แบบไทยไทย : ผู้จัดการทีมคนนอกจำเป็นแค่ไหนสำหรับ “ทีมชาติไทย”

แบบไทยไทย : ผู้จัดการทีมคนนอกจำเป็นแค่ไหนสำหรับ “ทีมชาติไทย”

แบบไทยไทย : ผู้จัดการทีมคนนอกจำเป็นแค่ไหนสำหรับ “ทีมชาติไทย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทัพช้างศึกไม่มี “ผู้จัดการทีมคนนอก” มาเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ช่วงเวลาดังกล่าว มีเรื่องราวต่างๆมากมายเกิดขึ้น จนเป็นคำถามที่น่าคิดว่า ฤาบริบทฟุตบอลทีมชาติไทย จะเหมาะกับการมี ผจก.ทีมคนนอก มากกว่าไม่มี?

“ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” น่าจะเป็นคำนิยามที่เหมาะสมสุดสำหรับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ที่เข้ามาพลิกโฉมวงการลูกหนังไทย ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะความกล้า ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเดิมๆ ไปสู่อะไรใหม่ๆ ที่แฟนบอลไทย ชินบ้าง ไม่ชินบ้าง

หนึ่งในการเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญของ ส.บอล ชุดนี้ (จากหลายๆการเปลี่ยนแปลงที่คงไล่เรียงไม่หวัดไม่ไหว ตลอด 3 ปี) คือ การยกเลิกระบบผู้จัดการทีมชาติไทย

เพื่อต้องการให้ ทัพช้างศึก สามารถบริหารงานได้เป็นอิสระ ปราศจาการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก รวมถึงยังเป็นการเสริมสร้างให้บุคลากรรุ่นใหม่ของ สมาคมฯ ได้มาทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานงาน ดูแลทีม นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 2017

“ผู้จัดการทีมชาติ” จึงกลายเป็นเพียง ตำแหน่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาท และเป็นส่วนประกอบหนึ่งในความสำเร็จของทีมชาติไทยในอดีต

โดยเฉพาะการมีภาพจดจำว่า ผู้จัดการทีมชาติไทย เป็น “ผู้ใหญ่ใจดี คอยอัดฉีดให้นักเตะทีมชาติ” ตั้งแต่ในยุคที่ฟุตบอลลีกยังไม่เกิด จนมาถึงยุคที่นักฟุตบอลมีรายได้มหาศาลจากสโมสร จนแทบไม่ต้องรออัดฉีด เงินโบนัส จากผู้ใหญ่ในทีมชาติอีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริง ผู้จัดการทีมชาติไทย ที่มาจากคนนอก มีหน้าที่แค่จ่ายตังค์ เอาหน้า และสร้างภาพว่าเป็น ผู้ใหญ่ใจดี แค่นั้นจริงๆเหรอ?

หนึ่งปีครึ่งที่ไม่มี “ผู้จัดการทีม” ทีมชาติไทย ทุกชุด มีผลงานและการยกระดับสู่ความเป็นสากลแล้วหรือยัง? หรือท้ายที่สุดแล้ว บริบทของฟุตบอลไทย ก็ยังเหมาะที่ต้องมีคนนอกมาทำหน้าที่ตรงนี้อยู่?

000_par884657
ผู้จัดการทีมคือใคร
ในโลกของฟุตบอลอาชีพ “ผู้จัดการทีม” ถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มีบทบาทความสำคัญอย่างมากต่อสโมสรฟุตบอล ในการเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลจัดการเรื่องนอกสนาม และมีส่วนในการตัดสินใจหลายๆอย่างที่สำคัญ เช่น การเจรจา ซื้อขายผู้เล่น การประสานงาน ตลอดจนการดูแลทีมทั้งในและนอกสนาม

หากแบ่งตามหน้าที่แล้ว ผู้จัดการทีม จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ คือ ผู้จัดการทีมแบบควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเอง ผจก.ทีม ลักษณะนี้จะเป็นคนที่บริหารจัดการทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้ง การคุมทีม วางแผนการเล่น ตลอดจนการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ว่าจะเลือกซื้อใคร ขายใครออกจากทีม

