23Savage : วันเดอร์คิด Dota 2 วัย 16 ปี ที่ขอคุณแม่ออกจากโรงเรียนมาเป็นนักแข่งเกมอาชีพ
เส้นทางสู่แชมป์อีสปอร์ตส์ ถือว่าเป็นเป้าหมายของเหล่านักเล่นเกมรุ่นใหม่แทบทุกคน เพราะด้านที่สื่อนำเสนอมักเป็นแง่ของความสำเร็จ เงินเดือน,โบนัส และรางวัลจากแชมป์ สิ่งเหล่านี้ยิ่งเห็นก็ยิ่งหอมหวล โดยเฉพาะเกมที่เงินรางวัลมากที่สุดในโลกอย่าง Dota 2 แต่สำหรับมุมมองอีกด้าน และพ่อ-แม่ ผู้ปกครองล่ะ? ในเมื่อความรู้ คือ ทรัพย์สินที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต พวกเขาจะคิดอย่างไรเมื่อลูกชายขอเลือกเส้นทางเอง โดยเลือก “เกม” ก่อน “การศึกษา”
นี่คือเรื่องราวของ หนึ่งนรา ธีรมหานนท์ หรือ 23Savage โปรเพลเยอร์เกม Dota 2 ของไทย ที่มีอายุแค่ 16 ปี ด้วยวัยเพียงเท่านี้เขารู้ได้อย่างไรว่า "เกม" คือธงแรกและธงเดียวในชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือความหนักแน่นมากแค่ไหน ที่เขาทำให้คุณแม่ยอมสนับสนุนเส้นทางที่เขาเลือกเดิน...โดยมีข้อแม้บางอย่าง
เรียนเก่ง...เกมโหด
"ตอนเด็กๆ ทรี เป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่เคยกังวลเรื่องผลการเรียนของเขาเลยนะ เพียงแต่เขาไม่ค่อยทำการบ้าน" กินรา คุณแม่บังเกิดเกล้าของ ทรี - หนึ่งนรา กล่าวถึงแววความฉลาดของลูกชายตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตาม เหล่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษมักมีทางลัดเป็นของตัวเอง "ทรี" เองก็เช่นกัน หากไม่ว่ากันจนเกินจริง การเรียนถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับเขาหรอก เพียงแต่ว่าเขามีสิ่งอื่น ที่อยากจะทำมากกว่าเท่านั้นเอง
"ผมเป็นพวกไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบสอบมากกว่าครับ ตอน ม.1 ผมสอบเข้าได้ที่ 7 สอบเข้าตอนม.4 ผมได้ที่ 1" ทรี - หนึ่งนรา ยืนยันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
สิ่งอื่นที่ “ทรี” สนใจ ไม่ใช่สิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์อะไร การเล่นเกม คือ โลกอีกใบ ที่เด็กคนไหนก็ต้องหลงเสน่ห์ Dota ภาคแรกคือเกมยอดฮิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และ “ทรี” เล่นมาตั้งแต่ 9 ขวบ จากคำชักชวนของพี่ชายแท้ๆของเขาเอง มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เพราะ ณ เวลานั้นเป็นช่วงน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 และบ้านของครอบครัวธีรมหานนท์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย พวกเขาต้องย้ายไปอยู่ที่ชุมพร แบบชั่วคราว นั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้ "ซัดกับเกม" แบบยาวๆ
