ย้อนผลงานประวัติศาสตร์ "โค้ชเช" คุ้มมั้ย? หากไทยเสียเขาไป

ย้อนผลงานประวัติศาสตร์ "โค้ชเช" คุ้มมั้ย? หากไทยเสียเขาไป

ย้อนผลงานประวัติศาสตร์ "โค้ชเช" คุ้มมั้ย? หากไทยเสียเขาไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสที่โค้ชเชจะไม่กลับมาเมืองไทยแล้ว กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ตั้งคำถามต่อสังคมว่า นี่คือความสูญเสียของวงการกีฬา หรือสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับโค้ชเช รวมถึงประเด็นที่เถียงกันเท่าไหร่ก็ไม่จบระหว่าง ความหละหลวมทางวินัยของนักกีฬา กับบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของโค้ช และไม่มีทีท่าว่าคำถามนี้จะได้บทสรุปในเร็ววัน เรามาเบรคพักยกความเดือดกันด้วยประวัติ และผลงานเด่นๆ ของโค้ชเชกันบ้างดีกว่า

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่ได้รับความสนใจที่สุดในตอนนี้ สำหรับกรณี "โค้ชเช" ที่ถูก ก้อย-รุ่งระวี นักเทควันโด้สาวทีมชาติไทย ออกมาแฉผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่าถูกโค้ชเชทำร้ายร่างกาย จนเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการกีฬาไปทั่ว เรามาเบรคกระแสความแรงด้วยประวัติและผลงานของโค้ชเชที่ผ่านมา เป็นการลองชั่งน้ำหนักดูว่า หากวันหนึ่งสมาคมเทควันโด้ปราศจากชายที่ชื่อ "เซ ยอง ซุก" โค้ชเกาหลีขวัญใจชาวไทย จะส่งผลกระทบต่อผลงานและการเตรียมทีมชาติขนาดไหน

โค้ชเช หรือ เช ยอง ซุก เป็นชาวเกาหลีใต้ เกิดวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2517 มีพี่สาวหนึ่งคน โค้ชเชจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านพลศึกษา ที่ มหาวิทยาลัยคังวอน ก่อนที่จะมาเป็นโค้ชทีมชาติไทย โค้ชเชเคยเป็นนักกีฬาเทควันโด้ทีมชาติเกาหลีใต้มาก่อน และช่วงปี พ.ศ.2543-2545 โค้ชเชเคยเป็นโค้ชให้กับทีมชาติบาห์เรนมาก่อน แต่เมื่อหมดสัญญาก็มาเป็นโค้ชให้กับสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน

ช่วงแรกที่โค้ชเชเข้ามาทำงาน เจ้าตัวมีปัญหาในการสื่อสารภาษากับนักกีฬาไทย แต่ก็อาศัยฝึกภาษากับบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย จนในปัจจุบันสามารถพูดภาษาไทยได้บ้างแล้ว แม้จะไม่ค่อยชัดก็ตาม แต่ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น และความพยายามของโค้ชเช

สำหรับผลงานเด่นของโค้ชเช คือสามารถนำนักกีฬาไทยเข้าแข่งขันโอลิมปิกได้สำเร็จ โดยผลงานชิ้นเอกคือทำให้ เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ และ บุตรี เผือดผ่อง คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกที่จีน ทั้งนี้ จากผลงานในโอลิมปิก 2004 ทำให้โค้ชเชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์อีกด้วย

ขณะที่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กวางโจวเกมส์ โค้ชเชก็สร้างผลงานต่อเนื่อง ทำให้ สริตา ผ่องศรี และ ชัชวาล ขาวละออ คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ จากนั้นพาน้องเล็ก ชนาธิป ซ้อนขำ คว้าแชมป์โลก ปี 2556 และเป็นเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2008 กระทั่งผลงานล่าสุดคือการพา รุ่งระวี ขุระสะ หรือน้องก้อย ที่มีกรณีกันอยู่ในตอนนี้ คว้าเหรียญทองแดงชิงแชมป์เอเชีย 2014

โดยโค้ชเชเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมอยากเป็นโค้ชทีมชาติสุดท้ายที่เมืองไทย ที่ผ่านมาแม้จะมีหลายประเทศติดต่อเข้ามา แต่ผมไม่ชอบ ที่ผ่านมาทุ่มเทให้กับทีมชาติไทยมากจนไม่อยากเปลี่ยนใจและคงทำใจไม่ได้ถ้า ต้องมาสู้กับนักกีฬาไทย" ไม่แปลกใจเลย ที่นักกีฬาเทควันโดชาวไทยต่างก็ให้ความรักและเคารพ โค้ชเช เอามาก ๆ รวมถึงเป็นที่รักของแฟนๆ กีฬาชาวไทย เนื่องจากคาแรกเตอร์ที่สุขุม แต่ดุและจริงจังเวลาฝึกซ้อม เข้มงวดกับนักกีฬามากเป็นพิเศษ แต่มันก้เป็นผลบวกที่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้

หากลองชั่งน้ำหนักดูแล้ว โค้ชเชคือหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาเทควันโด้ไทย โดยที่คนไทยหลายๆ คนมองว่าโค้ชเชเป็นเหมือนคนไทยแท้ๆ ด้วยซ้ำ ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงแบบไหน นี่คืออีกบทเรียนสำคัญของวงการกีฬาไทย ถึงหน้าที่ บริบทการทำงาน ระเบียบวินัย ของตัวนักกีฬาและโค้ช ที่ทุกๆ คนควรย้อนกลับมามองดูตัวเองอีกครั้ง ก่อนที่จะเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

 

ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ โค้ชเช แฟนคลับ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ ย้อนผลงานประวัติศาสตร์ "โค้ชเช" คุ้มมั้ย? หากไทยเสียเขาไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook