คาเฟอีน.. สารกระตุ้นนักกีฬาที่ถูกกฎหมาย?
คาเฟอีน ถือเป็นหนึ่งในสารที่ผู้คนทั่วโลกทุกเพศทุกวัยชื่นชอบ ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบใด จะเป็นชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลังก็ตาม เมื่อหนึ่งในสรรพคุณที่สำคัญของมันคือ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสดชื่น พร้อมสำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่ยังค้างคาและกำลังจะมาถึง
ถึงกระนั้น ทุกสิ่งก็มีขีดจำกัดของมัน น้อยเกินไปก็ไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ดี แล้วสำหรับนักกีฬาอาชีพล่ะ พวกเขาควรบริโภคคาเฟอีนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เพื่อกระตุ้นความสดชื่นให้พร้อมสำหรับทุกการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อตัวเองกัน?
ของแบบนี้ใครก็ชอบ
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า คาเฟอีนคือหนึ่งในสารที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชอบ แต่สำหรับนักกีฬาล่ะ พวกเขาชื่นชอบมันขนาดไหน?
พูดถึงเรื่องนี้ หนึ่งในคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนแบบสุดลิ่มคงต้องยกให้ บอริส เดียว อดีตนักบาสเกตบอลดีกรีแชมป์ NBA สมัยอยู่กับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส เพราะเขาหลงใหลในกาแฟอย่างหนักถึงกับซื้อเครื่องทำกาแฟไฟฟ้าและพามันติดตัวไปทุกที่ ทั้งสนามซ้อม, สนามแข่งขัน หรือในที่ซึ่งหลายคนไม่เชื่อว่าจะมีไฟฟ้าเข้าถึงอย่างบนภูเขา เพื่อที่เขาจะได้ลิ้มรสกาแฟหอมๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อบวกกับสไตล์การเล่นและการใช้ชีวิตแบบง่ายๆ สบายๆ จึงทำให้ ลามาร์คัส อัลดริดจ์ เพื่อนร่วมทีมในฤดูกาลสุดท้ายของเดียวกับสเปอร์ส (2015-16) ตั้งฉายาให้เขาว่า “Tea Time” ซึ่งเดียวก็ได้แก้ว่า จริงๆ แล้วตัวเขาเป็น “Coffee Guy” มากกว่า
อีกหนึ่งคนที่หลงเสน่ห์ของคาเฟอีนชนิดถอนตัวไม่ขึ้นคงหนีไม่พ้น เจมี่ วาร์ดี้ ดาวยิงผู้นำ เลสเตอร์ ซิตี้ สร้างเทพนิยายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015/16 ซึ่งยอมรับด้วยตัวเองว่า เสพติดมันอย่างหนัก โดยกิจวัตรที่เขาต้องทำเป็นประจำทุกครั้งในวันแข่งขัน คือการซด เร้ดบูล เครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติลูกครึ่งไทย-ออสเตรีย 3 กระป๋อง (หลังตื่นนอน หลังอาหารเที่ยง และก่อนวอร์มอัพเริ่มเกม ครั้งละกระป๋อง) รวมถึงกาแฟ ดับเบิ้ล เอสเพรสโซ่ เพื่อให้ตัวเองพร้อมลงสนาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นกิจวัตรติดตัววาร์ดี้มานาน แม้จะเติบใหญ่จนติดทีมชาติอังกฤษ ซึ่งมีระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับแนวหน้า แต่นี่ยังถือเป็นนิสัยประจำตัวที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำอยู่ดี
ความนิยมชมชอบในคาเฟอีนนั้นยังมีในหลายรูปแบบ อย่างนักฟุตบอลที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ พวกเขามีความนิยมในการดื่ม Yerba Mate หรือชาสมุนไพรท้องถิ่นของอเมริกาใต้ ซึ่งเราจะได้เห็นนักเตะระดับโลกอย่าง ลิโอเนล เมสซี่, หลุยส์ ซัวเรส หรือแม้แต่นักเตะยุโรปอย่าง อองตวน กรีซมันน์ และ ปอล ป็อกบา ถือกระปุกใส่เครื่องดื่มชนิดนี้ติดตัวอยู่เสมอ
ส่วนนักกีฬาดังๆ ของไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอล หรือทีมวอลเลย์บอลหญิง ก็ไม่น้อยหน้า ถือเป็นคอกาแฟตัวยงเช่นกัน เพราะเมื่อเปิดดูโซเชียลมีเดียของพวกเขาจะเห็นว่า แก้วกาแฟ ไม่ว่าจะกาแฟร้อน กาแฟเย็น ร้านประจำท้องถิ่น หรือแม้แต่ร้านกาแฟแฟรนไชส์ระดับโลก คือสิ่งที่อยู่คู่กันแบบแยกไม่ออก
สารกระตุ้นที่ถูกกฎ?
จากที่กล่าวมาคงเห็นแล้วว่า เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนผสมอยู่นั้น ถือเป็นของนิยมของบรรดานักกีฬา คำถามก็คือ แล้วคาเฟอีนสามารถเพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬาได้มากน้อยขนาดไหนกัน?
เรื่องดังกล่าว ดร.มาร์ค ทาร์โนโปลสกี้ จากมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ในประเทศแคนาดา ได้เปิดเผยกับ New York Times ว่า "ข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มสมรรถภาพจากคาเฟอีนนั้นมีมากมาย แถมยังเป็นอะไรที่เหลือเชื่อมาก เพราะมันชัดเจนว่าคาเฟอีนนั้นสามารถเพิ่มสมรรถภาพให้กับนักกีฬาได้จริง แถมยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากแล็บที่ได้รับความเชื่อถือหลายแห่งทั่วโลกเป็นเครื่องยืนยันอีกด้วย"
กล่าวเฉยๆ อาจจะไม่เห็นภาพ เราจึงขออนุญาตยกผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมานำเสนอให้เห็นภาพสักเล็กน้อย เริ่มจากงานวิจัยของ JL Ivy, DL Costill, WJ Fink และ RW Lower เมื่อปี 1979 ที่ให้นักกีฬาจักรยานดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 400 มิลลิกรัม (หรือ 4.45 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) แล้วปั่นจักรยาน ผลปรากฎว่านักกีฬาคนที่ดื่มกาแฟสามารถปั่นได้ไกลกว่าเดิม 7.4% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ
หลังจากนั้น JD Wiles, SR Bird, J Hopkins และ M Riley ได้ทำการวิจัยต่อยอดในปี 1992 ด้วยการทดลองให้กาแฟที่มีคาเฟอีนปริมาณเท่ากันกับนักวิ่ง พบว่านักวิ่งที่ได้รับคาเฟอีนสามารถวิ่งระยะ 1,500 เมตรบนลู่วิ่งสายพานได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้รับคาเฟอีนถึง 4.2 วินาที
ไม่เพียงเท่านี้ ทีมวิจัยโดย NJ Wesensten, WD Killgore และ TJ Balkin ยังได้ทำการศึกษาต่อในปี 2005 จนพบว่า การได้รับคาเฟอีนในปริมาณ 600 มิลลิกรัม สามารถเพิ่มความตื่นตัวทางจิตใจได้มากเทียบเท่าแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า 20 มิลลิกรัมเลยทีเดียว
จากผลวิจัยที่กล่าวไปข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (WADA) จะเคยขึ้นชื่อ คาเฟอีน เป็นหนึ่งในสารกระตุ้นต้องห้าม ซึ่งหากตรวจพบสารนี้ในร่างกาย 1,200 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากับกาแฟ 8 แก้ว) ขึ้นไป จะถือว่านักกีฬาผู้นั้นใช้สารกระตุ้นทันที
ทว่าเรื่องดังกล่าวก็เปลี่ยนไป เมื่อทาง WADA ตัดสินใจถอดชื่อคาเฟอีนออกจากสารต้องห้ามเมื่อปี 2004 หลังมีข้อมูลการวิจัยเพิ่มเติมว่า การรับคาเฟอีนเข้าร่างกายมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเหมือนกัน อย่างเช่น ทำให้เกิดอาการขาดน้ำ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือ คุณจะห้ามนักกีฬาไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มยอดนิยมมากที่สุดของโลกได้อย่างไรล่ะ?
ด้วยเหตุผลที่ว่ามา จึงทำให้นักกีฬาสามารถบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต่างๆ ได้อย่างสบายใจ ถึงกระนั้นทาง WADA เองก็ยังไม่วางใจ ขึ้นบัญชีสารนี้อยู่ในบัญชีที่ต้องจับตามองมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากมีผลการศึกษาที่สามารถชี้ชัดไปในทิศทางใดได้มากกว่านี้ สถานะของคาเฟอีนในบัญชีสารกระตุ้นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ดื่มเท่าไหร่ถึงเหมาะสม?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แม้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะช่วยเพิ่มความสดชื่น ตลอดจนเพิ่มสมรรถภาพชั่วขณะให้กับนักกีฬาได้ แต่หากบริโภคมากไป ก็อาจเกิดผลเสียได้เช่นกัน
เรื่องดังกล่าว ดร. คริสเตน แฮร์ริส จาก Bastyr University กล่าวว่า "จริงอยู่ที่การบริโภคคาเฟอีนสามารถช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น, ลดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ รวมถึงช่วยให้ปฏิกิริยาตอบสนอง, ความตื่นตัว, ประสาทสัมผัสทั้งทางสายตาและการใช้คอมพิวเตอร์ดีขึ้น แต่ทุกสิ่งก็มีลิมิต"
"เพราะการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดภาวะวิตกกังวล ไม่เพียงเท่านั้น มันยังส่งผลให้ความสามารถในการจดจ่อกับบางสิ่งลดลง รวมถึงรู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร, นอนไม่หลับ และหงุดหงิดได้ค่ะ"
และนั่นก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่สุดในครั้งนี้ก็คือ “ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคเครื่องดื่มที่มาคาเฟอีน ควรอยู่ที่เท่าไหร่?”
ในปี 2015 คณะกรรมการความปลอดภัยทางอาหารของยุโรป (EFSA) ได้ตีพิมพ์ข้อแนะนำว่า การบริโภคคาเฟอีนจากทุกแหล่งรวมกันไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่โดยทั่วไปที่มีสุขภาพดี แต่สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมลูก ควรลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนจากทุกแหล่งรวมกันลงกึ่งหนึ่ง เหลือไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
หากสงสัยว่า คาเฟอีน 400 มิลลิกรัมนั้นประมาณไหน? เปรียบเทียบง่ายๆ กับสิ่งที่เราคุ้นเคยก็คือ กาแฟเอสเพรสโซ่ 5.2 ช็อต หรือ กาแฟสตาร์บัคส์ไซส์ Venti (20 ออนซ์) 1 แก้ว หรือ เครื่องดื่มชูกำลังขวดไซส์ 150 มิลลิลิตร 8 ขวด หรือ เครื่องดื่มชูกำลังไซส์ 250 มิลลิลิตร 5 กระป๋อง (หากเป็นไซส์ 500 มิลลิลิตร ก็ลดเหลือ 2 กระป๋องครึ่ง) หรือ น้ำอัดลมไซส์ 325 มิลลิลิตร 11.7 กระป๋อง
แต่สำหรับนักกีฬา แน่นอนว่าปริมาณที่เหมาะสมย่อมไม่เหมือนกันผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานโภชนาการกีฬาของออสเตรเลีย (SDA) แนะนำว่า ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสม ซึ่งสามารถช่วยเสริมสมรรถภาพให้นักกีฬาได้นั้นอยู่ที่ 1-3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สมมติว่าคุณน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมนั้นจะอยู่ที่ 70-210 มิลลิกรัม หากเทียบกับปริมาณแนะนำสำหรับผู้ใหญ่โดยทั่วไป ตีง่ายๆ ก็คือ ลดจากที่เรากล่าวไปข้างต้นครึ่งหนึ่งนั่นแหละ
อีกสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือ แม้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนส่วนมากจะให้พลังงาน จากการที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถึงกระนั้น พลังงานที่ได้รับก็ไม่สามารถทดแทนพลังงานที่ได้จากอาหารแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬา หรือคนธรรมดา อย่าลืมกินอาหารเพื่อที่จะได้มีแรงในการทำงานและสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองรัก ส่วนเครื่องดื่มคาเฟอีนนั้น ถือเป็นส่วนเสริมที่จะช่วยให้ตื่นตัว จนงานสำเร็จดั่งใจหมายนั่นเอง