เมื่อเริ่มเดินเตาะแตะในก้าวแรก และดูทำท่าจะตั้งลำได้ ทรี ลองหันมาเล่น HoN (Hero of Newerth) ก่อนกลับมาเล่น Dota 2 เกมที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตของเขาเมื่อปี 2016 หรือราวๆ 2 ปีก่อน
ไม่มีเหตุผลว่าเขาเริ่มเล่นเก่งจากอะไรกันแน่ แต่สำหรับเกม Dota 2 นั้นมีเกณฑ์การแบ่งระดับผู้เล่นแบบให้เห็นภาพชัดเจน สิ่งนี้เรียกว่า MMR (Match Making Rating) ที่จะคอยบันทึกสถิติแพ้ชนะของผู้เล่นแต่ละคน ยิ่งชนะมาก ยิ่งฟอร์มดีมากเท่าไหร่ ค่า MMR ก็จะมากขึ้นเท่านั้น
ไม่มีการชี้วัดได้ตายตัวว่าผู้เล่นต้องมีค่า MMR เท่าไหร่ จึงจะเรียกว่า “เก่ง” ได้ แต่ในเหล่านักเล่นเกมตัวยงจะเข้าใจกันดีและมีเกณฑ์คาดการณ์กันเองว่า ค่าเฉลี่ยของผู้เล่นโดยปกติจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ส่วนระดับผู้เล่นที่เป็นนักเเข่งนั้นจะอยู่ที่ 6,000-7,000 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แบ่งกันให้เห็นชัดเจนระหว่าง การเล่นแบบเอาสนุก และการเล่นเพื่อไปแข่งขันชิงรางวัล
แน่นอนว่าแรกๆ “ทรี” ไม่ได้เก่งกาจอะไร เขาเริ่มจากการเป็นผู้เล่นในระดับทั่วไป แต่ที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์คือ เขาไต่ระดับเร็วเกินคาด ผู้เล่นบางคนเล่นกันหลายปี แต่ค่า MMR ไม่ก้าวหน้านัก ต่างกับ “ทรี” ที่ก้าวกระโดดได้ในทันที
"เริ่มมาแรกๆผมไม่ได้เก่งครับ MMR ก็ยังน้อยๆ แต่พอผมเล่นไปเดือนเดียว MMR ของผมขึ้นมาเป็น 4,800" ทรี เล่าถึงช่วงการตั้งไข่กับเกม Dota 2
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพพัฒนาการของทรี คงเป็นเหมือนนักเตะดาวรุ่งคนหนึ่งจากทีมชุดอคาเดมี่ ที่พอได้โอกาสลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกเขากลับสามารถแสดงออกถึงศักยภาพอยู่ในระดับเล่นได้สบาย ยิ่งเล่นยิ่งมั่นใจ ยิ่งเล่นยิ่งเห็นแวว ช่วงเวลาเพียงเดือนเศษๆจากการเริ่มเล่น เขาขยับเหนือมาตรฐานผู้เล่นทั่วไปอย่างง่ายดาย
ค่า MMR ของทรีพุ่งทะยานไม่หยุดจาก 4,000 เป็น 5,000 และจาก 5,000 เป็น 6,000 ทรี ขึ้นมาทาบรัศมีระดับเหล่านักแข่งอาชีพแล้ว...เมื่อเก่งแบบนี้ก็ได้เวลาที่ต้องคุยกันหน่อย
"หลังจาก MMR ขึ้นมาเป็น 6,000 ผมก็ไปโพสต์ในกลุ่ม Dota 2 เลยครับ บอกว่าผมเก็บ MMR ได้ถึง 6,000 และนะ ที่ไปโพสต์ก็เพราะคึกครับ ผมอายุ 15 ปี เเต่เล่นได้ 6,000 ก็ถือว่าสูงมาก ซึ่งมันอยู่ในระดับเดียวกับนักเเข่งเเล้ว ผมก็ดีใจมาก"
"จริงๆตอนนั้นมีทั้งคนมายินดี แล้วก็ด่าด้วยครับ พวกที่ด่าก็ด่าว่าผมขี้อวด (หัวเราะ) แล้วก็หาว่าผมซื้อไอดีมาโชว์" ทีเล่าถึงความคะนองเมื่อครั้งขยับระดับตัวเองที่ก้าวกระโดด
การโพสต์อวดครั้งนั้นทำให้ ที ได้รู้จักกับการเล่น Dota 2 แบบทีมเป็นครั้งแรก จากการชักชวนของ "พี่แมว" นพดล เผ่าพงษ์ประพันธ์ อดีตโปรเพลเยอร์ชาวไทย ที่เคยได้ไปแข่งขันรายการ The International หรือ TI ที่ส่งข้อความชักชวนมาเข้าสู่ทีม...นี่คือสิ่งที่ “ทรี” รอมาตลอด
ปราการด่านแรก
ตอนนั้น ทรี เริ่มคิดเเล้วว่าเขามีฝีมือดีพอที่จะไปแข่งกับเหล่าเกมเมอร์อาชีพได้ เพียงแต่ปราการด่านแรก คือ แม่ผู้ผ่านชีวิต และเห็นอะไรมามากกว่า ในมุมมองของผู้เป็นแม่ การสนับสนุนให้ลูกชายเล่นเกมอย่างเอาจริงเอาจังไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการขัดขวางแบบกรุบกริบขึ้น
"แม่ห้ามอย่างเดียว เพราะน้องทรีสายตาสั้น แล้วก็เล่นเกมเยอะ เราเลยรู้สึกว่าเป็นห่วงเรื่องสายตา เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ เราก็แบบว่าแอบปิดเน็ต...แม่ไม่ด่านะ แต่เเม่ปิดเน็ตเลย เอาเราเตอร์ไปซ่อน (หัวเราะ)" คุณแม่เล่าแบบขำขัน แต่แฝงด้วยความเป็นห่วง
"ผมก็ถามแบบหัวร้อนว่าปิดเน็ตทำไม? บางทีมันเป็นจุดตัดสินเกมเลย แล้วไอ้เกมนี้เนี่ย ถ้าแพ้แล้วมันต้องเล่นต่อ หากไม่สามารถชนะได้มันจะหัวเสียไปทั้งวัน คือมันต้องเอาคืนอะครับ (หัวเราะ)" น้องทรี กล่าวต่อ
การใช้อารมณ์โมโหแก้ปัญหาไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากต้องการบอกใครให้เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เช่นเดียวกันในมุมของคุณแม่เองก็ต้องหาจุดกึ่งกลางที่ทั้ง 2 คนจะสามารถเข้าใจตรงกันได้ คุณแม่กินรา จัดการแบ่งตารางเวลาการเล่นให้ชัดเจน ไม่ให้เกิน 5 ทุ่ม เพราะ “ทรี” ยังมีภารกิจต้องไปโรงเรียน และการเล่นเกม “ทรี” ต้องเล่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดตั้งในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ที่ใครๆก็สามารถเห็นได้ว่าเขาทำอะไร เรียกง่ายๆว่า เป็นการทำให้เขาเล่นภายใต้การควบคุม
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 คือวันที่คุณแม่กินรา ต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก “น้องทรี” เอ่ยปากอ้อนวอนขอให้คุณแม่พาไปแข่งขันเกมเป็นครั้งแรกใน ศึก E Warrior 2018 ซึ่งเป็นการแข่งขันจากรายการโทรทัศน์ที่เกียวกับ อีสปอร์ตส์ โดยจัดขึ้นแถวมหาวิทยาลัย รามคำแห่ง 2 บางนา
"แม่เริ่มรู้ก็เพราะว่าพาเขาไปแข่ง ในทัวร์นาเม้นต์ E Warrior เขาก็มาพูดให้ฟังว่าพาไปหน่อย ทื่ราม 2 ร้าน อินฟินิตี้ นั่นแหละแม่ก็เลยพาไป" คุณแม่กล่าว
การพาไปแข่งขันครั้งนั้นเป็นเหมือนการเปิดใจของคุณแม่ แม้ไม่มากจนถึงขั้นสนับสนุนเต็มตัว แต่เธอก็เริ่มมองโลกแห่งการเเข่งขันเกมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างแล้ว
"ตอนนั้นน้องทรีเจอกับ Alpha Blue ที่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ แล้วก็ตกรอบ นั่นแหละที่เหมือนครั้งแรกที่เริ่มสนับสนุนแบบกลายๆ เพราะว่าไม่มีใครพาไป (หัวเราะ)" คุณแม่กินราเผยอย่างอารมณ์ดี
ทีมของ “ทรี” ในการแข่งขัน E Warrior ในฐานะทีมหน้าใหม่ ส่วนตัวของเขาเล่นในฐานะ แคร์รี่ ที่เปรียบเสมือนเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์ เป็นตำแหน่งประเภทเดินหน้าฆ่าลูกเดียว นอกจากนี้ “ทรี” ยังถือเป็นผู้เล่นที่มี MMR มากที่สุดในทีมชุดเฉพาะกิจทีมนี้
ศึกนี้ทีมของ “ทรี” ตกรอบเพราะน้ำมือของ Alpha Blue แต่นี่คือการเเข่งขันครั้งแรก เเละได้ผลงานที่ไม่เลวร้ายเกินไปนัก เหนือสิ่งอื่นใด “ทรี” ได้เงินก้อนเเรกจากการแข่งขันรายการนี้ มันคือจุดเริ่มต้นเล็กๆบนเส้นทางนักเล่นเกมอาชีพในวัย 16 ปี
"ก็ได้เงินค่าเดินทางมา 5,000 เอามาหาร 5 เป็นคนละพัน ได้ค่ารถพอดี..." นี่ คือ ค่าเหนื่อยของนักเล่นเกมมือใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น
กำแพงมืออาชีพ
เมื่อแม่เริ่มเปิดใจ “ทรี” ก็เริ่มเล่นแบบเอาจริงเอาจัง และหาทีมแข่งอย่างเป็นทางการมากขึ้น จริงอยู่ที่ในเรื่องของความเก่งกาจ หากเล่นเพื่อไต่แรงค์อย่างไรเสีย ชื่อของ “23Savage” เก่งกาจไม่แพ้ใคร
อย่างไรก็ตามโลกของนักแข่งมันกว้างใหญ่นัก...เกมนี้จำเป็นต้องเล่นเป็นทีมเวิร์ค หนึ่งทีมมี 5 คน 5 ตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งซัพพอร์ทเลน (ช่วยเลน) ซัพพอร์มโรม (ตัวเดินเกม) มิดเลน (ยืนตรงกลางเจอกับคู่แข่งตัวๆเลย) ออฟเลน (ตัวทำเกม) แคร์รี่ (ที่เปรียบเสมือนกองหน้า ตัวความหวังของทีม ตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในช่วงเลทเกมหรือช่วงท้าย) สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนจะต้องเล่นให้เข้าขารู้ใจกันเหมือนเป็นเนื้อเดียว ไม่ต่างจากทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ “ทรี” สอบตกสนิทเลยทีเดียว
“ทรี” ได้รับการชักชวนเข้าไปเล่นให้กับทีม Hashtag เขาตกลงทันที เพียงแต่ว่าฝันยังไม่ทันเริ่ม แค่อาทิตย์เดียวก็โดนไล่ออกจากทีมไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็มีทีมใหม่ติดต่อมา คือ Seth Gaming
การลงทีมแข่งแบบจริงๆจังๆ คือเรื่องใหม่สำหรับเขา ณ ตอนนั้นเขาเป็นเหมือนม้าหนุ่มที่กำลังคึกที่ถูกส่งลงเเข่งขันวิ่งระยะไกล เขามีแรง มีความมุ่งมั่น มีความดุดัน ทว่าเขาขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือความเข้าใจและอ่านเกม ...สไตล์เดินหน้าฆ่ามันและ MMR ที่สูงจนโดดเด่นกลับไม่สามารถการันตีได้เลยว่า จะเป็นผู้เล่นที่ดีสำหรับการลงเเข่งขันในระดับอาชีพ
"ผมเล่นให้กับ Hashtag ได้อาทิตย์เดียวก็โดนเตะออกจากทีม จากนั้นผมก็ออกมาเล่นให้ Seth Gaming ผมก็โดนเตะออกอีก เพราะผมเล่นไม่ได้"
"มันต้องใช้ประสบการณ์อะครับ ในการเล่นทีม คือผมเล่นโซโล่อย่างเดียวอะครับ MMR ไม่ได้เป็นทุกอย่างของเกม ตอนนั้นผมไม่เคยเล่นทีมจริงๆจังเลย เล่นคนเดียวมาตลอดก็เล่นไม่คุ้น แล้วก็โดนเตะออก เพราะทำเขาตกรอบมา" เขาแจงถึงสาเหตุใหญ่ที่ไปไม่รอดในช่วงแรก
แม้จะผิดหวังแต่ก็ใช่ว่าเขาจะไม่ได้อะไรเลย เขารู้เเล้วว่าตัวเองยังขาดอะไร และสิ่งที่ควรจะทำหลังจากนี้คือการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการอ่านเกมและประเมินสถานการณ์ จังหวะไหนควรเดิน จังหวะไหนควรถอย นี่คือศาสตร์ที่มีเสน่ห์ของเกม Dota 2 เพราะเหล่าผู้เล่นจะต้องมีเกมจิตวิทยาไปพร้อมๆกับการมีฝีมือด้วย ทุกการเผชิญหน้ากับคู่แข่ง พวกเขาจะหยั่งเชิงกันจนถึงไคล์แม็กซ์ และหากผู้เล่นคนไหนเสียเหลี่ยม นั่นเท่ากับว่าโดมิโน่ตัวแรกได้ล้มลงไปแล้ว เหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือการ "เครื่องรวน" จนที่สุดก็ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปตามท้องเรื่อง
"ผมไปฝึกมาคนเดียวจนแกร่งขึ้น คือผมต้องไปดูเเข่งเยอะๆ แล้วจะเข้าใจวิธีการเล่นเป็นทีมมากขึ้น แต่ก่อนผมไม่ดู ไม่สนใจอะไรเลย เหมือนนักฟุตบอลดาวรุ่งเล่นกองหน้าสมัยเด็กๆยิงอย่างเดียว แต่พอลงมาเเข่งขันเกมจริงๆแล้วผมเล่นไม่ได้" “ทรี” พยายามอธิบายจุดบอดของตัวเองให้เห็นภาพ
ฝีมือที่เก่งขึ้นทำให้ “ทรี” ได้รับการชักชวนกลับสู่ทีม Hashtag อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้โจทย์เก่าที่เคยไล่เขาออกไม่ได้อยู่ในทีมแล้ว “ทรี” กลับมาเล่นได้ดีขึ้น เป็นทีมมากขึ้น ทว่า 1 เดือนหลังจากนั้นเขาก็ต้องออกจากทีมอีกครั้งด้วยเหตุผลของความเข้าใจผิด
การโดนเตะออกและไร้ทีมสังกัดทำให้ “ทรี” รู้ว่าวงการ อีสปอร์ตส์ นั้นมีการแข่งขันกันสูงและมีความโหดร้ายซ่อนอยู่ วันใดก็ตามที่ไม่พัฒนา ก็มีโอกาสตกจากสวรรค์ได้เช่นกัน แม้จะเป็นผู้เล่นที่เก่งกาจก็ตาม
แจ้งเกิดจริงจัง
“แม่ยอมรับแอนตี้การเล่นเกมของเขา แต่พอเห็นเเววตาลูกเรา เราก็ให้กำลังใจเขานะ ตอนโดนเตะออกจากทีม แม่บอกว่า ทรีต้องทำให้เขาเสียดายที่เตะเราซิลูก” คำพูดของผู้เป็นแม่มาในรูปของประโยคสั้นๆ ทว่ามันทำให้ลูกชายลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
ในความโชคร้าย ยังมีโชคดีเกิดขึ้นบ้าง ความเจ็บใจของเขากำลังระอุได้ที่ จนกระทั่งมีการแข่งขันรายการ ฮอนด้า อีสปอร์ตส์ แชมเปี้ยนชิพ เวียนเข้ามาพอดี ที่มันเข้าทางสุดๆ คือ รายการนี้ เป็นการแข่งขันที่ห้ามทีมที่เป็นโปรเพลเยอร์ปัจจุบันลงเเข่งขัน ผู้ที่จะลงเเข่งขันได้ต้องเป็นอดีตโปรเพลเยอร์ (ไม่มีสังกัด) และกฎเกณฑ์สำคัญในการสร้างทีมนั้น คือ 1 ทีมมีผู้เล่นระดับ (อดีต) โปรได้เพียงคนเดียวเท่านั้น นี่คือโอกาสครั้งสำคัญทรี รู้ดีว่ารายการนี้ จะสามารถทำให้เขาเเจ้งเกิดได้อีกครั้ง เขาจึงตั้งตัวเป็น “กัปตันทีม” และหวังคว้าชัยชนะให้ได้
“มันมีทางเลือกให้สองแบบคือมือใหม่ กับรวมพลเหล่าโปรเพลเยอร์ที่เคยมีสังกัด แบบผมนี่แหละครับ แต่โจทย์คือในทีมของผมห้ามมีผู้เล่นโปรเพลเยอร์คนอื่นๆ และต้องไปรวมทีมกับคนอื่นๆที่แทบไม่รู้อะไรเลย หาใครไม่รู้อีก 4 คน"
"ผมหาทีมมารวมตัวกัน เจอพี่อายุ 22 ถึง 24 ปี หาในกลุ่มเอาอย่างเดียวแล้วก็เอามาเทสต์วันละคนๆ คือตอนนั้นผมเป็นกัปตันทีมเลย สำหรับเรื่อง MMR ของทีมก็น้อยครับ แรงค์ก็ไม่สูง บางคนก็ 900 บางคนก็ไม่มีอันดับเลย ทีมผมเนี่ยมีผู้เล่นที่ไม่มีอันดับเลย 2 คน ส่วนอีกคนหนึ่งมี MMR 1,000 ส่วนตัวผมตอนนั้นเป็นอันดับที่ 100 ของเซิร์ฟเวอร์อาเซียน (มีทั้งหมด 4 เซิร์ฟเวอร์ ทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป, อเมริกา, จีน และอาเซียน)"
"ยิ่งผมโดนเตะบ่อยๆ ผมก็เล่นเก่งขึ้น ผมอยากเอาชนะครับ ผมคิดว่าสักวันจะกลับไปแข่งกับพวกเขา และพิสูจน์ตัวเองให้ได้”
ในรายการ ฮอนด้า อีสปอร์ตส์ แชมเปี้ยนชิพ ทีม BangkokDynamo.Forever.Young ของทรี เดินหน้าคว้าชัยแบบไม่หยุด พวกเขาชนะคู่แข่งแบบเกม 0 เกือบทุกแมตช์ จนกระทั่งคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ
"ตลอดทัวร์นาเมนต์ ผมโดดเด่นมาก คือ เล่นดีสุดๆเลยครับ" ทรียิ้มด้วยความภูมิใจ เพราะที่สุดเเล้วการฝึกจนกลบจุดอ่อน ทำให้เขาสามารถคว้าแชมป์แรกมาครองได้สำเร็จ
เบื้องหลังชัยชนะของทรี คือการสนับสนุนของคุณแม่อยู่เบื้องหลัง ทั้งลงทุนซื้อเก้าอี้สำหรับโปรเพลเยอร์มาให้ “ทรี” เอาไว้ใช้พัฒนาฝีมือตัวเองด้วย เพราะก่อนหน้านี้เขา ต้องนั่งบนเก้าอี้กินข้าวมาตลอด
“ตอนนั้นแม่กล้วเขาเมื่อยเลยไปซื้อเก้าอี้มาจากพันธุ์ทิพย์ ให้ลุงมาประกอบให้ พอลุงประกอบเสร็จแกก็ถ่ายรูปลงไลน์กลุ่มครอบครัวเเล้วบอกว่า "เก้าอี้เเชมป์" คุณแม่เล่าถึงช่วงของการสนับสนุนอย่างกลายๆ ซึ่งทรีก็ได้แชมป์หลังจากนั่งเก้าอี้ตัวนี้จริงๆ
"ทรี" ผงาดแล้ว เขามีชื่อเสียงที่มากกว่าเดิม หนนี้ทีม Alpha Blue ก็ติดต่อเขามาอีกครั้ง เพราะผู้เล่นโปรเพลเยอร์ในตำแหน่งแคร์รี่ มีเหตุต้องออกจากทีมไป ดังนั้นดาวรุ่งไฟแรงอย่าง ทรี จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ Alpha Blue เล็งเป้า และต้องการคว้ามาเสริมทัพ
การได้เป็นสมาชิกของ Alpha Blue ทำให้ “ทรี” ได้ลงเเข่งขันรายการ Singha E-Sport Pro League เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ตอนนี้เขาเก่งขึ้นมาอีกระดับ
ในการแข่งขันรายการดังกล่าว Alpha Blue เดินทางสู่แชมป์แบบไม่ยากเย็นนักด้วยการเอาชนะ ทีมพี่น้องสังกัดเดียวกันอย่าง Alpha Red แบบม้วนเดียวจบ 2 เกมรวด คว้าตำแหน่งแชมป์ไปได้อย่างสวยงาม พร้อมกับคว้าเงินรางวัลที่มีมูลค่า 150,000 บาท และเมื่อเอามาหารกันเเล้วทรี ได้รับค่าตอบแทนทั้งหมด 20,000 บาท นี่คือเงินจำนวนที่มากที่สุด นับตั้งแต่เขาลงเล่นในระดับโปรเพลเยอร์
เคลียร์ใจแม่ลูก
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สักเล็กน้อย การได้แชมป์ในรายการ Honda Esports Championship ทำให้ ทรี พร้อมเพื่อนร่วมทีมได้สิทธิ์เข้าไปเป็นผู้ชมการเเข่งขัน TI8 หรือ The International 2018 ที่ประเทศ แคนาดา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้เเข่งขันเอง แต่แค่เพียงได้เห็นการจัดแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก มันก็ทำให้หัวใจเขาพองโต
“ผมอยากเป็นผู้เล่นแบบฟูลไทม์เลย มันเกิดขึ้น ณ โมเมนต์นั้น” ทรี เล่าด้วยตาที่เป็นประกาย
“มันเท่ดี ตอนนักกีฬาเดินมาคนดูเฮลั่น มีเสื้อขายที่สกรีนชื่อ และใบหน้าตัวเอง มีแฟนคลับคอยเชียร์ คนดูเต็มทุกที่นั่ง เกือบๆหมื่นคน”
ยิ่งไปกว่านั้นทรี ยังได้เจอกับ อนุชา จิระวงศ์ หรือ Jabz ผู้เล่นโปรเพลเยอร์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย และตอนนี้สังกัดกับทีมระดับโลกอย่าง Fnatic ทีมที่เก่งที่สุดในเอเชีย
ตัวของ “แจ๊บ” นั้นทันทีที่ จบ ม.6 ก็เดินหน้าลุยเรื่องการเป็นโปรเพลเยอร์เต็มตัว และประสบความสำเร็จมหาศาลตามที่ข่าวจากหลายทีเคยบอกกันไป ทรี ได้คุยกับ แจ๊บ ในตอนที่นั่งเครื่องบินกลับเมืองไทย มันยิ่งเป็นการจุดไฟในตัวแบบคูณสองเข้าไปอีก
และเรื่องก็วนเข้ามาที่จุดเดิม ทรีต้องมาคุยกับแม่ ปราการด่านสำคัญที่เคยยืนกรานว่า “ไม่คำเดียว” ให้รู้เรื่อง
“ผมบอกแม่ว่ามันมีเด็กคนหนึ่งจากฟิลิปปินส์ อายุ 18 เล่นเก่งสุดๆ อยู่ทีม Fnatic ทีมเดียวกับพี่แจ็บ ทีมนั้นรวมคนเก่งหมดเลย”
“ตอนเขาอายุ 16 เขาได้ MMR ถึง 9,000 ไม่เคยมีใครทำได้เท่านี้ เก่งที่สุดที่เอเชียเคยมี ตอนนี้ผมอายุ 16 ได้ 8,500 ถ้าผมเอาเต็มที่ผมก็ว่าน่าจะได้ ผมบอกแม่ว่าคนเก่งๆถ้าเล่นดีก็ได้เงินเดือนเดือนละหนึ่งแสนบาท แต่หลักๆมันคือเงินรางวัลนี่แหละครับที่มันได้เยอะมาก เกมอื่นไม่ต้องเทียบเลย"
TI คือ ทัวร์นาเม้นต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Dota 2 เปรียบเสมือนฟุตบอลโลก โดยนำเงิน 25% จากผู้เล่นทั่วโลกที่เติมเงินในเกมมาเป็นเงินรางวัล กล่าวคือเมื่อยิ่งมีคนเล่นเล่นเยอะ มีคนซื้อของในเกมเยอะ เงินรางวัลจะยิ่งสูงขึ้น และเมื่อเงินรางวัลมากขึ้นคนเล่นก็มากขึ้นตามมา ดังนั้น ณ ตอนนี้เงินรางวัลของ Dota 2 จึงสูงขึ้นทุกปีแบบไม่มีหยุด
นี่คือช่วงเวลาที่ ทรี ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เขารู้ว่าในเวลานี้เขายังมีเวลาให้เรียนรู้อีกเยอะ เขาอยากจะมุ่งมั่นกับการเล่นเกมเพื่อเป็นผู้เล่นระดับโลกและมั่นใจว่าตัวเองต้องทำได้ เพียงแต่ว่า คุณแม่ยังพยายามโน้มน้าวให้ถึงที่สุด
"เขาคุยกับแม่ เขาบอกว่าอยากเล่นเต็มตัว แต่แม่อยากให้เขาเรียนตามสเต็ปเเบบเพื่อนๆ คุยกันเรื่องนี้ยาวอยู่"
คุณแม่กินรา ปรึกษาอาจารย์ประจำชั้นที่รู้จักตัวตนของลูกชายของเธอดีเกี่ยวกับเรื่องของการพักเรียน และหันไปเอาดีทางด้านการเล่นเกมเต็มตัว
"ทรีเขาแน่วแน่เเล้วนะตอนนี้ เหลือแต่แม่คนเดียวนี่แหละ" นี่ คือ คำตอบจากคุณครูประจำชั้น ที่ให้กับคุณแม่ของน้องทรี
เมื่อลูกชายไม่อยากเรียน แต่คุณแม่ยังอยากให้เรียนต่อ ทรี จึงยื่นข้อเสนอว่าจะขอสอบเทียบหลักสูตรของอเมริกาที่เรียกว่า G E D ไปสอบอย่างเดียว ไม่ต้องเข้าเรียน เพื่อให้ได้วุฒิจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6
วันแรกที่ต้องสอบ 2 วิชาได้แก่ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ เขาหายไปสอบ 3 ชั่วโมง ก็มีอีเมลจากเจ้าของหลักสูตรที่อเมริกาส่งมาบอกว่า "สอบผ่าน"
"คือ ผมเป็นคนที่ถ้าผมคิดจะทำอะไรผมต้องทำให้ได้” ทรี บอกถึงเหตุผลที่เขาเลือกไม่ไปโรงเรียนเลย นับตั้งแต่เปิดเทอมในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา และหากเขาสามารถสอบเทียบสำเร็จ คุณแม่ก็จะไปลาออกจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า เพื่อให้ลูกชายเดินบนเส้นทางที่ฝันเต็มตัว และตอนนี้ ทรี เหลืออีกวิชาเดียวเท่านั้น ที่ต้องผ่านให้ได้คือวิชาภาษาอังกฤษ เขาใกล้เเตะขอบสระเต็มทีแล้ว
ช่วงเวลานับตั้งแต่เลือกเส้นทางอย่างชัดเจน คุณแม่ ที่เคยต่อต้านก็กลายเป็นสนับสนุนและคอยดูอยู่ห่างๆ เรื่องเล็กๆอย่างเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย เพราะถึงแม้จะมีค่าตอบแทนสูง แต่การเล่นเกมวันละหลายชั่วโมง โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ มันคงไม่ใช่เรื่องดีแน่
“เขาคงไม่ไปเรียนเเล้วล่ะ แต่แม่อยากให้เขาเรียนมหาวิทยาลัย ยังอยากให้เขามีหลัก เพราะจริงๆ เรื่องของเกมมันก็ใช่ว่าจะยั่งยืนตลอด วันหนึ่งมันจะมีดาวรุ่งคนใหม่ ที่อาจจะอายุน้อยกว่า และเก่งกว่ามาแทนที่ทรี ก็ได้”
ที่สุดเเล้วจะเก่งกาจมาจากไหน จะยิ่งใหญ่จากสายตาคนรอบข้างเพียงใด แต่ในสายตาของผู้เป็นแม่ แชมป์เหล่านี้ยังเป็นเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเสมอ
การวางเดิมพันครั้งใหญ่ของครอบครัว ธีรมหานนท์ กับลูกชายคนสุดท้อง กำลังเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เวทีแห่งมืออาชีพจะเป็นบททดสอบว่าคุณแม่ และ ทรี - หนึ่งนรา หรือ “23 Savage” เลือกเส้นทางของตัวเองได้ถูกต้องหรือไม่…
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