ย้อนดูไทม์ไลน์ 12 ปี “อาร์มี ยูไนเต็ด” ใต้ปีกรัฐบาลทหาร 2 ยุค
นับตั้งแต่ พ.ศ.2549 - 2561 มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย เกิดขึ้นในเมืองไทย ทั้งในแง่ของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงกีฬาฟุตบอล ที่เปลี่ยนผ่านจากยุคกึ่งอาชีพ เข้าสู่ยุคลีกอาชีพ ซึ่งครั้งหนึ่งท่านผู้นำ ประยุทธ์ เคยนั่งแท่นเป็นประธานสโมสรลูกหนังอาชีพมาแล้ว
“อาร์มี ยูไนเต็ด” หรือ ทหารบก เดิม เป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลเก่าแก่ของไทย ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังคงส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน จนถึงปัจจุบัน
ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา “สุภาพบุรุษวงจักร” มีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายๆด้าน ภายในทีม ตั้งแต่ชื่อสโมสรที่ปรับมาเป็น อาร์มี ยูไนเต็ด การจดทะเบียนสโมสรเป็นนิติบุคคล บริหารสโมสรแบบทีมกีฬาอาชีพ
การแหวกธรรมเนียมใช้ผู้เล่นต่างชาติ โค้ชต่างชาติ เพื่อยกระดับสโมสร ขึ้นมาต่อกรกับคู่แข่งร่วมลีกอาชีพ ที่นับวันยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าในอดีต
ถึงกระนั้น ผลงานของพวกเขาช่วง 12 ปีนี้ ยังคง ขึ้นๆ ลงๆ ผกผันตามนโยบาย แนวทางการทำทีม จาก ประธานสโมสร ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามวาระการดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก โดยมีปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์บ้านเมือง เป็นอีกหนึ่งตัวแปร
พ.ศ.2549 - 2552 กลับสู่ลีกสูงสุด
พ.ศ.2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ได้แต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 24
ปีเดียวกัน ทหารบก เริ่มต้นยุคใหม่ของพวกเขา หลังต้องจมอยู่ในลีกรองมาเป็นเวลานานถึง 5 ฤดูกาล
ซีซั่นปี 2549 สุภาพบุรุษวงจักร จบอันดับ 6 ของตาราง ในเวทีไทยลีก สาเหตุหลักมาจากการที่ สโมสร เริ่มปรับตัวให้เข้ากับฟุตบอลยุคใหม่มากขึ้น
จากเดิม ทหารบก เป็นทีมที่เน้นใช้ผู้เล่นภายในเหล่าทัพเป็นหลัก รูปแบบของสโมสรยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ กองทัพบก ทำให้ขุมกำลังอาจไม่แข็งแกร่งเทียบเท่ากับ สโมสรจากภาคเอกชนในยุคนั้น ที่มีเงินลงทุน จ้างผู้เล่นฝีเท้าดีมาร่วมทีม และบริหารจัดการทีมอย่างเป็นระบบ
ในปีต่อมา “สุภาพบุรุษวงจักร” ได้ทำการปรับเปลี่ยนโลโกเดิมที่ใช้ ตรากองทัพบก มาเป็นโลโกใหม่ ให้มีความเป็น ทีมกีฬามากขึ้น โดยใส่ตัวหนังสือคำว่า Royal Thai Army Football Club ไว้ด้านบน
อีกทั้งยังเริ่ม มีการนำผู้เล่นพลเรือนไทย ฝีเท้าดี เข้ามาเล่นในสโมสรมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในฤดูกาล 2550 ทหารบก จบอันดับ 5 ของตาราง นับเป็นอันดับที่ดีสุดของสโมสร ตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันไทยลีก เลยทีเดียว
ต่อมาในปี 2551 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก้าวลงจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองภายใต้ คณะปฏิรูปฯ โดยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ในปีนั้นเอง เกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมากมายในบ้านเมือง จนมีการเปลี่ยนแปลงนายกฯถึง 3 คน ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ขณะที่ผลงาน ทหารบก ดร็อปลงไปจากซีซั่นที่แล้วมาก จบฤดูกาลด้วยอันดับ 15 ของตาราง ตกชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ก่อนจะกลับขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดได้ในปีถัดไป หลังเหตุการณ์ในบ้านเมืองเริ่มกลับมาสู่สภาวะปกติ
พ.ศ.2553 - 2556 ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไป
ในปี พ.ศ.2553 สโมสรทหารบก ได้ทำการแยกตัวออกจาก กองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก มาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ในนาม บริษัท อาร์มี ฟุตบอล จำกัด พร้อมกับเปลี่ยนชื่อสโมสร และโลโก มาเป็น “อาร์มี ยูไนเต็ด”
อาร์มี ยูไนเต็ด พลิกโฉมจากทีมกองทัพ ที่ใช้แต่นักเตะไทย ด้วยการเริ่มอิมพอร์ตผู้เล่นต่างชาติเข้ามาสู่ทีม อาทิ ดาวิด บาญีฮา, โคชิ จุน ฯ จากนั้นในปี 2554 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ในเวลานั้น) ได้เข้ามารับตำแหน่ง ประธานสโมสรต่อจาก พลตรี เฉลิมเกียรติ ทองโพธิ์นาค
ผลงานของ อาร์มี ยูไนเต็ด ในช่วง 3 ฤดูกาลที่ บิ๊กตู่ นั่งแท่นเป็นประธานสโมสร เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จากอันดับ 16 ในปี 2553 ไต่ขึ้นมาจบอันดับ 13, 10, 6 และเข้าชิงฟุตบอลถ้วยเอฟเอ คัพ 1 ครั้ง ในปี 2555
สาเหตุสำคัญมาการที่ อาร์มี ยูไนเต็ด กล้าทุ่มงบประมาณทำทีมแข่งกับทีมชั้นนำในทีม จากเดิมที่ทีมลงทุนแค่ 10 ล้านบาท มาเป็น 60 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท รวมถึงยอมแหวกธรรมเนียมจ้างโค้ชต่างชาติคนแรกอย่าง มาโน โพลกิ้ง มาทำทีมในปี 2556 และใช้งานแข้งต่างชาติแบบเต็มโควต้า แถมในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ ผู้บริหารประเทศเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างในปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ต่อจากนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลัง พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
พ.ศ.2557-2561 สองปีซ้ำรอยเดิม
จากนั้นการเมืองไทยถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกหน ประธานสโมสรอาร์มี ยูไนเต็ด อย่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศ ในปี พ.ศ.2557
เป็นเหตุให้ บิ๊กตู่ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง นายใหญ่สุภาพบุรุษวงจักร หลังทำหน้าที่ดังกล่าว มาเป็นเวลา 3 ฤดูกาล พร้อมทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่ว่า “ตอนนี้ผมก็เป็นประธานที่ปรึกษาทางใจ สู้ไม่ไหว ใช้เงินเยอะ แรงปะทะเยอะ อยากต่อขาให้นักฟุตบอลวิ่งเร็วขึ้นอีก จากนี้ขอเป็นแฟนคลับเฉยๆ”
ที่น่าประหลาดใจคือ อาร์มี ยูไนเต็ด เจออาถรรพ์ตกชั้นใน 2 ฤดูกาลต่อมา ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศจากฝั่งทหารบก เหมือนตอนปี 2551 โดยในฤดูกาล 2559 สุภาพบุรุษกงจักร กลายเป็น 1 ใน 3 สโมสรที่ต้องตกชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ภายหลังมีการประกาศยุติการแข่งขันลีกในนัดที่ 31
เหตุผลหนึ่งที่น่าจะเข้าใจได้ ถึงแม้สโมสรอาร์มี ยูไนเต็ด จะมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลชัดเจน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหล่าทัพ ตามตัวบทกฏหมาย
แต่ในทางปฏิบัติ ยังคงมีธรรมเนียมส่งมอบตำแหน่งให้ ประธานสโมสร แก่นายทหารระดับสูง โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. มาทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ของสโมสร ภายหลังจาก พลเอกประยุทธ์ ลาออก ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานสโมสรให้แก่ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร, พลเอกธีรชัย นาควานิช และปัจจุบันเป็น พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งทั้งสามท่านล้วนแล้วแต่ดำรงตำแหน่ง ประธานสโมสร ในช่วงที่เป็น ผบ.ทบ.
ทำให้ นโยบาย แนวทาง อาจเปลี่ยนไปตาม เจ้านายใหญ่ และขาดความต่อเนื่อง ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่ ผู้นำของกองทัพบก ต้องก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ในการบริหารประเทศเพิ่มขึ้น
การบริหาร อาร์มี ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ ได้ดีพร้อมๆกัน คงเป็นเรื่องที่ยากกว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติที่เป็น รัฐบาลจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศ ผลงานของสโมสรที่โลดแล่นอยู่ในไทยลีกได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังเข้าชิงฟุตบอลถ้วยได้อีก 1 หน แต่ในช่วง 4 ฤดูกาลหลังสุด อาร์มี จบอันดับ 10, อันดับ 16 (ตกชั้น) ในไทยลีก และรั้งอันดับ 9, 8 ในไทยลีก 2
อย่างไรก็ดี ในปี 2562 อาจเป็นปีที่ แฟนคลับสุภาพบุรุษวงจักร น่าจะใจชื้นได้อีกครั้ง เมื่อ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่รับบทนายใหญ่คนใหม่ของ อาร์มี ยูไนเต็ด มีเป้าหมาย ต้องการพาทีมอาร์มีฯ กลับคืนสู่ไทยลีกอีกครั้ง เริ่มจากการดึงเอา มงคล ทศไกร กลับมาค้าแข้งกับสโมสรอีกรอบ การเซ็นสัญญาคว้า โจนาธาน ซองก้า อดีตผู้เล่นที่ผ่านเวทีลาลีก้า มาเล่นกับทีม
น่าสนใจว่า ทิศทางการเมืองในปี 2562 จะเป็นไปเช่นไร? และสโมสรอาร์มี ยูไนเต็ด จะสามารถกลับมาโบยบินบนลีกสูงสุดได้อีกครั้งหรือไม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า