อุ๋ย ศรันยา : ผู้ตัดสินสนุกเกอร์หญิงไทยที่ฝันไกลไปถึงครูซิเบิล
หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า วงการสนุกเกอร์บ้านเรา มีผู้ตัดสินหญิงลงปฏิบัติหน้าที่ ในการแข่งขันกีฬาสอยคิว
สนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่ความผูกพันกับชายไทย มาอย่างยาวนานมากกว่า 40 ปี ตามหลักฐานที่มีการจัดตั้งสมาคมสนุกเกอร์-บิลเลียด แห่งประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ.1982 โดย มอริส เคอร์ ชาวอังกฤษ
มีโต๊ะสนุ๊กฯ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และรายการแข่งขันสมัครเล่นที่เพิ่มขึ้นตามมา ก่อนโด่งดังเป็นพลุแตกในยุคที่ “ไทยทอร์นาโด” ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ไประเบิดฟอร์มสร้างชื่อในเวทีโลกเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว
แต่ถึงกระนั้นด้วยภาพลักษณ์ และข้อกฏหมายที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในโต๊ะสนุกเกอร์ จึงทำให้กีฬาสอยคิว ถูกมองว่าเป็นเกมของผู้ใหญ่ เกมของผู้ชาย หากมองย้อนกลับไปสักประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว ดูเหมือนไม่มีความเเป็นไปได้เลยว่า เด็กวัยรุ่นผู้หญิง จะหันมาสนใจและเล่นกีฬาชนิดนี้ได้อย่างไร
ด้วยบรรยากาศหลายๆอย่างที่ไม่เอื้อ นั่นจึงทำให้เราแทบไม่เคยเห็น ผู้ตัดสินหญิงไทย ลงปฏิบัติหน้าที่ในเกมสนุกเกอร์ระดับประเทศ
จนมาถึงยุคปัจจุบัน สนุกเกอร์ ในเมืองไทย แม้ยังไม่ผ่าน พรบ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่วงการสอยคิวไทย ก็เปิดพื้นที่ให้ “ผู้หญิง” ได้เข้ามามีบทบาทมากว่าในอดีต มีการสนับสนุนนักกีฬาสนุกเกอร์หญิง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ สุภาพสตรี ได้เข้ามาอยู่ในกีฬาที่เธอรัก ในบทบาทผู้ตัดสิน
อุ๋ย - ศรันยา สุขทอง คือผู้หญิงคนนั้น จากเด็กสาวที่ชอบทำกิจกรรม เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ดรัมเมเยอร์ของโรงเรียน เธอพลิกผันตัวเองมาสู่การทำอาชีพที่ผู้หญิงน้อยคนนัก จะเลือกเป็น ผู้ตัดสินสนุกเกอร์ ได้อย่างไร? ติดตามเรื่องราวของเธอได้ที่นี่
ดรัมเมเยอร์สู่โต๊ะสนุ๊กฯ
ศรันยา มีช่วงชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นที่ไม่ต่างกับเด็กสาวทั่วไป ที่มีใบหน้าสะสวย และการแสดงออก คำพูดคำจาฉะฉาน เธอเป็นดาวเด่นของโรงเรียน และได้เป็นผู้นำกิจกรรมอยู่ตลอด ทั้งการเป็น เชียร์ลีดเดอร์, ดรัมเมเยอร์ ฯ
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เธอชื่นชอบไม่แพ้กัน และอาจดูตรงข้ามกันรูปลักษณ์ภายนอก คือ การได้เล่นกีฬา เธอสามารถเล่นกีฬาแทบทุกประเภท
แม้ไม่ได้มีทักษะโดดเด่น จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาไปแข่งขันระดับประเทศได้ แต่เธอยังคงทำกิจกรรม เรียน และเล่นกีฬา พร้อมๆกันโดยตลอด รวมถึงยังหารายได้เสริม ด้วยการมาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารของเครือญาติ สถานที่ที่ทำให้เธอได้รู้จัก และเริ่มตกหลุมรัก ผืนสักหลาดสีเขียว
“อุ๋ย ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ชอบอยู่เฉยๆ เล่นกีฬาได้หมด แต่อาจไม่ได้เก่งมาก ช่วงเย็นๆหลังจากเลิกเรียน อุ๋ย จะไปทำงานเสริม ช่วยคุณลุงที่เปิดร้านอาหาร คาราโอเกะ จนตอนอุ๋ยอายุ 18 ลุงไปซื้อโต๊ะสนุ๊กฯ มาไว้ที่ร้าน ท่านให้ อุ๋ย ทำหน้าที่คิดเงินคนที่มาเล่น เกมละ 10 บาท”
“นั่นเป็นครั้งแรกที่อุ๋ยได้มาสัมผัสกีฬาสนุกเกอร์ อย่างช่วงเวลาว่าง ไม่มีลูกค้า ไม่มีคนมาเล่นที่โต๊ะ อุ๋ย ก็จะเริ่มหยิบไม้มาฝึกแทงเอง พอได้เล่น ได้อยู่กับมันทุกวัน ก็เกิดความชอบ และมีความตั้งใจว่าอยากเป็น นักกีฬาสนุกเกอร์อาชีพ แบบพี่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่เราเห็นในทีวี”
ศรันยา ไม่มีปัญหาในเรื่องของการฝึกหัดเล่นสนุกเกอร์ ตามอายุของเธอที่ผ่านตามกฏหมาย หรือการที่ต้องเจอคู่แข่งที่เป็นผู้ชายทั้งหมด เธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่ส่วนที่ปัญหาจริงๆของเธอ กลับเป็นเรื่องของเพศ ที่ในเวลานั้น ยังไม่ได้เปิดรับ และสนับสนุนให้ ผู้หญิง เล่นกีฬาชนิดนี้มากนัก
สุดท้าย อุ๋ย ศรันยา จำเป็นต้องละทิ้งความฝันในกีฬาสอยคิว กลับไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง…“สมัยที่อุ๋ยหัดเล่นกับสมัยนี้แตกต่างกันมาก ที่เปิดกว้างให้เด็กผู้หญิงมากขึ้น อย่างในตอนนั้น อุ๋ย ฝึกเล่นด้วยตัวเอง เล่นเพราะเรารักกีฬาชนิดนี้ ไม่มีโค้ช ไม่มีครู ไม่มีอคาเดมีแบบเด็กยุคนี้”
“อาจจะเป็นที่ อุ๋ย เป็นผู้หญิงหรือเปล่า? ทำให้ไม่ค่อยมีใครผลักดันตรงนี้เท่าไหร่ มันมีหลายๆปัจจัยไม่ได้เอื้อให้เราเป็นนักกีฬา อย่างสมัยนั้น ถ้าอุ๋ยจะไปฝึกหัดเล่นตามโต๊ะ ก็จะมีสายตาที่มองมาว่า “เราเป็นเด็กผู้หญิง เข้าไปในโต๊ะสนุ๊กฯ ได้อย่างไร” เขาก็มองเราไม่ค่อยดี”
“อีกอย่างสมัยก่อน โต๊ะสนุ๊กฯ 99 เปอร์เซนต์ที่เข้ามาเล่น เป็นผู้ชายทั้งหมด ยังไม่ได้มีแยกห้องสูบบุหรี่ กับห้องไม่สูบบุหรี่แบบทุกวันนี้ อุ๋ย เข้าไปเจอควันบุหรี่เยอะมาก ทางบ้าน อยากให้เราตั้งใจเรียน เพื่อทำงานมากกว่าไปสถานที่ตรงนั้น”
เกมที่ (ยัง) หลงรัก
ความรักที่เธอมีต่อสนุกเกอร์ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ฉาบฉวย ตามกระแส หรือแค่กีฬาที่เด็กวัยรุ่น อยากลองเล่นดู ในช่วงที่ฮอร์โมนส์ในร่างกายพลุ่งพล่าน แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แม้เธอได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนักกีฬาสนุกเกอร์อาชีพไปแล้วก็ตาม
เธอยังคงเล่นสนุกเกอร์อยู่ตลอด แม้กระทั่งช่วงที่เรียนจบ จนเข้าสู่วัยทำงาน ศรันยา ยังคงหาเวลาว่าง นัดหมายกับกลุ่มเพื่อนไปเล่นด้วยกันอยู่เสมอ รวมถึงหาโอกาสเข้าชมเกมการแข่งขันแมตช์ใหญ่ๆ ที่มีนักสนุกเกอร์ระดับโลก เดินทางมาแข่งในไทย
“อุ๋ย ยังเล่นสนุกเกอร์อยู่ตลอด ไม่ว่าจะตอนเรียน ปวช. ปวส. เข้ามหาลัย ไปทำงานที่ไหน อุ๋ย จะมองหาก่อนเลยว่า โต๊ะสนุกเกอร์อยู่ตรงไหน ก็ชักชวนเพื่อนๆไปเล่น ซึ่งมีแต่เพื่อนผู้ชายที่เล่น เพราะไม่มีเพื่อนผู้หญิงคนไหนเล่นเป็น”
“อุ๋ย ยังศึกษาสนุกเกอร์อยู่ตลอด เปิดคลิปใน Youtube ดูเทคนิคที่เขาสอน ความจริงเคยคิดจะไปลงเรียนตามคอร์สที่มีโค้ชสนุกเกอร์ฯ เป็นเรื่องเป็นราว แต่ด้วยภาระงาน อุ๋ย ไม่ได้มีเวลาว่างขนาดนั้น”
“จนเมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีการจัดแมตช์เชิญมือระดับโลกมาแข่งขันที่ โรงแรมมณเฑียรฯ อุ๋ย ซื้อบัตรเข้าไปชมการแข่งขัน ตอนที่นั่งชมเกม อยู่ๆ ก็มีความคิดว่า จะทำยังไงให้เราได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นที่มือระดับโลกแข่งขันกัน ถ้าจะเป็นนักกีฬา คงไม่ทันแล้ว เนื่องด้วยอายุขึ้นเลขสามแล้ว ความสามารถเราไม่ทันรุ่นน้องแน่ๆ ที่เขาพัฒนาขึ้นมามาก งั้นทำอย่างไรดีละ ถ้าเราอยากเข้าใกล้จุดนั้นมากกว่านั่งดู”
ในช่วงเวลาที่เธอกำลังเกิดความคิดฟุ้งซ่าน สายตาของเธอเหลือบไปเห็น ผู้ตัดสินหญิง ที่หากมองจากรูปลักษณ์ภายนอกเป็นคนเอเชียเหมือนกับเธอ กำลังทำหน้าที่ขานแต้ม วางลูก อย่างแข็งขัน ที่ทำให้เธอเกิดความหวังขึ้นมาในใจว่า สิ่งที่เธอคิดไม่ใช่เรื่องฟุ้งซ่าน
“ตอนนั้นที่คิด ก็ไม่ได้นึกถึงอาชีพผู้ตัดสินเลยว่า เพราะว่าในความคิดอุ๋ย ผู้ตัดสินที่เคยเห็นมาในเมืองไทยมีแต่ผู้ชาย ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ผู้หญิง ก็สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จนได้มาเห็นจากการแข่งขันครั้งนั้นว่ามี ผู้ตัดสินคนหนึ่งเป็นผู้หญิงลงทำหน้าที่ด้วย”
“เรามองเห็นผู้ตัดสินท่านนี้ ก็เกิดความรู้สึกดีขึ้นมาในใจ ทำยังไง เราถึงจะเป็นได้แบบเขา กลับบ้านไปหาข้อมูลเลยว่า กรรมการผู้หญิงคนนี้เป็นใคร จนรู้ว่าชื่อ เป็กกี ลี่ (Peggi Li) เป็นกรรมการมีชื่อเสียงมาก และเคยตัดสินมือระดับโลกมาแล้ว”
“การแข่งขันที่โรงแรมมณเฑียรมีจัด 8-10 วัน วันรุ่งขึ้น เราไปดูอีก แต่คราวนี้เปลี่ยนจากดูนักสนุ๊กฯ มาเป็นการสังเกตว่า ผู้ตัดสินต้องทำอะไรบ้าง ยิ่งดูก็ยิ่งชอบที่เขาเก่ง เขามีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย”
ศรันยา เก็บความในใจไม่อยู่ เธอจึงสอบถามผู้ตัดสินรุ่นพี่ชาวไทย ที่ได้ลงทำหน้าที่ในการแข่งขันครั้งนั้น ว่ามีตำแหน่งว่างไหนบ้างที่สามารถให้เธอทำงานเกี่ยวกับ สนุกเกอร์ เพื่อในสักวันหนึ่งเธออาจมีโอกาสขยับเข้ามาเป็น ผู้ตัดสินแบบ เป็กกี่ ลี
“อุ๋ย ถามเขาตรงๆเลยว่า ถ้าอุ๋ยอยากเข้าไปใกล้ชิดวงการสนุ๊กฯ มีตำแหน่งงานไหนที่ว่างบ้างไหมคะ ตอนนั้นคิดว่าถ้าเขาให้เป็น Scorer (คนนับแต้ม) ก็ดีใจมากแล้ว พี่เขาก็บอกว่าเดี๋ยว สักเที่ยงๆ มาคุยกันอีกทีนะ เขาจะแนะนำให้รู้จัก อ.ติ๊ก สากล สุจริตกุล ท่านพูดมาคำหนึ่งที่ทำให้อุ๋ยตกใจมาก”
“เอายังงี้ ลองมาเป็นผู้ตัดสินดูไหม?” ประโยคที่ ติ๊ก สากล ย้อนถามเธอ “นาทีนั้น อุ๋ย ไม่ต้องคิดอะไรเลย ตอบกลับทันทีเลยว่า ทำค่ะ ต้องเริ่มจากตรงไหนบ้าง”
นับหนึ่งกับอาชีพผู้ตัดสิน
ศรันยา ได้รับคำแนะนำจาก อ.ติ๊ก สากล ให้ไปอบรมผู้ตัดสินสนุกเกอร์ ที่จะจัดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย เธอใช้เวลาประมาณปีกว่า ในที่สุดเธอผ่านการอบรม และสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ตัดสินได้
“ในการอบรม เขาจะสอนและอธิบายให้เราเข้าใจกฏ กติกา มารยาท ข้อควรระวัง และแนวทางปฏิบัติของการเป็นผู้ตัดสิน”
“ช่วงระหว่างการอบรม อุ๋ย จะนัดเพื่อนๆมาเล่นสนุ๊กฯ ตามปกติ แต่คราวนี้ อุ๋ย เปลี่ยนจากคนเล่นมาฝึกหัดลองทำหน้าที่เป็นกรรมการ คอยขานแต้ม วางลูก ฝึกการเดินทุกอย่าง เพื่อนเขาเคยที่แข่งขันก็จะชิน ส่วนเพื่อนที่ไม่เคยแข่งขัน เขาก็จะเกร็งๆ เวลาต้องเล่นโดยมีกรรมการ บางทีอุ๋ย ฝึกเป็นกรรมการ ก็ยังอยากไปเล่นเองอยู่นะ (หัวเราะ)”
“อีกอย่าง ตอนเป็นผู้เล่นกับตอนเป็นกรรมการ เวลามองเกมจะต่างกันออกไป อย่างเป็นผู้เล่น เราจะนึกถึงการวางแผนเกมของเรา และหาวิธีเล่นงานคู่แข่ง แต่พอเป็นกรรมการ เราต้องอ่านใจผู้เล่นว่าเขาจะทำอะไรต่อ ผิดกติกาไหม ต้องมีสมาธิมากกับเกม”
“อุ๋ย มีคติหนึ่งที่ใช้เสมอมา คือ ผู้ตัดสิน สายตาต้องอยู่บนโต๊ะตลอดเวลา แม้แต่ตอนเดินถอยหลัง ก้มหยิบลูก ไม่ใช่ดูแค่ตอนที่นักกีฬาก้มแทง เพราะบางครั้งอาจมีอุปกรณ์แปลกปลอมอะไรเข้าไปในสนาม การทำหน้าที่ผู้ตัดสิน ถือเป็นเรื่องใหม่มากของ อุ๋ย ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม ถามไถ่จากรุ่นพี่เยอะมาก”
สนุกเกอร์ เป็นกีฬาหนึ่งที่ต้องใช้ไหวพริบ การวางแผนของสมอง และความแม่นยำของร่างกาย ดังนั้น กรรมการ จึงต้องมีสายตาที่ฉับไว การตัดสินใจที่เด็ดขาด กฏ กติกา ข้อปฏิบัติ ต้องแม่นยำ เพื่อทำให้เกมๆนั้น เกิดความยุติธรรมมากสุดต่อนักกีฬาทั้งสองฝ่าย
เพราะจังหวะบางจังหวะที่ กรรมการตัดสินพลาด นั่นอาจหมายถึง เฟรมๆนั้น อาจจบลงได้เลย ถ้ามีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ฉกฉวยผลประโยชน์จากการตัดสินพลาดของกรรมการได้ แรงกดดันเหล่านั้นเป็นสิ่งหนึ่ง อุ๋ย ศรันยา ต้องเรียนรู้ และใช้ประสบการณ์เพื่อลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด
“จุดที่ยากสุดของกรรมการ น่าจะเป็นจังหวะที่ นักกีฬาแทงออกเป็น Foul & Missed ที่เราต้องมาตั้งจุดขาวที่เดิม เพราะหลังจากที่เราวางลูกไป นักกีฬาทั้งสองคนจะต้องมามอง ถ้ามีใครคนหนึ่งไม่โอเค เราต้องเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะมันเป็นลูกที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบต่อนักกีฬาได้ อาจเปลี่ยนเกมนั้น แพ้ชนะที่ลูกนี้ได้เลย”
“อุ๋ย ได้ไปตัดสินเกมแรก เป็นรายการที่เขาเชิญไปเพื่อเปิดโต๊ะ P.S. Sport Acedamy เกมนั้นเป็นแมตช์ที่ มิงค์ สระบุรี เจอกับ ใบพัด ศรีราชา พอวันรุ่งขึ้น อุ๋ย ได้ไปตัดสินแมตช์เปิดโต๊ะอีกเหมือนกัน ของพี่แซค โซโฟน คู่ระหว่าง พี่แมน นครปฐม กับ พี่หนู ดาวดึงส์”
“ยอมรับว่าตื่นเต้น และเฟลมาก อุ๋ย รู้ตัวเลยว่าทั้งสองวัน ตัวเองทำผิดเยอะมาก มีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น เดินไม่ถูก วางไม่ถูก บุคลิกภาพยังดูไม่น่าเชื่อถือ การขานแต้มเสียงเบาไป หลายๆอย่างอุ๋ยยังทำได้ไม่สมูธเหมือนกับที่ดู กรรมการระดับโลกทำกัน จากที่เรามองตอนเป็นคนดู เราว่ามันยากแล้ว พอลงมาตัดสินจริงๆ ยากกว่าที่คิดอีก ต้องใช้ความคิดเยอะมาก”
“แต่ก็ได้พวกผู้ตัดสินรุ่นพี่ รวมถึงอาจารย์ติ๊ก คอยให้กำลังใจ บอกว่าเราควรปรับปรุง แก้ไขตรงไหน ตัวอุ๋ยเองก็มานั่งทบทวนดูข้อผิดพลาดของตัวเองด้วยว่า อะไรที่เรายังทำได้ไม่ดี ต้องพัฒนาแก้ไขอย่างไร อุ๋ย ไม่อยากตัดสินพลาด อุ๋ยรู้ว่าความผิดพลาดมันเปลี่ยนเกมนั้นได้เลย คงต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากกว่านี้ เพื่อลดข้อผิดพลาด”
“ความเต็มที่ เรามีให้กับงานผู้ตัดสินอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อุ๋ยบอกตัวเองตลอด ก่อนลงทำหน้าที่คือ จะยังไงก็ได้ หลังจบเกม ผู้เล่นทั้งสองคน เขาพอใจกับการทำหน้าที่ของคนเรา แค่นี้ อุ๋ยก็ดีใจมากๆแล้ว”
หญิงไทยคนแรกในครูซิเบิล
แม้การเป็น ผู้ตัดสินสนุกเกอร์ อาจไม่ใช่ความตั้งใจแรกหากย้อนกลับไปในวันที่เริ่มต้นจับไม้สนุกเกอร์ แต่อย่างน้อยในวันนี้ การได้มาทำหน้าที่ผู้ตัดสินสนุกเกอร์ กลับยิ่งเติมเต็มความสุขของเธอที่มี เป็นโลกอีกใบ ที่นอกเหนือจากงานหลักที่เธอประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไอที
“น่าจะประมาณ 10 เกมแล้วที่ อุ๋ย ทำหน้าที่มา ฟีดแบกค่อนข้างดีมาก เพราะว่านักกีฬาผู้ชาย เวลาเห็นกรรมการผู้หญิง เขาจะมีรอยยิ้มไม่ตึงเครียดมาก บรรยากาศดูซอฟท์ลง รวมถึงการได้ทำงานตรงนี้ ยังช่วยให้ อุ๋ย เป็นคนที่มีสมาธิ วางแผนรอบคอบ ในการใช้ชีวิตประจำวัน”
“ในแวดวงผู้ตัดสินบ้านเรา ตอนนี้ที่ผ่านการอบรม มีอยู่ประมาณ 30-40 คน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อแมตช์การแข่งขันในประเทศ แต่ถ้าต้องการไปตัดสินแมตช์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ต้องไปสอบให้ได้ตราที่แบ่งตามระดับ อย่างตัวอุ๋ย ตอนนี้ยังไม่สามารถไปตัดสินต่างประเทศได้ ส่วนรุ่นพี่บางคนที่เขาสอบผ่านได้ตรา ก็สามารถไปตัดสินต่างประเทศได้”
“เพราะความหวัง ความใฝ่ฝันของอุ๋ย อยากพัฒนาขึ้นไปถึงจุดที่สามารถ เป็นผู้ตัดสิน ให้กับพวกนักสนุ๊กฯ มือระดับโลกให้ได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน ซึ่งในอนาคต หากมีโอกาส อุ๋ย มีความตั้งใจที่อยากไปอบรมและสอบในต่างประเทศ”
“อุ๋ย ตั้งเป้าหมายไว้ถึงจุดที่ ตัวเองเป็นผู้หญิงไทยที่ได้ตัดสินในครูซิเบิล เธียร์เตอร์ ด้วยซ้ำ ส่วนจะได้ไปหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่อง”
สนุกเกอร์ ในวันนี้จึงมีความหมายต่อ ศรันยา สุขทอง มากขึ้นกว่าแค่เป็นกีฬาที่เธอรัก แต่นี่ยังเป็นกีฬาที่มอบโอกาสให้เธอได้พบกับ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากการเป็น ผู้ชม และผู้เล่น อย่างการเป็น ผู้ตัดสิน
ที่เธอพร้อมจะขีดเขียนเรื่องราวใหม่ และหวังสร้างประวัติศาสตร์เป็น ผู้ตัดสินหญิงไทยคนแรก ในสังเวียนสนุกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่สุดในโลกอย่าง ครูซิเบิล เธียร์เตอร์ ในสักวันหนึ่ง
“อุ๋ย ยังมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่กับ สนุกเกอร์ ไม่ว่าจะบทบาท นักกีฬา ผู้ตัดสิน หรือคนดู อุ๋ย เอาความสุขเป็นที่ตั้ง ถ้าตราบใดที่สนุกเกอร์ยังเป็นความสุขของเรา เราก็ยังอยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับกีฬาชนิดนี้อยู่”
“สนุกเกอร์ มันมากกว่าแค่ความชอบ แต่มันคือความรัก ที่อะไรก็ช่าง อุ๋ย ขอแค่มีสนุกเกอร์อยู่ในชีวิตประจำวันก็พอ”