อีกด้านของโคชิเอ็งครั้งที่ 100 : "ฮาคุซัง" โรงเรียนที่เปลี่ยนทั้งเมืองด้วยเบสบอล

อีกด้านของโคชิเอ็งครั้งที่ 100 : "ฮาคุซัง" โรงเรียนที่เปลี่ยนทั้งเมืองด้วยเบสบอล

อีกด้านของโคชิเอ็งครั้งที่ 100 : "ฮาคุซัง" โรงเรียนที่เปลี่ยนทั้งเมืองด้วยเบสบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโคชิเอ็งหน้าร้อนที่ผ่านมา มีโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าใกล้กับคำว่าแชมป์แม้แต่น้อย แต่พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ทั้งเมือง

หลายเดือนที่ผ่านมาชื่อของ “โคชิเอ็ง” หรือเบสบอลชิงแชมป์มัธยมปลายแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้รับความสนใจในหมู่แฟนกีฬาชาวไทย หลังโรงเรียนเกษตรคานาอาชิ ม้านอกสายตาพลิกล็อคหักด่านหลายทีมดังเข้าชิงชนะเลิศได้อย่างเหลือเชื่อ

แม้จะพ่ายในนัดชิงชนะเลิศ แต่พวกเขาก็เข้าไปอยู่ในหัวใจคนดู จากการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้จนถึงวินาทีสุดท้าย จนทำให้เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ทั่วทั้งญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งของโคชิเอ็งครั้งที่ 100 มีทีมโรงเรียนที่พ่ายให้กับคู่แข่งขาดลอย 10-0 ตั้งแต่นัดแรก ทว่ากลับสามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดได้ทั้งเมือง และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

โรงเรียนของคนสอบไม่ติด
ลึกเข้าไปทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดมิเอะ ท่ามกลางภูมิประเทศภูเขาสูงต่ำสลับกับท้องนามีโรงเรียนที่ชื่อว่า มัธยมปลายฮาคุซัง ตั้งอยู่

โรงเรียนฮาคุซัง เป็นโรงเรียนรัฐ ตั้งอยู่ในเมืองฮาคุซัง ที่มีประชากรค่อนข้างน้อยแค่ราว 11,000 คน ครั้งหนึ่งเมืองแห่งนี้เคยมีผู้คนพลุกพล่าน แถวโรงเรียนเคยมีโรงหนังและร้านรวงเต็มไปหมด แต่ปัจจุบันเห็นคนแทบจะนับหัวได้ เป็นเมืองที่ดูมืดๆทึมๆไม่น่าเข้ามา

เช่นเดียวกับโรงเรียนฮาคุซัง พวกเขาเป็นโรงเรียนที่ไม่มีใครอยากมาเรียนต่อที่นี่เท่าไรนัก คนท้องถิ่นเล่าว่าเมื่อ 10 ปีก่อน เด็กนักเรียนที่นี่หลายคนมีความประพฤติที่น่าเอือมระอา ทั้งทิ้งขยะก็ไม่เป็นที่ หรือแอบหนีไปหลบสูบบุหรี่ตามทุ่งนา

“ช่วง 10-15 ปีก่อน เด็กๆพากันใส่เครื่องแบบหลวมโพรก ขยะก็ทิ้งไม่เป็นทาง พากันแอบไปสูบบุหรี่กันตามทุ่งนา ทุกเช้าครูที่หน้าประตูโรงเรียนต้องคอยพูดกับเด็กนักเรียนว่า มาให้มันเร็วๆหน่อย อย่ามาสาย!” โคยูกิ ฮาตะ เจ้าของร้านซักรีดที่อยู่ใกล้ๆประตูโรงเรียนกล่าว

การไม่ใช่โรงเรียนดัง แถมยังมีชื่อเสียงที่ไม่ดีสำหรับคนในท้องถิ่น ทำให้คนที่ต้องเรียนต่อในโรงเรียนนี้หลายคนรู้สึกอับอายที่ต้องสวมเครื่องแบบโรงเรียน เคยมีเสียงลือว่าบางคนทนความอับอายไม่ไหวถึงขั้นลาออกไปก็มี  

49335113_10157014930812445_
สึจิ ฮิโรกิ กัปตันทีมชมรมเบสบอลโรงเรียนฮาคุซัง ยอมรับว่าที่เขาต้องมาเรียนที่โรงเรียนนี้ เนื่องจากสอบตกจากโรงเรียนที่เลือกไว้อันดับ 1 (ตามระบบการศึกษาญี่ปุ่น นักเรียนที่จบชั้น ม.ต้น จำเป็นต้องสอบเรียนต่อในระดับชั้นม.ปลาย) เช่นเดียวกับพวกปี 3 คนอื่นของชมรมเบสบอล ก็ล้วนเป็นเหล่านักเรียนที่สอบไม่ผ่านจากโรงเรียนที่หวังไว้

“สมัยตอนอยู่ม.ต้น ไม่เคยได้ยินข่าวลือดีๆจากโรงเรียนฮาคุซังเลย แต่เพราะตอนนั้นสอบตกจากโรงเรียนพานิชย์ จึงต้องมาอยู่โรงเรียนนี้” กัปตันทีมวัย 18 ปี

ไม่ใช่แค่นักเรียน แม้แต่โค้ชก็ต้องพบกับความผิดหวังหลังถูกย้ายมาที่โรงเรียนนี้

49814842_10157014931427445_45
โค้ชผู้สิ้นหวัง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 ทาคุจิ ฮิงาชิ วัย 36 ปี (ในตอนนั้น) ต้องพบกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อเขาถูกย้ายมาเป็นโค้ชเบสบอลให้กับโรงเรียนฮาคุซัง ตามนโยบายหมุนเวียนทรัพยากรบุคคลในสถานศึกษาของรัฐบาลของระบบการศึกษาญี่ปุ่น  เพื่อไม่ให้โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง เป็นศูนย์รวมของบุคลากรเก่งๆ เพียงแค่โรงเรียนเดียว

ทันทีที่เหยียบที่นี่เขาแทบช็อค เพราะไม่มีสิ่งใดใกล้เคียงกับที่เคยเจอมา สนามเบสบอลถูกปล่อยทิ้งร้างจนวัชพืชขึ้นปกคลุมพื้นที่ เครื่องยิงลูกเบสบอลที่พังจนใช้งานไม่ได้ ส่วนสมาชิกชมรมก็มีเพียงแค่ 5 คน ยังรวมทีมไปแข่งไม่ได้เลยด้วยซ้ำ (เบสบอลใช้ผู้เล่นอย่างน้อย 9 คน)

“แถวเอาท์ฟิลด์มีวัชพืชสูงเกือบเท่ากับหัวเข่า ตอนแรกก็ต้องมาช่วยกันถอนหญ้าทิ้งก่อน วันที่ฝนตกก็เอารถไถมาไถดิน แทนคราดเหล็กเกลี่ยดิน อย่าว่าแต่เริ่มจากศูนย์ เริ่มต้นจากติดลบด้วยซ้ำ เครื่องยิงลูกบอลก็เสียใช้งานไม่ได้ โค้ชต้องมาเป็นคนขว้างให้ตอนฝึกซ้อม” โค้ชฮิงาชิย้อนความหลัง

“ความจริงคือนักเรียนที่อยากมาเรียนโรงเรียนนี้มีจำนวนน้อยมาก เด็กที่เล่นเบสบอลก็แทบจะนับหัวได้ สถานะของทีมจึงต้องถูกพักไว้ก่อน ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนที่นี่ก็เป็นเด็กที่ถูกคนพูดใส่ว่า ‘อะไรของพวกมึงกันวะ’ ทั้งนั้น”

49671195_10157014930677445_91
อันที่จริง โค้ชฮิงาชิ ก็มีฝีไม้ลายมือพอสมควร เขาเคยพาโรงเรียนเก่าทะลุเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายของจังหวัดมาแล้ว แต่ที่ฮาคุซัง อย่าว่าแต่แข่งรอบคัดเลือก เอาแค่หาสมาชิกให้ครบทีมได้ก่อน ส่วนโคชิเอ็ง ลืมไปได้เลย  

“ผมเคยไปปรึกษาเรื่องการตั้งชมรมขึ้นมาใหม่กับอาจารย์ชมรมเบสบอลโรงเรียนอื่น 99 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ‘ล้มเลิกความคิดนี้ไปเถอะ’ ผมรู้สึกท้อมากเลยตอนนั้น”  

เริ่มต้นจากตัวเอง
เมื่อท้อแท้ไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ฮิงาชิ จึงเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนแห่งนี้ แต่จะทำอย่างไร ลำพังตัวเขาคนเดียวก็ไม่ได้มีพาวเวอร์เท่าไร ในปีที่ 2 ที่ฮาคุซัง เขาจึงเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ด้วยการผลักดันให้เด็กเข้ากิจกรรมชมรมก่อน

ตามระบบการศึกษาญี่ปุ่น นักเรียนจะถูกบังคับเข้าร่วมกิจกรรมชมรมจนถึงระดับชั้นมัธยมต้น และให้สิทธิ์ในการเลือกว่าจะเข้าชมรมหรือไม่ก็ได้ในระดับชั้นมัธยมปลาย โค้ชฮิงาชิทราบดีในข้อนี้จึงพยายามโน้มน้าวให้เด็กเข้าชมรมมากขึ้น  

โค้ชฮิงาชิ เน้นย้ำว่าไม่จำเป็นต้องมาเข้าชมรมเบสบอลของเขา แต่ขอให้เข้าชมรมอะไรก็ได้ซักชมรม และการได้เป็นครูประจำชั้นนักเรียนปี 1 ทำให้เขามีโอกาสที่จะอธิบายข้อดีจากกิจกรรมเหล่านี้  

2276bef7f7115d89c22d6ce98cc38
“อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะได้สิ่งดีๆอะไรซักอย่างจากการเข้าชมรม” เขากล่าว

ความพยายามของโค้ชฮิงาชิ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่ออัตราการเข้าชมรมของนักเรียนโรงเรียนฮาคุซังเพิ่มขึ้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อจำนวนคนเข้าชมรมเพิ่มขึ้น กิจกรรมในโรงเรียนก็มีมากขึ้น ความเงียบเหงา จึงถูกแทนที่ด้วยความมีชีวิตชีวาของนักเรียนและครูที่ทำกิจกรรมชมรมหลังเลิกเรียน

“เมื่อก่อนแทบไม่ได้ยินเสียงอะไรมาจากทางฝั่งโรงเรียนฮาคุซัง แต่ตอนนี้แม้แต่ฤดูหนาว ก็ยังได้ยินเสียงดังแก๊งจากการหวดลูกเบสบอล หลังจากโค้ชฮิงาชิเข้ามา นักเรียนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน” ทาดาฮิโระ อิวาซากิ ประธานสมาคมสหกรณ์การเกษตรที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเบสบอลของโรงเรียนกล่าว

017-1-600x336
ตามปกติของโรงเรียนฮาคุซัง นักเรียนชั้นปีที่ 3 จำเป็นต้องฝึกงานกับบริษัทในท้องถิ่น เทสึฮิโตะ ฟุคุยามะ เจ้าของอู่ซ่อมรถฟุคุยามะ ที่เปิดรับนักเรียนฝึกงานมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ก็สังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนนับตั้งแต่โค้ชฮิงาชิเข้ามาเช่นกัน

“งานที่ให้เด็กจากโรงเรียนทำก็เป็นงานเบาๆอย่างพวกล้างรถ หรือเปลี่ยนยางเป็นหลัก แต่พูดตรงๆว่าก่อนหน้านี้มีแต่เด็กที่ไม่ค่อยรักษาเวลา หรือพวกที่ทำงานด้วยความรู้สึก ทำไปงั้นๆ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานักเรียนเรียบร้อยขึ้นมาก” เจ้าของกิจการฟุคุยามะมอเตอร์สกล่าว

รื้อฟื้นชมรมเบสบอล
เมื่อแผนขั้นแรกของเขาประสบความสำเร็จ โค้ชฮิงาชิเดินหน้าสู่แผนต่อไปทันดี พอดิบพอดีกับในปี 2017 โรงเรียนฮาคุซังมีแผนพัฒนาโรงเรียนโดยมุ่งเน้นกิจกรรมชมรมมากขึ้น เป้าหมายแรกของพวกเขาก็คือชมรมเบสบอล

อย่างไรก็ดี เนื่องจากฮาคุซังเป็นโรงเรียนรัฐ ทำให้งบประมาณมีจำกัด แต่โค้ชฮิงาชิ ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อโอกาสมาถึงเขาต้องคว้าให้ได้ หากเงินมันน้อยก็ต้องใช้วิธีลงแรงให้มากขึ้น และหาอาสาสมัครมาช่วย

49658083_10157014935207445_71
เขาใช้คอนเนคชั่นที่มีชักชวนครูอายุน้อยจากโรงเรียนอื่นมาช่วยฝึกซ้อมนักเรียนในชมรม และได้โค้ชมาเพิ่มถึง 4 ราย ส่วนเครื่องยิงบอลที่เสียอยู่ ก็ใช้วิธีให้คนมาขว้างแทน แก้ขัดไปก่อนในสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้เช่นนี้

โค้ชฮิงาชิ มุ่งเน้นให้เด็กมีประสบการณ์มากขึ้นด้วยการพาเด็กตระเวนแข่งกระชับมิตรไปทั่วจังหวัดในวันหยุดสุดสัปดาห์ เด็กร่างกายกำยำและโค้ชบนรถบัสที่แอร์เสียและยังไม่มีเงินซ่อม ปุเลงๆไปแข่งเบสบอลกับโรงเรียนอื่น กลายเป็นภาพชินตาของผู้คนในฮาคุซัง

และความพยายามของเขาก็บรรลุผลในปี 2018

ก่อนหน้านี้โรงเรียนฮาคุซัง เป็นเพียงไม้ประดับในรอบคัดเลือกของจังหวัดมิเอะ ชมรมเบสบอลของพวกเขาตกรอบแรกมา 10 ปีติดต่อกันจนถึงปี 2016 ใครจับฉลากมาเจอพวกเขาก็ต่างลูบปากกันทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่สำหรับปี 2018 ฮาคุซังไม่ได้เป็นหมูมาให้เคี้ยวอีกแล้ว พวกเขาเริ่มต้นรอบคัดเลือกด้วย

asas22
การเอาชนะโรงเรียนนันโคขาดลอย 10-3 ต่อด้วยการตบ อุเอโนะ 11-3 ในรอบที่สอง จากนั้นในรอบที่ 3 ก็เอาชนะโรงเรียนโคโมโนะ 4-3  ตามด้วยการเฉือนโรงเรียนอาคาสึกิด้วยสกอร์เดียวกัน และปราบโรงเรียนไคเซ 6-5 ในรอบรองฯเข้าไปชิงชนะเลิศได้สำเร็จ

นัดชิงดำโรงเรียนฮาคุซัง โคจรมาพบกับโรงเรียนพานิชย์มัตสึซากะ พวกเขาฉกฉวยความผิดพลาดของคู่แข่ง เป็นฝ่ายออกนำไปไกลถึง 8-0 หลังผ่านไป 5 อินนิ่ง

ก่อนที่ท้ายที่สุดจะเอาชนะไปอย่างขาดลอย 8-2 ผ่านเข้าไปเล่นในโคชิเอ็งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโรงเรียน

โคชิเอ็งครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แม้ว่าตอนแรกชมรมเบสบอลโรงเรียนฮาคุซังจะประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าทีมที่ตกรอบคัดเลือกตั้งแต่รอบแรก 10 ปีติดต่อกัน จะผ่านเข้าไปเล่นโคชิเอ็งได้ แต่ด้วยความร่วมมือของคนในท้องถิ่นช่วยกันบริจาค ทำให้ท้ายที่สุดพวกเขามีงบประมาณมากพอที่จะส่งทีมไปแข่ง

341_14_l
สิงหาคม 2018 ฮาคุซังจะไปอวดโฉมในโคชิเอ็งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ชาวเมืองถึง 2,000 คนเหมารถบัส 50 คันเดินทางตามไปเชียร์ถึงจังหวัดเฮียวโงะ สังเวียนในรอบสุดท้าย

“ไม่ว่าจะก่อนหน้านี้ หรือหลังจากนี้ เรื่องปาฏิหาริย์แบบนี้คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้ว” ฟุคุยามะซัง เจ้าของฟุคุยามะมอเตอร์ส หนึ่งในผู้ที่เดินทางไปเชียร์กล่าว

ส่วนคนที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย ก็หาที่เชียร์กันตามที่สาธาณะที่มีการถ่ายทอดสด หนึ่งในนั้นคือ โซโนะ เคชิ เจ้าของร้านขายของฝากแนวตะวันตก Yamachou ที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน เขาเปิดชั้นสองของร้านให้คนมาชมการแข่งขัน

“แม้ว่าจะเป็นสถานที่เล็กๆ แต่ทุกคนพยายามที่จะเป็นกำลังใจให้ด้วยการตะโกนออกมาพร้อมๆกัน”

โรงเรียนฮาคุซัง ได้บายในรอบแรกเข้าไปพบกับ โรงเรียนเมเดงจากจังหวัดไอจิ ที่เคยเข้ามาเล่นในรายการนี้ถึง 5 ครั้ง 11 สิงหาคม 2018 คือวันที่จารึกไว้ว่าพวกเขาได้ลงเล่นในสังเวียนแสนศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นครั้งแรก  

แต่เริ่มมาได้เพียงแค่อินนิ่งแรก ฮาคุซังก็เสียไปถึง 3 แต้ม แม้จะพยายามต้านทานอย่างสุดความสามารถ แต่ในอินนิ่งที่ 5 ก็มาโดนคู่แข่งทำอีก 4 แต้มทิ้งห่างไปไกลถึง 7-0 ก่อนที่ท้ายที่สุดจะพ่ายไปอย่างขาดลอย 10-0 ปิดฉากโคชิเอ็งครั้งแรกไปด้วยความชอกช้ำ

9
ทว่าท่ามกลางความเจ็บปวดจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ มองขึ้นไปบนอัฒจันทร์ ไม่ใช่แค่กองเชียร์จากฮาคุซัง แต่ผู้คนกว่า 40,000 คนยังคงส่งเสียงเชียร์ให้พวกเขา

“ท้ายเกมแต้มของเราถูกทิ้งห่างไปมาก เนื่องจากวันนั้นเป็นเกมสุดท้ายของวัน ปกติแล้วคนดูจะเริ่มทยอยกันกลับ แต่ว่าพอมองขึ้นไปบนอัฒจันทร์ไม่มีใครกลับเลย” โค้ชฮิงาชิกล่าว

“ผมได้ตะโกนบอกลูกทีมว่า ‘จงจดจำไว้ชั่วชีวิต คนจำนวนขนาดนี้แหละที่กำลังเชียร์พวกแกอยู่’ ”  

ไม่ใช่จุดจบแต่คือจุดเริ่มต้น  
โคชิเอ็งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ ฮาคุซัง ปิดฉากลงด้วยความพ่ายแพ้ ชนิดสู้ไม่ได้ แต่บางอย่างกำลังเปลี่ยนไปในเมืองที่พวกเขาอยู่

“จากมุมมองในฐานะอาจารย์ผมรู้สึกว่านักเรียนที่พูดกล่าวคำทักทายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การที่พวกนักเรียนชมรมเบสบอล สามารถไปเล่นในเวทีใหญ่ที่ทรงเกียรติแบบนั้น ทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกว่า ‘ฉันก็น่าจะทำได้เหมือนกัน’ ” อาคาสึกะ ฮิซาโอะ ครูใหญ่โรงเรียนฮาคุซังกล่าว

as20180811002753_comm
กัปตันคนใหม่ของชมรมเบสบอลมีชื่อว่า พัลมา ฮาร์วี เขาเป็นเด็กเชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่ตัดสินใจเลือกโรงเรียนฮาคุซังเป็นอันดับ 1 ในการสอบเข้า หลังจากได้ยินชื่อเสียงความมุ่งมั่นของโค้ชฮิงาชิ

“การได้รับเสียงเชียร์จากคนในท้องถิ่นว่า ‘พยายามเข้า’ ก็รู้สึกฮึดขึ้นมา ตอนที่มาถึงฮาคุซัง ร้านสะดวกซื้อก็มีแค่ร้านเดียว คนที่เดินอยู่ตามถนนก็ไม่มี เงียบมาก แต่ตอนนี้ร้านสะดวกซื้อร้านเดียวก็เพียงพอแล้ว ผมคิดว่ามันคือสถานที่ที่เงียบสงบด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ดีจริงๆที่ได้มาฮาคุซัง”  

ไม่เพียงแค่โรงเรียนที่เปลี่ยนไป คนในท้องถิ่นก็เปลี่ยนไปเช่นกัน หลังฮาคุซังได้ไปโคชิเอ็ง บรรยากาศของเมืองคึกคักขึ้น หลายคนที่เคยรู้สึกว่าเป็นปมด้อย ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากโดยไม่ต้องหลบซ่อนว่า ‘ผมก็จบมาจากโรงเรียนนี้’ หรือมีความรู้สึกว่า ‘โรงเรียนบ้านนอกของเราก็ทำได้’

as20180725002319_comm
“การไปโคชิเอ็ง มันทำให้เห็นมุมที่ดีของโลกอย่างที่คิดไว้จริงๆ แต่การได้เห็นวิธีคิดของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนไป มันดีกว่าการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนเสียอีก” โค้ชฮิงาชิเริ่ม

“ตั้งแต่ก่อนที่จะไปโคชิเอ็ง นักเรียนก็กล่าวคำทักทาย และสิ่งที่จะทำก็ทำอยู่แล้ว แต่พอผลการแข่งขันออกมา ชื่อของ ‘ฮาคุซัง’ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผมรู้สึกว่าท้องถิ่นก็เปลี่ยนไปด้วย”

หลังจากโคชิเอ็งหน้าร้อน มีคนมากมายส่งจดหมายมาให้กำลังใจ และขอแข่งนัดกระชับมิตรอย่างล้นหลาม พวกเขายังได้สมาชิกมาเพิ่มอีก 8 ราย ยิ่งไปกว่านั้นมีผู้ประสงค์ไม่ออกสนามบริจาคเงินซื้อเครื่องยิงลูกเบสบอลแทนเครื่องเก่าที่เสีย เพื่อสนับสนุนการซ้อมกับเด็กนักเรียนอีกด้วย

“เพราะโคชิเอ็งทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  หลังจากนั้นเราก็ได้รับจดหมายจากโรงเรียนมัธยมที่พยายามทำลายข้อจำกัดเหมือนกับเรา บ้างก็ติดต่อเข้าเพื่อมาแข่งเกมกระชับมิตร ผมดีใจมาก”

asas
“แต่ปาฏิหาริย์อะไรทำนองนั้นไม่มีหรอก เรามีแค่ความมุ่งมั่นจริงจังเท่านั้น เทพเจ้าคงเห็นว่า ‘ทีมที่มุ่งมั่นขนาดนี้ ให้มันได้ไปเล่นซักครั้ง’ พวกเราก็เลยได้ไปโคชิเอ็ง”  

เบสบอลนักเรียนมัธยมหน้าร้อนปิดฉากลงไปก็เกือบ 4 เดือนแล้ว แต่เมืองฮาคุซังกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความเงียบเหงาของพวกเขากลายเป็นอดีต มันถูกแทนที่ไปด้วยความคึกคักจากนักเรียนและผู้คนในเมือง

ราวกับว่ามันคือจุดเริ่มต้นจากจุดจบในอีกมุมหนึ่งจากโคชิเอ็งครั้งที่ 100

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook