บทเรียนแต่ละช่วงเวลาของชีวิต...วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ
ฤดูกาล 2018 เป็นปีที่น่าจดจำของ จอมทัพวัย 21 ปี จากชลบุรี เอฟซี เมื่อเสียงวิจารณ์จากแฟนบอล แปรเปลี่ยนเป็นคำชื่นชม การันตีด้วยรางวัลผู้เล่นดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีจาก FA Thailand
พรสวรรค์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ ไม่สามารถกำหนดได้ตามธรรมชาติว่า แต่ละคนจะมีติดตัวมามากแค่ไหน ต่างจาก พรแสวง ที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นมาได้ ผ่านความพยายาม ในการฝึกซ้อม ศึกษา เรียนรู้ และการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก
สำหรับนักฟุตบอลที่ไม่มีพรสวรรค์มากนัก เรื่องราวของพวกเขา มักถูกฉายให้เห็นถึง พรแสวง ในความพยายาม กว่าจะก้าวมาประสบความสำเร็จ ขณะที่อีกจำพวกอย่าง แข้งพรสวรรค์ ก็อาจถูกมองว่า ความสำเร็จที่ได้มาเป็นเรื่องที่ง่าย และไม่เคยผ่านความลำบากเท่าพวกแข้งพรแสวง
“ยิม” วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เป็นชื่อที่คุ้นหูของแฟนลูกหนังชาวไทยเป็นอย่างดี ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ในฐานะนักเตะดาวรุ่งไทยแห่งยุค ที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ และชั้นเชิงฟุตบอลที่เก่งเกินเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน สื่อมวลชนเอ่ยถึงบ่อยครั้ง
แต่ พรสวรรค์อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอเนรมิตทุกอย่างให้เขาประสบความสำเร็จ ได้อย่างทุกวันนี้ ตลอดชั่วชีวิตของการเล่นฟุตบอล เขาได้ผ่านบทเรียน ได้รับการบ่มสอนจากเกมเกมหนึ่งที่เรียกว่า “ฟุตบอล” มามากมายหลายวิชา แบบที่ความรู้จากห้องเรียนก็สอนเขาไม่ได้… และแต่ละช่วงเวลาของชีวิต นับตั้งแต่เป็นเด็กน้อย จนถึงวันนี้ เขาก็ได้บทเรียนคอยผลักดันให้เขาเติบโตขึ้นทีละก้าว เพราะกีฬา คือ ครูสอนชีวิต (Sport is a Great Teacher) ที่ดีกับเขามาเสมอ
Lesson 1
ถ้าจะไปให้สุด...ต้องจริงจัง
“ผมไม่ได้สนใจมาก่อน แค่ชอบดูบอลกับพ่อ และมีพี่ชายที่ชอบเล่นเกมฟุตบอล แค่นั้นเลย”
ผู้เล่น 22 คน กำลังวิ่งไล่ลูกฟุตบอล ในจอทีวีสี่เหลี่ยม เป็นความทรงจำแรกเกี่ยวกับกีฬาลูกหนัง ที่ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เล่าให้ Main Stand...แม้ไม่เคยคิดมาก่อนว่าอีก 10 ปีกว่าต่อมา เด็กน้อยอย่างเขา จะได้เข้าไปเป็น 1 ใน 22 คน ที่ต้องวิ่งไล่ลูกฟุตบอลในทีวี
วรชิต ซึบซับกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่วัยเยาว์ จากการนั่งดู ฟุตบอลต่างประเทศ กับคุณพ่อ และเล่นเกมฟุตบอล ผ่านเครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ กับพี่ชาย เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยประถมศึกษา เขาเริ่มฝึกหัดฟุตบอลกับอคาเดมี ภายในสนาม สมโภชย์ 700 ปีฯ จ.เชียงใหม่
“จนตอนอายุ 8 ขวบ มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่อยู่ในอคาเดมีเดียวกันที่เชียงใหม่ เขาไปคัดตัวในกรุงเทพมาก่อนหน้านี้ มาบอกว่า สัปดาห์หน้า โรงเรียนเพ็ญสมิทธิ์ จะเปิดคัดตัวนักฟุตบอลรุ่นอายุ 10 ปี ผมสนใจไหม?”
“ผมบอกพ่อว่าอยากไปลองคัดตัวดู อยากรู้ว่าฟุตบอลที่กรุงเทพแตกต่างกับที่เชียงใหม่มากแค่ไหน แต่ว่าตอนนั้นครอบครัว ไม่ได้มีเงินทองมากเท่าไหร่ การเดินทางไปกรุงเทพฯ ลำบากพอสมควร ต้องไปรถทัวร์ สุดท้ายครอบครัวก็พามาคัดที่ เพ็ญสมิทธิ์ ผมต้องมาคัดแข่งกับเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี เกือบทุกคน แต่วันนั้นผมว่า ผมเล่นได้ดี โรงเรียนก็รับให้โควต้ามาเรียนที่นี่”
“ตอนแรกก็ลังเลใจว่า จะเอาทุนดีไหม? เพราะดูแล้วค่าใช้จ่ายเยอะแน่ หากย้ายมาเรียนกรุงเทพฯ ผมไม่อยากให้พ่อแม่เสียเงินเยอะ แต่ทางโรงเรียนเขายืนยัน จะช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ให้ทุนเรียน ส่วนพ่อกับแม่เขาก็เชื่อมั่นในตัวผม ยอมลาออกจากงานที่เชียงใหม่ มาหางานใหม่ที่กรุงเทพ เพื่อจะได้อยู่กับผม”
“ตอนนั้นแหละที่ผมมีความคิดว่าต้องเอาจริงเอาจังกับฟุตบอล พ่อแม่อุตส่าห์ยอมออกจากงาน ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ ผมได้เรียนรู้และเจออะไรหลายอย่างเกี่ยวกับ ฟุตบอล ที่ไม่เคยเห็นในเชียงใหม่ จากที่เคยคิดว่าเราเก่งกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน ก็ได้มาเห็นว่า มีคนที่เก่งกว่าเยอะมาก”
แม้ยังเด็กนัก แต่วรชิต พอจะเรียนรู้ได้ว่า หากจะทำอะไรให้สุด หากอยากจะพุ่งหาเป้าหมายที่ต้องการแล้ว ย่อมต้องจริงจัง และพร้อมทุ่มเทเสียสละอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ นาทีนั้นเขาคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด คุณพ่อ-แม่ ยอมทิ้งบางอย่าง เพื่ออนาคตของเขา เขาเองก็ต้องไปให้สุดทางเหมือนกัน ต่อให้มีคนที่เก่งกว่าเขาขวางหน้าอยู่ก็ตาม…
“ผมต้องการเก่งตามคนที่เก่งกว่าให้ทัน เราใช้การสังเกตและทำตาม คอยดูว่ามีอะไรที่เราทำไม่ได้ และคนอื่นทำได้ เขาทำอย่างไร ทำไมเขาถึงเก่งกว่าเรา แล้วเอามาฝึก มาปรับใช้ในสนาม”
วรชิต ใช้เวลาสักพัก เขาเริ่มตามคนอื่นทัน แต่เพ็ญสมิทธิ์ ยุบทีมลง เขาต้องหาที่ฝึกฟุตบอลใหม่
Lesson 2
อดทนต่ออุปสรรคเพื่อเป้าหมาย
ชลบุรี เอฟซี เป็นสโมสรแรกๆของเมืองไทย ที่มีโครงสร้างระบบอคาเดมีที่ชัดเจน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่มีสโมสรไหน ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เท่าพวกเขาอีกแล้ว และนั่น คือ สถานที่ที่เป็นเป้าหมายต่อไป
“จริงๆ ก่อนออกจาก เพ็ญสมิทธิ์ ป๋าลอย (จีรศักดิ์ เจริญจันทร์) เคยบอกผมว่าให้ไปอยู่ที่ ชลบุรี เขารับประกันให้ ไม่ต้องไปคัด แต่ผมอยากลองคัดตัวดู การคัดตอนนั้นมีทั้งหมด 5 รอบ แบ่งเด็กออกเป็นชุดๆ โค้ชจะเอาเข้ารอบต่อไปแค่ 1-2 คน วันนั้นผมว่ารอบแรกผมเล่นได้ดีกว่าคนที่ผ่านเข้ารอบอีกนะ แต่เขาไม่เลือกผม ผมออกมาร้องไห้กับโค้ช อยากเข้าไปคัดรอบสองต่อ แต่เขาบอกให้รอก่อน”
“พอรอบสาม เขาเรียกผมไปคัดอีกที คราวนี้ผมยอมรับว่าตัวเองทำได้ไม่ดี ไม่ได้ผ่านเข้ารอบต่อไป แต่โค้ชเขาก็บอกไปให้ไปรายงานตัว เพราะเขาไปคุยลุงตุ๋ย (ธนศักดิ์ สุรประเสริฐ) ที่ดูแลอคาเดมีชลบุรี เขาขอโอกาสให้ผมได้พิสูจน์ตัวเอง 1 เทอม ถ้าไม่ดี ไม่ได้เรื่อง ให้เอาผมจากอคาเดมีได้เลย”
“จะพูดว่า ผมเข้ามาแบบเด็กเส้นก็ได้ ผมก็ใช้มันเป็นแรงผลักดัน ในเมื่อเราไม่ได้เข้ามา เหมือนเด็กคนอื่นๆ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดในช่วงเวลา 1 เทอม เพื่อให้คนที่นี่ ยอมรับผมให้ได้”
วรชิต ในวัย 11 ขวบ ช่วงก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เก็บกระเป๋าจากเมืองหลวง เข้ามาใช้ชีวิตเป็นเด็กหอประจำ อยู่ภายในอคาเดมี ฉลามชล สถาบันลูกหนังที่หล่อหลอมเขาให้เป็น นักฟุตบอลอาชีพโดยแท้จริง ผ่านแนวคิดที่สโมสรปลูกฝัง และรูปแบบการฝึกซ้อมที่ว่ากันว่าดีที่สุดในประเทศ ณ เวลานั้น แต่อย่างแรกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองว่า “ดีพอจริงๆ” เสียก่อน ซึ่งมันไม่ง่ายเลยต่อสภาพแวดล้อมในชีวิตใหม่
“ตอนมาอยู่ชลบุรีใหม่ๆ ก็ลำบากเหมือนกัน บางครั้งผมก็ไม่ทันเพื่อน เบียดสู้เขาไม่ได้ เล่นไม่ได้อย่างที่โค้ชสั่ง ผมต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น”
“เพราะว่าที่ชลบุรี เขาจะเน้นให้เราคิดว่า ต้องเล่นฟุตบอลเพื่อเป็นอาชีพ คนอื่นเขาอาจจะเล่นเพื่อออกกำลังกาย เล่นเพื่อความสนุก แต่เราต้องเล่นเพื่อเป็นนักเตะอาชีพ เป็นสิ่งที่เขาปลูกฝังให้เราตลอด ทำให้ความคิด ผมเริ่มเปลี่ยนไปเป็นมืออาชีพมากขึ้น”
“อย่างเรื่องการฝึกซ้อม เราต้องอดทน ตั้งใจตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะพวกรายละเอียดต่างๆ สำคัญมากสำหรับพวกนักบอลเยาวชน แต่ละช่วงอายุ การฝึกซ้อมจะไม่เหมือนกัน อายุ 12 ฝึกแบบหนึ่ง อายุ 14 ปี ฝึกอีกแบบ ที่ต่อเนื่องกัน”
“ถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐาน พออายุมากขึ้น ได้เจอรายละเอียดการฝึกที่ยากขึ้น เราอาจทำได้ไม่ดี เมื่อถึงอายุสัก 18-19 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอล ซึ่งผมตั้งเป้ากับตัวเองตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี แล้ว ก่อนอายุ 18 ปี ผมต้องมีชื่อติดทีมชุดใหญ่ชลบุรี ให้ได้”
2 สิงหาคม 2014 สนามชลบุรี สเตเดียม ความฝันของ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เดินทางมาถึงเร็วกว่าคิดไว้มาก มาซาฮิโร วาดะ เซนเช ของชลบุรี เอฟซี จัดการส่ง มิดฟิลด์ดาวรุ่งวัย 16 ปี 11 เดือน 9 วัน ลงสนามเป็นตัวสำรองในช่วง 10 นาที เกมที่ชนะ สมุทรสงคราม 4-0 กลายเป็นสถิติของสโมสร
จนมาโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อจารึกชื่อเป็น ผู้เล่นอายุน้อยสุดที่ทำประตูในไทยลีกได้ (ในเวลานั้น) ด้วยวัย 17 ปี 340 วัน ในเกมที่เอาชนะ ราชบุรีฯ 2-1 ฤดูกาลต่อมา ถึงเวลานั้น “วรชิต” กลายเป็นนักเตะดาวรุ่งที่มีชื่อเสียง และถูกพูดถึงอย่างมาก รวมถึงถูกตั้งความหวังไว้สูงว่า เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นความหวังของทีมชาติไทยในอนาคต
บทเรียนเรื่องความอดทน เพื่อเป้าหมายที่วางไว้ ดูเหมือนเขาจะทำมันได้ดีทีเดียว…
Lesson 3
ล้มแล้ว...ต้องลุก
น่าเสียดายที่ในฤดูกาล 2016 วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ แทบไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามมากนัก หลายคนเริ่มสงสัยคลางแคลงใจว่า “เขาพยายามมากพอหรือเปล่า? ถึงไม่ได้รับเลือกให้เป็น ผู้เล่น 11 ตัวจริง” จากเสียงชื่นชม เปลี่ยนเป็นคำวิจารณ์ต่างๆนานา ที่มีต่อเด็กวัยแค่ 18 ปี ซึ่งเพิ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย
“ช่วงนั้นผมเครียดและรู้สึกแย่ที่สุด เพราะว่าผมไม่ค่อยได้ลงสนาม เทียบกับเลกสอง ปี 2015 ผมเล่นเลกนั้นเยอะกว่าเล่นฤดูกาล 2016 ทั้งปีอีก จนถึงตอนนี้ ผมก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวผม เพียงแต่ว่า เราทำได้ไม่เหมือนเดิม”
“ถ้าเป็นเรื่องดูแลตัวเอง ผมไม่มีปัญหาเลยนะ เรื่องซ้อมก็ไม่มีปัญหา แต่น่าจะเป็นสภาพจิตใจที่ช่วงนั้น พอไม่ได้ลงสนามหลายนัด ความมั่นใจก็หายไป บางครั้งเรากดดันตัวเองมากไปหน่อย อยากทำให้ดีมากเกินไป แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า บางครั้งถ้าเราไม่กดดันตัวเอง ปล่อยไปตามจังหวะ ตามธรรมชาติ ผลงานอาจจะดีกว่าเรามาคิดมากกับมัน”
สำหรับเด็กอายุ 18 ปี การต้องรับมือกับชื่อเสียง ความคาดหวัง และแรงกดดัน อาจเป็นเรื่องหนักหนาเกินไม่น้อย แต่เพราะฟุตบอลเป็นสิ่งที่เขาเลือก วรชิต เผยว่า เขาจำเป็นต้องยอมรับให้ได้ ทั้ง ดอกไม้ในวันที่สำเร็จ และก้อนอิฐในวันที่หลายๆอย่างไม่เป็นดั่งใจ
“ผมไม่ได้ซีเรียส ไม่ได้สนใจเลยว่า ใครจะด่าหรือชื่นชม ไม่ได้อยากเอามันมาเป็นตัวตั้ง ผมปล่อยเลย มันเป็นสิทธิ์ของเขา ที่เขาจะพูดถึงเราในแง่ไหน เรามีหน้าที่เล่นฟุตบอล ก็ทำหน้าที่ของเราไป พยายามปรับตัวเข้ากับทีม เข้ากับระบบของโค้ชให้ได้มากที่สุด”
“ปี 2017 ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง เริ่มโอเคกับพี่ๆภายในทีม ด้วยความที่เราซ้อมด้วยกันทุกวัน ก็เข้าใจแล้วว่า เขาต้องการอะไร เล่นแบบไหน ได้คุยกันมากขึ้น เวลาเล่นก็ไม่เกรงใจแบบเมื่อก่อน เพราะว่าสนิทกันมากขึ้น ผมกล้าพูด กล้าสั่งเขา”
“สังเกตดูว่าพี่ที่เขาเก่งๆ เขาทำอย่างไร อย่างตอนนั้นมี พี่ดุล (อดุล หละโสะ) พี่ปก (ปกเกล้า อนันต์) ผมก็ศึกษาจากเขา จริงๆ ผมก็รับรู้อยู่บ้างว่า แฟนบอลเขาคาดหวังในตัวเรา ตรงนี้ก็รู้สึกกดดันนิดหน่อย แต่ไม่ได้มากมายอะไร ผมคิดแค่ว่า ถ้าลงไปในสนาม ต้องช่วยทีมให้ได้มากที่สุด เล่นให้มีประโยชน์กับทีมที่สุด”
Lesson 4
ไม่ฝันไกลเกินตัว และมันไม่ได้ไปถึงในวันเดียว…
เข้าสู่ฤดูกาล 2018 สโมสรชลบุรี เอฟซี มอบเสื้อหมายเลข 8 ของ เทิดศักดิ์ ใจมั่น ให้กับ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ สวมใส่ จากเดิมที่ใช้หมายเลข 32 และ 24 พร้อมความคาดหวังที่ต้องการให้ เขา ขยับขึ้นมาเป็น ผู้เล่นกำลังหลักของสโมสร ในยุคที่ทีมเปลี่ยนผ่านสู่นักเตะรุ่นใหม่ เขาเริ่มมีความมั่นใจ และเริ่มกลับมามีความฝัน แต่มันต้องไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินตัว จนอาจทำให้เขาเสียความมั่นใจไปอีกครั้ง
“ก่อนเปิดฤดูกาล ผมแจ้งสโมสรว่าขอเปลี่ยนจากเบอร์ 24 มาเป็นเบอร์ 22 เพราะผมชอบเลขนี้ แต่สโมสรเขาอยากให้ผมใส่เบอร์ 8 ซึ่งเป็นเบอร์ที่ผมใส่มาตั้งแต่เด็ก จริงๆ ผมก็อยากใส่เบอร์ 8 นะ แต่คิดว่าตอนนั้นยังไม่ถึงเวลา อยากให้ตัวเองมีผลงานที่โอเคกว่านี้”
“แต่ผู้ใหญ่เขายืนยันว่า ยังไงก็จะให้ผมใส่เบอร์ 8 ทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจ มั่นใจตั้งแต่ลีกยังไม่เปิดฤดูกาล ผมว่าเรื่องสภาพจิตใจก็สำคัญไม่แพ้ ฝีเท้าและการดูแลสภาพร่างกายนะ เพราะว่าเพื่อนผมบางคน โดนด่ามากๆ เป๋ไปเลยก็มี ผมก็โดนด่ามาไม่น้อย แต่ผมพยายามปรับปรุง แก้ไข จุดที่ยังทำได้ไม่ดี และพยายามตัดสินใจให้ดีขึ้น”
“อย่างตำแหน่งที่ผมเล่น (กองกลางตัวรุก) ต้องคิดก่อน มองก่อน อ่านสถานการณ์ และตัดสินใจให้ดีว่า จังหวะนี้ เราจะเลี้ยง จะส่ง หรือยิง ไม่งั้นถ้าเราตัดสินใจไม่ดี ลังเล จังหวะนั้นเราอาจจะพลาด โดนโต้กลับแล้วเสียประตูได้เลย มันก็เหมือนกับการใช้ชีวิต ที่ต้องคิดก่อนทำ และตัดสินใจให้ดี”
“ผมเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองเรื่อยๆ ว่าอายุเท่าไหร่ ควรทำอะไรบ้าง แต่ไม่ได้ฝันอะไรที่ไกลเกินตัว บางอย่างผมทำสำเร็จ บางอย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็แค่ต้องยอมรับ และลดเป้าหมายลงมาให้เป็นไปได้”
และด้วยทัศนคติแบบนี้ ทำให้วรชิต เรียนรู้ที่จะก้าวทีละก้าว
ไม่มีใครรู้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ต้องใช้เวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี กว่าจะพิสูจน์คุณค่า เพื่อให้ทุกคนยอมรับในความสามารถ และความพยายามที่มี...
แต่ผลงาน 12 ประตู 5 แอสซิสต์ เป็นตัวเลขที่ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ตอบแทนความไว้วางใจที่สโมสรมีให้ในฤดูกาลที่ผ่านมา เหนือสิ่งอื่นใด ดาวรุ่งวัย 21 ปี ลบคำดูถูก เสียงวิจารณ์ ด้วยสองเท้า และหัวใจหนึ่งดวง ที่ฝ่าฟันทุกบททดสอบ จนกลับมาได้รับการยอมรับในความสามารถอีกครั้ง
วรชิต ในวัย 21 ปี กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เด็กดาวรุ่งอย่างในวันวาน ยังมีบทเรียนอีกมากมาย ที่เขาต้องเจอในภายภาคหน้า และไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางของเขา จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แน่นอนว่ารางวัล “นักฟุตบอลดาวรุ่งแห่งปี 2018” จากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไม่ใช่จุดสูงสุดในอาชีพของเขา...
“อย่างตอนนี้ ผมอายุ 21 ปี ผมก็หวัง อยากทำผลงานกับชลบุรีให้ดี อยากเป็นแชมป์กับสโมสรสักรายการ และตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องติดทีมชาติชุดใหญ่ก่อนอายุ 25 ปีให้ได้ ถ้าเกินจากนี้ คงลำบากแล้ว เพราะอาจโดนรุ่นน้องแซง โอกาสคงเริ่มน้อยลง”
“คนเรามีความฝันไม่ใช่เรื่องเสียหายนะ แต่บางความฝัน อาจจะต้องใช้เวลา และความพยายาม บางอย่าง มันไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน อาจจะช้าหน่อย แต่เชื่อว่ามันก็ยังเป็นไปได้ ถ้าเรายังพยายามอยู่ ยังสู้ และตั้งใจทำจริงๆ”
จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่นตอนต้น และวัยรุ่นตอนปลาย วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เรียนรู้มาไม่น้อย แต่ยังมีบทเรียนอีกมากมาย รอเขาอยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะในวันที่เขากลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เขารับรู้ได้เสมอ คือ กีฬาเป็นครูชีวิตที่ดีของเขาเสมอมา - Sport is a Great Teacher คำๆนี้ ไม่ได้เกินเลยแม้แต่น้อยเลย และนี่ คือ ส่ิงที่ Milo สนับสนุนมาตลอด