนาธิป ยังสร้างความสัมพันธ์อันดีภายนอกสนาม โดยเฉพาะกับชาวเมืองซัปโปโร เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ดาวเตะชาวไทยทำได้ดี และทำให้ผู้คนที่นี่ มีความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่กับ ชนาธิป แต่ยังรวมถึง คนไทยทั้งหมด ที่มาท่องเที่ยว หรือ ชมเกมเจ-ลีก

จิตกร ศรีคำเครือ พิธีกร, คอลัมนิสต์ และผู้บรรยายกีฬาของ Main Stand ที่เดินทางไปสัมผัสบรรยากาศ ชมเกมฟุตบอลที่ ซัปโปโร อธิบายสิ่งที่เขาเห็นด้วยสายตาด้วยตัวเองที่ฮอกไกโด ว่า “เจ เป็นนักฟุตบอลที่มีความเฟรนด์ลี เข้ากับคนง่าย ทุกคนที่นี่เลยรักเขา เหมือนเป็นลูกชายอย่างที่โค้ชบอก”

“ที่เมืองฮอกไกโด ถ้าเขารู้ว่าเราเป็นคนไทย เขาจะรีบวิ่งมาคุยด้วยภาษาไทยกับเรา ถามถึงเรื่องชนาธิป คนที่นี่รักเจมาก เท่าที่ทราบมา หลายคนไปฝึกเรียนภาษาไทย เพื่อจะได้สื่อสารกับคนไทย และพูดคุยกับ เจ ให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ เจ มาทำให้คนที่นี่เกิดความรู้สึกเปลี่ยนไปต่อคนไทย และต่อตัวเขา”

“ผมได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยกับ เจ ที่ร้านอาหาร พร้อมกับครอบครัวเจ ภาพที่ผมเห็นคือ แค่ เจ เดินเข้าไปในร้านอาหาร ทุกคนหยุดนิ่งกันหมด ทุกสายตามองมาที่เรา สักพักเขาก็จะรีบวิ่งมาขอถ่ายรูป ขอลายเซ็นกับ เจ  ความรู้สึกเหมือนผมกำลังเดินตาม โมฮาเหม็ด ซาลาห์ เข้าภัตตาคาร ที่เมืองลิเวอร์พูลเลย”

chanaopop5
นอกจากนี้ เจ้าของนามปากกา “ยักษ์ ดอยแดง” ได้เผยอีกว่า จากการนั่งชมเกมติดขอบสนาม ทำให้เขามองเห็น ชนาธิป ในอีกมิติที่อาจไม่ค่อยได้เห็นจากตอนถ่ายทอดสดบ่อยครั้งนัก

“ผมว่าอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ เจ ประสบความสำเร็จในปีนี้ นอกเหนือจากตัวเขา คือโค้ช มิไฮโล เปโตรวิช ผมสังเกตเห็นเวลาที่เกมหยุด โค้ชมักเรียกเจ เข้ามาติวอยู่เสมอ เพราะเขาเหมือนออกแบบระบบมาให้ เจ เป็นจุดศูนย์กลางคอยบัญชาการเกม ถึงแม้จะยืนตำแหน่งตัวริมเส้นฝั่งซ้าย แต่เวลาที่เซ็ทเกมรุกขึ้นมา เจ จะหุบเข้ามาตรงกลางบ่อยครั้ง”

“แท็คติกของ มิไฮ คือการให้ เจ มีพื้นที่ในการเล่นเกมรุกมากขึ้น ด้วยการขยับให้ฟูลแบ็ก ขึ้นมาเป็นตัวชนให้ก่อนด่านแรก เป็นการแก้ไขจุดอ่อน จากที่สิ่งเราเห็นในปีก่อน ที่ เจ โดนปะทะ ตัดฟาวล์บ่อยมาก มิไฮ จึงใช้เพื่อนร่วมทีมเป็นเกาะป้องกันก่อนถึงเจ เพื่อที่เวลาบอลมาถึงเจ จะได้สามารถเดินเครื่องทำเกมได้ทันที ไม่ต้องห่วงเรื่องการถูกปะทะมาก ซึ่งเพื่อนทุกคนก็ดูพร้อมใจจะช่วยเหลือ เจ เพราะเขาเป็นคนน่ารัก และมีฝีเท้าที่ดี”

อีกหนึ่งเรื่องที่นักฟุตบอลทั่วโลก มักประสบปัญหากัน ในสภาพแวดล้อมทีมใหม่ นั่นคือ ฟอร์มการเล่นในฤดูกาลสองแผ่วลงไป ที่มีคำเรียกอาการนี้ ในทางฟุตบอลว่า “Second Season Syndrome” ถึงแม้ ชนาธิป จะฝากผลงานครึ่งเลกหลัง ฤดูกาล 2017 ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า ในฤดูกาลที่ 2 เขายังเล่นได้ดีเหมือนเดิม หรือดีขึ้นกว่าปีก่อน

chanaopop6
เหตุผลประการแรก ชนาธิป ถูกจับตามองและหาวิธีแก้ทางมากขึ้น เพราะทุกคนรู้แล้วว่า ดาวเตะชาวไทย มีพิษสงรอบตัวแค่ไหน ประการต่อมา ทีมมีการเปลี่ยนโค้ช รวมถึงรูปแบบ แท็คติก วิธีการเล่น จากบอลเน้นรับมาเป็นบอลบุกมากขึ้น ดังนั้นผู้เล่นในตำแหน่งเกมรุกอย่าง ชนาธิป ย่อมต้องถูกคู่แข่งเกมรับ เล่นงานมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ชนาธิป สรงกระสินธ์ สามารถก้าวข้ามอาการ Second Season Syndrome ไปได้ แถมยังฝากผลงานได้ดีกว่าปีแรกเสียอีก ถึงขนาดที่ ฮิโรกิ มิยาซาวะ กัปตันทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร เอ่ยปากชื่นชม ชนาธิป ออกสื่อ รวมถึงถามความเป็นไปได้ ที่จะมอบเสื้อหมายเลข 10 ให้มิดฟิลด์รุ่นน้องชาวไทย ได้สวมใส่แทนในซีซั่นหน้า  

"ในฐานะกัปตันทีม และเป็นเพื่อนร่วมทีมของเขา การที่ชนาธิป ต้องมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ทั้งการฝึกซ้อม และเพื่อนร่วมทีม เป็นเรื่องที่ยาก แต่เขาก็สามารถสร้างความคุ้นเคยกับมัน และปรับตัวเข้าหาเพื่อนร่วมทีมได้เป็นอย่างดี ทั้งในการฝึกซ้อม และเกมการแข่งขัน”

“มันไม่ง่ายเลยที่ นักเตะไทยคนหนึ่งจะต้องมาอยู่ในสถานที่ที่มีความแตกต่างจากบ้านเกิด ในหลายๆด้าน แต่เขาก็ยังโชว์ฟอร์มได้ดีขึ้น และช่วยให้ทีมไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นอกสนามเขาเป็นคนที่อัธยาศัยดี และเข้ากับเพื่อนร่วมทีมได้อย่างไม่มีปัญหาเลย”

chanaopop9
วิชาที่สอง : การสร้างเสริมสุขภาวะ
ชนาธิป ไม่ได้มีปัญหาในการปรับจังหวะให้ทันกับสปีดฟุตบอลของเจลีก ชนาธิป ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง แม้จะมีรูปร่างเล็ก แต่กล้ามเนื้อทุกมัด ผ่านการฟิตเนส ดูแลตัวเองเป็นอย่างดีของเจ้าตัว โดนชนไม่ค่อยล้ม ยังเลี้ยงบอลไปต่อ รวมถึงปัญหาเรื่องภาษา วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ก็ค่อยๆหายไป จนกลายเป็นความรู้สึกที่คุ้นชิน และชื่นชอบบรรยากาศฟุตบอลในต่างแดน

แต่ ชนาธิป จะไม่มีทุกอย่างที่ว่ามาข้างต้นเลย หากเขาไม่มีสิ่งหนึ่งคือการฝึกฝนสภาวะจิตใจตัวเอง ให้แข็งแกร่ง จนสามารถผ่านทุกอุปสรรค และชนะข้อจำกัดของตัวเองได้

เจ้าตัวเปิดเผยเรื่องปมในใจที่โดนผู้คนดูถูกมาตั้งแต่เด็ก ผ่านรายการ Woody World ด้วยสรีระที่เล็กเกินไป และถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า เขาจะดีพอเล่นฟุตบอลเหมือนเด็กคนอื่นไหม?... แม้ตลอดหลายปีที่เขาเล่นฟุตบอล ชนาธิป จะตอบทุกคำถามทั้งหมด ด้วยเท้าทั้งสองข้างที่พาเขาไปค้าแข้งยังต่างแดนได้

แต่ยังไม่วายที่คำถามมากมาย ยังคงมารบกวนจิตใจ พร้อมคำพูดที่เย้ยหยันว่า “เขาไม่สามารถเล่นเจลีกได้ เพราะตัวเล็กเกินไป?”