ยกตัวอย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, ราฟาเอล เบนิเตซ (สมัยคุมลิเวอร์พูล) ฯ ที่นอกเหนือจากจะเป็นกุนซือในสนามแล้ว ก็ยังต้องมาดูแลเรื่องนอกสนามด้วย คิดภาพตามง่ายๆ หากใครเคยเล่นเกม Football Manager นั่นแหละหน้าที่ของ ผู้จัดการทีมแบบที่ว่ามาข้างต้น ที่นอกเหนือจากวางหมากแท็กติก จัดตัวผู้เล่นแล้ว ยังมีอำนาจในการตัดสินใจนอกสนามอีกด้วย

ส่วนผู้จัดการทีมอีกประเภท คือ ผู้จัดการทีมเรื่องนอกสนามเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นรูปแบบที่สโมสรอาชีพยุคปัจจุบัน นิยมใช้ เพราะเป็นการกระจายอำนาจในการบริหาร ไม่ให้ตกไปอยู่ที่กุนซือเพียงคนเดียว รวมถึงยังเป็นการดึงคนอื่นเข้ามาช่วยให้ เฮดโค้ช ได้มีเวลาทำหน้าที่ในสนามเต็มตัว แม้อำนาจในการหยิบจับเงินไปซื้อขายนักเตะ ของกุนซือ อาจจะถูกลดทอนลงไปตามเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แยกหน้าที่งานชัดเจนกับ โบซิดาร์ บันโดวิช เฮดโค้ชของทีม แม้แต่ โจเซ มูรินโญ อดีตนายใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารทีมเบ็ดเสร็จแบบ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จึงทำให้เขาไม่ใช่คนที่จะอนุมัติเงินไปใช้จ่ายซื้อนักเตะได้อย่างสะดวกโยธินมากนัก ทำได้แค่ยื่นเรื่อง ไปยังผู้ใหญ่ในสโมสรนำไปพิจารณาเท่านั้น

000_dv1680460
นั่นเป็นเรื่องของผู้จัดการทีมกับสโมสรฟุตบอล ที่มีความสำคัญต่อกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้จัดการทีม จะสำคัญต่อฟุตบอลในระดับทีมชาติเสมอไป?

ความแตกต่างที่ชัดเจนของสโมสรกับทีมชาติ คือ สโมสรมีหน้าที่จ่ายเงินนักฟุตบอล เลี้ยงดูนักเตะกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ทีมชาติ มีหน้าที่สรรหาคัดเลือกนักฟุตบอลตามสัญชาติของประเทศนั้นๆ ที่กระจายตัวตามสโมสรต่างๆ ตามลีกต่างๆ มาติดทีมชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของโค้ชอยู่แล้ว

“การทำทีมชาติ” จึงไม่จำเป็นต้องมาปวดหัวในเรื่องของการซื้อตัว การขายนักเตะ เพราะทีมชาติไม่ใช่เจ้าของนักฟุตบอลตามนิตินัยอยู่แล้ว

จึงไม่จำเป็นต้องมี ผู้จัดการทีม มาทำสัญญา จ่ายรายได้ให้นักเตะที่ติดทีมชาติ แต่การรับใช้ชาตินั้น เป็นเรื่องของเกียรติยศ และความภาคภูมิใจที่ นักเตะต่างยินดี ที่จะได้มาทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพื่อประเทศชาติของตน

งานหลักๆของ ผู้จัดการทีมชาติ จึงเป็นคนติดต่อ ประสานงานกับสโมสร สมาคม และดูแลเรื่องนอกสนามให้กับทีมชุดนั้นประมาณหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดการทีมชาติ จึงไม่ได้มีความจำเป็นเหมือนกับสโมสรที่ยังไงก็ต้องมีไว้ ด้วยรูปแบบการบริหารงานที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงของสโมสรกับทีมชาติ

ตำแหน่งดังกล่าว มีเพียงแค่บางประเทศเท่านั้นที่มีไว้ เช่น เยอรมัน, อิตาลี รวมถึง ไทย (ในอดีต) ขณะที่ ทีมชาติที่ไม่มีตำแหน่ง ผู้จัดการทีมชาติ ส่วนใหญ่จะมีการแต่งตั้งคนทำหน้าที่ ผู้ประสานงาน คอยดูแลในส่วนของการติดต่อพูดคุยกับสโมสรคล้ายๆกับ ผู้จัดการทีม เช่น สเปน, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ ฯ

11891469_900460030048592_3530
 ใครจะเป็นผู้จัดการทีมได้บ้าง
ถ้าเป็นเมืองนอก โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ น่าจะฉายภาพของ ผู้จัดการทีมชาติ ได้ชัดเจนที่สุด ตรงที่เจ้าตัวแยกบทบาทหน้าที่กับ โยอาคิม เลิฟ ได้อย่างชัดเจน หน้าที่ของ อดีตศูนย์หน้าตีนระเบิดรายนี้ นอกเหนือจะดูแลทีม ประสานงานกับสโมสรต่างๆ กับองค์กรฟุตบอลนานาชาติแล้ว

เขายังมีบทบาทในการดูแลภาพลักษณ์ของทีมชาติ และรับมือกับสื่อเป็นด่านแรก ในประเด็นต่างๆ จนกลายเป็น กระบอกเสียงของทีมชาติเยอรมันไปกลายๆ ส่วนในเรื่องสนามเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของ โยอาคิม เลิฟ คนเดียวเต็มๆ

ขณะที่ในเมืองไทย รูปแบบของ ผู้จัดการทีมชาติ มีอย่างยาวนานแล้ว ตามโมเดลของฟุตบอลอังกฤษ ที่หลายๆอย่างถูกถอดแบบนำมาใช้ในบ้านเรา เพียงแต่ส่วนใหญ่ ผู้จัดการทีมชาติไทย ล้วนแล้วแต่จะเป็นบุคคลนอกแวดวงลูกหนังที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง, ข้าราชการ, นักธุรกิจฯ

แต่เห็นภาพชัดและประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็คงต้องหนีไม่พ้น ทีมชาติไทย ยุคดรีมทีม ที่มี วนัสธนา สัจจกุล นักการเมืองชื่อดัง เข้ามาทำหน้าที่เป็น ผู้จัดการทีม และได้รับเครดิตมากพอสมควรจากความสำเร็จของดรีมทีมชุดนั้น

40018701_1937234933252729_395
บิ๊กหอย ได้กล่าวในงานมุทิตตาจิตของตัวเองว่า ความจริงแล้วตนเองมีหน้าที่หลักเป็นเพียงแค่คนออกเงิน ค่าใช้จ่ายในการดูแลทีม และอาศัยบารมีด้านการเมืองในการอำนวยความสะดวกให้แก่ทีม แต่หน้าที่หลักๆในการบริหารจัดการทีมเป็นของ วิรัช ชาญพาณิชย์ ที่ดูแลและอยู่กับทีม รวมถึง ชัชชัย พหลแพทย์ ที่ดูแลเรื่องการฝึกสอน การวางแผนการแข่งขันมากกว่า

จะเห็นได้ว่า ผู้จัดการทีมชาติไทย ต่อจาก วิรัช ชาญพาณิชย์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีพาวเวอร์ด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าไม่ใช่นักการเมือง ก็ต้องมาจากภาคธุรกิจ ไม่งั้นก็ข้าราชการทหาร ตำรวจระดับสูง

จนทำให้ภาพจำของ ผู้จัดการทีมชาติไทย กลายเป็นคนที่มีหน้าที่การงานดี ฐานะร่ำรวย ไม่ก็ต้องเป็น ผู้มีบารมีทางด้าน กีฬา การเมือง สังคมมากพอสมควร โดยเฉพาะทีมชาติไทยชุดใหญ่

อาทิ เกษม จริยะวัฒน์วงษ์  กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, อนุชา นาคาศัย, ขจร เจียรวนนท์, วรพจน์ ยศะทัตต์  ล้วนอยู่ในคุณสมบัติที่ว่ามาข้างต้น รวมถึงฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ที่เคยมี “มาดามมล” นฤมล ศิริวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา มาดูแลทีมก่อน จากนั้นจึงส่งไม้ต่อมายัง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมทัพชบาแก้ว ที่ยังคงทำหน้าที่จนถึง ปัจจุบัน

40586088_223024648569206_8128
“จากที่ผมได้ติดตามทำข่าวทีมชาติไทยมา ก็มีโอกาสได้เห็นผู้จัดการทีมชาติไทย ทั้งยุคเก่าและใหม่ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสไตล์ บุคลิก นิสัยที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงนโยบายของผู้บริหารสมาคมว่า ถ้าเลือกให้คนนี้เข้ามาเป็น ผู้จัดการทีม เขาจะต้องการอะไร ยกตัวอย่าง สมาคมฯ ชุดที่แล้ว ก็ชัดเจนว่า เขาเลือกคนที่สามารถเข้ามาช่วยด้านการเงิน อัดฉีด สนับสนุนทีมได้”

“ส่วนสมาคมฯ ชุดของคุณสมยศ ก็ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ ผู้จัดการทีมมาออกเงินเหมือนอดีต เพราะไม่ได้หวังเงินจากคนที่เข้ามาทำหน้าที่ แต่อยากให้มาช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่สามารถส่งเสริม สนับสนุนได้”

“อย่างตอนที่แต่งตั้ง คุณขจร (เจียรวนนท์) ก็เห็นได้ว่า สมาคมฯ ต้องการให้ทีมชาติไทยมีโภชนาการที่ดีขึ้น ซึ่งคุณขจรก็ได้ว่าจ้างเชฟฝีมือดี มาทำอาหารให้ทีมชาติไทยได้กิน ทุกมื้อที่เดินทางไปแข่งต่างถิ่น รวมถึงการยังว่าจ้างนักโภชนาการของแบงค็อก ยูไนเต็ด มาดูแลตรงนี้เพิ่มเติมด้วย เพราะอย่างที่ทราบดีว่า คุณขจร ก็เป็นผู้บริหารธุรกิจหนึ่ง ในเครือซีพี ที่มีคอนเนกชั่น ต้นทุนตรงนี้อยู่แล้ว”

สุวิชา โคตะมี ผู้สื่อข่าวฟุตบอลไทย สำนักข่าว โกล ประเทศไทย ที่ติดตามทำข่าวทีมชาติไทย ทั้งชุดเยาวชนและชุดใหญ่ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แสดงความเห็น ถึงการที่ คนนอก เข้ามาบทบาทผู้จัดการทีมทัพช้างศึกในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีอำนาจ กำลังด้านใดด้านหนึ่งที่พอจะสนับสนุนทีมชาติไทย ในช่วงเวลานั้นๆ

28827581_1975143279417470_319
ย้อนกลับไป 10-20 ปีที่แล้ว ในวันที่ฟุตบอลไทยอาชีพบ้านเรา ยังไม่ได้แข็งแรงเหมือนทุกวันนี้ รายได้ของนักกีฬาที่ได้รับจากสโมสรก็ไม่ได้มากมายนัก ตลอดจนการแข่งขัน ฟุตบอล ยังไม่สามารถรายได้ให้แก่สมาคม และนักกีฬาได้มากเท่ากับปัจจุบัน

ผู้จัดการทีมคนนอก จึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็น กระเป๋าตังค์ของทีมแต่ละชุด ที่จะมาเข้าสนับสนุนดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงเงินรางวัลอัดฉีดให้แก่ นักกีฬา ตลอดจนการประสานงานขอความร่วมมือกับสโมสร ในการเรียกนักกีฬาเข้ามาเก็บตัว ตามที่เฮดโค้ชต้องการ หรือการขอใช้สถานที่ฝึกซ้อม สนามแข่ง ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก การเดินทาง อาหารการกิน

ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องการคนที่อำนาจ เงินทุนมาช่วยดูแลอีกแรง เพื่อให้นักกีฬามีขวัญกำลังใจ และรายได้เสริมตรงนี้ด้วย เพราะลำพังสมาคมฯเองในอดีต ก็ไม่ได้มีรายรับเข้ามามากนัก ตามมูลค่าของฟุตบอลในแต่ละยุค

ต่อมา ลีกอาชีพไทย ที่ได้รับความนิยม กระแสดีขึ้น และมูลค่าสูงขึ้น ทำให้นักกีฬามีสัญญาจ้างที่ชัดเจน รายได้ที่เพิ่มมากตามไปด้วย โดยไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอัดฉีด หรือการเลี้ยงดูปูเสื่อจาก ผู้จัดการทีมชาติอีกต่อไป

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ สโมสร เป็นนายจ้างนักกีฬา ก็ไม่อยากปล่อยนักเตะออกมาเก็บตัวกับทีมชาตินานๆ เหมือนสมัยก่อน  ขณะที่ ทีมชาติ ก็ต้องการเรียกนักกีฬาไปเก็บตัวเหมือนในอดีต จึงจำเป็นต้องมีคนกลาง ที่เข้ามาประสานงานอย่าง ผู้จัดการทีม และสมาคมฯ เข้ามามีบทบาทตรงนี้ด้วยในการขอความร่วมมือ หาจุดร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายโอเค

37032752_1895016137474609_115
จนกระทั่ง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยุคใหม่ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบผู้จัดการทีม โดยเริ่มจากการวางนโยบายว่า ผู้จัดการทีมชาติต่อจากนี้ ไม่ต้องมาเป็นคนออกเงินค่าใช้จ่าย โดยสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกเงินรับผิดชอบภารกิจของทีมชาติทั้งหมด

“ผมได้เชิญผู้จัดการทีมมาดูแลทีมชาติไทย ผมไม่ได้เชิญเขามาจ่ายเงิน ไม่มีที่ผู้จัดการทีมจ่ายเงิน สมาคมฯรับผิดชอบทุกบาท เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าใครมาเป็นผู้จัดการทีมต้องมาเป็นกระเป๋าตังค์ให้ทีม สมัย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้จัดการทีมไม่ต้องควักเงินจ่ายๆใด”

“ยกเว้นจะเป็นเรื่องสินน้ำใจส่วนตัว พาไปกินข้าว ก็เป็นเรื่องที่นิสัยคนไทย หรือที่คนไทยมักจะปฏิบัติ ซึ่งสามารถสอบถามผู้จัดการทีมทุกคนได้เลย ว่ามีใครต้องควักเงินต่างๆหรือไม่ ผมขอยืนยันว่าไม่มี...สมาคมฯ จ่ายทุกบาททุกสตางค์”

ในสถานการณ์จริง
กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศยุติระบบผู้จัดการทีมชาติไทยคนนอก ทุกชุด (คงเหลือไว้เพียงฟุตบอลหญิงเท่านั้น) ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ เฮดโค้ชทีมชาติ มีอิสระและอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มตัว รวมถึงจะเป็นการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ภายในของสมาคมฯ ให้ได้มาทำหน้าที่ ผู้จัดการทีม ตรงนี้ด้วย

“หนึ่งปีที่ผ่านมา เราใช้วิธีการแบบเดิม คือการมีผู้จัดการทีมประจำทีม จากการเรียนรู้ของผม การมีผู้จัดการทีมนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าผู้จัดการทีมรู้หน้าที่ ก็จะทำหน้าที่ประสานงาน ไม่แทรกแซงหรือชี้แนะการทำงานของทีมโค้ช"

15440328_1778900509041749_847
"เพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมด ต่อไปนี้ สมาคมจะเข้ามาบริหารทีมชาติเอง โดยไม่มีผู้จัดการทีมอีกต่อไป เริ่มต้นครั้งแรกในการไปแข่งขันที่ประเทศญี่ป่น (ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก นัดเยือน) โดยที่ไม่มีผู้จัดการทีม จะมีเพียงผู้ประสานงานจากสมาคมฯ คอยประสาน อำนวยความสะดวกไปกับทีม”

“ที่ผมทำเช่นนี้ เพื่อต้องการขจัดปัญหาในการแทรกแซงการทำงาน ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มี และต้องการสร้างบุคลากรของสมาคมในการทำงาน ต่อไปทีมชาติทุกชุดจะไม่มีผู้จัดการทีม เราต้องปรับเปลี่ยนนะครับ ต่อไปจะไม่มีคนภายนอก มาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมอีกต่อไป มีเพียงผู้ประสานงานจากสมาคมฯ ในคราวนี้ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน คือ คุณพาทิศ ศุภะพงษ์” คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

แม้ภาพลักษณ์ของ ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย จะถูกนำเสนอและจดจำว่าเป็นเพียง “คนมีตังค์” ที่ลงมาจ่ายเงินเพื่อทำทีมชาติ แต่ในสถานการณ์จริงแล้ว พวกเขามีแค่เงินเพียงอย่างเดียว แค่นั้นจริงๆเหรอ?

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปตามติด ทีมชาติไทย ชุดเหรียญทองซีเกมส์ 2017 ทีมชุดสุดท้ายของฟุตบอลไทย ที่มีระบบผู้จัดการทีม รวมถึงเคยได้พูดคุยกับ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมชุดดังกล่าว หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งก็เธอได้เปิดเผยหลายๆเรื่องๆ ที่คนวงนอกอาจยังไม่รู้

เธอบอกว่า หัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ ผู้จัดการทีมชาติ ไม่ใช่การออกเงิน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือสถานการณ์ตรงนั้น

20158083_1361703023946020_833
เธอยกตัวอย่างในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องที่ เวียดนาม คราวนั้น เจ้าภาพไม่ได้จัดโรงแรมที่ดีให้กับนักกีฬาไทย ตามที่เคยมีการประชุมทีม ซึ่งสถานที่พักนั้นเป็นเพียงห้องพักระดับ 3 ดาว ที่แคบและไม่สะอาด แถมยังแบ่งให้นักกีฬาไทยพักห่างออกกันไป 2 ตึก

ด้วยความที่เธอมีตำแหน่งเป็น ผู้จัดการทีม จึงมีอำนาจ ตัดสินใจตอนนั้นด้วยตัวเอง ว่าจะพักหรือเปลี่ยนสถานที่ ก่อนที่สุดท้ายเธอจะควักทุนส่วนตัวเปลี่ยนแปลงที่พักให้นักเตะได้นอนในโรงแรมที่ดีกว่า พร้อมแจ้งไปยังฝ่ายจัดฯ จนผู้จัดของเวียดนาม ต้องออกมาแสดงความขอโทษต่อทีมชาติไทย

รวมถึงประสบการณ์ในการแข่งขันซีเกมส์ ที่ต้องไปหาเช่าสนามซ้อมเอง เนื่องจากสนามที่เจ้าภาพมาเลเซีย จัดไว้ให้ไม่ได้มาตรฐาน สุ่มเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บนักเตะ เรื่องอาหารการกินที่ต้องจัดการเอง เพราะอาหารของโรงแรมที่จัดไว้ไม่ได้โภชนาการครบถ้วน จนในซีเกมส์ครั้งนั้น นักกีฬาหลายประเภท ประสบอาการตะคริวขึ้น เพราะร่างกายขาดสารอาหาร

อีกทั้งกฎของโรงแรมที่ไม่อนุญาตให้นำอาหารข้างนอกเข้ามารับประทานทาน ก็ต้องใช้ตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอล ไปเจรจากับผู้บริหารโรงแรม จนสุดท้ายทีมฟุตบอลชุดนั้น สามารถกินอาหารได้ในเวลาที่กำหนด ภายในห้องประชุมทีม ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงแรมที่พัก คอยดูแลอย่างเข้มงวด

ด้าน สุวิชา โคตะมี ผู้สื่อข่าวจาก โกล ประเทศไทย เล่าประสบการณ์ที่ตนเองเคยได้สัมผัสในการติดตามทำข่าวทีมชาติไทยว่า “ในแง่ของการตัดสินใจบางสถานการณ์ โค้ชเองก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ทุกเรื่อง อย่างเกมคัดบอลโลกที่เจอกับ ซาอุดิอาระเบีย มีจังหวะจุดโทษปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นก็มีเวลาจำกัดว่า เราจะยื่นเรื่องประท้วงหรือไม่ แต่ด้วยความที่ คุณขจร มีประสบการณ์และอำนาจในการตัดสินใจ ก็สามารถตัดสินใจยื่นเรื่องประท้วงทันที ถ้าสมมุติในครั้งนั้น ไม่มีผู้จัดการทีมคนนอกไป ให้โค้ชดำเนินการเอง ก็อาจจะล่าช้ากว่านั้น”

“ส่วนตัวผมเข้าใจสมาคมฯ นะครับ ที่ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มาทำหน้าที่ ผู้จัดการทีม ข้อดีก็คือได้คนที่มีไฟในการทำงานสูง มีความตั้งใจดี แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนอายุ 24-25 ปี ภาวะการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พาวเวอร์ ตลอดจนความสามารถในการประสานงาน ยังไงก็เป็นรองคนนอกที่เข้ามา”

15403870_1626835707625988_553
“สมมุติผู้จัดการทีมอายุ 25 ปี คิดแบบหนึ่ง แต่นักฟุตบอลอายุ 30 ปี คิดไม่เหมือนกัน ไม่ทำตาม ผู้จัดการทีมก็เกิดอาการฝ่อแล้ว หรือในกรณีที่เกิดปัญหาบางอย่างในทีม และต้องการคนมาตัดสินใจชี้ขาด บางครั้งผู้จัดการทีมอายุน้อยๆ ก็ไม่เด็ดขาดพอที่จะตัดสินใจ ยังต้องวกกลับไปถามผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา ล่าช้าไปอีก”

“เท่าที่สัมผัส อย่างคุณขจร กับ พี่เช (วรพจน์ ยศะทัตต์) เขาก็ไม่ใช่ว่าเอาเงินมาแจกนักฟุตบอล เขาแทบจะไม่พูดเรื่องเงินเลย และไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายกับโค้ช มีแต่ให้ขวัญกำลังใจ เช่น คุณขจร ก็จะมีซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตมาให้ วันว่างหลังแข่งก็จะมีพ็อกเก็ตมันนี่เล็กๆน้อยๆ ให้นักฟุตบอลไปช็อปปิ้ง หรืออย่างพี่เช วันว่างก็พานักฟุตบอลไปซื้อสตั๊ด ซื้อรองเท้าใหม่ อันนี้ก็ไม่ถือว่าเสียหายนะ”

 จุดร่วมที่ลงตัว
ไม่ใช่เรื่องผิดหากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ ผู้จัดการทีมชาติไทย ที่จะไม่ใช่แค่คนนอกที่มาทำหน้าที่ จ่ายเงิน เป็นกระเป๋าตังค์ทีมอีกต่อไป ด้วยการผลักดันเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานอยู่ในองค์กร มาทำหน้าที่อันทรงเกียรติตรงนี้

เพียงแต่ว่าด้วยข้อจำกัดของ คนรุ่นใหม่ ทั้ง วัยวุฒิ ประสบการณ์ ภาวะการตัดสินใจ ก็อาจจะยังเป็นจุดอ่อนที่สายเลือดใหม่เหล่านี้ ต้องการเวลาในการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวชั่วโมงบิน เพื่อพัฒนาตัวเอง สู่การเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ ที่จะมาขับเคลื่อนฟุตบอลไทยในอนาคต แทนที่จะใช้แต่คนนอก แต่ขาดการพัฒนาคนใน

แม้ปัจจุบัน สมาคมฯ จะได้ทำการตั้ง "โทนี่" กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ นักธุรกิจหนุ่ม มาทำหน้าที่คล้ายกับผู้จัดการทีมชาติ (เดิม) ในตำแหน่งใหม่ ผู้อำนวยการทีมชาติไทย โดยได้เริ่มประเดิมทัวร์นาเมนต์อย่าง เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ไปแล้ว

34305369_1863548500621373_699
 “การมีผู้จัดการทีมคนนอก ในความเห็นส่วนตัว ผมว่ายังเป็นเรื่องที่จำเป็นของทีมชาติไทยอยู่นะ เพราะว่าจะเป็นคนกลางระหว่าง ทีมสตาฟฟ์โค้ช นักฟุตบอล กับ สมาคมฯ ว่าใครต้องการขาดเหลืออะไร ส่วนการสร้างบุคลากรยุคใหม่ ผมว่าจริงๆแล้ว สามารถทำควบคู่กันได้ เริ่มจากการเรียนรู้งานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีม หรือเป็นผู้จัดการในทีมชาติไทยชุดเล็กก่อน ค่อยๆไต่เต้าไปตามวัย แต่ชุดใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องใช้คนที่มีพาวเวอร์ คอนเนกชั่นอยู่”

“เพราะอย่างที่เห็นชัดว่า สมาคมฯ ชุดนี้ไม่ต้องการให้ ผู้จัดการทีมที่มาจากคนนอก มาเป็นผู้ออกเงินต่อไป จึงยกเลิกระบบนี้ ซึ่งผมมองว่า คนมีอำนาจในการเลือกคนนอกให้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ย่อมรู้ดีสุดว่า ตัวเองต้องการอะไรจาก ผู้จัดการทีมคนนั้น และผู้จัดการทีมคนที่เลือกมา จะสนับสนุนทีมในด้านไหนได้บ้างดังนั้นการพูดคุย และกำหนดขอบเขตการทำงาน แผนงาน แบ่งหน้าที่ชัดเจน ไม่มาแทรกแซงในสนาม ก็น่าจะทำให้ทีมชาติไทยได้ประโยชน์สูงสุด” สุวิชา โคตะมี ผู้สื่อข่าวจาก โกล ประเทศไทย มองว่าทั้งสองแนวทาง ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อ ทีมชาติไทย

สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมต่างๆ ยังเป็นองค์ประกอบที่หลอมให้แต่ละชาติ มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป คงไม่สามารถบอกได้ว่า โมเดลผู้จัดการทีมชาติ แบบไหนถึงจะเหมาะกับ ทีมชาติไทยที่สุด เพราะด้วยบรรยากาศ ความเป็นอยู่ของฟุตบอลแต่ละชาติ ย่อมมีความแตกต่างกัน

มันคงเป็นเรื่องยาก หากจะบอกว่า ผู้จัดการทีมชาติที่ไม่ได้มาจากคนนอก จะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับฟุตบอลไทยยุคใหม่ ที่มีการผลัดเปลี่ยนยุคสมัย

เช่นกันหากจะบอกว่า ถ้าเรากลับไปมี ผู้จัดการทีมคนนอกแบบเดิมๆ จะช่วยทำให้ผลงานดีขึ้น ก็อาจจะเป็นเรื่องเกินไปสักนิด เพราะผู้จัดการทีม ก็เป็นเพียงแค่ตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแล สนับสนุนทีมให้ดีขึ้น… แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของฟุตบอล ที่จะเนรมิตทุกอย่างในสนามได้ขนาดนั้น ตราบใดที่ฟุตบอลยังเล่นข้างละ 11 คนเท่ากัน และผู้จัดการไม่ได้ลงไปเตะในสนาม ด้วยตัวเองเป็นคนที่ 12

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook