ชนเผ่าฝีเท้าขนนก : ทาราอูมาร่า หมู่บ้านที่ทุกคนเป็นสุดยอด "นักวิ่งมาราธอน"
ณ งานวิ่ง "อัลตร้ามาราธอน" แห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักวิ่งระดับหัวกะทิจากทั่วโลก 500 คน
ในระยะการวิ่ง 50 กิโลเมตร ผู้เข้าแข่งขันหลายคนย่อมเตรียมฟิตซ้อมร่างกายมาเป็นอย่างดีภายใต้ตารางซ้อมที่เคร่งครัดไม่หลุดแผนเพื่อการเป็นที่ 1 ขณะที่เหล่าอุปกรณ์ตัวช่วยอย่าง นาฬิกาวัดอัตราการเต้นของหัวใจ, รองเท้ายี่ห้อดังสั่งผลิตมาเพื่อรับกับรูปเท้าและการวิ่งโดยเฉพาะ, ถุงเท้าพยุงน่อง พาวเวอร์เจลให้กินเพิ่มพลังงาน ก็ต้องจัดเต็มเช่นกัน เพราะรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนแปลงผลงานแข่งได้
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดระยะการแข่งขันราว 7 ชั่วโมง มาเรีย โลเรนา รามิเรซ นักวิ่งจากเม็กซิโก คือคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก และการวิ่งเข้าเส้นชัยครั้งนี้ทำให้โลกรู้ว่าแท้จริงอุปกรณ์ที่ดีที่สุด คือ ร่างกายของตัวเอง
รามิเรซ ไม่มีอุปกรณ์เพื่อช่วยในการวิ่งเลยเเม้แต่น้อย เธอสวมรองเท้าแตะประจำเผ่า รารามูริ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทาราอูมาร่า แถมยังใส่ชุดประจำเผ่าแบบจัดเต็มทั้งหมวก และ ชุดกระโปรงที่ดูรุ่มร่าม ว่ากันว่าอุปกรณ์นอกเหนือจากนั้นที่เธอพกมามีเพียงขวดน้ำดื่มและ ผ้าเช็ดเหงื่อเท่านั้น
“เธอไม่ได้มีอุปกรณ์ช่วยใดๆ ในการวิ่งครั้งนี้เลย ไม่มียาบรรเทาอาการปวดใดๆ ไม่มีน้ำหวานเพิ่มพลัง แว่นตากันฝุ่น หรืออุปกรณ์การวิ่งราคาแพงใดๆ เลย มีเพียงแค่ขวดน้ำดื่ม และผ้าเช็ดหน้าเท่านั้นเอง” ออร์ลันโด้ ฆิเมเนซ ผู้จัดการแข่งขันกล่าว
ในที่สุดเธอก็ถูกพบว่ามาจากเผ่า "ทาราอูมาร่า" ทว่านี่ไม่ใช่งานเเรกที่กลุ่มคนจากเผ่านี้ทำให้โลกตะลึงท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ผู้คนต่างตั้งข้อสงสัยว่าเพราะอะไรคนเผ่านี้ถึงวิ่งได้เก่งนัก พวกเขามีดีตรงไหน? และเมื่อนักวิ่งมืออาชีพ และนักวิจัยหลายสำนักยิ่งเข้าไปสำรวจ ก็ยิ่งค้นพบแก่นแท้ของเคล็ดลับการเป็นยอดนักวิ่ง แต่เคล็ดลับที่ว่า คือ อะไรกัน? ติดตามพร้อมๆกับ MAIN STAND ได้ที่นี่
"ผู้มีฝีเท้าเบาดุจขนนก"
'รารามูรี’ ชื่อนี้เป็นภาษาพื้นเมืองโดยมีคำแปลว่า "ผู้มีฝีเท้าเบาดุจขนนก" ซึ่งเป็นที่มาของการเป็นนักวิ่ง 100 กิโลเมตรที่ไม่ต้องพึ่งรองเท้าเลย และหนำซ้ำคนชนะยังเป็นผู้หญิงอีกต่างหาก เรื่องนี้ทำให้ คริสโตเฟอร์ แมคโดกอล นักวิ่งมาราธอนชาวอเมริกัน สงสัยเป็นอย่างมากว่าคนพวกนี้เบาดุจขนนกได้อย่างไร จึงได้เริ่มศึกษาและสำรวจว่าแท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่ทำให้คนเผ่านี้เกิดมาเพื่อวิ่ง ... ไม่ใช่แค่เพื่อเป็นนักวิ่ง แต่มันหมายถึงวิ่งเพื่อเอาชีวิตรอด
ในยุคที่กลุ่มคนผมทองไล่ปราบปรามเหล่าผู้อยู่มาก่อนในดินเเดนอเมริกาเหนือ กลุ่มคนท้องถิ่นที่ถูกเรียกว่าพวกอินเดียน มีทางเลือกอยู่ 2 อย่างเมื่อบ้านของพวกเขาโดนรุกราน 1 คือสู้กลับจนตัวตาย และ 2 คือยอมแพ้ รับความจริง และหนีไปซะ
มีหลายเผ่า อาทิ เผ่ามายัน เคยลองคิดสู้ ซึ่งตัดมาที่ภาพปัจจุบันพวกเขาเหลือสายเลือดแท้ๆของชาวมายันน้อยมาก ขณะที่กลุ่มที่สองที่เรากำลังจะพูดถึงพวกเขาเลือกที่จะหลบหนี และขออยู่เงียบๆอย่างสันติในเเดนไกล....
ณ ดินแดนหลบภัยที่กลางหุบเขาที่ชื่อว่า "โกเช่น" ภายในรัฐชิวาวา ทางตอนเหนือของเม็กซิโก มีชนเผ่าที่สืบเชื้อ ทาราอูมาร่า อินเดียนส์ อาศัยอยู่ มันเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ และผู้คนจากชนเผ่านี้ก็ไม่ค่อยได้สุงสิงกับวัฒนธรรมใหม่ๆมากว่า 400 ปีเเล้ว แม้พวกเขาดูด้อยพัฒนาสำหรับโลกสมัยใหม่อยู่บ้าง ทว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นกิจวัตรเดิมๆซ้ำๆ ทุกวันมาแต่อดีต ทำให้พวกเขากลายเป็นสุดยอดนักวิ่งระยะไกลที่โลกต้องจารึก
ชาวทาราอูมาร่านั้นมีเชื้อสายเดียวกับมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 2 ล้านปีก่อน พวกเขาไม่มีอาวุธในการล่าสัตว์ (เพราะมีหลักฐานว่ามนุษย์คิดค้นอาวุธได้เมื่อ 2 แสนปีที่เเล้ว) ดังนั้นเมื่อต้องบริโภคเนื้อสัตว์พวกเขาจะทำอย่างไร ในช่วงเวลาที่ไม่มีอาวุธ สิ่งที่พระเจ้าให้มา ก็ไม่สามารถล่าอะไรได้ง่ายๆ ฟันไม่คม, เขี้ยวไม่แหลม, และเล็บก็ทำให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บไม่ได้
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิ่งของมนุษย์กลุ่มนี้เกิดจากการทำงานเป็นทีมเวิร์คในการล่าสัตว์มาตั้งแต่อดีต พวกเขาจะวิ่งพร้อมๆกันหลายสิบคน และใช้วิธีการไล่ต้อนสัตว์ไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าที่สุดเเล้ว หากถึงระยะที่ไกลมากพอราว 10 ไมล์ สัตว์จะเหนื่อยตายไปเอง หรือไม่ก็เหนื่อยอ่อนจนไม่สามารถหนีรอดจากคมธนู อาวุธถนัดในการล่าของพวกเขาได้ เรื่องดังกล่าว โจนาธาน เอฟ คาสเซล นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาชาวทาราอูมาร่ามาอย่างยาวนานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่งว่า "พูดว่าชาวทาราอูมาร่าล่าสัตว์โดยให้พวกนั้นตายไปเองก็คงไม่ผิดอะไร อย่างเช่นนก พวกเขาจะล่าด้วยการทำให้สัตว์ปีกเหล่านี้ต้องบินขึ้นบินลงแบบไม่หยุดหย่อน จนที่สุดแล้วนกผู้เคราะห์ร้ายไม่เหลือแรงพอให้บินหนีเหล่านักล่าทาราอูมาร่าอีกต่อไป"
หากถามว่าทำไมมนุษย์กลุ่มจึงทนต่อระยะการวิ่งไกลๆได้มากกว่าสัตว์ ที่ดูแล้วน่าจะแข็งแกร่งกว่า นั่นก็เพราะพวกเขามีความสามารถในการหลั่งเหงื่อเก่งที่สุด ภายใต้อากาศร้อนสูง ระยะทางไกลๆ เรียกได้ว่าเก่ง “มนุษย์” นั้นเก่งที่สุดในพื้นพิภพ
เวลาผ่านไปวิวัฒนาการหลายอย่างก็เข้ามาแต่ที่สุดเเล้วชาวทาราอูมาร่า อยู่กับโลกใบเดิมที่ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง แม้จะใช้อาวุธเพื่อการทุ่นเเรงอยู่บ้าง แต่การวิ่งที่ต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเขาปฎิบัติมาอย่างทุกเมื่อเชื่อวัน...เผ่า ทาราอูมาร่า เป็นหนึ่งในกลุ่มมนุษย์ที่สุขภาพดีที่สุดในโลก ไม่มีคนเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง
ปริศนาที่นักวิ่งทั่วโลกสงสัยก็ถูกไขให้คลี่คลาย แต่ยังไม่หมด การวิ่งเท้าเปล่าที่เริ่มมาจากยุคโบราณสามารถวิ่งเหนือกว่ารองเท้าออกแบบมาโดยเฉพาะได้จริงหรือ นอกจากชาติกำเนิดและความเป็นอยู่ อะไรกันแน่ที่ทำให้กลุ่มนักวิ่งฝีเท้าขนนกนี้เก่งขึ้น?
ไม่ใช่เวทมนตร์ แค่สิ่งพื้นๆ
ไม่ใช่แค่ คริสโตเฟอร์ คนเดียวเท่านั้นที่เดินทางเข้าไปศึกษาพรสวรรค์ของชาวทาราอูมาร่า มิก้าห์ ทรู หรือชื่อที่คนท้องถิ่นตั้งให้ใหม่ว่า คาบัลโล่ บลังโก้ ผู้เข้ามาอยู่กินกับชาวทาราอูร่า มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีเเล้ว
"ผมเริ่มวิ่งช้ากว่าคนอื่นเขาเยอะ" หนุ่มใหญ่วัย 51 ปี กล่าวถึงชีวิตที่เริ่มวิ่งตอนอายุ 40 ปี เขามาอยู่กับชนเผ่านี้ และกลายเป็นเพื่อนซี้ชาวทาราอูมาร่าหลายคน เขาเข้าถึงวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ทุกครั้งที่ออกวิ่งเข้าป่า คาบัลโญ่ จะสวมแค่กางเกงขาสั้นแบบโบราณ พร้อมกับรองเท้าเเตะประจำเผ่าที่มักจะทำมาจากยางรถยนต์ใช้เเล้วหรือหนังสัตว์เท่านั้น
ส่วนเรื่องของอาการกินระหว่างทาง พวกเขาบำรุงร่างกายด้วยการดื่ม Pinole (เบียร์ข้าวโพด ผสมดอกไม้, น้ำ, และน้ำตาล) และ Iskiate (เมล็ดเชียผสมน้ำและน้ำมะนาว) ไม่มีอะไรมากกว่านี้สำหรับการเตรียมตัววิ่งระยะ 20 ไมล์ บนพื้นผิวที่ขรุขระ นี่คือการเตรียมตัวที่น่าเหลือเชื่อ
เขายืนยันว่าการวิ่งแบบไม่คิดเอาชนะ แต่เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ คือจุดเริ่มต้นของชนเผ่านี้ ที่กลายเป็นโคตรนักวิ่งได้อย่างง่ายด่าย ที่สำคัญคือรายละเอียดเล็กๆในการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ นำมาซึ่งการต่อยอดการวิ่งระยะไกลให้ไร้เทียมทานขึ้นอีก
สก็อตต์ จูเร็กซ์ อีกหนึ่งนักวิ่งชาวอเมริกันผู้ทำสถิติอัลตร้ามาราธอนในงาน เม็กซิโก ค็อปเปอร์ แคนย่อน ปี 2006 เขาเคยลองไปร่วมเดินป่ากับคาบัลโญ่ และพี่น้องชาวทาราอูมาร่า กล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะใช้พลังงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทุกครั้งที่ออกเดินป่าล่าสัตว์พวกเขาจะเดินอย่างเป็นระเบียบ เเละมีแบบแผน ไม่มีการคุยเล่นให้เปลืองแคลอรี่ ทันทีที่ถึงระยะการพักและดื่มน้ำ ทุกคนจะนั่งลงพร้อมกัน พอได้ที่ก็จะลุกขึ้นมาและวิ่งต่อ
"หลายคนอาจจะคิดว่ามันคือมายากลและความลับของพวกเขา แต่ ทาราอูมาร่า ทำในสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่สุด พวกเขาวิ่งรอบหุบเขาได้สบายๆจากการใช้ชีวิตของพวกเขานั้นแหละ" แชมเปี้ยนชาวอเมริกันเผยความลับให้โลกได้
เมื่อไม่มีความลับและไม่หวังชัยชนะใดๆ พวกเขาสนุกกับสิ่งที่ทำเท่านั้น ดาน่า ริชาร์ดสัน และ ซาราห์ เซ็นซ์ ผู้ผลิตภายนตร์สารคดีเรื่อง "Goshen" โดยได้บันทึกภาพการละเล่นที่เรียกว่า ‘ราราคีปารี’ (Rarajipari) ซึ่งเป็นกีฬาประเพณีที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเตะลูกบอลไม้ไปตามทางเดิน สีหน้าของคนทุกเพศทุกวัยดูสนุกอย่างเหลือเชื่อ แม้ระยะทางการวิ่งของการเเข่งขันนี้ จะมากพอขนาดที่ทำให้คนธรรมดาต้องฝึกเป็นปีๆ เพื่อวิ่งตัวเปล่าให้ได้ในระยะแบบนี้ก็ตาม
"ผู้ชายเล่น ราราคีปารี ผู้หญิงเล่น อริเวต้า (วิ่งแข่งกับลูกธนู) คือการกีฬาที่พวกเขาเล่นทุกวัน พวกเขามีความสนุกสานกับกิจกรรมที่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ นี่คือขุมพลังจากธรรมชาติอย่างแท้จริง" ดาน่า กล่าว
สีหน้าของชาว ทาราอูมาร่า เต็มไปด้วยความสุข และหัวเราะแม้จะอยู่ในการแข่งขัน สิ่งนี้ทำให้ดาน่า กลับไปสำรวจงานวิ่งในประเทศอเมริกา และพบว่าช่างต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะนักวิ่งในอเมริกาส่วนใหญ่จะมีสีหน้าแห่งความทรมานและยากลำบาก ดังนั้นที่สุดเเล้วก็วนกลับมาอยู่ในสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่สุด "เมื่อทำงานด้วยความสุข งานนั้นจะไม่ใช่แค่งาน"
สุดท้ายของความลับ คือ อุปกรณ์ไม่ใช่ตัวชูความสำเร็จด้านการวิ่งระยะไกลของพวกเขา นักวิ่งชาว ทาราอูมาร่า มักจะวิ่งเท้าเปล่าหรือไม่ก็รองเท้าแตะที่ทำขึ้นเพื่อในภายในเผ่าของตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีความหนาอะไรเลยด้วยซ้ำ ความรู้สึกเมื่อใส่รองเท้าชนิดนี้ และสัมผัสกับพื้นแทบไม่ต่างกับการใช้เท้าเปล่าเลย
ประวัติศาสตร์ของมนุษย์บอกได้ว่าไม่ต้องมีรองเท้าก็สามารถเดินทางในระยะไกลๆได้ วิทยาศาสตร์ทั้งหมดของเรามาจากความจริงที่ว่าบรรพบุรุษของเราสามารถที่จะทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อในทุกๆ วันได้ ชาวทาราอูมาร่า เชื่อมั่นในพลังขาและเท้าของตัวเองมากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น เด็กๆของพวกเขา โตขึ้นมากับการมีลูกบอลที่ทำจากไม้ผูกอยู่ที่ข้อเท้า ขณะวิ่งผ่านป่า ทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะกระโดด, เดินถอยหลัง และหมุนตัว ทุกอย่างกลายเป็นเเรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพในอนาคตทั้งหมด
คริสโตเฟอร์ ทำแบบนั้น เขาถอดรองเท้าวิ่งและเลิกใช้มันตั้งแต่อายุ 40 ปี ศาสตร์เท้าเปล่าของ ทาราอูมาร่า ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บน้อยมาก หากเทียบกับช่วงเวลาที่เขาเคยใส่ผ้าใบวิ่งแบบคนทั่วไป
สิ่งดังกล่าวได้รับการวิจัยนักวิจัยของวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดพบว่า การวิ่งเท้าเปล่าทำให้ฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นโดยตรง จึงกระตุ้นระบบประสาทหลายจุดที่ฝ่าเท้า กระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัว กระตุ้นกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนเลือดที่ฝ่าเท้า ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานและแข็งแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ การวิ่งเท้าเปล่ายังทำให้รูปแบบการลงน้ำหนักขณะวิ่งเปลี่ยนไปจากเดิม การสวมรองเท้าวิ่งนั้นมักลงน้ำหนักที่ส้นเท้า แต่การวิ่งเท้าเปล่าทำให้การลงน้ำหนักเปลี่ยนไปที่ปลายเท้า จึงมีการถ่ายเท และดูดซับแรงกระแทกได้ดีขึ้น
การเข้าสู่เส้นทางล่ารางวัล
หากอ่านมาถึงตรงนี้ และคุณสงสัยว่าการที่พวกเขาปลีกวิเวกจากโลกภายนอกมานานถึง 400 ปี เหตุใดจึงมาลงเเข่งมาราธอนในช่วงระยะหลังปี 2000 เป็นต้นมา และทำให้โลกของนักวิ่งตื่นตัว
หุบเขาซินโฟโรซาแห่งเทือกเขาเซียร์รา มาเดร (Sierra Madre) อันเป็นที่อยู่ของพวกเขาเคยเป็นที่ที่ใครก็ไม่อาจเข้าถึง จนกระทั่งก่อนเข้าปี 2000 สถานการณ์ในท้องถิ่นย่ำแย่ที่สุดในรอบ 70 ปี พวกเขาไม่สามารถปลูกพืชที่เป็นอาหารหลักได้อย่างเพียงพอ หนักเข้าไปอีกเมื่อถึงหน้าหนาวอากาศก็ทำลายผลผลิตของพวกเขาเข้าไปอีกด้วย
"ที่นี่มีอาหารน้อยมาก ชุมชนของเราไม่มีไฟฟ้าใช้ พวกเรากำลังหิว และกำลังจะตาย" กลุ่มชาว ทาราอูมาร่า กล่าวกับนิตยสารเทรล รันเนอร์ส
จากนั้นมีชาวอเมริกันที่ได้ยินข่าวคราวความยากลำบากของชนเผ่านี้ จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยด้านอุปโภค- บริโภค และ ราชาร์ด ฟิสเชอร์ หนึ่งในอาสาสมัครที่เป็นนักวิ่งอยู่แล้วได้เห็นความพิเศษของชาวทาราอูมาน่า จึงได้ดึงเข้ามาแข่งขันงานมาราธอนครั้งแรกเมื่อปี 1996 จากนั้นพวกเขาก็รู้จักชนเผ่าอื่นนอกจากชาว เม็กซิกัน ที่เคยจ้างพวกเขาให้วิ่งไล่ต้อนม้าป่าในช่วงปี 1860
การวิ่งบนเนินเขาที่เต็มไปด้วยหิน และทางที่ขรุขระทำให้นักวิ่งอย่าง ทาราอูมาร่า สร้างชื่อในการวิ่งต่างๆทั่วโลก “ศาสตร์การวิ่งเท้าเปล่า” ถูกคนหลายกลุ่มนำไปศึกษาในปัจจุบัน
นักวิ่งชาวทาราอูมาร่า มีทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ 14 ปี จนไปถึง 55 ปี พวกเขาเหล่านี้วิ่งแตะหลักร้อยกิโลเมตรได้โดยง่ายดาย เพราะมัน คือ เรื่องเล็กมากหากเปรียบเทียบกิจวัตรประจำวันแต่เก่าก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อความเก่งกาจของพวกเขาถูกตีแผ่ในวงกว้าง กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดเล็งเห็นช่องทางในการหาประโยชน์จากความสามารถในการเอาตัวรอดของชนเผ่าทาราอูมาราด้วยการว่าจ้างให้เดินเท้าขนยาเสพติดต่างๆผ่านพรมแดนอเมริกาที่รัฐเท็กซัส
ชาวทาราอูมาร่าจะทำการขนย้ายยาเสพติดจากการเดินเท้าจาก ชิวาวา ข้ามพรมเเดนของสหรัฐอเมริกาโดยมีระยะทางโดยรวมราว 700 กิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มีชาวทาราอูมาร่าที่ยอมแพ้อำนาจเงิน และแบกเป้ขนยาเสพติดจนโดนจับไปไม่ต่ำกว่า 12 คน
เคน เดล แวล ผู้เป็นทนายฝั่งจำเลยเผยว่าเพราะความทนอึดสู้งานของเผ่า ทาราอูมาร่า และการเดินเท้าที่สามารถแทรกซึมผ่านดินเเดนได้ง่ายกว่าการขนย้ายด้วยรถ จึงทำให้พ่อค้ายาเสพติดชาวเม็กซิกันหันมาใช้บริการชนเผ่าความเร็วแสงเผ่านี้
"ทาราอูมาร่า ต่างจากพวกขนยาชาวเม็กซิกันมาก พวกพ่อค้ายาเสพติดสามารถส่งพวกเขาลงกลางทะเลทรายเเละพูดว่า ไป! คำเดียวเท่านั้นเองงานก็เดินเเล้ว" ทนายผู้ขึ้นศาลพร้อมกับ คามิโล่ บิเญกาส ครูซ ชนเผ่า ทาราอูมาร่า วัย 21 ปีที่โดนจับในคดีนี้ถึง 2 รอบและถูกขังอยู่ในเรือนจำซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลทรายโมฮาวีของรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยโทษจำคุก 46 เดือน กล่าว
ด้าน คามิโล่ เปิดเผยภายหลังว่า นี่คือความผิดพลาดที่เขายอมแพ้ต่อข้อเสนอที่ยั่วยวนใจ อย่างไรก็ตามหากออกมาจากคุกได้ เขาจะไม่ทำมันอีกเเละไม่มีวันที่จะกลับมานอนในซังเตอีกครั้ง
ที่สุดเเล้วตอนนี้ชาวทาราอูมาร่า มีทางเลือกนอกจากการล่าสัตว์และปลูกผักอยู่ 2 สิ่ง สิ่งแรก คือ ต่อสู้กับความยากจนด้วยการก้มหัวให้ขบวนการค้ายาเสพติด และสองคือการอยู่อย่างสันติ และใช้พรวรรค์ที่พวกเขามีอย่างการวิ่งต่อยอดเพื่อชีวิตใหม่
ในอดีตชาวอินเดียนเสียชีวิต เพราะสู้กับวัฒนธรรมโลกใหม่มาเเล้วเมื่อครั้งอดีต ตอนนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของ ทาราอูมาน่า ต้องเลือกอีกครั้ง เพียงแต่ว่าหนนี้พวกไม่ต้องหนีไปไหน แค่วิ่งเท่านั้น แต่เปลี่ยนจากการวิ่งล่าสัตว์มาเป็นการวิ่งล่าเงินรางวัลเเทน