“จริงๆ ผมเป็นคนใจร้อนนะ และไม่ชอบให้ใครมาดูถูก เพราะมันเป็นปมในใจผม ผมโดนดูถูกมาตั้งแต่เด็ก พอวันหนึ่งที่ผมโต ผมก็ไม่ไปดูถูกใคร ไม่ว่าคนนั้นจะรวยหรือจน อยู่สูงหรือต่ำ ทุกคนต้องให้เกียรติกัน”

chanaopop8
“ก่อนที่ผมจะมาญี่ปุ่น มีแฟนบอลหลายคนบอกว่า ผมไปเล่นญี่ปุ่นไม่ได้หรอก บอกว่า ผมตัวเล็ก บอลญี่ปุ่นเร็ว ผมไปเล่นยุโรปไม่ได้หรอก เพราะว่ารูปร่างผมไม่เหมาะ ทุกคนคิดกันไปก่อนแล้ว ทำไมไม่ให้กำลังใจคนไทยด้วยกัน ทำไมต้องดูถูกกัน”

เสียงวิจารณ์ต่อการย้ายมาเล่นญี่ปุ่นของ ชนาธิป เบาบางลงไป ตามผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือ จอมทัพทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร  มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้น ได้รับการจับตามองมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล แต่ยังรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ ชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะช่วงที่มีการเปิดตัวคบหากับ พิชญ์นาฏ สาขากร นักแสดงสาวรุ่นพี่

เวลานั้นชื่อ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไปไกลกว่าแค่อยู่ในวงการสื่อกีฬา แม้แต่ สื่อบันเทิง หลายๆสำนัก ให้ความสนใจในคู่รักคู่นี้ มีการนำเสนอข่าวๆต่างมากมาย จนเป็นที่รับรู้กันว่า อดีตแฟนสาวคนนี้ เดินทางไปหา เจ ชนาธิป บ่อยครั้งที่ญี่ปุ่น

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่คบหา ชนาธิป ไม่เคยปรากฏข่าวเสียหายในแง่ของการเล่นฟุตบอลที่ญี่ปุ่น มีแต่เสียงชื่นชมจากแฟนบอลไทย และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น จนวันหนึ่งข่าวคราวการเลิกกับอดีตแฟนสาว เป็นที่พูดถึงในสังคมวงกว้าง เจ้าตัวถูกวิจารณ์อย่างหนัก ผ่านทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว

“ความรักเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าวันหนึ่งต้องจากลา ก็ย่อมรู้สึกเศร้า เสียใจ เป็นธรรมดา ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกแย่สุดในชีวิตของผม ที่ทุกคนเข้ามาถาโถมใส่ผม มันแย่ยิ่งกว่าตอนเล่นฟุตบอลเสียอีก ประกอบกับช่วงนั้น ทีมซ้อมหนักมากทั้งเช้าและเย็น ผมคิดว่าคงไม่ถูกต้อง หากผมจะเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับฟุตบอลที่ผมรัก เวลาผมเหยียบพื้นหญ้าสีเขียว ผมจะตัดทุกเรื่องออกจากหัว”

chanaopop7
“พ่อแม่ผมสอนว่า ยิ่งผมโตขึ้น ก็ยิ่งได้รู้จักคนเยอะขึ้น บางอย่างลูกต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ว่าใครเป็นอย่างไร? ผมเข้าใจได้ว่าสังคมไทย มีทั้งคนที่รักผม และเกลียดผม บางคนอาจด่าผมตามกระแส บางคนเขาอาจชอบผม แต่เขาก็ชอบดูถูกคนอื่นอยู่แล้ว เลยก็มาด่าผม ผมเจอมาครบทุกรสชาติ”

“ตอนที่มีความรัก ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันหนึ่ง ความรักที่มีอยู่จะต้องจบลง ผมว่าทุกคนต้องเคยเจออุปสรรค เจอความยากลำบาก คนที่ไม่ลำบาก คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไร และผมก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เรื่องส่วนตัวไม่สามารถทำอะไรผมในการเล่นฟุตบอลได้”

ในช่วงที่กระแสข่าวเลิกรา แพร่สะพัดออกไปในวงกว้าง ผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งในแวดวงกีฬา และบันเทิง ต่างแสดงความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นในสนามของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ เนื่องจากเคยมีแฟนสาวเป็นกำลังใจให้เขามาโดยตลอด เพราะมีตัวอย่างของนักกีฬาหลายคนที่พอมีปัญหาเรื่องชีวิตรัก เอฟเฟกต์เหล่านั้นก็ตามมาหลอกหลอนถึงในสนามแข่งขัน

มิดฟิลด์วัยเบญจเพส แสดงความเข้มแข็งของจิตใจออกมา แม้ต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผ่านทุกๆการฝึกซ้อมในช่วงปรีซีซั่น ที่ในเวลานั้น ทีมมีการเปลี่ยนแปลงโค้ชจาก ชูเฮ โยโมดะ มาเป็น มิไฮโล เปโตรวิช ที่เริ่มต้นทำความรู้จักกับชนาธิป ด้วยเสียงดุด่า ตะคอก

chanaopop11
“ช่วงเดือนมกราคม ทีมมีการเปลี่ยนโค้ชมาเป็น มิซา (มิไฮโล เปรโตวิช) ช่วงนั้นทีมซ้อมกันหนักมาก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ปีนี้จะได้เป็นตัวจริงไหม เพราะโค้ชเข้ามาเปลี่ยนระบบใหม่ ที่ผมไม่เคยซ้อมมาก่อน ผมยังไม่ค่อยชิน ไม่เข้าใจระบบ ก็จะโดนโค้ชดุด่าทุกวันเลย แต่ผมเข้าใจว่าโค้ชอยากให้ผมพัฒนา อยากให้ผมทำให้ได้ ตอนอุ่นเครื่องผมก็ไม่ได้เล่นกับชุดตัวจริง”

“ผมไปเข้าแคมป์ต่อที่ ฮาวาย อีก 10 วัน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ซ้อมเช้า ซ้อมเย็น ก่อนเก็บตัวครั้งสุดท้ายที่ คุมาโมโต มีเกมอุ่นเครื่องบ้าง โค้ชบอกว่า ถ้าผมเล่นได้ตามระบบที่โค้ชต้องการ ผมจะได้เป็นตัวจริง แล้วเกมแรกก็มาถึง ผมได้รับความไว้วางใจนั้นจากโค้ช”

สิ่งที่เหนือกว่านักเตะไทยหลายคน คือ ชนาธิป สามารถควบคุมอารมณ์ จิตใจ ได้เหมือนมีสวิตช์เปิด-ปิด ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในสนาม เขาตัดความรู้สึกที่ทุกข์ เสียใจ ผิดหวัง เพื่อก้าวไปข้างหน้า

ดังนั้นต่อให้ เขาจะมีร่างกายที่เฟิร์มขึ้น เท้าสองข้างวิ่งได้เร็วขึ้น และครองบอลดีกว่าเดิม แต่หากปราศจากหัวใจที่เข้มแข็งมากพอ... คงเป็นเรื่องยากที่ชนาธิปจะลงเล่นด้วยฟอร์มที่ดี ยามที่ตัวเองต้องตกอยู่ในสภาวะจิตใจอ่อนแอ ในต่างแดน ซึ่งเขาก็แกร่งมากพอที่ก้าวผ่านช่วงเวลานั้นไปได้

chanaopop12
วิชาที่ 3 : สปช. เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต
“โค้ชมิซา จะเรียกผมว่า ซันจิ แปลว่าลูกชาย เขาสอนผมว่า เวลาเล่นฟุตบอลต้องคิด และวิ่งให้เยอะ รวมถึงต้องมี Timing ที่ดีและเหมาะสม อย่างเวลาผมได้บอล ให้เลี้ยงเข้ากรอบ พาบอลไปข้างหน้า แล้วก็ยิงไม่ต้องเกรงใจเพื่อน เพราะเราคือนักบอลต่างชาติ ต้องเล่นให้แตกต่าง”

“ปีที่แล้ว ผมยิงประตูไม่ได้เลย โค้ชย้ำให้ผมคิดเสมอว่า ผมเป็นนักเตะต่างชาติ ผมต้องทำประตูและแอสซิสต์ให้มากกว่าเดิม ผมอยากขอบคุณโค้ชมากจริงๆ ที่ทำให้ผมพัฒนาขึ้น ผมใส่เต็มที่ในทุกๆการซ้อม ผมมาอยู่ต่างประเทศ ผมเชื่อว่ายังมีคนเก่งกว่าผมอีกมาก ดังนั้นผมต้องไม่หยุดพัฒนา”

จำนวน 9 ประตูของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ สะท้อนให้เราเห็นถึง พัฒนาการอีกระดับของนักบอลไทย ที่ทำลายจุดอ่อนของตัวเองลงอย่างสิ้นซาก โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนทัศนคติ ให้เป็น นักฟุตบอลต่างชาติในต่างแดน

ชนาธิป เคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อก่อนเขามักมีความคิดหนึ่งติดตัวที่ว่า “ต้องจ่ายให้เพื่อนก่อนยิงเอง” ทำให้จุดอ่อนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนสุดของ เจ ชนาธิป ตอนยังค้าแข้งในไทยลีกคงหนีไม่พ้นเรื่องทำประตู ที่ไม่ค่อยเฉียบคม ทั้งที่เจ้าตัวอยู่ในตำแหน่งสามารถผลิตสกอร์ได้บ่อย อย่าง กองกลางตัวรุก

การเปิดรับคำสอนจาก โค้ชมิไฮโล ที่บอกให้เขากล้าทำประตู ทำเกมรุกมากขึ้น ก็ทำให้ ชนาธิป เปลี่ยนความคิดก่อนลงสนาม เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดเสมอว่าทุกนัดที่ลงเล่น ผมลงเล่นในนามคนไทย ดังนั้นทุกเกมต้องมีผลงาน ต้องยิงหรือแอสซิสต์ให้ได้”

chanaopop13
ไม่แปลกหากปีนี้ ชนาธิป จะกล้า กล้าเล่นจังหวะที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้กระทั่งลูกโหม่งที่ใครๆก็ไม่คาดคิดว่า ชนาธิป จะโดดเทคตัวโหม่งทำประตู เขาก็ทำมาแล้ว

โคจิ มิโยชิ เพื่อนร่วมทีมชนาธิป เผยว่า “ผมลงเล่นฝั่งเดียวกับ ชนาธิป ตลอด ผมรู้เลยว่าทักษะการเลี้ยงบอลและการจบสกอร์เขาดีขึ้นมากจริงๆ” ส่วนคิม มิน แต ดาวเตะชาวเกาหลีใต้ กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า “ผมคิดว่า ชนาธิป คือนักฟุตบอลที่เลี้ยงบอลได้ดีที่สุด อันดับ 1 ของเจ.ลีก”

ความคิดที่เปลี่ยนไปของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในหมู่นักฟุตบอลระดับโลก ไม่ต้องมองตัวอย่างที่ไกลนัก อย่างนักฟุตบอลต่างชาติในไทยลีก ส่วนมากเป็นแข้งที่ไม่ได้มีชื่อเสียง หรือประสบความสำเร็จมากนักในบ้านเกิด

สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีติดตัว และกล้าออกเดินทางมาค้าแข้งในเมืองไทย คือ ทัศนคติที่เชื่อว่า ตัวเองสามารถสร้างความแตกต่าง ยกระดับ และสามารถทำให้ผู้คนในประเทศที่พวกเขาไปเล่น ยอมรับในฝีเท้าได้ ไม่ใช่ย้ายไปแค่หวังได้ลงเล่น ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม แต่ต้องเด่นต้องดัง

เคลตัน ซิลวา รุ่นพี่คนสนิทสมัยค้าแข้งที่ บีอีซี เทโรฯ และเมืองทองฯ ของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ เดิมทีเขาเป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองกลาง แต่ในช่วงที่เดินทางมาทดสอบฝีเท้าที่ประเทศไทย กับโอสถสภา เขากลับขอลงเทสต์แข้ง ในตำแหน่งกองหน้า

เนื่องจาก เจ้าตัว เชื่อว่า กองหน้า มีโอกาสได้รับการเซ็นสัญญามากกว่าเล่นกองกลาง  เคลตัน ใส่พลังงานความเชื่อนี้ลงไปในตัว ท้ายที่สุด เขาได้รับการจารึกชื่อว่าเป็น ผู้เล่นที่ทำประตูมากสุดตลอดกาลของ ไทยลีก

chanaopop14
หากชนาธิป เล่นได้เหมือนกับนักบอลทั่วไปในญี่ปุ่น เขาอาจจะมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ แค่ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหายไป แต่ถ้าเขาสามารถเล่นได้ดีกว่าคนญี่ปุ่น และนักบอลต่างชาติคนอื่นๆ ในลีก เขาจะถูกจดจำว่า ผู้บุกเบิกเส้นทางนักฟุตบอลไทยยุคใหม่ในญี่ปุ่น รวมถึงสามารถเปลี่ยนมุมมองที่คนญี่ปุ่นมีต่อแข้งไทยได้

เหมือนอย่างที่ จอร์จ เวอาห์, ฮิเดโตะชิ นากาตะ เคยไปบุกเบิก ในแง่ของชื่อเสียงของนักเตะแอฟริกา และเอเชียให้คนยุโรปยอมรับ ด้วยฝีเท้าที่เหนือกว่านักบอลทั่วไปของลีกที่เล่นอยู่ แม้จะเคยมีนักเตะเอเชีย และแอฟริกา ไปเล่นในยุโรป มาก่อนหน้า 2 ไอค่อน จาก 2 ทวีปมาแล้ว

“เจ มีทัศนคติของนักฟุตบอลอาชีพอย่างแท้จริง เขาทำให้ผมนึกถึงกองหน้าชาวแอฟริกัน คนหนึ่งของเบรเมน ที่ผมเคยมีโอกาสสัมภาษณ์เมื่อหลายปี เขาบอกว่าที่เยอรมัน ทุกอย่างตรงข้ามกับบ้านเกิดเขาทั้งหมด ทั้ง อาหาร ภาษา วัฒนธรรม สภาพอากาศ สไตล์ฟุตบอลที่เล่น เรียกว่ามันเปลี่ยนจาก 0 เป็น 100 เลย ดังนั้นสิ่งที่เขาคิดมีเพียงเรื่องเดียว คือต้องเอาชนะตัวเอง เพื่อก้าวข้ามความอดอยาก และเล่นให้ดีกว่านักเตะคู่แข่งในลีก”

“ในเมืองไทย อาจไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากแบบ นักเตะจากทวีปแอฟริกา แต่ถ้าเราสวมหัวใจตรงนี้ และใช้ทัศนคติที่ว่า ตัวเองเป็นนักเตะต่างชาติ ต้องเล่นให้ดีกว่านักบอลทั่วๆไปในลีก น่าจะทำให้มีนักบอลไทย ไปประสบความสำเร็จในต่างแดนมากขึ้น แต่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ลีกไทยความเป็นอยู่ดีขึ้น บางคนอาจคิดว่าพอใจแล้ว ไม่อยากดิ้นรน จะไปให้เหนื่อยทำไม”

chanaopop15
“แต่ถ้าดูตัวอย่าง เจ สิ่งสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เกิดขึ้นจากการที่ เจ ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และไม่เคยหยุดที่จะท้าทายตัวเอง”

“หากย้อนดูเส้นทางตั้งแต่เด็ก เจ หวังแค่อยากเล่นบอลอาชีพ พอถึงวันที่เขามีโอกาสทำสำเร็จ เขาก็ยังท้าทายตัวเองไปอีกเรื่อยๆ ต้องได้ไปต่างแดน ต้องได้เล่นตัวจริง ต้องชนะใจโค้ช เพื่อนร่วมทีม และคนทั้งเมือง จากที่เราเคยคิดว่า ซัปโปโร ใหญ่เกินไป สำหรับเจหรือเปล่า? ตอนนี้ผ่านมาปีครึ่ง บางทีเราก็รู้สึกเหมือนกันนะว่า ซัปโปโร อาจเล็กไปสำหรับ เจ แล้ว?”

“นักบอลไทย อย่าต้องคิดว่าวันที่ได้เซ็นสัญญากับสโมสรต่างประเทศ คือวันที่ตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ช่วงเวลาการค้าแข้งในต่างแดนต่างหาก ที่จะบอกคุณได้ว่า คุณประสบความสำเร็จหรือไม่?” จิตกร ศรีคำเครือ กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ ถอดบทเรียนวิชา “ชนาธิปศึกษา” ทำอย่างไรแข้งไทยถึงประสบความสำเร็จในต่างแดน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook