6 ประเด็นร้อนหลังเกม ผีแดง บุกพ่าย ค้างคาว 1-2
ไม่มีดราม่าสำหรับกลุ่มนี้ เมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้าที่ 2 ไปตามระเบียบจากการแพ้ บาเลนเซีย แม้ว่า ยูเวนตุส จะบุกไปแพ้ ยังบอยส์ แบบช็อก ด้วยสกอร์ 1-2 เหมือนกันก็ตาม
ไปดูกันว่ามีประเด็นอะไรทีน่าสนใจเกิดขึ้นบ้างในเกมนัดดังกล่าว
1. ไบญี ยังกู้ฟอร์มไม่ได้ แม้จะมีโอกาสกลับมาลงสนามอีกครั้งจากการที่ 2 เซ็นเตอร์ตัวหลักอย่าง คริส สมอลลิง กับ วิคเตอร์ ลินเดเลิฟ ได้รับบาดเจ็บ แต่ เอริค ไบญี กลับดูเหมือนจะยิ่งทิ้งโอกาสของตัวเองในการกลับคืนสู่ทีมออกไปเรื่อย ๆ เมื่อเขาผิดพลาดง่าย ๆ จนทำให้ทีมพ่ายในเกมนี้
ครึ่งแรกในนาทีที่ 17 บาเลนเซีย ได้ลุ้นประตูจากการที่ มินา ได้โอกาสเปิดเขาเขตโทษจากทางขวา โจนส์ โขกสกัดไปเขาทาง โซเลร์ ได้ยิงดาบสองในเขตโทษ บอลไม่น่ามีอะไรเพราะตรงตัว ไบญี แต่กลายเป็นว่าบอลลอดขาเขาเข้าประตูหน้าตาเฉย ส่วนลูกที่ 2 ในครึ่งหลัง ไบญี เสียตำแหน่งในเกมรับจนทำให้ บัตชูอายี มีช่องวิ่ง แม้ว่าศูนย์หน้าชาวเบลเยียมจะไม่ได้บอล แต่การวิ่งกดดันของเขาทำให้ ฟิล โจนส์ ที่ถึงบอลก่อนทำเข้าประตูตัวเองไปแบบงง ๆ
ฟิล โจนส์ เป็นอีกคนที่ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อดูจากสไตล์การเล่นที่ต้องยอมรับว่า โจนส์ ดูเข้าปะทะแม่นกว่าแล้ว โอกาสของ ไบญี ก็ยิ่งริบหรี่ไปทุกที (จริง ๆ ก็ริบหรี่ทั้งคู่นั่นแหละ)
2. ความเชื่อใจที่หาได้ยากเหลือเกินจากนักเตะ ปีศาจแดง การที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เข้ารอบไปแล้วทำให้พวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้เก็บเหล่าตัวหลักไปพัก และเอาพวกตัวสำรองลงมาเคาะสนิมได้บ้าง แต่ดูเหมือนสนิมคงจะเกาะเหล่าแข้งที่ว่าหนาจนเกินไป เมื่อพวกเขาไม่สามารถสร้างความไว้ใจให้กุนซือหน้าเครียดได้เลยแม้แต่น้อย
4 แผงหลังและ 1 นายประตู ทำหน้าที่ได้แย่ แม้จะไม่ได้แย่สุด ๆ แต่ก็เห็นชัดเจนว่ามีปัญหา เมื่อ 2 ฟูลแบ็คอย่าง อันโตนิโอ บาเลนเซีย และ มาร์คอส โรโฮ เจอปัญหาสุด ๆ ในการรับือคู่แข่ง ในขณะที่ เอริค ไบญี ก็ยังพลาดง่าย ๆ เหมือนเดิม ด้าน ฟิล โจนส์ ที่แข็งแกร่ง แต่ก็ยิงเข้าประตูตัวเองเพราะสื่อสารกันไม่ดีกับ เซร์คิโอ โรเมโร ทำให้โดยรวมแล้ว แนวรับสำรองของพวกเขาสอบตกกันทั้งหมด
ด้านทีเกมรุกมี อันเดรียส เปเรย์รา กับ เฟร็ด ที่นาน ๆ ทีจะได้รับโอกาส แต่ทั้งคู่ก็ยังห่างไกลจากคำว่าน่าประทับใจ เฟร็ด อาจจะต่อบอลกับเพ่อนได้ดี แต่เขายังขาดจินตนาการในการเข้าทำอีกเยอะ ส่วน เปเรย์รา ก็มีจังหวะดี ๆ แคาครั้งเดียวเท่านั้น ที่เหลือคือวิ่งไปมาอยู่ในสนาม
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับ โชเซ มูรินโญ ที่ตัดสินใจดองแข้งเหล่านี้แบบยาว ๆ เพราะเมื่อมีโอกาส พวกเขาก็ไม่ได้ทำให้เชื่อว่าจะพลิกสถานการณ์ให้ทีมได้เท่าไหร่ แถมท้ายเกมยิ่งชัดเจน เมื่อประตูเดียวที่พวกเขาได้เกิดขึ้นจากการประสานงานของ 3 แข้งสำรองที่ปกติเป็นตัวจริงอย่าง เจสซี ลินการ์ด, แอชลีย์ ยัง และ มาร์คัส แรชฟอร์ด
3. โอกาสพิสูจน์ตัวเองของ แรชฟอร์ด เป็น 1 ในนักเตะที่โชคดีที่สุดคนนึงของทีม เมื่อคู่แข่งในแดนหน้าอย่าง อเล็กซิส ซานเชซ ได้รับบาดเจ็บ และ โรเมลู ลูกากู ก็ฟอร์มตกต่อเนื่อง ทำให้ไม่ว่ายังไง แรชฟอร์ด ก็จะได้โอกาสลงเสมอ และในเกมนี้เขาก็ได้ลงสนามมาราว ๆ ครึ่งชั่วโมง
แม้จะมีเวลาไม่มากนัก และโอกาสเข้าทำที่สร้างสรรโดยเพื่อนร่วมทีมก็ไม่ค่อยแม่นยำเท่าไหร่ แต่ในที่สุดแข้งวัย 21 ปีก็เจาะประตูคู่แข่งได้สำเร็จก่อนหมดเวลาปกติ 3 นาทีจากการเข้าโหม่งที่สุดแสนจะเพอร์เฟ็คท์ ชนิดที่ ลูกากู กับ บัตชูอายี ยังต้องอาย
นอกจากนี้ ประตูดังดล่าวยังเป็นครั้งแรกที่ แรชฟอร์ด ยิงประตูได้ 2 นัดติดต่อกันให้ ยูไนเต็ด นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วนู่นเลย
ความสดและความไวของเขาคือสิ่งที่สามารถเป็นอาวุธให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ เหลือแค่เขาต้องมีความมั่นใจให้ต่อเนื่องมากกว่านี้ อย่ากลัวที่จะถูก มูรินโญ สับเละ เขาก็จะสามารถงัดฟอร์มแจ่มแบบปีแรกที่ขึ้นสู่ทีมใหญ่ได้แน่นอน
4. โจนส์ ทำเข้าประตูตัวเองอีกแล้ว มีส่วนต้องรับผิดชอบไม่แพ้กับ ไบญี เมื่อ โจนส์ ทำผิดพลาดกับการเสียประตูแรกด้วยการโหม่งสกัดบอลไปเข้าทาง โซเลร์ ที่ยืนโล่ง ๆ ในเขตโทษ แต่สิ่งที่ทำให้เขาอาจต้องฝันร้ายไปจนสุดสัปดาห์ก็คือการทำเข้าประตูตัวเองแบบงง ๆ ในนาทีที่ 2 ของครึ่งหลังเท่านั้น
จังหวะดังกล่าวผิดพลาดกันตั้งแต่กลางสนาม เมื่อ เฟลไลนี ปล่อยบอลไหลผ่าหน้าเขาอย่างง่ายดายเกินไป และ ไบญี ก็ขยับตำแหน่งไปจากจุดที่เขาควรยืน ทำให้ บัตชูอายี มีช่องว่างขนาดใหญ่ในการวิ่งไปรับบอลจากเพื่อนร่วมทีม
จังหวะนี้จริง ๆ น่าจะเป็นคำชมที่ ฟิล โจนส์ ควรได้รับ เมื่อเขาออกสตาร์ทแทบจะพร้อม ๆ กับ บัตชูอายี และสามารถแซงอดีตกองหน้า เชลซี ไปได้แล้ว แต่ในชั่วเสี้ยววินาทีที่เหมือนเขาจะเตะบอลทิ้ง โจนส์ กลับตัดสินใจจิ้มบอลคืนให้ผู้รักษาประตู ซึ่งก็อาจจะไม่เกิดอะไรขึ้น หาก โรเมโร ยังยืนอยู่ที่เส้นประตู แต่กลายเป็นว่านายทวาร ปีศาจแดง กลับวิ่งออกมาเพราะหวังดีจะช่วยตัดบอล แต่เพราะการไม่สื่อสารกันให้ดี เลยทำให้บอลอขง โจนส์ กลิ้งเข้าประตูไปแบบงง ๆ
ประตูดังกล่าวทำให้ โจนส์ กลายเป็นนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนแรกในรอบ 7 ปีที่ยิงเข้าประตูตัวเอง ซึ่งครั้งล่าสุดนั้นเกิดในปี 2011 ในแมตช์กับ เบนฟิก้า และคนที่ทำประตูตัวเองในวันนั้นก็คือ ฟิล โจนส์ คนเดิมนี่แหละ
ที่แย่กว่านั้น ประตุดังกล่าวยังเป็นการทำเข้าประตูตัวเองหนที่ 5 เข้าไปแล้วในสีเสื้อ ยูไนเต็ด เทียบเท่ากับประตูที่เขายิงคู่แข่งได้นับตั้งแต่ร่วมทีมในปี 2011 เป็นต้นมา
5. เฟลไลนี ไม่ใช่กลางรับที่ดีนัก ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ประสบความสำเร็จในยุคหลัง ๆ มาก็คือการขาดกลางรับที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับเกมกลางสนาม และด้วยความที่ โชเซ มูรินโญ ชื่นชอบการเล่นเกมรับที่เหนียวเป็นพิเศษ การหาใครสักคนที่สามารถลงไปช่ยอุดในเขตโทษและจัดการเรื่องกลางอากาศได้ถือเป็นกลางรับที่ดีทั้งนั้น
นั่นทำให้เรามีโอกาสเห็นนักเตะอย่าง มารูยาน เฟลไลนี มักได้รับบทบาทนี้ เพราะที่สำคัญกว่าการเล่นตรงกลางสนามนั่นก็คือการที่สามารถลงไปช่วยอุดในเขตโทษได้ แต่ผลเสียที่ตามมาก็คือการที่ เฟลไลนี ไม่สามารถจัดการกับคู่แข่งกลางสนามได้เลย ยิ่งเมื่อคู่แข่งมี เจฟเฟรย์ ก็องด็อกเบีย ที่เป็นกลางรับธรรมชาติคอยคุมเกมแล้ว การจะชิงพื้นที่ยิ่งทำได้ยากเข้าไปใหญ๋
ดูเหมือน เฟลไลนี จะมีประโยชน์ก็จริงยามป้องกันการโยนบอล แต่การเปิดพื้นที่ให้คู่แข่งเล่นกลางสนามง่ายไปก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ลองนึงถึง อาร์เซนอล ที่ไม่มี ลูคัส ตอร์เรย์รา หรือ เชลซี ตอนที่ จอร์จินโญ โดน ซน เฮืองมิน กับ เดลี อัลลี เล่นงานสิ อย่างน้อยถ้าจะเอา เฟลไลนี ลงสนามมาช่วยเซ็นเตอร์แบ็ค พวกเขาก็ต้องมีอีกสักคนที่คอยช่วยไล่บี้เกมกลางสนามแหละนะ
6. สรุปผล ยูฟา แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม
ทีมที่เข้ารอบด้วยการเป็นจ่าฝูงได้แก่ : โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (เยอรมนี), บาร์เซโลนา (สเปน), เปเอสเช (ฝรั่งเศส), ปอร์ตู (โปรตุเกส), บาเยิร์น มิวนิค (เยอรมนี), แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ), เรอัล มาดริด (สเปน), ยูเวนตส (อิตาลี)
ทีมที่เข้ารอบด้วยการเป็นอันดับ 2 : แอตเลติโก มาดริด (สเปน), ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ (อังกฤษ), ลิเวอร์พูล (อังกฤษ), ชาลเก้ 04 (เยอรมนี), อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์), โอลิมปิก ลียง (ฝรั่งเศส), โรมา (อิตาลี), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (อังกฤษ)
ทีมที่ไปเล่น ยูโรป้าลีก : คลับบรูช (เบลเยียม), อินเตอร์ มิลาน (อิตาลี), นาโปลี (อิตาลี), กาลาตาซาราย (ตุรกี), เบนฟิก้า (โปรตุเกส), ชักตาร์ โดเน็ตสก์ (ยูเครน), วิคตอเรีย พัลเซน (โปแลนด์), บาเลนเซีย (สเปน)
ทีมที่ตกรอบ : โมนาโก (ฝรั่งเศส), พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน (เนเธอร์แลนด์), เรดสตาร์ (เซอร์เบีย), โลโคโมทีฟ มอสโก (รัสเซีย), เออีเค เอเธนส์ (กรีซ), ฮอฟเฟนไฮม์ (เยอรมนี), ซีเอสเคเอ มอสโก (รัสเซีย), ยังบอยส์ (สวิตเซอร์แลนด์)